“ไก่ชี ท่าพระ” สัตว์ปีกเด่น เลี้ยงง่าย โตเร็ว เนื้อนุ่ม ราคาไม่ตก

เพราะเป็นไก่ที่มีขนสีขาวตลอดทั้งตัว เสมือนแม่ชี จึงเรียกชื่อให้จำง่ายติดปากว่า “ไก่ชี” สีขาวสวยงาม แตกต่างจากไก่พื้นบ้านของไทยทั่วไป พินิจดูเหมือนไก่นำเข้าจากต่างประเทศ แท้ที่จริงเป็นไก่พันธุ์ไทยแท้ ที่พัฒนามาจากไก่พันธุ์พื้นเมืองจนสายพันธุ์นิ่ง และมีจุดเด่นหลายประการ

ไก่ชี ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2545 โดยศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับกรมปศุสัตว์ นำไก่พื้นเมืองสายพันธุ์ไทยแท้มาคัดปรับปรุงพันธุ์จนได้สายพันธุ์แท้ เมื่อปี 2550 จนเกิดความนิ่ง ทั้งสี การเจริญเติบโต การไข่ และอัตราการแลกเนื้อ มีจุดเด่นคือ รสชาติ มีเนื้อนุ่มตามธรรมชาติของสายพันธุ์ มีคอเลสเตอรอลต่ำ มีโอเมก้า 3 สูง เลี้ยงง่าย ทนโรค เหมาะแก่การเลี้ยงเพื่ออุตสาหกรรม

ปี 2555 กรมปศุสัตว์ นำไก่ชีออกมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก และส่งเสริมให้เกษตรกรพื้นที่ภาคอีสานมีการเพาะเลี้ยง ได้แก่ อำเภอเขาสวนกลาง จังหวัดขอนแก่น อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งหลังจากนั้น ก็มีเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงไก่ เข้าไปขอสนับสนุนพันธุ์ไก่ชีอีกจำนวนมาก

จากข้อมูลของการวิจัยไก่ชีพบว่า ไก่ชีมีเนื้อและหนังสีสวย เจริญเติบโตดีกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเลี้ยงในระบบฟาร์มจะมีน้ำหนักตัวมากกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป 20 เปอร์เซ็นต์ ให้ไข่มากกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเลี้ยงในหมู่บ้านจะให้ลูกไก่มากกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเลี้ยงถึง 12 สัปดาห์ จะให้น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม

ไก่ชียังสามารถเลี้ยงแบบพื้นบ้านได้แล้วยังมีอัตรารอดสูง มีความเป็นแม่ที่ดี สามารถฟักไข่และเลี้ยงลูกได้เอง เนื้อแน่น นุ่ม โปรตีนสูง ไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ เมื่อชำแหละไม่มีปัญหาขนหมุดสีดำติดที่ผิวหนัง แข้งมีสีเหลือง จึงเป็นที่ยอมรับของตลาด

แม้ว่าจะเปิดตัวมายาวนาน นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 7 ปี แต่ดูเหมือนเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ชีจะยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร จากการพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ทำให้ทราบว่า มีช่วงระยะที่การแจกจ่ายพันธุ์ไก่ชีจากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น ขาดหายไป และเพิ่งเริ่มจัดการอย่างเป็นระบบในการแจกจ่ายและส่งเสริมให้กับเกษตรกรนำไปเลี้ยง เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ไก่ชีเริ่มกำเนิดที่จังหวัดขอนแก่น ได้รับการพูดถึงในพื้นที่จังหวัดเลยและมหาสารคามมาก

คุณวุฒิชัย ไพรตื่น กับ ไก่ชี

คุณวุฒิชัย ไพรตื่น เกษตรกรหมู่บ้านแจ้งกระหนวน ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อขายมานาน จากเดิมเป็นลูกจ้างในเมืองกรุง เมื่อเบื่อชีวิตก็กลับสู่ภูมิลำเนาเดิม หาอาชีพที่แตกต่างจากการทำนาและทำไร่ตามสภาพภูมิประเทศ จึงหันมาเลี้ยงไก่ขาย เพราะเห็นว่า ร้านรวงต่างๆ ในภาคอีสานส่วนใหญ่มีไก่เป็นเมนู

Advertisement
คุณวุฒิชัย ไพรตื่น กับไก่พื้นเมือง

เริ่มต้นจากการเลี้ยงไก่พื้นเมือง เพราะหาได้ง่ายในพื้นถิ่น ไก่พื้นเมืองของภาคอีสาน ไม่ได้มีชื่อสายพันธุ์ แต่เป็นไก่ที่มีโครงสร้างใหญ่ ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4 เดือนเศษ น้ำหนักตัวอยู่ที่ 1.2 กิโลกรัม ก็สามารถจับขายได้

“ผมเริ่มเลี้ยงไก่พื้นเมืองมาก่อน เพราะเห็นว่าจับขายได้ราคา ใช้เวลาเลี้ยงก็ไม่นานมาก มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อ แต่ระยะหลัง เริ่มมีเกษตรกรหลายรายหันมาเลี้ยงไก่พื้นเมืองขายเหมือนกัน เส้นทางการค้าที่ผมกำลังทำอยู่ก็ดูว่ามีแนวโน้มจะแคบลง เพราะมีผู้ผลิตมากกว่าผู้ซื้อ”

Advertisement

คุณวุฒิชัยเป็นเกษตรกรพันธุ์ใหม่ที่มองช่องทางการตลาดนำการผลิต เมื่อเห็นว่าตลาดซื้อขายไก่เนื้อมีมาก แต่มีเกษตรกรที่ผลิตไก่เนื้อชนิดเดียวกันมีมากกว่า จึงมองหาช่องทางอื่นที่แตกต่างออกไป หวังเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับตนเอง

ไก่พื้นเมือง

งานถนัดของคุณวุฒิชัย คือการเลี้ยงไก่

เมื่อศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ เปิดให้สั่งจองพันธุ์ไก่ชี จึงเข้าจับจอง และนำมาเลี้ยงในรุ่นแรก 150 ตัว ในราคาตัวละ 15 บาท

โรงเรือนที่มี เป็นโรงเรือนแบบเปิดโล่งให้อากาศถ่ายเทได้ มีหลังคาที่ปิดมิดชิดส่วนหนึ่ง และสามารถเปิดได้ส่วนหนึ่ง เพื่อให้แสงแดดส่องเข้าถึงภายในกรง พื้นกรงปูด้วยแกลบแห้งและข้าวเปลือก มีขี้เถ้าผสมอยู่ด้วยเพื่อดูดความชื้น เมื่อไก่ถ่ายมูลออกมา และเก็บง่ายถ้าต้องการเปลี่ยนถ่าย เพราะตั้งแต่เลี้ยงไก่มา คุณวุฒิชัย บอกว่า ไก่ถ่ายแห้งมาโดยตลอด

ภายในโรงเรือนมีความสะอาด

ขนาดโรงเรือน 6×5 เมตร ก็สามารถเลี้ยงไก่ได้มากถึง 150 ตัว ถ้ามากกว่านั้นต้องแบ่งออก เพราะจะหนาแน่นเกินไป ทำให้ไก่ไม่โตและแย่งกันกินอาหาร

คุณวุฒิชัย เล่าว่า ไก่ชีที่นำมาเลี้ยงมีความพิเศษตรงที่เลี้ยงง่ายเหมือนไก่พื้นเมืองทั่วไป แต่สามารถจับขายได้เมื่ออายุ 4 เดือน เพราะน้ำหนักจะได้ตามตลาดต้องการคือ ขนาด 1.2 กิโลกรัม และขายได้ราคาเท่ากับไก่พื้นบ้านที่มีอยู่คือ กิโลกรัมละ 80 บาท

ไก่พื้นเมือง

หลังจากนำไก่ชีมาจากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระแล้ว คุณวุฒิชัยนำมาคัดแยกไก่ชีที่มีโครงสร้างดี ไว้สำหรับเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ไม่นับรวมไก่พื้นเมืองที่คุณวุฒิชัยก็คัดแยกไว้เพื่อทำเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เช่นกัน

ไก่ทุกตัวที่เลี้ยงต้องทำวัคซีนนิวคาสเซิลและหลอดลมอักเสบ แม้ว่าจะไม่ได้เลี้ยงจำนวนมาก แต่การเลี้ยงเพื่อให้ปลอดโรคจะเป็นการดีต่อผู้เลี้ยงและผู้บริโภค คุณวุฒิชัยจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ไก่พื้นเมือง ได้อาหารตอนเย็น

หากพบว่าไก่มีอาการป่วย จะแยกเลี้ยงไว้ต่างหาก และให้ยารักษาตามอาการ ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่พบไก่ป่วยด้วยโรครุนแรง เพราะการรักษาความสะอาดฟาร์มอย่างดี จะมีป่วยบ้างตามสภาพอากาศ เนื่องจากสภาพอากาศของพื้นที่ภาคอีสานจะร้อนในตอนกลางวันและเย็นในเวลากลางคืน

คุณวุฒิชัยจะเก็บไข่ทุกวัน แล้วนำเข้าตู้ฟัก เมื่อลูกไก่ฟักออกจากไข่จะนำเข้ากรงอนุบาล เปิดไฟให้ความอบอุ่นในตอนกลางคืน และนำกรงอนุบาลออกมาให้เจอกับแสงแดดตอนสายๆ และเย็นๆ หากแดดแรง จะนำกรงอนุบาลมาไว้ในที่โล่ง ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก จะช่วยให้ลูกไก่ปรับสภาพและแข็งแรงได้เร็ว

ภายในตู้ฟัก
อาหารไก่ลดต้นทุน

การดูแลไก่ชี และไก่พื้นเมืองไม่แตกต่างกัน คุณวุฒิชัย บอก

เหตุเพราะไก่ชีได้รับการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์มาจากไก่พื้นเมือง สำหรับน้ำจะให้ไว้ในโรงเรือนไม่ขาด โดยผสมวิตามินไว้ให้ตั้งแต่ไก่เล็กถึงไก่โต ส่วนอาหาร คุณวุฒิชัยมีอาหารเม็ดสำเร็จรูปไว้ แต่จะให้เฉพาะช่วงเวลาที่ใกล้จับเท่านั้น แต่ปกติจะให้อาหารที่ทำขึ้นเอง

“อาหารที่ผมใช้เป็นต้นกล้วยสับหยาบผสมรำหยาบที่หาซื้อได้ตามโรงสีขนาดเล็กตามบ้านเรือนทั่วไป ให้ตอนเช้าและตอนเย็น วันละ 2 เวลา”

ลูกไก่พื้นเมือง เพิ่งฟักไม่นาน

เพราะไก่ชีมีจุดเด่นตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้มีพ่อค้าแม่ค้ามาจับจองรับซื้อไก่ชีจำนวนมาก แต่ด้วยกำลังการผลิตที่มีอยู่ทำให้คุณวุฒิชัยสามารถจับขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าเพียง 12 รายเท่านั้น และได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพ่อค้าแม่ค้าแต่ละรายด้วย จึงตั้งเป้าขยายโรงเรือนออกไปอีก

การจับขาย คุณวุฒิชัยสามารถจับขายได้ทุกวัน เพราะไก่ในโรงเรือนเจริญเติบโตไม่พร้อมกัน แต่ต้องแบ่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า 12 ราย เท่าๆ กัน ราคาซื้อขายไก่ชีและไก่พื้นเมือง ได้ราคาเท่ากัน คือ กิโลกรัมละ 80 บาท

ถามว่า ได้กำไรไหม คุณวุฒิชัยตอบอย่างไม่ลังเลว่า ต้นทุนการผลิตมีเพียงวัคซีน แรงงานภายในบ้าน และอาหารไก่ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำ คิดคำนวณต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัมแล้ว มีต้นทุนเพียง 30 บาทต่อกิโลกรัม แต่สามารถขายได้ถึง 80 บาทต่อกิโลกรัม

กรงอนุบาล เลี้ยงรวมกันได้ทั้งไก่ชีและไก่พื้นเมือง
ยังเป็นกรงอนุบาลสำหรับไก่เริ่มโต

เทคนิคการเลี้ยงไก่ชีและไก่พื้นบ้าน ไม่ได้มีอะไรมาก เพราะไก่ทั้งสองชนิดมีความแข็งแรงและเลี้ยงง่ายเหมือนไก่ไทยทั่วไปอยู่แล้ว แต่หากสนใจวิธีการเลี้ยงของคุณวุฒิชัย สามารถติดต่อมาได้ที่ คุณวุฒิชัย ไพรตื่น หมู่บ้านแจ้งกระหนวน ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น หรือโทรศัพท์สอบถามกันก่อนได้ที่ 089-090-1789

สำหรับเกษตรกรที่สนใจเพาะเลี้ยงไก่ชี ก็สามารถติดต่อสอบถามไปยังศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ 043-261-194

คอกของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่พื้นเมือง
โรงเรือนเปิดโล่ง

…………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562