‘ลูกสานต่องานที่พ่อทำ’ พระราชดำริ สมเด็จพระเทพฯ ให้รักษา ‘อาชีพเลี้ยงโคนม’ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท

เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรทั่วประเทศมาโดยตลอดว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น ทรงให้ความสนพระทัยในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่ราษฎร เห็นได้จากพระราชภารกิจที่ทรงปฏิบัติมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดโครงการอันเป็นประโยชน์ต่อชาวสวน ชาวนา และชาวไร่มากมาย ซึ่งโครงการต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นไปตามแนวพระราชดำริ และมีส่วนส่งเสริมต่อการพัฒนาประเทศโดยรวมให้มีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคง

เช่นเดียวกับอาชีพการเลี้ยงโคนม นับเป็นอาชีพด้านการเกษตรที่สำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้กับเกษตรกรไทย ภายหลังจากที่รัฐบาลประเทศเดนมาร์กได้น้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม ในประเทศไทยแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2503 และต่อมา ในปี 2505 ทรงเปิดโรงโคนมสวนจิตรลดา เริ่มเลี้ยงโคนม 6 ตัว เป็นโคพันธุ์ “เรดเดน” และทรงเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมโคนม ไทย-เดนมาร์ค ปี 2512 ทรงเปิดโรงงานนมผงสวนจิตรลดา

และในปี 2514 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ก่อนจะพระราชทานแนวทางในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์เพื่อพัฒนาการผลิตและการตลาด และจัดตั้งสหกรณ์โคนมแห่งแรกในประเทศไทย ที่ ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2514 โดยใช้ชื่อว่า “สหกรณ์โคนมราชบุรี จำกัด” ต่อมาสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด ได้รวมกิจการกับ บริษัท ผลิตภัณฑ์นม จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) เมื่อปี พ.ศ. 2518 จากนั้นเป็นต้นมา จึงใช้ชื่อว่า สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) จนถึงปัจจุบัน

จากจุดเริ่มต้นของสหกรณ์โคนมแห่งแรกเมื่อ 42 ปีก่อน ขยายผลจนถึงปัจจุบัน มีสหกรณ์โคนม 96 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ สามารถรวบรวมน้ำนมดิบได้ ประมาณ วันละ 1,790.19 ตัน คิดเป็น 65.13 ของปริมาณน้ำนมดิบทั้งประเทศ สหกรณ์ที่มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมทั้งนมพาสเจอไรซ์ และ ยูเอชที 25 สหกรณ์ มีโรงงานผลิตอาหารโค 20 สหกรณ์ สร้างรายได้แก่ประชาชนไม่น้อยกว่า 20,110 คน/ครอบครัว ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยทางด้านอาหารของชาติ สามารถทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมไม่น้อยกว่า ปีละ 35,000 ล้านบาท สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจโคนมของประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้แก่เกษตรกร ทรงให้ความสนพระทัยและในหลายคราที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการความก้าวหน้าของสหกรณ์โคนมในพื้นที่ต่างๆ สร้างขวัญและกำลังใจให้กับสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมเป็นล้นพ้น

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้พระราชทานคำแนะนำและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่สหกรณ์โคนมมาโดยตลอด และเมื่อเกษตรกรให้ความสนใจมายึดอาชีพการเลี้ยงโคนมมากขึ้น สิ่งที่จะขาดแคลนคือ อาหารสัตว์ โดยเฉพาะแปลงหญ้าที่จะเป็นอาหารวัว ทรงรับสั่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าไปช่วยเหลือโดยการประสานงานกับกรมปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มพื้นที่แปลงหญ้า พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณและเพิ่มชนิดของอาหาร ทั้งอาหารหยาบหรืออาหารสด ให้มีเพียงพอกับโคนม

ที่สำคัญคือทรงเน้นย้ำเรื่องคุณภาพและความสะอาดของนมที่จะส่งถึงผู้บริโภค โดยจะต้องปรับปรุงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพนม และทรงรับสั่งถึงเรื่องการรีดนม บางครั้งเร่งรีบโดยใช้เครื่องดูดน้ำนมออกมาก อาจทำให้เต้านมวัวอักเสบ เกิดแผลเรื้อรัง มีเชื้อโรคติดเข้าไป ทำให้นมขาดคุณภาพ และส่งผลอันตรายต่อผู้บริโภคได้

และในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม U.H.T. สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ได้มีพระราชดำรัสกับผู้ที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ความตอนหนึ่งว่า “อาชีพการเลี้ยงโคนมนี้ เป็นอาชีพที่พ่อได้พระราชทานไว้ ดังนั้น เราจะสู้ต่อ เพื่อให้อาชีพนี้อยู่คู่แผ่นดินไทย”

คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์โคนมโดยตรง เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์น้อมรับกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน เพื่อนำมาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาธุรกิจให้กับสหกรณ์โคนม โดยในขณะนี้ได้มีแนวคิดที่จะสร้างศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพโคนมขึ้นแห่งแรก บนพื้นที่ 15 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด เพื่อทำหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้และฝึกอบรมเพื่อพัฒนางานด้านโคนมของประเทศ ซึ่งสมาชิกสหกรณ์สามารถมาใช้บริการได้สะดวกยิ่งขึ้น

สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด

เนื่องจากที่ผ่านมา งานด้านการวิจัยโคนมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ด้านวิชาการโคนม กรมปศุสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนงานด้านการตลาดขายผลิตภัณฑ์นม ทางองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ ในขณะที่ปริมาณน้ำนมดิบทั้งประเทศเกือบ 70% มาจากสหกรณ์โคนม แต่ยังไม่มีหน่วยงานที่จะให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์โดยตรง ทางกรมจึงคิดที่จะจัดสร้างศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพโคนมเพื่อถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสนองพระราชดำริ ด้านการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมและพัฒนาสหกรณ์โคนม ตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงโคนม การแปรรูปและการทำตลาด เพื่อให้การเลี้ยงโคนมของเกษตรกรได้เกิดการพัฒนาทั้งระบบ และธุรกิจสหกรณ์โคนมในประเทศไทยรุดหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศ

สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด

“สิ่งสำคัญคือ สหกรณ์โคนม ควรหันมาพึ่งพาตนเอง โดยการสร้างตลาดและตราสินค้านมสหกรณ์ ให้คนได้รู้จักและยอมรับในคุณภาพนมของสหกรณ์ ซึ่งจะส่งผลทำให้ธุรกิจนมของสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง และขอให้สมาชิกสหกรณ์มีความตั้งใจจริงในการช่วยกันขับเคลื่อนและพัฒนากิจการโคนมให้มีความเจริญก้าวหน้าและตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อองค์กรร่วมกัน เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะรักษาอาชีพการเลี้ยงโคนมให้เป็นมรดกตกทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตสืบไป” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว