สราวุฒิ ทักษิโณรส หมอวัวผู้อุทิศตัวเพื่อเกษตรกร

สวัสดีครับ ช่วงหนึ่งของชีวิตผมต้องตระเวนเยี่ยมฟาร์มวัว ทัวร์ฟาร์มควายในหลายๆ จังหวัดของประเทศไทย ทุกครั้งที่ผ่านมาเยี่ยมฟาร์มวัวในเขตภาคตะวันตก ผมมักจะได้ยินพี่น้องเกษตรกรพูดถึงสัตวแพทย์หรือหมอคนหนึ่งอยู่เสมอ หมอคนนี้เปรียบเสมือนผู้เข้ามาพัฒนาความรู้และเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวอย่างใส่ใจ ไม่ว่าฟาร์มจะอยู่ไกลหรือไปยากแค่ไหน ชื่อของหมอคนนี้ก็เข้าไปถึงก่อนที่ผมจะเข้าไปเสมอ หมอคนนั้นชื่อว่า “หมอโอ๊ต”

 วัวคือมิตร

ปะเหมาะเคราะห์ดีวันหนึ่งผมมีโอกาสได้พบกับ หมอโอ๊ต หรือ อาจารย์ ดร.น.สพ.สราวุฒิ ทักษิโณรส ซึ่งมีตำแหน่งอาจารย์ ประจำโรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนายสัตวแพทย์ที่จบการศึกษาปริญญาเอก ด้านไบโอเทคโนโลยี จากมหาวิทยาลัย Kyoto Sangyo ประเทศญี่ปุ่น หมอโอ๊ตเริ่มเล่าให้ฟังว่า สมัยเรียนปริญญาตรีที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พยายามคลำหาทาง หาความถนัดของตัวเอง จนเรียนถึงปีที่ 2 ได้ไปฝึกงานด้านวัวนม เริ่มรู้สึกว่าวัวเป็นมิตร จึงรู้สึกว่าจะต้องจบไปทำงานด้านวัว จนเริ่มทำงานปี 2549 ที่โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน เพราะมีอาจารย์เก่าๆ ที่เคยสอนชวนมาอยู่

โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หมอวัวหมอส่วนน้อยในวงสัตวแพทย์

เมื่อตั้งใจเลือกเป็นหมอวัวแล้ว หมอโอ๊ตจึงมุ่งมั่นเต็มที่กับการทำงานเพราะรู้ดีว่าสัตวแพทย์ทางด้านนี้มีน้อย “เมื่อมาอยู่ที่โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน ผมก็เป็นหมอวัว เน้นรักษา ดูแลเรื่องการจัดการ ดูแลโรคในวัวนม ซึ่งถือว่าผมเป็นหมอส่วนน้อยที่เลือกความถนัดในด้านวัว เพราะหมอส่วนใหญ่ 80-90% เลือกทำงานกับสัตว์เล็กอย่าง หมา แมว เพราะภาพลักษณ์ สังคม สิ่งแวดล้อม และมีค่าตอบแทนสูง แต่สัตวแพทย์ที่เลือกในด้านปศุสัตว์ในฟาร์ม หมอด้านวัวอาจจะมีน้อย หรือมีส่วนใหญ่ก็จะไปรับราชการ “ส่วนตัวผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ชอบอยู่กับธรรมชาติ สังคมชนบท สนุกกับโอกาสที่ได้ร่วมสร้างโรงพยาบาล สร้างสังคมการเรียนรู้ ปรับการผลิตไปกับเกษตรกร”

ตั้งใจช่วยเหลือชาวบ้าน ให้ชาวบ้านยืนบนขาตัวเองได้

เมื่อเลือกจะมาอยู่ประจำโรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน ในต่างจังหวัดดูแลพื้นที่กาญจนบุรี ราชบุรี หมอโอ๊ตพยายามอย่างเต็มที่ที่จะนำความรู้ที่มีไปพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หมอโอ๊ตเล่าว่า “ผมตั้งใจช่วยเหลือชาวบ้านให้มากที่สุด เต็มที่ที่สุด ให้ชาวบ้านยืนบนขาตัวเองได้ แม้ตัวเราจะต้องทุ่มเทอะไรลงไปเท่าไรก็ตาม เพราะหมอด้านนี้มีน้อย ผมจึงพยายามที่จะลงพื้นที่ให้เยอะเพื่อพบปะกับเกษตรกร ไปดูวัว ควาย แพะ แกะ เป็นส่วนใหญ่ แถมยังต้องดูแลด้านสัตว์ป่าด้วย สมัยก่อนช่วงราชการจัดการช้างหลุด ช้างตกมัน ปลดหมีติดแร้ว สำรวจชันสูตรซากช้างที่พบในป่า ผมก็ดูแลเรื่องสัตว์ป่าควบคู่ไปด้วยจนถึงปัจจุบันก็ยังดูแลสัตว์ป่าแต่จะเป็นกลุ่มสัตว์ป่าที่คนนำมาเลี้ยงมากขึ้น เมื่อสัตว์เหล่านี้ป่วยก็ต้องมีการดูแลรักษากัน เช่น การผ่าตัดกระดูกหัก”

ในด้านปศุสัตว์การเลี้ยงวัว ควาย แพะ แกะ หมอโอ๊ตพบว่า “ในอดีตเรื่องของโรคในฟาร์มเกษตรกรรายย่อยยังขาดแคลนความรู้ เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องโรคจนเป็นปัญหา แต่ในปัจจุบันดีขึ้น เกษตรกรรายย่อยเก่งขึ้น รู้มากขึ้น ดังนั้น งานของสัตวแพทย์อย่างผมในปัจจุบันจะเป็นการพยากรณ์การเกิดโรค การวางแผนป้องกันกำจัดโรคในอนาคต” ผลจากการทำงานหนักในการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผลตอบรับที่ได้มาคือ “ชาวบ้านจะให้เกียรติ ต้อนรับเป็นอย่างดี ให้ความเชื่อมั่นและให้ความหวังว่าเราจะสามารถช่วยเหลือเขา ดูแลปศุสัตว์ของเขาได้” นี่คือสิ่งที่หมอโอ๊ตภาคภูมิใจ

อาจารย์ ดร.น.สพ.สราวุฒิ ทักษิโณรส

 ปศุสัตว์ในประเทศมีการปรับตัว

ในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทยในปัจจุบัน หมอโอ๊ตมองว่า “สภาพทางปศุสัตว์ รูปแบบการเลี้ยงดีขึ้น เกษตรกรมีความรู้ดีขึ้น โอกาสเกิดการสูญเสียน้อยลง โอกาสในการพัฒนาดีมากขึ้น แต่บางพื้นที่ในชนบทยังมีปัญหาพื้นฐาน อย่างเช่น ขาดแคลนน้ำ ขาดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ก็ทำให้รูปแบบการเลี้ยงสัตว์ยังคงเดิม เช่น คนในพื้นที่อยากเลี้ยงสัตว์แต่มีปัญหาเรื่องน้ำก็ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ดีเท่าที่ควร ไม่มีพืชอาหารสัตว์ รูปแบบการเลี้ยงก็ยังไม่สามารถปรับตัวได้ดีเท่าไร การทำปศุสัตว์ในพื้นที่ที่มีปัญหาก็ยังไม่สามารถพัฒนาไปได้ในแบบที่ควรจะเป็น ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่มีปัญหาพื้นฐาน อย่างเช่น พื้นที่มีน้ำมาก อาหารสัตว์ดี เกษตรกรยังสามารถพึ่งพาธรรมชาติได้ ก็ยังไม่อิงวิชาการหรือไม่เข้าสู่อุตสาหกรรมปศุสัตว์

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าตลาดดี ราคาดี เกษตรกรพร้อมจะซื้อ พร้อมลงทุนอาหาร ยา มาให้กิน แต่ในส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่ใกล้เมืองจะปรับตัวเป็นรูปแบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์มากกว่า มีการให้ยา ให้อาหารมากกว่า มีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีมากกว่าก็จะทำปศุสัตว์ในรูปแบบที่ดีกว่า ดังนั้น ผมมองว่าการทำปศุสัตว์ของไทยในอนาคตรูปแบบการทำปศุสัตว์เดิมๆ จะหมดไป เมืองขยาย สังคมขยาย พื้นที่เลี้ยงสัตว์ลดลง รูปแบบการเลี้ยงแบบไม่ลงทุนจะค่อยๆ หายไป การเลี้ยงวัว ควาย แพะ แกะ แบบไล่เลี้ยง การไล่ทุ่งจะลดลง”

การรักษาวัวป่วยของเกษตรกร

 มุมมองเรื่องปศุสัตว์แบบอินทรีย์

ในส่วนมุมมองเรื่องปศุสัตว์แบบอินทรีย์หรือการทำปศุสัตว์แบบออร์แกนิกนั้น หมอโอ๊ตมองว่า “การทำปศุสัตว์แบบอินทรีย์หรือการทำปศุสัตว์แบบออร์แกนิกหรือปศุสัตว์ปลอดสาร นั้นผมมองว่าเรายังต้องพยายามกันอีกมาก เนื่องด้วยประเทศเราอยู่ในเขตเมืองร้อน มีปัญหาเรื่องโรคในสัตว์เยอะ เราจึงจำเป็นต้องใช้ยา ใช้เคมีเยอะ แต่สำหรับเกษตรกรที่สนใจการทำปศุสัตว์แบบอินทรีย์หรือการทำปศุสัตว์แบบออร์แกนิกหรือปศุสัตว์ปลอดสารแบบจริงจังก็ต้องดูให้ชัดว่าจะทำได้ในระดับไหน ปลอดสารถึง 100% ไหม หรือจะเอาแค่ปลอดภัย

นอกจากนั้น ยังต้องมองต่อไปถึงเรื่องของตลาดว่า ตลาดตามการทำปศุสัตว์แบบอินทรีย์หรือการทำปศุสัตว์แบบออร์แกนิกหรือปศุสัตว์ปลอดสาร ทันไหม ในเรื่องราคา ในเรื่องของปริมาณ การรองรับผลผลิตการทำปศุสัตว์แบบอินทรีย์หรือการทำปศุสัตว์แบบออร์แกนิกหรือปศุสัตว์ปลอดสาร มีปริมาณความต้องการมากน้อยเพียงใด โดยส่วนตัวผมมองว่าการทำปศุสัตว์แบบอินทรีย์หรือการทำปศุสัตว์แบบออร์แกนิกหรือปศุสัตว์ปลอดสาร ยังต้องเดินทางกันอีกยาวไกลกว่าจะถึงตรงนั้น เพราะตลาด เพราะความเป็นคนไทย ความซื่อสัตย์ในการผลิต ผลประโยชน์ที่จะตามมายังเป็นคำถามที่คนในวงการปศุสัตว์บ้านเราต้องตอบให้ได้”

 สิ่งที่อยากจะฝาก

สุดท้ายหมอโอ๊ตฝากข้อคิดให้กับสัตวแพทย์รุ่นใหม่ๆ และน้องๆ ที่สนใจจะเรียนด้านนี้ว่า “ในวงการสัตวแพทย์สาขาที่ขาดแคลนคือ สัตวแพทย์ด้านปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่มีนักศึกษารุ่นละประมาณ 40 คน มีคนที่เลือกด้านปศุสัตว์ปีละ 2-3 คน ส่วนใหญ่จะเลือกเรียนด้านสัตว์เล็กและด้านสัตว์ป่าเยอะ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Gen Y ที่ชอบอะไรไม่เหมือนใครจะเลือกเรียนด้านสัตว์ป่าเยอะ พวกนี้สามารถไปดูแลสัตว์เลี้ยงนำเข้าได้ พวกสัตว์แปลก เม่นแคระ กิ้งก่า พวกนี้เยอะ แต่ทำสัตว์ป่าจริงๆ น้อย ตรงนี้ผมจึงอยากจะฝากเสียงไปถึงหมอ ถึงสัตวแพทย์รุ่นใหม่ อยากให้คนรุ่นใหม่มาทำงานเพื่อเกษตรกรให้มากขึ้น เพราะในวงการปศุสัตว์ต้องการ เกษตรกรต้องการ หมอเหมือนงานปิดทองหลังพระ อยากให้คนมาช่วยตรงนี้เพิ่มขึ้นเพื่อร่วมสนับสนุนความรู้ ความก้าวหน้าและเทคโนโลยีให้เกษตรกร”

“ส่วนเกษตรกรผมอยากจะฝากเกษตรกรให้กำลังใจเพราะการทำปศุสัตว์มีข้อจำกัดเยอะขึ้น เศรษฐกิจแย่ลง การทำปศุสัตว์ต้องวิเคราะห์ตัวเองว่าเราทำอะไรอยู่ อะไรที่เป็นจุดแข็ง จุดเด่น ความต่างจากคนอื่น เอาตรงนั้นเป็นตัวตั้ง จะทำให้เราเดินหน้าไปได้ต่อไป ส่วนผมก็จะทำหน้าที่ส่งเสริมการยืนด้วยตัวเอง การพัฒนาตนเอง พัฒนาคุณภาพของที่มี เช่น เพิ่มการเลี้ยงพันธุ์ดี เพิ่มความรู้การจัดการซาก จัดการเนื้อ เลือกตลาด และสนับสนุนให้สามารถมีแบรนด์ของตัวเองได้ในอนาคต”

เป็นอีกตัวอย่างของคนในวงการเกษตรบ้านเราที่มุ่งมั่นพัฒนาเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาตนเองได้ ลดปัญหาและเพิ่มความเข้มแข็งให้สังคม คนดีๆ มีอุดมการณ์เช่นนี้ผมอยากเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนให้ทำงานพัฒนาวงการเกษตรในบ้านเราไปอีกนานเท่านาน ใครสนใจจะติดต่อพูดคุยกับอาจารย์ ดร.น.สพ.สราวุฒิ ทักษิโณรส ติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดกาญจนบุรี โทร. (034) 585-101 ฉบับนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ