เกษตรกรหญิงบุรีรัมย์ จัดสรรพื้นที่เลี้ยงแพะ ลดต้นทุนการเลี้ยง เป็นอาชีพสร้างรายได้ดี

ปัจจุบันแพะกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเพื่อเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดยเกษตรกรบางรายมีพื้นที่เพียง 1 งานก็สามารถเลี้ยงได้จนประสบผลสำเร็จเกิดเป็นรายได้ไม่น้อยทีเดียว หรือหากต้องการเลี้ยงให้ครบวงจรมากขึ้นเกษตรกรบางรายจากเดิมที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็ได้แบ่งพื้นที่บางส่วนมาทำการเลี้ยงแพะ พร้อมทั้งจัดสรรพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าและพื้นที่เดินเล่นให้กับแพะ จึงทำให้สัตว์รู้สึกผ่อนคลายมีสุขภาพที่ดีและเจริญเติบโตเป็นที่ต้องการของตลาด

คุณกมลทิพย์ เกียรติเจริญศิริ อยู่บ้านเลขที่ 38-29 ถนนธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มองเห็นความต้องการของตลาดที่รับซื้อแพะอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เธอนำแพะมาเลี้ยงเป็นอาชีพทำเงิน พร้อมทั้งแบ่งพื้นที่อย่างลงตัวในเรื่องของการทำแปลงหญ้าเอง ส่งผลให้ประหยัดต้นทุนการผลิตและมีผลกำไรจากการเลี้ยงแพะได้เป็นอย่างดี

ตัดหญ้ามาให้กินถึงคอก

คุณกมลทิพย์ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเริ่มแรกก่อนที่จะมาเลี้ยงแพะเหมือนเช่นทุกวันนี้ ได้ซื้อลูกหมูเข้ามาขุนให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ จากนั้นจึงส่งขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อ แต่เมื่อทำมาระยะหนึ่งต้นทุนในเรื่องของค่าอาหารมีราคาสูงขึ้น ทำให้ไม่มีผลกำไรจากการเลี้ยงหมูขุนมากนัก จึงได้ปรับเปลี่ยนจากการเลี้ยงหมูมาเลี้ยงแพะในเวลาต่อมา

คุณกมลทิพย์ เกียรติเจริญศิริ

“พอเลี้ยงหมูขุนเรื่อย เราเริ่มรู้สึกว่ามีต้นทุนในเรื่องค่าอาหารที่มากขึ้น จึงได้เปลี่ยนมาเลี้ยงแพะในปี 2559 โดยช่วงนั้นเกษตรกรหลายๆ รายในจังหวัด ก็เลี้ยงแพะกันมากมีตลาดรองรับที่แน่นอน เลยตัดสินใจมาเลี้ยง ช่วงแรกๆ ยังไม่มีประสบการณ์มากนัก เลี้ยงไปเลี้ยงมาแพะก็มีตายบ้าง ทีนี้เริ่มคิดว่าถ้าเราจะทำเป็นอาชีพจริงจัง ต้องศึกษาให้มากกว่านี้ จึงเข้าเรียนคอร์สต่างๆ พร้อมทั้งเข้ารวมกลุ่มกับสมาชิกผู้เลี้ยงแพะ ก็ทำให้การเลี้ยงไม่เกิดปัญหาและขยายพันธุ์ขายได้มาจนถึงทุกวันนี้” คุณกมลทิพย์ เล่าถึงที่มา

แปลงหญ้าสำหรับแทะเล็มและเดินเล่น

เมื่อเริ่มมาเลี้ยงแพะเป็นอาชีพสร้างรายได้ คุณกมลทิพย์ บอกว่า ได้แบ่งพื้นที่บริเวณบ้านให้เหมาะสมกับการเลี้ยงแพะ โดยแบ่งเป็นพื้นที่โรงเรือนนอน พื้นที่ปลูกหญ้าให้แพะกินจำนวน 2 ไร่ และพื้นที่สำหรับให้แพะเดินเล่นอีก 2 ไร่ โดยการผสมพันธุ์แพะภายในฟาร์มจะเลี้ยงให้มีอายุอยู่ที่ 7 เดือนขึ้นไป จากนั้นใช้พ่อพันธุ์ที่มีอยู่ทำการผสมพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ เมื่อผสมติดแล้วรอแม่พันธุ์ตั้งท้องเป็นเวลา 5 เดือน ก็จะได้ลูกแพะออกมาให้ดูแลต่อไป

แปลงปลูกหญ้าเนเปียร์

การดูแลลูกแพะในระยะหลังคลอด คุณกมลทิพย์ บอกว่า จะไม่ได้ดูแลอะไรมากนักจะปล่อยให้อยู่กับแม่ ลูกแพะจะกินนมสลับกับอาหารข้นอยู่ประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้น ให้กินหญ้าที่ปลูกไว้และปล่อยเดินเล่นในทุ่งหญ้าไปพร้อมกับฝูงเหมือนแพะตัวอื่นๆ

กินอาหารระหว่างวัน

“พอลูกแพะหย่านมแล้ว มีลูกค้าเข้ามาติดต่อขอซื้อก็จะขายทันที โดยไม่ต้องเลี้ยงให้โตไปกว่านี้ ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรค จะทำวัคซีนปากเท้าเปื่อยปีละ 2 ครั้ง ส่วนทำโปรแกรมถ่ายพยาธิในเลือดทำปีละ 2 ครั้ง และพยาธิภายในภายนอกทำทุก 3 เดือนครั้ง พร้อมทั้งหมั่นทำความสะอาดโรงเรือนและพื้นที่คอกนอนอยู่เสมอ ก็จะไม่เกิดการสะสมของโรค แพะก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรง” คุณกมลทิพย์ บอก

ปล่อยเดินเล่น

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายแพะนั้น คุณกมลทิพย์ บอกว่า เธอเป็นสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงแพะจะมีเจ้าหน้าที่ของกลุ่มค่อยหมั่นตรวจเช็คจำนวนแพะอยู่เป็นประจำทุกเดือน โดยแพะที่มีอยู่ภายในฟาร์มของเธอไม่ต้องกังวลว่าจะจำหน่ายไม่ได้ เพราะปัจจุบันตลาดมีความต้องการแพะอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การผลิตแพะแต่ละครั้งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

โดยแพะตัวผู้อายุ 2 เดือน น้ำหนักอยู่ที่ 20 กิโลกรัม จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 125 บาท และนอกจากแพะแล้วในฟาร์มของเธอยังมีเลี้ยงแกะอยู่ด้วย จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท ส่วนแพะตัวเมียนอกจากนำมาเป็นแม่พันธุ์ทดแทนใช้ภายในฟาร์มแล้ว ยังจำหน่ายเพื่อให้เพื่อนเกษตรกรรายอื่นนำไปเลี้ยงเพื่อผลิตลูกพันธุ์ต่อไป อายุแพะตัวเมีย 7 เดือน จำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 4,500-5,000 บาท ส่วนมูลของแพะจำหน่ายเป็นเงินให้กับเธอได้อีกด้วยราคาอยู่ที่กระสอบละ 30 บาท

ตัดหญ้ามาให้กินถึงคอก

“แพะถือว่าเป็นสัตว์ที่กินง่าย การเลี้ยงก็สามารถหากระถิน หรือกากถั่วต่างๆ มาให้กินได้เลย ตั้งแต่เปลี่ยนมาเลี้ยงแพะก็รู้สึกว่าทำรายได้ดี มีเงินเหลือเก็บ การดูแลก็ไม่ยุ่งยากมาก ถ้าเรารู้จักอุปนิสัยของเขา สำหรับคนที่สนใจอยากจะเลี้ยงแพะ ก็จะแนะนำว่าให้คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดี มีการตรวจโรคอย่างชัดเจนเข้ามาเลี้ยง พร้อมทั้งหมั่นศึกษาการเลี้ยงอยู่เสมอ เมื่อเจอปัญหาต่างๆ ก็จะรับมือได้ทันท่วงที พร้อมทั้งหาแหล่งอาหารที่ประหยัดต้นทุน หรือปลูกแปลงหญ้าไว้เอง ก็จะช่วยให้การเลี้ยงแพะเกิดรายได้ที่ยั่งยืนอย่างแน่นอน” คุณกมลทิพย์ แนะ

สอบถามข้อมูลเรื่องการเลี้ยงแพะ หรือเข้าศึกษาดูงานการจัดการฟาร์มสำหรับเลี้ยงแพะให้ได้มาตรฐานได้ที่ คุณกมลทิพย์ เกียรติเจริญศิริ หมายเลขโทรศัพท์ (083) 085-0464