คัมภีร์ “เป็ดไทย” จากอดีตสู่ปัจจุบัน

คราวก่อนได้กล่าวถึงกระบวนการผลิตและฟักลูกเป็ดไทย และแหล่งจำหน่ายขายลูกเป็ดให้กับรายใหญ่นายทุนค้าเป็ดไล่ทุ่ง และผู้สนใจซื้อเอาไปเลี้ยงเป็นงานอดิเรก

เมื่อลูกเป็ดออกจากฟองไข่แล้ว พ่อค้าจะมีคนงานคัดเพศลูกเป็ดที่ค่อนข้างเงินเดือนแพงกว่าคนงานทั่วไป การคัดเพศลูกเป็ดวันเดียว อาศัยความชำนาญ ใช้นิ้วมือสัมผัสที่ก้นลูกเป็ด รู้ด้วยมือ หากนิ้วไปถูกเพศตัวผู้มีเม็ดเล็กๆ ใช่เลย ว่าเป็นตัวผู้ ตรงข้ามกับเพศเมียไม่มี ใช้เวลารวดเร็วมาก ความผิดพลาดไม่น่าเกิน 1-2% เท่านั้น ที่มีโอกาสจะพลาดได้ ผลดี รวดเร็ว ลูกเป็ดไม่ช้ำ เหมาะการค้าขายลูกเป็ดจำนวนมาก เพื่อการค้า

ฝูงเป็ดไข่ที่ยังอาศัยนาข้าวเป็นอาหาร

จำนวนการฟักเป็ดในฤดูใกล้เก็บเกี่ยวข้าว แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ที่มันเหลื่อมเวลากัน จำนวนลูกเป็ดที่พ่อค้าฟักกับพ่อค้านายทุนเจ้าของลูกเป็ดต้องมาทำสัญญากันในการตกลงเรื่องจำนวนลูกเป็ดไข่เพศเมีย และราคากันก่อน เพื่อมิให้เกิดปัญหากันภายหลัง ลูกค้าพอใจก็สั่งลูกเป็ดล่วงหน้าได้ทันที ลูกค้าจะอยู่ในแถบภาคกลางทั้งนั้น คือฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สมุทรปราการ สุพรรณบุรี ปทุมธานี เป็นต้น สมัยก่อนราคาลูกเป็ดเพศเมีย ราคาตัวละ 5-6 บาท เพศผู้ 0.50-1.00 บาท ต่อตัว ถ้าสั่งซื้อจำนวนมากพ่อค้าจะแถมเป็ดเพศผู้ให้ฟรี

ถึงวันกำหนดนายทุน พ่อค้า ปล่อยลูกเป็ดจะมารับไปจากสามแยกเจริญกรุง สมัยนั้นเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ ใช้เครดิตเงินเชื่อมัดจำค่าลูกเป็ด และจำนวนเงินที่เหลือจะจ่ายให้ภายหลัง ขายเป็ดรุ่นไปให้พ่อค้ารับซื้อไปแล้ว ชำระเงินกัน กรณีนี้มีปัญหากันบ้าง บางปีเคยเกิดขึ้น

กล่าวกันว่า การที่พ่อค้าฟักลูกเป็ดออกมาขายหน้าร้านที่ผ่านสามแยกเจริญกรุงสมัยนั้น ที่มีบางร้านไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้า ในกรณีขายลูกเป็ดที่เหลือ ส่วนใหญ่เป็นเพศผู้ที่มีราคาถูก แล้วหลอกผู้ซื้อรายย่อยว่าเป็นเป็ดตัวเมีย เมื่อนำไปเลี้ยงแล้วลูกเป็ดโตขึ้นจะมีสัญลักษณ์คอเป็ดมีสีน้ำเงินขึ้นที่แถบคอเป็ด มีเสียงแหบ เวลาร้องรู้เลยว่าถูกหลอกแล้ว

การขนย้ายเป็ดตามเป้าหมายที่นัดซื้อ-ขายกับพ่อค้า

ครั้นพ่อค้าเป็ดไล่ทุ่งนำลูกเป็ดไปให้ชาวนาเลี้ยงในยามว่างหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ข้าวเปลือกตกหล่นบนท้องนาหลายหมื่นหลายพันไร่ แม้แต่นก หนู ก็เก็บกินข้าวเปลือกไม่หมด นายทุนหัวใสจะไปปล่อยให้ชาวนาเลี้ยงลูกเป็ดในสนนราคาบวกค่าพันธุ์เป็ด อาหารลูกเป็ด ค่าข้าวสาร อาหารแห้งที่ส่งเป็นเสบียงอาหารในยามอยู่ในทุ่งนาที่ต้องใช้ดำรงชีพควบคู่กับยารักษาโรค

เริ่มด้วยอาหารเป็ดเล็ก พอลูกเป็ดเริ่มอายุ 2 สัปดาห์ จะนำข้าวเปลือกมาผสมกับอาหารสำเร็จ เพื่อให้ลูกเป็ดได้เคยชินกับข้าวเปลือกก่อน เมื่อครบ 21 วันแล้ว เริ่มหัดปล่อยที่ท้องนาใกล้ๆ บ้าน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคด้วย

เพื่อดูแลให้ทั่วถึง นายทุนจะมีหัวหน้าทีมควบคุมดูแลอีกต่างหากป้องกันความซื่อสัตย์ที่เกรงจะถูกขายลูกเป็ดต่อให้กับผู้อื่น จำนวนลูกเป็ดที่นายทุนปล่อยไปนั้น บางรายเป็นจำนวนล้านๆ ตัว อย่างต่ำต้องเป็นแสนตัว ถึงจะคุ้มค่าใช้จ่าย กว่าจะถึงอายุเป็ด 3-4 เดือน แล้วแต่ความสมบูรณ์ของข้าวเปลือกมีตกหล่นมากน้อยเท่าไร หากมีมากเป็ดจะเติบโตเร็ว และขายได้เงินเร็ว ชาวนาก็จะได้ผลตอบแทนดีและได้เงินใช้เร็วขึ้น

ฝูงเป็ดไข่ที่อายุยังน้อย โตในนาข้าวก่อนต้อนไปขาย

คาราวานฝูงเป็ดไล่ทุ่งที่แยกย้ายกันไปเลี้ยงแต่ละท้องที่ ผู้เลี้ยงในสมัยก่อนมีความชำนาญมาก ครอบครัวไหนมีลูกหลายคนก็จะพากันต้อนฝูงเป็ด โดยถือธงขาว หรือแดง นำหน้าฝูงเป็ด เพราะเป็ดเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันได้ดี ไม่จิกหรือตีกันเหมือนไก่ ความมีวินัย เดินกันเป็นฝูงตามผู้นำ ว่างั้นเถอะ

บางท้องที่ก็เรียกค่าคุ้มครอง ถ้าฝูงเป็ดคาราวานได้ผ่านที่นา เจ้าของนาอาจมีเรียกค่าตอบแทน สมัยนั้นไร่ละ 5 บาท นายทุนต้องให้ผู้คุมที่มีอิทธิพลไปเจรจากันกับที่นาชาวบ้าน บางแห่งก็ให้ฟรี เพราะยำเกรงบารมีผู้มีอิทธิพล อาจจะมีรางวัลไข่เป็ดสมนาคุณเจ้าของมาก็มี

นาข้าวเป็นเป้าหมายของเป็ดที่จะไปเก็บกินข้าวเปลือกที่ชาวนาทำตกหล่นหลังเกี่ยวข้าว

ปัญหาคาราวานเป็ด ก็มีข่าวอยู่บ้าง สมัยเมื่อ 30-40 ปี คนเลี้ยงคือชาวนาอาจจะนำลูกเป็ดที่รอดแล้ว โตแล้ว แอบไปขายพ่อค้าก็มี บางปีมีข่าวถึงกับใช้ศาลเตี้ยตัดสินกัน มีหลายครั้ง

ส่วนการลักฝูงเป็ดก็เคยพบบ่อย คนร้ายใช้ขุดหลุมพราง ใช้ฟางปูปิดปากหลุม เมื่อฝูงเป็ดเดินผ่านก็จะตกลงไปในหลุม เมื่อฝูงคาราวานเป็ดผ่านไปแล้วคนร้ายก็จะมาจับเป็ดในหลุมไปเป็นอาหาร เพราะอายุเป็ด 3 เดือนแล้ว

อายุลูกเป็ด 2 สัปดาห์ เริ่มหัดกินข้าวเปลือกให้เคยชิน ก่อนส่งไปเลี้ยงไล่ทุ่ง อายุ 3 สัปดาห์

สำหรับปัญหาสุดท้าย ก็เกี่ยวกับโรคระบาดสัตว์ปีก ที่เปิดทุ่งป้องกันยากกว่าเปิดเลี้ยงในเล้ายิ่งนัก เพราะควบคุมลำบาก ลูกเป็ดไล่ทุ่งแม้ว่าจะใช้วัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม คนเลี้ยงเป็ดเคยกลัวโรคเป็ดที่เกิดจากไวรัส คือโรคดั๊กเพลก เคยระบาดเมื่อ 30 ปีก่อน

ต่อมาโรคที่คนเลี้ยงสัตว์ปีก เป็ด ห่าน ไก่ กลัวมากที่สุดคือ โรคไข้หวัดนก ที่มีระบาดไปทั่วโลก สร้างปัญหาให้กับคนบริโภคและคนเลี้ยงต้องกำจัดไปให้หมดเล้า แล้วรัฐบาลจะชดเชยค่าเสียหายให้ ในประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อน เคยระบาดใหญ่มาแล้ว คนบริโภคถึงกับเสียชีวิต เป็นข่าวใหญ่โต ทำให้การส่งออกไก่หยุดชะงัก คนบริโภคก็หวาดกลัวเช่นเดียวกับเป็ดไล่ทุ่ง ต้องรีบต้อนเข้าเล้าและมีบางรายเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งมีปัญหากับข้าราชการที่เกี่ยวข้องที่จะห้าม และจะกำจัดฝูงเป็ดออกให้หมดฝูง เคยเป็นข่าวใหญ่มาแล้ว

ครั้นฝูงคาราวานเป็ดไล่ทุ่งอายุได้ 3-4 เดือน ปีกเป็ดที่เคยไขว้กันมาขนเป็ดขึ้นสมบูรณ์ ฝูงเป็ดเพศเมียก็จะไล่ต้อนเข้าใกล้ถนนใหญ่ไม่ห่างไกลกันนัก รวมทั้งฝูงเป็ดตัวผู้ที่มีราคาถูกกว่าฝูงเป็ดตัวเมียที่มีราคาสูง อาศัยฝูงเป็ดจำนวนมากพ่อค้าจะลงทุนไล่ทุ่งหวังผลกำไร ถ้าหากเปอร์เซ็นต์เลี้ยงลูกเป็ดรอดสูง นั่นคือผลตอบแทนของพ่อค้าปล่อยลูกเป็ด ชาวนาก็มีผลได้บ้าง เพราะใช้แรงงานกับความซื่อสัตย์

ลูกเป็ดจากที่ร้านนำมาเลี้ยง กกไฟฟ้าให้ลูกเป็ดอบอุ่นเริ่มกินอาหาร

พ่อค้าเป็ดไล่ทุ่งจะให้สัญญานัดหมายกับลูกน้องที่ควบคุมฝูงเป็ด หากเป็ดเริ่มโตแล้วก็จะโทร.หาพ่อค้าในสนนราคาพอใจด้วยกันทุกฝ่าย พ่อค้าย่านตลาดเก่าและเล่งเน่ยยี่ ที่เป็นศูนย์กลางตลาดซื้อ-ขายเป็ดสด ห่านสด กันมาช้านาน และมีพ่วงด้วยตลาดคลองเตย เป็นเจ้าประจำกัน รู้ใจกันดี ผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน ใช้เครดิตที่เชื่อถือ ไม่ต้องระแวงกันเพราะค้าขายกันมานาน

เมื่อถึงกำหนดวันจับเป็ดรุ่นไล่ทุ่งต่างมากันพร้อมหน้า ถ้าหากใครผ่านไปตามถนนหรือรถยนต์วิ่งผ่านจะเห็นฝูงเป็ดต้อนไว้รอพ่อค้ามาจับไป ฝูงเป็ดถูกต้อนมารวมกัน รอพ่อค้ามาจับเป็ดขึ้นรถไป

การซื้อ-ขายในวงการเป็ด ห่าน เป็นธุรกิจค้าขายไปค่อนศตวรรษแล้ว ด้วยวิธีเหมาเป็นตัว ซึ่งเป็นวิธีซื้อขายกันตามเงื่อนไขข้อตกลงกันไว้ด้วยการเห็นตัวเป็ดที่มีความแข็งแรง สมบูรณ์ พ่อค้าจะตั้งราคาไว้ ทั้งเป็ดรุ่นไข่ รุ่นเนื้อ (เป็ดตัวผู้) หรือห่าน ที่เลี้ยงรอบๆ บ้านก็ตาม การต่อรองเจรจาซื้อ-ขายเหมาเป็นตัว สะดวกทั้งสองฝ่าย ความสวยของขนเป็ดที่ดูด้วยสายตา บ่งบอกถึงการกินอาหารที่สมบูรณ์

เมื่อ 40-50 ปี ราคาลูกเป็ดเพศเมีย ตัวละ 4-5 บาท พ่อค้าแถมตัวผู้ให้ เมื่อไปเลี้ยงอยู่ในมือชาวนา พ่อค้าเป็ดไล่ทุ่งจะบวกค่าพันธุ์เป็ดเป็นสองเท่า ค่าใช้จ่ายอาหาร ยา และเงินยืมทดลองที่ให้ชาวนาไปใช้ระหว่างต้อนเป็ด จำนวนเป็ดไล่ทุ่งอยู่ที่ความสามารถ ฝูงละ 3-4 พันตัว ไปจนถึงหมื่นตัว

ฝูงเป็ดต้อนใส่รถ แล้วย้ายถิ่นฐานหาแปลงข้าวใหม่ที่ยังมีอยู่ในชนบท

พ่อค้าเป็ดตีราคาเป็ดรุ่นเพศเมียตัวละ 17-18 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วชาวนาจะได้ตัวละ 1-2 บาท เท่านั้น บางครั้งอาจขาดทุน ถ้าลูกเป็ดสูญเสียหรือหายไป นายทุนหักหลบลบหนี้ ชาวนาอาจเลี้ยงฟรี หนี้สินถ้าไม่มากนักบางครั้งนายทุนก็อาจจะยกหนี้ให้ ส่วนเป็ดรุ่นตัวผู้จะได้ราคาต่ำกว่าเพศเมีย ราคาเป็ดรุ่นตัวผู้เหลือตัวละ 9-10 บาท ในสมัยนั้น เป็นวิถีการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งในอดีตที่ผ่านมา

ในปัจจุบัน วิถีการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งได้มีการพัฒนาและควบคู่กับการเลี้ยงเป็ด ถูกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงสีขนของเป็ดไข่ การขยายลูกเป็ดเพิ่มมากขึ้น กระจายการฟักลูกเป็ดออกไปสู่ชนบท ทดแทนตลาดสามแยกเจริญกรุงที่ยุบเลิกไป แต่การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งยังนิยมเลี้ยงกันเพิ่มมากขึ้น

สนนราคาลูกเป็ดไข่ในปัจจุบัน ชาวนามาซื้อลูกเป็ดไข่ไปเลี้ยงด้วยตนเองถึง 98% รับลูกเป็ด นายทุนปล่อยลูกเป็ดลดน้อยลงเหลือ 2% จากคำบอกเล่าของเจ้าของฟักลูกเป็ดไข่ขาย ราคาเป็ดไข่ไล่ทุ่งขนาด 4 เดือน ราคาขายตัวละ 110-120 บาท ลูกเป็ดไข่ตัวละ 18-20 บาท ตัวผู้ 2 บาท ปรับปรุงราคาเท่ากับไก่ไข่รุ่น และลูกไก่ไข่กัน ที่ไม่เหมือนเก่าแสดงว่าความนิยมการเลี้ยงเป็ดไข่ก้าวทันสมัยขึ้นกว่าเก่าเยอะว่างั้นเถอะ

จากในอดีตจะเห็นได้ว่า อาชีพการเลี้ยงเป็ดทั้งอาชีพเป็ดไข่และเป็ดเนื้อ เมื่อมาเปรียบเทียบกับอาชีพเลี้ยงไก่แล้ว เป็ดยังล้าหลังกว่าไก่มาก แม้ว่าจากสถิติเป็ดในประเทศไทย จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมาช้านาน จำนวนเป็ดมีอยู่ประมาณ 10-11 ล้านตัว

สาเหตุใหญ่ที่เป็ดสู้ไม่ได้ก็คือ พันธุ์สัตว์และการจัดการฟาร์ม และความนิยมของผู้บริโภคที่เห็นว่าไก่ราคาถูกกว่าเป็ด แต่ผลตอบแทนการเลี้ยงเป็ดให้ผลตอบแทนดีกว่าไก่มากมาย ที่มาจากตัวเป็ดทุกอวัยวะในตัวเป็ดจนถึงตัวเป็ดมีราคาแพงกว่าไก่

อาจเป็นเพราะเป็ดชอบน้ำ หรือขาดน้ำไม่ได้ ทำให้เกิดการทำความสกปรกเลอะเทอะ และมีกลิ่นเหม็น ทำให้คนรังเกียจ ถ้าแก้ไขและปรับปรุงด้านการจัดการย่อมจะหายสิ้นไปจากกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนา เพราะเป็ดผลประโยชน์มากกว่าไก่ โดยเฉพาะพ่อค้าทุกขั้นตอน  

……………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2562