“หนองคาย” หนุนเลี้ยงโควากิว-แพะ ชี้ สปป.ลาว ต้องการบริโภคสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (31 ม.ค.2560) นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้นำคณะหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดหนองคาย ร่วมดำเนินโครงการผู้ว่าพาไปยาม ครั้งที่ 2 เศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงแพะ เลี้ยงโคพันธุ์ดี มีอาชีพเสริม เพิ่มพูนรายได้

โดยครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมพบปะพูดคุยกับเกษตรกรในกลุ่มผู้เลี้ยงโคกระบือบ้านท่าคำบงต.วังหลวง อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย ถึงแนวทางการพัฒนาส่งเสริมการเลี้ยงโคพันธุ์วากิว รวมถึงมอบเครื่องอัดฟางและเครื่องสับหญ้าให้กับนางมลิวรรณ พลราช นายก อบต.วังหลวง ประธานกลุ่มเลี้ยงโคกระบือ เพื่อนำไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาการบริหารจัดการอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ ทางจังหวัดจึงสนับสนุนเครื่องอัดฟางและเครื่องสับหญ้า ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บฟางได้วันละ 500-800 ก้อน ช่วยเพิ่มอาหารสัตว์และลดปัญหาการเผาตอซังข้าว

นอกจากนี้ได้จัดสรรเงินตามโครงการประชารัฐ 2 แสนบาท ให้กับโครงการเลี้ยงแพะประชารัฐ บ้านใหม่วังไฮ ต.หนองหลวง อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย เพื่อนำไปซื้อแพะเนื้อเลี้ยงในกลุ่มสมาชิกของหมู่บ้าน ซึ่งมีนายนัฐพงษ์ เทศนา ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธาน ทั้งนี้ได้ขอใช้ที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในการการดูแลของโรงเรียนบ้านแบง เป็นพื้นที่ตั้งโรงเรือนและปลูกหญ้าเนเปียร์ โดยเริ่มดำเนินการปี 2559

ด้านนายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ต้องการให้เกษตรกรมีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้จากการทำเกษตร ทำนา ด้วยการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงโควากิว ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้อย่างดี เนื่องจากเป็นที่ตลาดต้องการ ราคาสูง รวมถึงได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำเพิ่มหลักความรู้ทางวิชาการให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง


ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเนื่องจากมีตลาดรองรับที่แน่นอน ประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการบริโภคสูง โดยราคาอยู่ที่ 2,300-2,500 บาท/ตัว ทั้งนี้จะจัดหาแพะแม่พันธุ์ให้เกษตรกรอีก 21 ตัว โดยเกษตรกรต้องทำโรงเรือนเพิ่มเติมและบริหารจัดการพื้นที่ปลูกหญ้าเป็นอาหารให้เพียงพอ

ขณะที่นายนัฐพงษ์เทศนา ผู้ใหญ่บ้านใหม่วังไฮ และประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ กล่าวว่า ได้ศึกษาข้อมูลว่าการเลี้ยงแพะนั้นสามารถทำรายได้ที่ดี เลี้ยงง่าย โตเร็ว จึงชักชวนเพื่อนบ้านเลี้ยง โดยได้รับการสนับสนุนที่ดีจากจังหวัดหนองคาย ซึ่งแม้ว่าขณะนี้จะเลี้ยงอยู่ไม่มาก แต่ก็มีพ่อค้าชาว สปป.ลาว มาติดต่อขอซื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรผลิตให้ไม่ทัน จึงมองว่าเป็นตลาดที่สดใส คาดว่าการเลี้ยงแพะจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เสริมที่ดีแก่ครอบครัวได้