เบื่อแล้งซ้ำซาก ชาวนาโคราช“เลี้ยงแพะ”สู้แล้ง แทนทำนาปรัง ชี้ มีเงินหลักพันก็เลี้ยงได้

ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่า “เกษตรกรส่วนใหญ่พึ่งน้ำฝนธรรมชาติ ระบบเกษตรชลประทานมีไม่ถึง 23%” และยิ่งจากภาวะความแปรปรวนของสภาพอากาศในระยะที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ระบบชลประทานทั้งขนาดใหญ่และเล็ก อาจจะไม่สามารถใช้งานได้เต็มตามขีดความสามารถของระบบชลประทานนั้นๆ เนื่องจากมีปริมาณน้ำในระบบชลประทานน้อยกว่าศักยภาพกักเก็บ ทำให้ต้องจัดสรรน้ำระหว่างภาคส่วนอย่างระมัดระวังมากขึ้น และ อาจจะต้องการการจำกัดพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากไม่มีน้ำเพียงพอ 

นายบุญถึง สีสมพู อายุ 65 ปี เกษตรกรในตำบลท่าหลวง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชีมา ได้หันมาให้ความสนในการเลี้ยงแพะสู้ภัยแล้ง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ในรอบหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรต้องประสบกับปัญหาภาวะภัยแล้ง ดำเนินการปลูกพืชได้น้อยมาก หรือบางรายสามารถปลูกพืชได้แต่ก็ประสบปัญหาขาดทุน จึงต้องเลี้ยงปศุสัตว์ใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกพืช

นายบุญถึง เล่าให้ฟังว่า ตนเองนั้นเริ่มต้นเลี้ยงแพะจำนวน 45 ตัว เพราะแพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก มี 4 กระเพาะ สามารถกินใบไม้และพืชต่างๆ ได้มากกว่า 150 ชนิด สามารถให้ผลผลิตดีมาก แพะเพศผู้ สามารถใช้เป็นพ่อพันธุ์คุมฝูงได้เมื่ออายุ 8 เดือนขึ้นไป พ่อพันธุ์อายุ 1-2 ปี สามารถใช้คุมฝูงแม่แพะได้ 10-15 ตัว พ่อพันธุ์อายุ 2-5 ปี สามารถใช้คุมฝูงแม่แพะ 20-40 ตัว โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้พ่อพันธุ์คุมแพะ 3 ตัวต่อฝูงแม่แพะ 100 ตัว

ส่วนแพะเพศเมียอายุเฉลี่ย 8-10 เดือน ก็สามารถนำมาเป็นแม่พันธุ์แพะได้แล้ว เมื่อผสมพันธุ์แล้วแพะจะตั้งท้อง 5 เดือน ให้ลูกครั้งละ 1-2 ตัว ในหนึ่งปีแม่แพะจะให้ลูกได้ประมาณ 3 ตัว และการเลี้ยงแพะนั้นลงทุนน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์อื่น เพราะมีเงินแค่หลักพันก็สามารถเลี้ยงแพะได้แล้ว

ด้านการตลาดนั้นแพะถือว่ามีผลตอบแทนที่ดีมากจำหน่ายได้ทั้งนมแพะ เนื้อแพะซึ่งตลาดแพะของจังหวัดนครราชสีมา 70% จะถูกส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว เวียดนาม ส่วนที่เหลืออีก 30% จะส่งขายในกรุงเทพและภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมาปริมาณที่สามารถผลิตและจำหน่ายแพะ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทำให้มีรายได้ดีกว่าการทำนาปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากแพะกินใบกระถิน กินหญ้า ซึ่งสามารถหาได้ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องลงทุนซื้อ นายบุญถึง กล่าว

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2562