อ.ส.ค.หนุนเกษตรกรทำแปลงใหญ่ มุ่งลดต้นทุน-ยกมาตรฐานฟาร์ม

อ.ส.ค.หนุนเกษตรกรเลี้ยงโคนมแปลงใหญ่ ต่อยอดรูปแบบสหกรณ์ มุ่งลดภาระต้นทุนช่วยสมาชิก เร่งดันฟาร์มขนาดเล็กสู่ขนาดกลาง-ใหญ่ พร้อมยกระดับให้ได้มาตรฐานปี′60 ตั้งเป้า 400 ฟาร์ม ลั่นภายใน 5 ปีครอบคลุมทั้งระบบ

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า ปีนี้ อ.ส.ค.ได้มีแผนเร่งบูรณาการสนับสนุนการเลี้ยงโคนมภายใต้ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยมุ่งส่งเสริมพัฒนาต่อยอดรูปแบบการผลิตของสหกรณ์โคนมในพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. ให้เป็นรูปธรรมชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เบื้องต้นจะเร่งขับเคลื่อนโครงการยกระดับมาตรฐานฟาร์ม มีเป้าหมายพัฒนาฟาร์มโคนมของเกษตรกรสมาชิกให้ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอพี (GAP) จากกรมปศุสัตว์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 400 ฟาร์ม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความอย่างยั่งยืน และภายใน 5 ปีข้างหน้า จะผลักดันให้ยกระดับฟาร์มโคนมเข้าสู่มาตรฐานครอบคลุม 100% ซึ่งจะได้ผลผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานการรับซื้อ ทั้งยังมุ่งพัฒนายกระดับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบของสหกรณ์ขนาดเล็กและขนาดกลางให้ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) พร้อมขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับปริมาณน้ำนมดิบของเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันยังมีแผนเร่งจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การผลิตอาหารสำเร็จรูปทีเอ็มอาร์ (TMR) โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2560 เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหาร TMR ให้กับเจ้าหน้าที่สหกรณ์โคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการผลิตอาหารสัตว์คุณภาพดี พร้อมผลิตอาหาร TMR ป้อนให้กับสหกรณ์และผู้เลี้ยงโคนมที่ต้องการใช้อาหารดังกล่าว เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบต่อตัวโคนม และแก้ไขปัญหาองค์ประกอบน้ำนมดิบ ทำให้เกษตรกรได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพมาตรฐาน และขายได้ราคาดี

นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะเพิ่มขนาดฟาร์มโคนมภายในประเทศควบคู่ไปกับการสร้างระบบฟาร์มมาตรฐาน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยซึ่งมีมากกว่า 70% ของเกษตรกรทั้งหมด ที่มีจำนวนโครีดนมไม่เกิน 30 ตัว พัฒนาสู่ฟาร์มขนาดกลาง มีโครีดนมตั้งแต่ 30-50 ตัว หรือฟาร์มขนาดใหญ่ มีแม่โครีดนมในฟาร์มมากกว่า 50 ตัว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอ ช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพต่อไปได้

“ปัจจุบันการเลี้ยงโคนมของไทยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบสหกรณ์ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ถือว่าอยู่ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่อยู่แล้ว สามารถที่จะพัฒนาต่อยอดและขับเคลื่อนตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเช่าหรือใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการจัดการพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี เช่น ปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ปลูกข้าวโพด หรือผลิตอาหาร TMR รวมถึงการจัดหาปัจจัยการเลี้ยงโคนมจำนวนมากให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก และการใช้เครื่องจักรและเครื่องมือขนาดใหญ่ เป็นต้น สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรได้ โดยเฉพาะค่าอาหารข้นที่ใช้เลี้ยงโคนม เกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากสหกรณ์มีการผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรรายย่อยได้ค่อนข้างมาก” ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าว