ที่มา | เทคโนโลยีปศุสัตว์ |
---|---|
ผู้เขียน | สุพจน์ สอนสมนึก |
เผยแพร่ |
วันนี้เป็นอีกวันที่ได้พบปะพูดคุยกับคนมีอาชีพอิสระ คุณขจรศักดิ์ เบ็ญชัย อาชีพทนายความและเป็นอดีต ส.อบจ.สกลนคร เขตอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เจ้าตัวบอกว่า แม้จะมีอาชีพทนายความ และชอบทางการเมือง แต่สิ่งที่ไม่เคยทิ้งไปคือการทำนา ทำเกษตร เลี้ยงสัตว์ ที่พ่อแม่ และบรรพบุรุษ ยึดทำเป็นอาชีพหลัก และก็ได้ซึมซับเอาไว้ในตนเองตลอดเวลา เมื่อมีจังหวะและโอกาส ก็จะออกไปที่ทุ่งนา ป่าไม้ที่ซื้อหามาด้วยแรงกายของตนเองส่วนหนึ่ง
คุณขจรศักดิ์ ได้ทดลองปลูกพืชหลากหลายชนิดในที่ดิน เช่น มะนาว มะละกอ มะม่วง ตลอดจนทุเรียน จำนวนมากว่า 100 ต้น ปรากฏว่าทุเรียนรอดมาเพียงต้นเดียว จึงซื้อวัว เป็ด ไก่ มาเลี้ยง เป็นเกษตรผสมผสาน แต่ก็มักเดินทางไปศึกษาหาความรู้จากเกษตรกรรายอื่นๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการลงทุนทำเกษตร
โดยครั้งนี้คุณขจรศักดิ์ ได้ชวนไปศึกษาเกษตรแปลงใหญ่ด้านโคเนื้อ ที่บ้านตาดโตน ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ใช้พาหนะเป็นรถปิกอัพ (กระบะ) มุ่งหน้าจากจังหวัดสกลนคร ตามถนนสายสกลนคร-อุดรธานี ผ่านหมู่บ้านดงมะไฟ ที่เป็นหมู่บ้านปั้นเตา ราว 40 กิโลเมตร ผ่านตัวอำเภอพรรณานิคม และวิ่งมาอีก 15 กิโลเมตร เข้าอำเภอพังโคน ถึงสี่แยกอำเภอพังโคน ที่หลายคนเรียกกันว่า “แยกสองวา” หมายถึงไปอำเภอวาริชภูมิ และอำเภอวานรนิวาส เลี้ยวขวา มุ่งหน้าไปตามถนนสายพังโคน-จังหวัดบึงกาฬ ประมาณ 15 กิโลเมตร เข้าเขตอำเภอวานรนิวาส พอถึงบ้านศรีวิชัย เลี้ยวขวา ตรงกันข้ามกับ สภ.ศรีวิชัย ไปบ้านตาดโตน ตามถนนลาดยางอย่างดี 9 กิโลเมตร ถึงบ้านตาดโตน ตำบลหนองสนม ซึ่งหมู่บ้านตาดโตน มีถนนหนทางเชื่อมหลายด้าน เข้าได้ทั้งทางอำเภออากาศอำนวยและอำเภอพรรณานิคม เป็นหมู่บ้านที่ยังคงมีพื้นที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น
ได้พบกับ คุณจิตรดา การุณ อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 21 บ้านตาดโตน ผู้ช่วยเหรัญญิกของกลุ่ม พร้อมแนะนำตนและว่า ที่ดินตรงที่จัดทำแปลงใหญ่ เป็นที่ดินของตนเองมี 28 ไร่ แต่เดิม ทำเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีทุกอย่าง และต่อมาพัฒนามาทำเป็นเกษตรแปลงใหญ่ในด้านปศุสัตว์
จากสถานการณ์ในปัจจุบันการผลิตสินค้าเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันสูงทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และต้นทุนการผลิตสูง ทำให้เกษตรกรรายย่อยประสบปัญหาในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร ตลอดจนโอกาสการเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุนทรัพยากรและการตลาดได้น้อย และจากที่เกษตรกรรายย่อยต่างคนต่างผลิต ทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนการขาดการจัดการ การผลิต จึงทำให้เกิดการทำเกษตรแปลงใหญ่
จากสมาชิกกลุ่ม นำวัวมารวมกันและสร้างอาคารร่วมกัน ตลอดจนสะดวกในการดูแล โดยมีปศุสัตว์อำเภอและจังหวัดเข้ามาดูแล ในด้านตรวจสอบสุขภาพและโรคต่างๆ กับวัวที่นำมาเลี้ยงและในด้านเงินทุนจะเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลให้คำแนะนำทั้งวิชาการและการปฏิบัติ
การจดทะเบียนตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปศุสัตว์แปลงใหญ่โคเนื้อ (ด้วยหญ้าเนเปียร์) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 สมาชิกเข้าร่วมโครงการครั้งแรก 31 ราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการ 300 ไร่ ความต้องการสินเชื่อ 10 ล้านบาท
มี คุณสันติอโศก บุตรสุวรรณ เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งจะแบ่งผู้ดูแลด้านต่างๆ 7 ด้าน ดังนี้ ด้านโคเนื้อ นายคำสิงห์ เกษมศิลป์ ด้านแปลงหญ้า คุณชม ไขยพิคุณ ด้านอาหารสัตว์ คุณสุรศักดิ์ ขุมทอก ด้านเครื่องจักรกลการเกษตร คุณบุญจันทร์ แสนจันทร์ ด้านมูลสัตว์ คุณสะอาด เหลาแตว ด้านบัญชี คุณจิตรดา การุณ ด้านการตลาด คุณศรัณยพงศ์ การุณ
การบริหารกลุ่ม มีคณะกรรมการ จำนวน 15 คน
ขณะนี้ทางกลุ่มได้ทำเรื่องขอ จัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวภาพ ผลิตผลจากธรรมชาติส่วนผสมจากมูลโค และหญ้าเนเปียร์ ซึ่งอยู่ในช่วงยื่นเรื่องต่อทางรัฐบาล และทำเรื่องขอจัดซื้อที่ดินใกล้เคียงเพื่อเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวภาพ
ปัจจุบันมีโคที่เกษตรกรสมาชิกหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนมาดูแล จำนวน 120 ตัว และนอกจากนี้ กลุ่มยังมีการเสนอเพื่อขอจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวภาพ ผลิตผลจากธรรมชาติส่วนผสมจากมูลโค และหญ้าเนเปียร์ ซึ่งอยู่ในช่วงยื่นเรื่องต่อทางรัฐบาล เพราะเป็นการต่อยอดจากการเลี้ยงโค และที่สำคัญยังทำให้เกิดการประหยัดพลังงานด้วย
การพัฒนาจากศูนย์เรียนรู้มาเป็นเกษตรแปลงใหญ่ สภาพพื้นที่ในเขตอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำนา การปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นปศุสัตว์แปลงใหญ่ด้วยหญ้าเนเปียร์ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ 6 ตำบลมีการรวมกลุ่มเพื่อทำการปลูกพืชอาหารสัตว์ใช้เลี้ยงโคแม่พันธุ์ ผลิตลูกโคจำหน่ายเป็นการเพิ่มอาชีพการเกษตร สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำนา จึงตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปศุสัตว์แปลงใหญ่โคเนื้อด้วยหญ้าเนเปียร์ ขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล
โดยเกษตรกรรวมกลุ่มและเลี้ยงรวมกัน ซึ่งในแต่ละวันสมาชิกจะจัดเวรหมุนเปลี่ยนกันมาให้อาหารดูแล ตามที่มีการตั้งไว้…กรณีที่โคคลอดเป็นตัวเมียจะเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ หากเป็นเพศผู้จะส่งขายให้เกษตรกรรายอื่น นำไปเลี้ยงหรือส่งขายตามตลาดทั่วไป และโคที่ได้นำมาเลี้ยงจะเป็นลูกผสมชาโรเล่ส์ อเมริกันบราห์มัน กำแพงแสน
ลักษณะของกลุ่มจะเป็นการถือหุ้นร่วมกัน หุ้นละ 1,000 บาท ไม่มีการจำกัดจำนวนหุ้น กลุ่มมีแผนการโดยการดำเนินงานที่ชัดเจน มีเป้าหมายระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มจากปี 2560 และหากสิ้นสุดระยะเวลา 5 ปี
ประมาณการรายได้จากการขาย
– ฟางอัดก้อน 4,625.600 บาท
– ขายโครุ่น 5,463.840 บาท
– ขายหญ้าสด 6,148.000 บาท
– ขายอาหาร TMR 3,958.000 บาท
– ขายหญ้าหมัก 6,474,000 บาท
– ขายมูลโค 1,328,000 บาท
รวม 27,997,440 บาท
ชำระหนี้ ธ.ก.ส. 10,010,000 บาท
ยอดกำไรสุทธิของโครงการ 5 ปี 17,987,440 บาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มหรือเกษตรกรท่านใดอยากศึกษา สามารถติดต่อศึกษาดูงานได้ที่กลุ่มทุกวัน ประสานคุณสันติอโศก บุตรสุวรรณ ประธานกลุ่ม โทร. (082) 868-5504 หรือ คุณจิตรดา การุณ ผู้ช่วยเหรัญิกกลุ่ม โทร. (093) 468-8758