ส่องคนเลี้ยงหมู ในภาวะโรคอหิวาต์หมูระบาด ที่สกลนคร

ในภาวะที่โรค “อหิวาต์” หมูระบาดในหลายพื้นที่ วันนี้มีโอกาสแอบย่อง หรือ “ส่อง” ฟาร์มคนเลี้ยงหมูที่ไม่ยอมย่อท้อ

ขับรถจากตัวเมืองสกลนคร ไปตามถนนสายสกลนคร-อุดรธานี หรือที่มีชื่อว่า “ถนนนิตโย” ออกจากตัวเมืองผ่านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มุ่งหน้าไปตามเส้นทางอุดรธานี มาได้ประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ถึงบริเวณบ้านพาน ตำบลขมิ้น อำเภอเมืองสกลนคร พบลำคลองที่ไหลมาจากเขื่อนชลประทานน้ำอูน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนลำคลองที่เป็นลาดยางอย่างดี เป็นเส้นทางหลวงชนบท เลียบริมคลองได้ประมาณ 7-8 กิโลเมตร จึงเลี้ยวตรงป้ายที่บอกว่า เข้าวัดป่าลำห้วยนาคำ วิ่งมาตามถนนคอนกรีตประมาณ 3 กิโลเมตร ก็พบกับฟาร์มของ คุณพรสวรรค์ อ้วนอินทร์ วัย 49 ปี

ต้องสะอาด

ที่นี่จะได้กลิ่นเหม็นโชยมาทางลมเป็นระยะ แม้จะมีป่าไม้ที่ขึ้นหนาและป้องกันกลิ่นได้ดี แต่ก็ยังลอยอบอวล มาให้คลื่นเหียนอาเจียนได้

เมื่อทักทายกับคุณพรสวรรค์ เจ้าของฟาร์มที่กำลังง่วนอยู่กับการดูแลลูกหมู ที่ถูกส่งมาเลี้ยง ด้วยการพ่นยาฆ่าเชื้อและทำตามวิธีการก่อนที่จะนำลูกหมูเข้าคอก และสอบถามถึงกลิ่นที่ลอยตามลมมาให้ชวนอ้วกเวียนหัว ก่อนที่จะเข้าพูดคุย ในการเลี้ยงหมู

ป้องกันไว้ก่อน

ได้รับคำบอกเล่าว่า เป็นกลิ่นของเตาเผาขยะติดเชื้อ ที่มีเอกชนมาซื้อที่ดินแล้วตั้งรับจ้างเผาห่างไป ประมาณ 500 เมตร ป่าด้านหน้าฟาร์ม ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน ตลอดจนสัตว์เลี้ยงด้วย นอกจากนั้น ชาวบ้านบางรายก็มีอาการป่วย ช่วงนี้มีการแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้อง ให้หาทางดูแลช่วยชาวบ้าน และอยู่ระหว่างตรวจสอบ

 

คุณพรสวรรค์ เล่าว่า หมูที่เลี้ยงขุนเป็นของบริษัท เบทาโกร จำกัด โดยจะลงหมูครั้งละ 750-1,000 ตัว ก่อนเลี้ยง ต้องได้รับการไปอบรมทำความเข้าใจก่อน และในช่วงแรกก็กู้หนี้ยืมสินจากธนาคาร มาลงทุน ทั้งโรงเรือนและอุปกรณ์อื่น จำนวนมากพอสมควร จากนั้นก็สั่งลูกหมูมาขุน จำนวน 1,000 ตัว ผลจาการเลี้ยงตามระบบระยะเวลา หมูก็ได้ตามเกณฑ์ที่เขากำหนด ก็สามารถมีกำไรพอเลี้ยงตัวเองได้ ต่อมาเมื่อช่วงแรกหรือประมาณปีเศษ ได้มีการมาตั้งเตาเผาขยะติดเชื้อของเอกชน ลูกหมูรู้สึกจะมีอาการกระทบพอสมควร สังเกตได้จากการไม่กินอาหาร โตช้า ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดแม้จะให้อาหารเพิ่มก็ตาม จึงต้องทนมาระยะหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนไม่มีกลิ่น ก็พอมีกำไร เพราะลูกหมูขุนต้องดูแลอย่างดี

Advertisement

แม้จะมีการทำตามขั้นตอนนำลูกหมูเข้าสู่ฟาร์ม ด้วยการพ่นยา ล้างฉีดพ่น จึงนำเข้าฟาร์มแล้วก็ตาม

กรณี โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Africa Swine Fever : ASF) ที่นี่จะยึดหลักป้องกัน คือ

Advertisement

อาหารหมู มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีระบบมาตรฐานทั้งการผลิตและการป้องกันโรคของโรงงานที่ดี (แยกรถขนส่งอาหารตามสถานะฟาร์ม มีระบบพ่นยาฆ่าเชื้อรถที่เข้าออกโรงงาน)

ทำอาหารเลี้ยงพนักงานฟาร์ม หรือทำกินเอง ป้องกันการนำเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากหมูจากแหล่งอื่นเข้าไปทำกินในฟาร์ม

มีระบบป้องกันและควบคุมสัตว์พาหะ เช่น รั้วฟาร์ม ตาข่ายกันนก/แมลง โปรแกรมกำจัดหนู เป็นต้น

มีระบบฆ่าเชื้อบุคคลโดยการอาบน้ำ เปลี่ยนชุดเข้าฟาร์ม และเปลี่ยนรองเท้าบู๊ตก่อนเข้าเล้าหมูทุกหลัง

มีระบบฆ่าเชื้ออุปกรณ์ ด้วยตู้ฆ่าเชื้อ UV และเช็ดด้วยสำลีแอลกอฮอล์ ก่อนนำเข้าฟาร์ม

คุณพรสวรรค์ อ้วนอินทร์

มีระบบฆ่าเชื้อรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็น บ่อดิ๊บล้อ โรงสเปรย์ จุดล้างรถ จุดจอดพักรถ เป็นต้น

มีเล้าขาย/จุดขายที่ฟาร์ม ตามผลิตภัณฑ์ที่มีขาย เช่น จุดหย่านม จุดส่งแม่คัดทิ้ง จุดขายหมูขุน ควรแยกออกมาจากเล้าเลี้ยงอย่างน้อย 100 เมตร รถมารับหมูต้องล้าง ฆ่าเชื้อ และพักโรคตามกำหนดก่อนย้ายหมูขึ้นรถ

มีเล้าขายกลาง สำหรับส่งหมูให้ลูกค้าหมูขุนและแม่คัดทิ้ง หรืออาจเป็น จุดล้างรถกลาง (truck station) ฆ่าเชื้อรถที่ไปส่งหมูให้ลูกค้า กรณีไม่มีเล้าขายกลาง

กักโรคหมูทดแทนไว้ที่เล้ากักโรค (isolation) ห่างจากเล้าเลี้ยง 100 เมตร หรืออยู่นอกฟาร์ม เพื่อกักและตรวจโรคก่อนนำเข้าฝูง หรือ ควรมีการทดแทนตัวเองแบบปิดฝูง (Herd closure)

พวกผมสุขภาพดีครับ

มีระบบน้ำบาดาล บ่อพักน้ำ และการบำบัดน้ำก่อนใช้

มีการทำลายซาก รก โดยทิ้งในบ่อทิ้งซาก หรือทำระบบย่อยสลายซาก เพื่อสุขอนามัยที่ดีในการจัดการของเสียของฟาร์ม

โรค ASF นี้ จะเข้าหรือไม่คาดเดาไม่ได้ แต่ที่นี่ดูแลหมูให้มีคุณภาพ

ในเรื่องสิ่งแวดล้อมกลิ่นเหม็นนั้นที่นี่ไม่มีปัญหา มีการดูแลเป็นอย่างดี สิ่งที่อยากได้ปัจจุบัน เรื่องราคาหมูและหัวอาหาร ตลอดจนการช่วยเหลือในเรื่องตลาด เพราะปัจจุบัน เกษตรกรพออยู่ได้หรือเสี่ยงไปที่ขาดทุน

จากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยกระทบไปทุกพื้นที่ และเห็นว่าที่โดนหนักคงหนีไม่พ้นพี่น้องเกษตรกร ที่บอกได้เลยว่าชีวิตของแต่ละคนแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะเจ็บปวดรวดร้าวทุกวงการ ทั้งปาล์ม ยาง สุกร ไก่ฯ

จากผลผลิตสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ต้นทุนไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นไป

สิ่งที่เกษตรกรทำได้คือลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายบริหารจัดการฟาร์ม ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต้องตัดทิ้งทั้งหมดเพื่อความอยู่รอด

อาหารคุณภาพ

คุณพรสวรรค์ กล่าวว่า ข้อดีของรูปแบบ รับจ้างเลี้ยงหมูกับ บริษัท เบทาโกร จำกัด ว่าตนเองเคยทำอาชีพเกษตรหลายอย่างแม้แต่การเลี้ยงหมู จึงคิดว่าเราเติบโตมาจากพ่อแม่เราทำเกษตรมานาน จึงตัดสินใจเลี้ยงหมูอย่างจริงจังและถาวร จึงได้หันทำมาตั้งแต่บัดนั้น

การรับจ้างเลี้ยงลดขั้นตอนการจัดการมากมาย ตลอดจนต้นทุนที่ทางเจ้าของฟาร์มแบกรับไปได้มาก ซึ่งทางบริษัทจะช่วยลดต้นทุนไปได้ทุกเรื่อง อาทิ อาหาร ยา หมอช่วยดูแล ตลอดถึงเวลาจับ ทางบริษัทพร้อมจะส่งทีมงานเข้ามาจับถึงหน้าฟาร์มทันที ภายใต้กระบวนการจับและระบบที่มาตรฐาน

ฝากถึงเกษตรกรที่เลี้ยงหมูว่า ไม่ว่าท่านจะเลี้ยงสุกร (หมู) ในรูปแบบใด ประกันราคา หรือรับจ้างเลี้ยงก็ตาม หัวใจสำคัญที่สุดคือตัวชี้วัดความสำเร็จอยู่ที่การบริหารการจัดการ และการมีวินัย ของเจ้าของฟาร์มนั่นเอง โดยส่วนตัวทั้งรูปแบบมันก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย

“การทำฟาร์มปศุสัตว์ ก็เหมือนการลงทุนรูปแบบหนึ่ง การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ขอให้เกษตรกรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบรอบด้านให้ดีเสียก่อนร่วมธุรกิจ จะได้ไม่เสียใจภายหลัง” คุณพรสวรรค์ กล่าวและบอกว่า ยินดีให้ข้อมูลและคำปรึกษาสำหรับเกษตรกรผู้สนใจกับการเลี้ยงสุกร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พรสวรรค์ฟาร์ม โทร. (088) 023-4771 ทุกวัน