เกษตรกรสระบุรี เลี้ยงแพะแบบเน้นปลอดโรค แพะแข็งแรง สุขภาพดี ตลาดต้องการ

ลูกแพะขนาดพร้อมขาย

ปัจจุบัน กระแสการเลี้ยงแพะกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการเนื้อแพะสูง จึงมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเลี้ยงแพะอย่างต่อเนื่อง อาจเรียกได้ว่าการตลาดของสัตว์ชนิดนี้ยังมีอนาคตที่สดใส ขอเพียงมีการจัดการให้เป็นไปตามระบบและได้มาตรฐาน

คุณพงศณกร บุญมาเลิศ อยู่บ้านเลขที่ 245 หมู่ที่ 2 ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นเกษตรกรที่สนใจในเรื่องการเลี้ยงแพะ โดยได้มีการพัฒนาในเรื่องการผสมพันธุ์ด้วยเทคนิคใหม่ๆ ที่มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้แพะปราศจากโรคและมีความแข็งแรง จัดว่าเป็นฟาร์มที่มีความปลอดโรคกันเลยทีเดียว 

คุณพงศณกร บุญมาเลิศ

ออกจากเมืองกรุง ผันชีวิตสู่เกษตรกร

คุณพงศณกร ชายผู้มากด้วยรอยยิ้มเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีอาชีพเป็นหนุ่มออฟฟิศอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาเริ่มรู้สึกว่างานด้านนี้ไม่ใช่ทางของชีวิตที่จะอยู่จนครบอายุเกษียณ จึงได้ตัดสินใจที่อยากจะกลับมาทำอาชีพอื่นที่ต่างจังหวัด ซึ่งสภาพอากาศและวิถีชีวิตน่าจะมีความสุขในแบบที่ต้องการมากกว่า

“ช่วงที่ผมยังทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะออกมาอยู่ที่สระบุรีเต็มตัวเมื่อ 4 ปีก่อน ช่วงที่เป็นวันหยุดผมก็จะใช้เวลาว่างในช่วงนี้ มาปลูกไม้ผลต่างๆ และคิดอยู่ในใจว่าเมื่อออกมาที่นี่แล้วก็จะทำอาชีพทางการเกษตรคือการปลูกผักออร์แกนิก เพื่อที่จะได้มีผักไร้สารพิษไว้กิน ส่วนที่เหลือเราก็ขายเอามาขายสร้างรายได้ ซึ่งไม้ผลเองก็สามารถเก็บลูก ตอนกิ่งขายได้เช่นกัน” คุณพงศณกร เล่าถึงที่มา

เมื่อได้ลาออกจากงานมาทำเกษตรอย่างที่ใฝ่ฝันแล้ว ต่อมาได้มีความสนใจที่อยากจะนำแพะมาเลี้ยงผสมผสานกับพื้นที่เกษตรของเขาด้วย ซึ่งแพะที่จะนำมาเลี้ยงได้มาจากคุณพ่อของภรรยาได้เลี้ยงไว้อยู่ก่อนแล้ว ผลปรากฏว่าการเลี้ยงแพะประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

 

เน้นผสมพันธุ์ ด้วยวิธีผสมเทียม

การเลี้ยงแพะให้ประสบผลสำเร็จนั้น คุณพงศณกร บอกว่า ไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ เพียงแต่จัดสรรพื้นที่และหาแหล่งอาหารให้เพียงพอก็สามารถเลี้ยงได้ โดยที่ฟาร์มของเขาก็ใช้วิธีการล้อมคอกเพื่อเป็นโรงเรือนสำหรับนอน และมีพื้นที่บางส่วนเป็นที่สำหรับวิ่งเล่น จะทำให้แพะเหมือนได้ออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงมากขึ้น

หญ้าเนเปียร์ที่ปลูกไว้เองบริเวณบ้าน

“พอเรามีพื้นที่สำหรับเลี้ยงที่จัดสรรเรียบร้อยแล้ว เราจะเลี้ยงให้เขาได้อายุพร้อมผสมพันธุ์ได้เลย ซึ่งอาหารที่ให้กินส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวก หญ้าเนเปียร์ ข้าวโพดหมัก และก็จะให้กินเปลือกถั่วเหลืองด้วย สลับกันไป เพราะถ้าให้กินซ้ำๆ มากไปแพะก็จะมีอาการเบื่อ ซึ่งที่ฟาร์มก็จะให้กินอาหารวันละ 2 มื้อ ส่วนแม่พันธุ์ที่ตั้งท้องก็จะมีเพิ่มอาหารให้กว่าปกติเล็กน้อย” คุณพงศณกร กล่าว   

พื้นที่สำหรับวิ่งเล่น

เมื่อแพะเริ่มได้อายุผสมพันธุ์จะติดต่อให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาดำเนินการผสมพันธุ์ให้ โดยจะใช้วิธีการสมัยใหม่ที่ต่างจากสมัยก่อนที่ไม่เน้นให้พ่อแม่พันธุ์ผสมกันเองตามธรรมชาติ เพราะแพะจะเกิดปัญหาในเรื่องของเลือดชิด จึงทำให้แพะมีความอ่อนแอและการเจริญเติบโตได้ไม่ดี

คุณพงศณกร บอกว่า เมื่อได้ติดต่อประสานงานกับทางสำนักงานปศุสัตว์ไว้ โดยให้ฟาร์มเลี้ยงแพะเป็นไปตามฟาร์มมาตรฐานปลอดโรค โดยแพะที่เลี้ยงภายในฟาร์มส่วนใหญ่จะเป็นแพะตัวเมียทั้งหมด เมื่ออายุของแพะครบกำหนดที่สามารถผสมพันธุ์ได้ ก็จะติดต่อให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาทำการผสมเทียม ซึ่งวิธีการจะทันสมัยโดยจะส่องกล้องเข้าไปภายในมดลูก จากนั้นจะผสมน้ำเชื้อเข้าไปภายในรังไข่

การยิงน้ำเชื้อเข้ารังไข่

“หลังจากผสมเทียมเสร็จแล้ว รออีกประมาณเดือนครึ่งเจ้าหน้าที่จะมาอัลตราซาวนด์ เช็กดูว่าติดลูกไหม เมื่อเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหา เขาก็สามารถกำหนดวันคลอดที่แน่นอนได้เลย บวกลบอย่างน้อยไม่เกิน 3 วัน ซึ่งการผสมพันธุ์ด้วยวิธีการผสมเทียมแบบนี้ เราสามารถควบคุมช่วงเวลาให้แพะคลอดลูกได้ โดยไม่ให้คลอดในช่วงฤดูฝน เพราะลูกแพะจะเจ็บป่วยได้ง่าย” คุณพงศณกร บอกถึงข้อดีของการผสมเทียม

ภายโรงเรือนสำหรับหลบแดดหลบฝน

ซึ่งการผสมเทียมในลักษณะนี้ คุณพงศณกร บอกว่า สามารถเลือกสายพันธุ์ที่ต้องการผสมได้ตามใจชอบ เพื่อให้ภายในฟาร์มมีแพะหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น อยู่ที่ความพอใจว่าต้องการสายพันธุ์ใดบ้าง

ลูกแพะขนาดพร้อมขาย

เมื่อแม่พันธุ์ตั้งท้องจนจะครบ 150 วัน จะเป็นช่วงเวลาที่ต้องเฝ้าอยู่ใกล้ชิดจนกว่าแพะจะคลอด เมื่อคลอดออกมาแล้วต้องจับให้ลูกแพะกินนมเหลืองของแม่ทันที และให้อยู่กับแม่แพะเป็นเวลา 24 ชั่วโมงภายในห้องคลอด หลังจากนั้น จึงย้ายมาอยู่ที่ห้องรวมที่มีฟางรองพื้นให้ความอบอุ่น เลี้ยงให้ลูกแพะมีอายุประมาณ 3 เดือน ก็จะมีพ่อค้ามาติดต่อขอซื้อถึงฟาร์ม ซึ่งถ้าลูกค้าต้องการอายุน้อยกว่านี้ก็สามารถขายได้ แต่ต้องนำไปป้อนนมเองจนกว่าลูกแพะจะหย่านม

อาหารที่ให้แพะกิน

ในเรื่องของการดูแลรักษาโรค คุณพงศณกร บอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วงหรือกังวลในเรื่องนี้ เพราะที่ฟาร์มได้มีการตรวจเลือดให้กับแพะตลอด จึงทำให้สามารถควบคุมในเรื่องของโรคได้อย่างทันท่วงที และปฏิบัติตามหลักการที่ทางสำนักงานปศุสัตว์วางแผนไว้ให้

           

ขายผ่านออนไลน์ ให้กับผู้ที่สนใจในเฟซบุ๊ก

เนื่องจากแพะที่ผสมเทียมทั้งหมดของคุณพงศณกรสามารถกำหนดวันคลอดที่แน่ชัดได้ ซึ่งการขายนอกจากจะมีพ่อค้ามาซื้อถึงที่ฟาร์มแล้ว เขายังได้มีการทำตลาดออนไลน์โดยจะแจ้งให้ผู้ที่สนใจทราบเป็นระยะว่าแม่พันธุ์ได้มีการผสมเทียมเรียบร้อยแล้ว เมื่อลูกแพะคลอดออกมาก็จะถ่ายรูปลงโชว์ให้ลูกค้าดูเพื่อตัดสินใจในการจับจองด้วย

“ลูกค้าที่มาติดต่อขอซื้อนี่ก็หลากหลาย บางคนชอบแบบลูกเล็กๆ ไปให้นมเอง บางคนก็เอาที่อายุ 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งราคาของลูกแพะที่ขายอย่างอายุ 1 เดือน ราคาก็จะอยู่ที่ตัวละ 1,000 บาท อายุ 2 เดือน ก็อยู่ที่ 2,000 บาท ราคาเรียกได้ว่าตามเดือน บางทีลูกค้าบางคนเขาก็ไม่อยากรอนาน ที่จะให้ลูกแพะที่ซื้อไปโตจนสามารถผสมพันธุ์ได้ เขาก็จะซื้อแม่พันธุ์ที่ตั้งท้องแล้วที่เหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนจะคลอด เราก็มีขายให้อยู่ที่ตัวละ 8,000 บาท เพราะได้ทั้งแม่และลูกเลยพร้อมๆ กัน” คุณพงศณกร บอกถึงเรื่องราคา

รีดนมแพะนำไปแปรรูป

เนื่องจากแพะที่คุณพงศณกรเลี้ยงมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะมีแพะที่สามารถรีดนมได้ด้วย ก็จะทำการรีดต่อตัวได้น้ำนมประมาณ 2 กิโลกรัม ต่อตัว โดย 1 วัน รีดประมาณ 10 ตัว น้ำนมแพะที่ได้ทั้งหมดจะมีประมาณ 20 กิโลกรัม ต่อวัน ซึ่งเขาได้มีการทำตลาดเพิ่มเติมคือส่งขายให้กับแหล่งที่รับซื้อน้ำนมแพะ และอีกส่วนหนึ่งจะนำมาทำการแปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น ทำเป็นขนมคุกกี้ และเป็นเครื่องสำอางจากนมแพะ

ผลิตภัณฑ์จากนมแพะ

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ แต่ยังไม่มีทิศทางการดำเนินการว่าต้องทำอย่างไรบ้าง คุณพงศณกร มีคำแนะนำว่า

“สำหรับคนที่มองว่าการเลี้ยงแพะเป็นเรื่องยาก ผมอยากให้มองกลับกันว่า ถ้าเราสามารถเลี้ยงสุนัขหรือแมวได้ เรื่องการเลี้ยงแพะก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยาก แต่ขอให้เริ่มจากซื้อสายพันธุ์ที่เป็นแพะปลอดโรคมาเลี้ยง ซึ่งอาจจะมีราคาที่แพงหน่อย แต่เราจะเดินก้าวแรกแบบไม่ผิดพลาด ซึ่งเดี๋ยวนี้ทางปศุสัตว์ก็มีข้อมูลที่ดี โดยเราไปขอเรื่องคำปรึกษาได้ เสร็จแล้วเราก็มาเลี้ยงตามที่เขาแนะนำ เท่านี้การเลี้ยงแพะก็จะประสบผลสำเร็จได้ และอาจเป็นงานที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างดีแน่นอน”

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพงศณกร บุญมาเลิศ ที่หมายเลขโทรศัพท์ (061) 651-4495, (082) 862-6243