ศูนย์วิจัยสัตว์ฯ พะเยา ปรับปรุงพันธุ์ “ควายน้ำว้า” สัตว์พื้นถิ่นน่าน หลังเกษตรกรเลี้ยงแบบเลือดชิด

นายชยุต ดงค์ปาลีธรรม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์พะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ทางศูนย์ได้เข้าไปอนุรักษ์และพัฒนาควายน้ำว้า ซึ่งเป็นควายที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณแม่น้ำว้า จังหวัดน่าน ในพื้นที่อำเภอนาน้อย อำเภอบ่อเกลือ อำเภอสันติสุข อำเภอแม่จริม และอำเภอเวียงสา เป็นควายพื้นถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะ สามารถปรับตัวเข้ากับการเลี้ยงบนภูเขาได้ มีโครงสร้างใหญ่ ให้เนื้อดี แต่ในระยะหลังเกษตรกรเลี้ยงเป็นฝูงเล็ก ทำให้ลูกที่ออกมามีลักษณะ “เลือดชิด” ทางศูนย์จึงได้เข้าไปให้ความรู้ในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ โดยมีการสลับพ่อพันธุ์

นายชยุต กล่าวว่า จำนวนควายน้ำว้าเริ่มน้อยลง อีกทั้งคุณภาพลักษณะไม่ดี จึงต้องเปลี่ยนพันธุกรรม โดยนำน้ำเชื้อควายพันธุ์ดีที่ปรับปรุงพันธุ์แล้ว น้ำหนักตัวเป็นตันจากจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดอุทัยธานี ไปผสม พอเกิดลูกออกมาจะต่างจากลูกควายที่เลี้ยงกันอยู่เดิม และหากได้ตัวผู้ก็จะใช้เป็นพ่อพันธุ์ในฝูงต่อไป

นายชยุต กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ทางศูนย์ยังเข้าไปพัฒนาสายพันธุ์ของวัวที่น่าน เพราะที่น่านมีปัญหาคือ การทำลายภูเขา ทำลายป่า โดยการปลูกข้าวโพด เกษตรกรจะปลูกอะไรก็ได้หากขายแล้วได้กำไร ซึ่งข้าวโพดง่ายสุดและมีตลาดรับซื้อแน่นอน จึงเปิดป่าไปเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลมีนโยบาย “วัวแลกป่า” มีวัวหลายพันตัวไปที่น่านให้เกษตกรเอาไปแทนการทำไร่ข้าวโพด โดยปลูกเป็นป่าไผ่ซาง ทำให้ขยายพื้นที่ป่าไผ่ ส่งผลให้ต้นน้ำกลับคืนมา

“อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ 1. วัวที่เกษตรกรได้รับเป็นวัวฝูง บางตัวไม่สมบูรณ์ 2. เกษตรกรไม่มีความรู้เรื่องเลี้ยงวัวมาก่อน เพราะถนัดทำไร่ จึงเป็นปัญหาว่านำวัวไปล่าม ไม่ไปผสมพันธุ์ หรือผสมไม่ติด ทำให้เกษตรกรเริ่มท้อ ทางศูนย์จึงเข้าไปอบรม ไปปรับปรุงพันธุ์นำน้ำเชื้อไปให้ รวมถึงแร่ธาตุ ยาบำรุง และแนะนำวิธีเลี้ยง ให้ผลิตลูกได้ทุกปี เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเหล่านั้นกลับไปบุกรุกป่าอีก”