มงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ อดีตนายกสมาคมไก่ไข่ ชีวิตพลิกผันจากช่างตัดเสื้อ สู่อาณาจักรฟาร์ม “ชุนเซ้ง” บ้านนา ยกย่องประธานซีพีเป็นไอดอล อาชีพเลี้ยงสัตว์

อาชีพเลี้ยงไก่ไข่ผ่านพ้นมากว่ากึ่งศตวรรษ ที่คนไทยเลี้ยงมาสมัยก่อน เพื่อให้คนไทยรู้จักการบริโภคไข่ไก่ มาทดแทนไข่ไก่พื้นบ้านที่เริ่มลดน้อยลง เพราะไข่ไก่มีคุณค่าอาหารสูง ไม่เป็นที่นิยมของคนไทยนัก

ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่สมัยก่อนเลี้ยงกันกระจายไปทั่วไทย แต่จำนวนเลี้ยงยังมีน้อย ฟาร์มละ 500-1,000 ตัว ใหญ่สุดน่าจะถึง 5,000 ตัว กรงไก่ใช้ไม้ระแนง ทำมาจากต้นไม้ยาง เป็นกรงสี่เหลี่ยม ราคาถูก กรงละหนึ่งตัว อาหารมาผสมกันเองเพื่อเลี้ยงไก่ ราคาไข่ฟองละไม่ถึงบาท หรือขายปลีกก็เพียงบาทเดียวต่อฟอง

หนุ่มบ้านนา กับสาวปากน้ำ แห่งฟาร์ม “ชุนเซ้ง”

วิวัฒนาการการเลี้ยงไก่ไข่เจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำไก่พันธุ์ไก่ไข่ดีๆ มาแนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงควบคู่กับอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ยาสัตว์ อุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ที่ทันสมัยเริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้อาชีพเลี้ยงไก่ไข่รู้จักกันมากขึ้น

ในขณะที่ตลาดไข่ไก่ยังมี “ล้ง” หรือคนกลาง เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรับซื้อไข่ไก่จากฟาร์มเกษตรกรในลักษณะเอื้ออารีต่อกัน “ล้ง” มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงไก่ไข่มาก เพราะเป็นพ่อค้านายทุนให้เกษตรกรที่ขัดสนเงินลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ก็ต้องอาศัย “ล้ง” ให้ยืมทุนไปทำกินก่อน และหักราคาไข่ไก่กันทีหลัง ที่ผู้เขียนเคยศึกษาเรื่องนี้มาก่อน

คุณมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ อดีตนายกสมาคมผู้ค้า ผู้ผลิต และส่งออกไข่ไก่

เกษตรกรบางรายก็ยังนิยมอาศัย “ล้ง” เป็นนายทุน เงินกู้ เพราะไม่รู้จักแหล่งกู้จากนายทุนที่ไหน จะมาพึ่งธนาคารก็จะมีขั้นตอนแสนยุ่งยาก

ไม่แปลก! ราคาไข่ไก่ในสมัยก่อน “ล้ง” เป็นผู้กำหนดราคา เพราะไม่ต้องมีฟาร์มไก่ไข่ ถึงมีก็ไม่มาก แต่ลูกค้าเงินกู้จากล้งมีจำนวนมากที่สุดพอที่จะแผ่อิทธิพลตลาดไข่ไก่ได้ แม้ว่าจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่มาอุ้มราคาประกันรับซื้อไข่ไก่คืน ก็ยังมีกำลังน้อยกว่า “ล้ง” ว่างั้นเถอะ!!

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะผู้เขียนเคยศึกษาเรื่องตลาดสัตว์ปีกไก่ไข่ เป็ดไข่ ที่ยังมีตลาดย่านเพชรบุรีตัดใหม่ จนถึงเจริญผล สามย่าน ประตูน้ำ เมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินงานศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์ของอาชีพคนเลี้ยงสัตว์ และของทางราชการไว้เป็นข้อมูล

สีฟองไข่สด ใส เป็นที่นิยมของตลาดไข่ไก่ ที่ผู้บริโภคต้องการ

ปัจจุบัน ความเจริญการเลี้ยงไก่ไข่กลายเป็นอุตสาหกรรมแล้ว ความทันสมัยของเรือนโรงไก่เป็นเล้าอีแว้ป มีอุปกรณ์ทันสมัย เครื่องเก็บไข่ กรงขังไก่ไข่ เป็นไปตามอัตโนมัติ แม้แต่ที่ให้น้ำไก่ อาหารสัตว์ เป็นการประหยัดแรงงานคนอีกต่างหาก

ขนาดฟาร์ม ต้องพูดเป็นแสนเป็นล้านตัวต่อฟาร์ม มีพนักงานและนักวิชาการ สัตวแพทย์ สัตวบาล ทุกฟาร์มของภาคเอกชน แต่ละฟาร์มยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง ระบบฟาร์มเหมือนบริษัทเอกชนทุกอย่าง มีบ้านพัก อาหารพร้อม คนทำงานอบอุ่นใจ มีรายได้มั่นคง ความเจริญก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง มีแต่จะต่อยอดขึ้นไป

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ อดีตนักบุกเบิกฟาร์มสัตว์เลี้ยงที่ชาวไก่ไข่ยกย่อง เป็นไอดอลนำประโยชน์มาให้วงการเลี้ยงสัตว์

จำนวนไก่ไข่ทั้งประเทศ ประมาณ 50 ล้านตัว มีผลผลิตวันละ 44-45 ล้านฟอง ต่อวัน มีคณะกรรมการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดตั้งเป็น “เอ็กซ์บอร์ด ควบคุมการผลิตและจำหน่ายไข่ไก่ไม่ให้ล้นประเทศ ซึ่งจะมีการควบคุมพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ได้พอดีกับการผลิตและการบริโภคไข่ที่บางครั้งหากไข่ล้นไปราคาไข่ตก คนเลี้ยงขาดทุน ปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ ทั้งด้านภาวะอากาศ โรงเรียนปิดเทอม ฤดูกาลไม่เหมือนกัน และปริมาณไก่ไข่มากเกินไปหรือเปล่า เหล่านี้จะเป็นปัญหาของอาชีพเลี้ยงไก่ไข่

ผู้ที่มีบทบาทและแก้ไขปัญหาเรื่องไก่ไข่จนเบาบางลงนั้น ก็จะมีตัวแทนของคนมีอาชีพ ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ที่เลือกตั้งกันมาในฐานะนายกสมาคม ผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ไทย ที่เข้ามาบริหารองค์การนี้มาหลายสมัย ที่น่าจะนำมาประวัติให้ฐานะตัวแทนคนเลี้ยงไก่ไข่ทั้งประเทศจะเลี้ยงกันอยู่เป็นจำนวนมากนั้นก็คือ

อดีตกำนัน ชำนิ สุขสงวน กับป้าอุบล แห่งฟาร์มทรายมูล วัย 90 ปี แห่งบางตีนเป็ด แปดริ้ว รุ่นบุกเบิกฟาร์มไก่ไข่จนมีทายาทสานต่อ

คุณมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ แห่งฟาร์ม “ชุนเซ้ง” บ้านนา จังหวัดนครนายก แหล่งผลิตไข่ไก่ที่เทียบเท่าแปดริ้ว

ถึงแม้ว่าจะเคยพบกันมาเกือบ 10 ปี ที่รู้จักกันมาและถามถึงประวัติแล้วก็ทราบกันว่า อาชีพเก่าของนายกมงคล หรือเฮียคี้ ไม่ธรรมดา ที่มีชีวิตพลิกผัน ตัดสินใจเบนเข็มชีวิตมาเลี้ยงสัตว์ได้อย่างไร ลองอ่านประวัติเขาดู น่าสนใจมาก

ฟาร์มสุกร ชุนเซ้งฟาร์ม

ผู้เขียนถามถึงความเป็นมาในชีวิตเฮียคี้ หรือนายกคี้ ชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้

“ผมเกิดที่อำเภอบ้านนา มีเชื้อสายทางจีน พ่อแม่ขายของโชห่วย ไม่ร่ำรวย เลี้ยงครอบครัวได้ เมื่อถึงวัยหนุ่ม พ่อแม่เห็นว่าเริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว หลังจบชั้น ป.4 ไม่กี่ปี พ่อแม่เลยส่งไปที่ปากน้ำ สมุทรปราการ เป็นญาติกัน มีร้านตัดเสื้อผ้าอยู่ด้วย หวังให้ผมไปเรียนตัดเสื้อผ้าชาย ผมก็ยินดีไปเรียนตามพ่อแม่สั่ง”

อดีตนายกไก่ไข่เล่าถึงความหลังเมื่อกว่า 30 ปีให้ฟัง

คุณมงคล (คี้) พิพัฒสัตยานุวงศ์ สมัยดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมไก่ไข่ ราคาไข่ถูกลงและล้นตลาด มาร้องทุกข์ที่อาคารรัฐสภากับคณะสมาคม

“ในที่สุดผมก็เรียนเป็นช่างตัดเสื้อชายเป็นแล้ว หลังเคยเป็นเด็กซินตึ๊ง (ฝึกงาน) หลายเดือน พยายามเล่าเรียนจนสามารถตัดเป็นได้ เริ่มมีรายได้ที่ญาติแบ่งเงินให้ใช้ หวังจะเก็บทุนมาเปิดร้านตัดเสื้อที่ “บ้านนา” บ้านเกิด เมื่ออยู่ไปนานๆ เห็นว่าเสื้อและกางเกงคนรุ่นใหม่นิยมซื้อจากห้างร้านใหญ่มาสวมใส่ แทนการมาตัดที่ร้านน้อยลง ผมเห็นว่าอนาคตอาชีพช่างตัดเสื้อ กางเกง จะเสื่อมความนิยมลง และในที่สุดวัยรุ่นและทุกวัยจะหันไปซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากห้างไปสวมใส่แน่เลย” เขาเลยตัดสินใจลากลับบ้านเพื่อไปปรึกษาพ่อแม่ดูเรื่องอาชีพที่ไปเรียนมาจนสำเร็จแล้ว

ก่อนจะกลับบ้าน สมัยอยู่ปากน้ำได้แอบไปมีแฟนชาวปากน้ำไว้แล้ว สัญญากับคนรักว่า เมื่อกลับไปบ้านนา นครนายก แล้วจะให้ผู้ใหญ่มาสู่ขอ รับรองไม่เบี้ยวแน่นอน สัญญาลูกผู้ชาย

ตำนานฟาร์มไก่ไข่สมัยปี 2508 ชื่อฟาร์มพันธุ์ทิพย์ นครปฐม มีจำนวน 5,000 ตัว ถือว่าเป็นฟาร์มขนาดใหญ่สุดของนครปฐมในสมัยนั้น

เมื่อกลับมาอยู่บ้าน ปรึกษากับพ่อแม่ดูว่าอยากเลี้ยงไก่ไข่ตามบรรดาพรรคพวกที่เขาเลี้ยงอยู่ และเริ่มเลี้ยงไก่เนื้อแบบเสรีดู โดยไม่ประกันราคา กลับเป็นเลี้ยงขาดทุนจนท้อแท้ สิ้นหวัง ทางตัวแทนบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์แนะนำให้เลี้ยงไก่ไข่ดู และประกันราคาไข่ไก่ด้วย ตนเองเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี เลยหันมาเลี้ยงไก่ไข่ดู และเริ่มจากน้อยมาหามาก ตัวแทนซีพีติดตามประเมินผลว่า มีฝีมือและเอาใจใส่ดีมาก เมื่อได้กำไรก็เก็บทุนไปขอคนรักที่ปากน้ำสำเร็จ แถมได้กำไรคนเพิ่มมาเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 1 คน เล่าแล้วชวนหัวเราะ เมื่อสาวปากน้ำไม่รังเกียจที่จะเลี้ยงไก่ไข่ช่วยอีกแรง

ตลอดระยะเวลาที่ผมทุ่มเทให้กับฟาร์ม ได้เคยไปพึ่ง คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ถึงที่บริษัท แนะนำให้ฟาร์มใช้เล้าไก่อีแว้ป แม้ว่าจะแพงแต่ก็คุ้มกับการลงทุน เพราะอากาศจะเย็นลง มีปริมาณไข่เพิ่มสูงขึ้น ไม่เสียหายเหมือนใช้พัดลมในเล้าไก่ จึงตัดสินใจเปลี่ยนเป็นเล้าอีแว้ปทันที แม้แต่เล้าสุกรที่เขาขยายฟาร์มตามคำแนะนำนักวิชาการจากเครือซีพี และมีการประกันซื้อคืนลูกสุกรด้วย เท่ากับเขามีความมั่นคงยิ่งขึ้น

นายสัตวแพทย์ประเทือง สุดสาคร อดีตผู้จัดการสำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์เลี้ยง เครือเจริญโภคภัณฑ์

“ผมเชื่อคุณธนินท์ แนะนำอะไรมาผมปฏิบัติตามหมด แม้แต่อาหารสัตว์ผมก็เชื่อถือ เพราะมีเล้าควบคู่กับไซโล เอารถอาหารสัตว์มาเทลงใส่ไซโลหน้าเล้าไก่ สะดวกและคุณภาพอาหารก็ดีด้วย ผมถือว่าประธานธนินท์เป็นไอดอลตัวอย่างของนักเลี้ยงสัตว์ทั่วไป ที่มีแต่ประโยชน์ ชี้นำแต่เรื่องทันสมัย มีเทคโนโลยีอะไรก็บอกหมด ผมว่าผมเกิดมาได้จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มาจากประธานซีพีแท้ๆ เลย ที่ผมมีวันนี้จนถึงปัจจุบัน” เขากล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ในที่สุดการมีฟาร์มที่ได้มาตรฐาน และเป็นแบบอย่างของการเลี้ยงไก่ไข่ ผมถูกเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไก่ไข่ไทย เข้าสู่นายกสมาคมมานานหลายสมัย และสร้างสิ่งดีงามให้กับวงการไก่ไข่ ยามล้นตลาดก็ดิ้นรนหาทางช่วยเหลือ เพราะบอร์ด หรือ “เอ็กซ์บอร์ด” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย ส่วนงานที่ฟาร์มมีภรรยาช่วยดูแล ลูกชายที่จบจากอเมริกามาสานต่อช่วยดูแลฟาร์ม เลยหายห่วงครับ

ฟาร์มไก่ไข่ชุนเซ้ง บ้านนา

บทบาทของนายกคี้ สร้างผลงานไว้มากมายสมัยเป็นนายกสมาคม การระบายไข่ล้นไปฮ่องกง การเข้าสภาเพื่อขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลให้ช่วยเหลือชาวไข่ไก่ที่ไข่ล้นตลาด การผนึกกำลังช่วยเหลือชาวเลี้ยงไก่ไข่ในยามลำบาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายกสมาคมไก่ไข่ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

แม้ว่าปัจจุบันเขาจะพ้นจากหน้าที่นายกสมาคมไปแล้วก็ตาม เขายังดูแลพรรคพวกเลี้ยงไก่ไข่และมีนัดสังสรรค์กันบ่อย ข่าวสารเรื่องไก่ไข่ยังคงติดตามกันอยู่เสมอ แม้ว่าบางโอกาสไข่ล้นตลาด ก็มีการประชุมปรึกษาหารือ หาทางลดพ่อแม่พันธุ์ลง เพื่อให้ปริมาณไข่ไก่สมดุลกับภาวะตลาด

คุณประเสริฐศักดิ์ องค์วัฒนะกุล อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟาร์มนครหลวง จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้วางรากฐานการตลาดไข่เมืองไทย ในฐานะผู้เจนจัดตลาดไข่ไก่

ตลาดไข่ปัจจุบัน “ล้ง” แทบจะหมดไปแล้ว มีแต่ละฟาร์มที่นำไปจัดจำหน่ายด้วยตนเอง แต่ละฟาร์มก็มีขาประจำของตัวเอง การระบายไข่ไก่เลยไม่มีปัญหาอะไรอีก

ทุกฟาร์มเตรียมตัวเหมือนกับบริษัทที่มีพนักงานบัญชี ส่งเสริม และดูแลฟาร์มคล้ายคลึงกัน แต่บางอย่างก็ต้องพึ่งทางบริษัทเรื่องอาหาร เวชภัณฑ์ ห้องแล็บ เป็นต้น ฟาร์มชุนเซ้งถือว่าเริ่มต้นมาดี และบริหารฟาร์มแบบมืออาชีพ

ก่อนจะกลับ ผู้เขียนได้พูดคุยเรื่องคนไทยบริโภคไข่ปีละกี่ฟอง เมื่อ 30 ปีกว่า คนไทยบริโภควันละ 116 ฟอง และขยับขึ้นมา 160 ฟอง ทั่วโลก อเมริกา ฮ่องกง ญี่ปุ่น และแถบประเทศยุโรป บริโภคไข่วันละ 300 ฟอง เป็นมาตรฐาน

ถึงยุคนายกคี้ คนไทยบริโภคมากและอาจจะได้ 300 ฟอง ต่อปี และดูจากปริมาณไข่ที่ผลิตออกมาวันละ 44 ล้านฟอง น่าจะเกิน 300 ฟอง ต่อปี ที่คนไทยหันมาบริโภคไข่ไก่มากขึ้น

นายกสมาคมได้รณรงค์ให้คนไทยบริโภคไข่ไก่ ซึ่งปัจจุบันวันละ 5-6 ฟอง ต่อวัน ก็ไม่เป็นอันตราย สำหรับผู้สูงอายุควรจะบริโภค 2 ฟอง ต่อวัน

ขอถามหน่อยเถอะ!! วันนี้คุณกินไข่แล้วหรือยัง?