ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
โคหรือกระบือเป็นสัตว์ที่ปัจจุบันไม่ได้ไว้ใช้ทำงานไถนาเหมือนเช่นสมัยก่อน แต่เป็นสัตว์เลี้ยงที่ทำเงินให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้เป็นอย่างมาก โดยมีการพัฒนาสายพันธุ์อยู่เสมอ จึงทำให้มีโครงสร้างและสายพันธุ์ที่ดี ซึ่งเกษตรกรที่อยู่ตามต่างจังหวัดมีการเลี้ยงแบบประหยัดต้นทุน ด้วยการนำโคเนื้อที่เลี้ยงไปออกหากินตามทุ่งหญ้า จึงทำให้การเลี้ยงเกิดการประหยัดต้นทุนมากขึ้น เพียงแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงลงแรงในการพาโคออกหากินเพียงเท่านั้น
คุณประสาน เรืองศิริ อยู่บ้านเลขที่ 32/1 หมู่ที่ 4 ตำบลไผ่ขอดอน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อโดยใช้แรงกายของตนเอง โดยจะสลับกับภรรยานำโคเนื้อที่เลี้ยงอยู่ภายในบ้าน ออกไปหาอาหารตามไล่ทุ่งบริเวณบ้าน และในทุกๆ เช้าจะนำอาหารที่หาเองตามท้องถิ่น อย่างเช่น ฟางข้าว ที่ได้จากทุ่งนาในบริเวณชุมชนมาให้โคเนื้อกิน จึงทำให้ประหยัดต้นทุนในการเลี้ยงมากขึ้น จึงทำให้โคเนื้อที่เลี้ยงสามารถสร้างเป็นอาชีพหลักเกิดรายได้หลักแสนบาทต่อปีเลยทีเดียว
คุณประสาน เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเริ่มเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งอยู่ก่อน ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงโคเนื้อประมาณปี 2548 สาเหตุที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงโคเนื้อนั้น ด้วยสมัยนั้นเกิดโรคระบาดในเป็ดไข่ จึงทำให้ต้องหยุดเลี้ยงเป็ดไข่และหาสัตว์อื่น อย่างเช่น โคเนื้อลูกผสม มาเลี้ยงแทน
“ช่วงนั้นพื้นที่นี้ยังไม่มีการเลี้ยงโคเนื้อมากนัก เราได้มีเพื่อนที่เขาเลี้ยงอยู่ก่อน ก็เลยได้คุยๆ กันและปรึกษามาเลี้ยงด้วยกัน พอเลี้ยงไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีการขยายพันธุ์และโคเนื้อก็มีจำนวนมากขึ้น จากแรกๆ เลี้ยงแค่ 5-6 ตัว ตอนนี้ก็มีแม่พันธุ์มากกว่า 20 ตัว โดยการผสมพันธุ์ส่วนใหญ่ก็จะเน้นผสมเทียม โดยเอาน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ดีมาทำการผสม พอได้ลูกออกมาเราก็ขายออกไปเรื่อยๆ สามารถทำรายได้หลักแสนต่อปี” คุณประสาน เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงโคเนื้อ
ในส่วนของการเลี้ยงโคเนื้อลูกผสมภายในฟาร์มนั้น คุณประสาน บอกว่า จะเน้นนำโคเนื้อออกไปหากินตามทุ่งหญ้าในชุมชนเป็นหลัก แต่ในช่วงเช้าก่อนพาออกจากฟาร์มจะให้โคได้กินฟางแห้งที่คอกเสียก่อน ซึ่งการเลี้ยงไล่ต้อนออกไปกลางทุ่งนั้นเขาและภรรยาจะสลับกันออกไปเลี้ยง โดยเน้นใช้แรงกายเป็นหลัก ส่วนในเรื่องของต้นทุนค่าอาหารนั้นไม่มี
สำหรับการผสมพันธุ์โคเนื้อเพื่อให้ได้ลูกโคสำหรับจำหน่ายนั้น คุณประสาน บอกว่า จะต้องให้แม่พันธุ์มีอายุอย่างต่ำอยู่ที่ 2-3 ปี จากนั้นจะติดต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่นำน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่ต้องการมาทำการผสมพันธุ์ให้ เมื่อผสมเทียมติดแล้วรอแม่พันธุ์ตั้งท้อง 9 เดือน ก็จะออกลูกมาให้เห็นในเวลาต่อมา
“ช่วงแม่โคตั้งท้องเราก็ไม่ได้ดูแลอะไรมาก ปล่อยพาไปเลี้ยงตามทุ่งหญ้าเหมือนเดิม แต่เมื่อแม่โคคลอดลูกโคออกมาแล้ว ช่วงแรกก็จะมีการฉีดยาบำรุงให้กับลูกโค จากนั้นก็ปล่อยให้ลูกโคกินนมได้ตามปกติ เดินออกไปกับแม่เวลาหากินตามไล่ทุ่งได้ปกติเลย เมื่อแม่โคตั้งท้องใหม่ๆ อีกครั้ง ลูกโคก็จะค่อยๆ หย่านม และเราก็เลี้ยงดูลูกโคได้ตามปกติ และเมื่อได้อายุที่เหมาะสมก็จะมีลูกค้าเข้ามาติดต่อขอซื้อถึงหน้าฟาร์ม” คุณประสาน บอก
ในเรื่องของการป้องกันโรคที่เกิดขึ้นกับโคเนื้อภายในฟาร์ม ยังไม่ค่อยเกิดโรคระบาดที่ทำให้โคเนื้อตายมากนัก ก็จะมีการทำวัคซีนตามที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาดำเนินการให้ ส่วนคอกโคที่เป็นโรงเรือนนอนก็จะมีการโรยปูนขาวบ้าง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อให้กับพื้นที่คอกไปในตัว
การทำตลาดสำหรับจำหน่ายโคเนื้อภายในฟาร์ม คุณประสาน เล่าว่า ช่วงแรกๆ จะติดต่อให้เพื่อนที่เลี้ยงโคด้วยกันมาซื้อไปก่อน แต่เมื่อเลี้ยงผ่านมาได้สักระยะ มีพ่อค้าที่รู้ว่าบ้านของเขามีการเลี้ยงโคเนื้อ จะทำการติดต่อมาเป็นระยะเพื่อขอซื้อโคภายในฟาร์ม โดยที่เขาไม่ต้องติดต่อหรือนำโคออกไปจำหน่ายยังที่อื่นๆ
“โคเนื้อที่เราเน้นขายออกจากฟาร์ม ก็จะเป็นตัวผู้เป็นหลัก ส่วนตัวเมียจะเก็บไว้เลี้ยงต่อเอง แต่ถ้าตัวเมียที่ให้ลูกไม่ดี เราก็จะขายออกไปเหมือนกัน อายุโคตัวผู้ที่ขายออกไปอายุตั้งแต่ 1-2 ปี ราคาต่อตัวอยู่ที่ 20,000 บาทขึ้นไป ส่วนตัวที่มีทรงสวยๆ สามารถนำไปเป็นพ่อพันธุ์ได้ ราคาเคยขายได้อยู่ที่ 50,000 บาทขึ้น โคที่นี่สามารถทำรายได้ให้หลักแสนต่อปี ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ เพราะเราใช้แรงงานเราเอง ส่วนต้นทุนอาหารอื่นๆ นั้นไม่มี” คุณประสาน บอก
นอกจากนี้ รายได้ที่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันได้อีกช่องทาง คือเงินที่ได้จากการจำหน่ายปุ๋ยคอก ราคาอยู่ที่กระสอบละ 25 บาท ซึ่งใน 1 เดือน สามารถจำหน่ายได้มากกว่า 100 กระสอบ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้สำหรับการเลี้ยงโคเนื้อ
สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงโคเนื้อเพื่อเป็นอาชีพสร้างรายได้นั้น คุณประสาน แนะนำว่า การเลี้ยงโคเนื้อให้ประสบผลสำเร็จนั้นต้องมีใจรักเป็นอย่างแรก รองลงมาเป็นเรื่องของความอดทน เพราะการเลี้ยงของเขาใช้แรงกายในการพาโคเนื้อออกไปหาอาหารกินตามท้องทุ่ง จึงไม่ได้มีต้นทุนในเรื่องของการซื้อหญ้าหรืออาหารอื่นๆ ให้กับโค แต่ต้องใช้แรงกายแรงใจในการพาโคเนื้อออกไปหาหญ้ากิน ส่วนในเรื่องการผสมเทียมและอื่นๆ ก็สามารถเรียนรู้และติดต่อให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือได้ เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วการเลี้ยงโคเนื้อก็จะสามารถสร้างเป็นอาชีพที่ยั่งยืนต่อไปได้
หากมีปัญหาหรือต้องการสร้างแรงบันดาลใจจากการเลี้ยงโคเนื้อ มีคำถามหรือต้องการพูดคุยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณประสาน เรืองศิริ หมายเลขโทรศัพท์ (088) 170-4773
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2563