ที่มา | เทคโนฯ ปศุสัตว์ |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
เผยแพร่ |
10 ปีมาแล้ว ที่คุณเรวัต พาดกลาง หนุ่มวัย 33 ปี ชาวตำบลจันอัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เริ่มเลี้ยงไก่
คุณเรวัต เรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาช่างเชื่อมโลหะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา หลังเรียนจบก็ใช้ชีวิตตามประสาคนหนุ่ม สมัครเข้าทำงานในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัด เมื่อเริ่มก่อร่างสร้างตัว ก็ต้องการหารายได้พิเศษเสริมจากงานประจำ ประกอบกับใจรักในสัตว์ปีก จึงคิดเลี้ยงไก่สวยงาม นำมาเพาะขยายพันธุ์ขาย มีรายได้เสริมเข้ามาจำนวนหนึ่ง
ไก่ดำ เป็นไก่ที่คุณเรวัตเลือก เนื่องจากเมื่อนับย้อนไป 10 ปีที่แล้ว ไก่สวยงามที่เป็นไก่ดำ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
“ผมทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ จึงใช้โอกาสนั้นนั่งค้นคว้าผ่านเว็บไซต์ต่างๆ และผมไม่เคยรู้ว่า หาแหล่งพันธุ์ไก่ดำในประเทศไทยได้ที่ไหน จึงตัดสินใจสั่งนำเข้าไข่ไก่ดำผ่านเว็บไซต์ เป็นไก่ซิลค์กี้ ราคาไข่ใบละ 1,024 บาท จำนวน 50 ใบ แต่ผมไม่มีความรู้อะไรเลย เมื่อได้ไข่มาก็ให้แม่ไก่บ้านฟัก ฟักออกมาได้ลูกไก่จำนวน 16 ตัว เลี้ยงรอดเพียง 12 ตัว เท่านั้น”
คุณเรวัต บอกว่า ไก่พันธุ์ซิลค์กี้ เป็นไก่ดำที่จัดอยู่ในกลุ่มไก่สวยงาม เนื้อดำ กระดูกดำ ขนปุกปุยสวยงาม นิ้วเท้ามี 5-6 นิ้ว มีขนที่ขา ในหลายประเทศเลี้ยงเป็นไก่สวยงาม แต่ในประเทศญี่ปุ่นนิยมบริโภค ส่วนประเทศไทยนิยมเลี้ยงเป็นไก่สวยงาม
ในจำนวน 12 ตัว ที่รอดจากการฟักด้วยแม่ไก่บ้านที่มี คุณเรวัต นำลูกไก่ที่รอดจากการฟักทั้งหมด ปั้นเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ระหว่างนั้นสังเกตเห็นว่า ไก่ดำที่เลี้ยงอยู่มีโครงสร้างค่อนไปทางไก่เนื้อ ยิ่งเมื่อทราบว่าแท้จริงแล้วไก่ดำที่ประเทศไทยนิยมเลี้ยงเป็นไก่สวยงาม ก็ได้รับความนิยมในมุมของไก่เนื้อเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะชาวจีนที่มีความเชื่อว่า เมื่อนำมาประกอบอาหารแบบโบราณจะช่วยบำรุงสุขภาพและเป็นยารักษาโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ อาจารย์ภานุวัฒน์ คัมภีราวัฒน์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ยังเคยให้ข้อมูลไว้ว่า ในงานวิจัยทางการแพทย์จีน พบว่า ไก่ดำมี Carnosine ซึ่งมีคุณสมบัติของ Antioxidant และ Anti – aging สูงกว่าไก่ทั่วไป และมีสารสีเมลานิน (melanin) ซึ่งเป็น Antioxidant ที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล ลดโอกาสการเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด ลดการปวดประจำเดือน ฯลฯ อีกทั้งยังพบว่า มีปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณที่สูงกว่าในไก่ปกติ
ตลอดระยะเวลา 4 ปีแรกของการขยายพันธุ์ มีลูกค้าติดต่อซื้อสายพันธุ์มาโดยตลอด แม้จะไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ในท้ายที่สุดคุณเรวัตก็คิดได้ว่า การตลาดของการขายสายพันธุ์ในที่สุดจะตัน เพราะเมื่อคุณเรวัตเองไม่ได้มีความรู้ ยังสามารถขายสายพันธุ์ได้ ก็ต้องมีอีกหลายคนที่ทำได้เช่นกัน ฉะนั้น หากเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงมุ่งไปที่ขายเป็นไก่เนื้อ น่าจะได้มีตลาดที่รองรับได้มากกว่า
จากข้อมูลทั้งหมด เมื่อนำมาผนวกกัน ทำให้คุณเรวัต เปลี่ยนวิธีการเลี้ยง จากเพาะเพื่อขายสายพันธุ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนเป็นเลี้ยงเพื่อขายเป็นไก่เนื้อ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ ขายเป็นไก่เลี้ยงเพื่อความสวยงาม
ไก่พันธุ์ซิลค์กี้ ที่คุณเรวัต สั่งไข่จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อฟักในประเทศไทยเองนั้น คุณเรวัต บอกว่า แท้จริง คือไก่ดำ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากมองโกเลีย จึงเรียกให้เป็นภาษาที่เข้าใจด้วยตนเองว่า ไก่ดำมองโกเลีย หรือ ไก่ดำมองโกล
“ลักษณะการเจริญเติบโตเหมาะเป็นไก่เนื้อ เพราะใช้เวลาเพียง 60 วัน น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม ต่อตัว เมื่อเทียบกับไก่บ้าน ที่มีอัตราการเจริญเติบโต น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม ต้องใช้เวลานานถึง 120 วัน การเลี้ยงไก่ดำมองโกล จึงเป็นการเลี้ยงที่มีต้นทุนต่ำกว่ามาก”
ระยะแรก คุณเรวัต ผลิตลูกไก่ได้สัปดาห์ละ 30 ตัว ขายในราคาตัวละ 100 บาท ในลูกไก่อายุไม่เกิน 1 สัปดาห์ และสามารถเพิ่มจำนวนการผลิตลูกไก่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน สามารถผลิตลูกไก่ได้สัปดาห์ละ 4,000 ตัว และมียอดจองสายพันธุ์ไก่นานถึง 4 เดือน
คุณเรวัต ใช้ความรู้ที่มีและความสนใจพิเศษของตนเอง พัฒนาตู้ฟักไข่ขึ้นเอง จากสามารถฟักไข่ได้ครั้งละ 40 ฟอง ปัจจุบันสามารถผลิตตู้ฟักไข่ได้มากถึงครั้งละมากกว่า 7,000 ฟอง
“ตลาดซื้อขายไก่พื้นเมืองหรือไก่บ้านที่ผ่านมา จะอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนของประเทศ และไก่จะต้องมีขนเต็ม จึงขายเป็นไก่บ้านหรือไก่พื้นเมืองได้ แต่สำหรับไก่ดำมองโกล ผมไม่สนใจว่า ขนจะเต็มหรือไม่เต็ม ผมแค่ทำให้ไก่โตและได้น้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ ก็ขายได้แล้ว อีกทั้งตลาดไม่ปฏิเสธรับซื้อและให้ราคาดี น้ำหนักที่ตลาดต้องการ คือ 1.3-1.5 กิโลกรัม การบริโภคไก่ดำ แท้จริงต้องการบริโภคน้ำซุปที่ตุ๋นจากไก่ดำ แต่ไม่ได้นิยมรับประทานเนื้อไก่หรือไขมันในไก่ แต่สำหรับคนไทย การบริโภคไก่ดำ ไม่ได้ต้องการบริโภคเฉพาะน้ำซุปที่ตุ๋นจากไก่ดำ แต่ต้องการบริโภคเนื้อไก่และไขมันในไก่ไปด้วย ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเลี้ยงไก่ดำให้มีเนื้อตามที่ตลาดต้องการ”
อาหารสำหรับไก่ดำ คุณเรวัต ใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับไก่เนื้อเท่านั้น และไม่ได้ให้อาหารเสริมหรือวิตามินใดเพิ่ม เพราะเชื่อว่าหากให้อาหารเสริมหรือวิตามินเพิ่ม อาจทำให้ไก่มีความต้องการมากกว่าการกินอาหารเม็ดสำเร็จรูป ไก่อาจเบื่ออาหารและสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น อีกทั้งการสร้างโรงเรือนก็สร้างตามหลักการเลี้ยงไก่เชิงอุตสาหกรรม แต่ย่อขนาดลงมา โดยสร้างแบบโรงเรือนเปิด ให้อากาศถ่ายเท ไม่จำเป็นต้องเปิดพัดลม เท่ากับไม่ต้องเสียค่าไฟหรือค่าใช้จ่ายใดเพิ่มอีก
ในการกินอาหารของไก่แต่ละตัว คุณเรวัต คำนวณไว้ที่ อัตราการกินของไก่ 1 ตัว กินอาหารน้ำหนัก 4.4 กิโลกรัม ต่อรอบการจับเท่านั้น เมื่อเทียบกับไก่เนื้อทั่วไป อัตราการกินของไก่ 1 ตัว กินอาหารน้ำหนัก 8.7 กิโลกรัม ต่อรอบการจับ มากกว่าเกือบเท่าตัว เนื่องจากระยะเวลาการเลี้ยงเพื่อให้ได้น้ำหนักต่อรอบการจับ ไก่เนื้อทั่วไปใช้เวลานานกว่า
เมื่อถามถึงต้นทุนการเลี้ยงไก่ดำ หากคิดโดยละเอียดเป็นค่าใช้จ่ายต่อตัว คุณเรวัต ให้ข้อมูลว่า ลูกไก่ที่ฟักจากตู้ออกมา มีต้นทุนตัวละ 35 บาท เมื่อนำไปเลี้ยงและครบรอบการจับ น้ำหนักเพศเมีย 1.3 กิโลกรัม น้ำหนักเพศผู้ 1.5 กิโลกรัม ต้นทุนอยู่ที่ตัวละ 72-73 บาท แต่สามารถขายได้เมื่อคิดน้ำหนักเป็นกิโลกรัม กิโลกรัมละ 90-95 บาท หรือในฤดูฝนราคาจะสูงขึ้นเป็น 95-100 บาท จะขายไก่ได้ตัวละ 111-112 บาท เท่ากับได้กำไรตัวละ 39-40 บาท ทั้งหมดที่กล่าวมา ประเมินรายได้ทางการเกษตรเฉลี่ยต่อปีสูงราว 1.4 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ คุณเรวัต มีตลาดลูกค้าต่างประเทศ ส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่พบว่า แม้การส่งขายไปยังต่างประเทศจะทำให้การทำฟาร์มดูมีระดับขึ้นมา แต่ขั้นตอนการทำไก่เพื่อส่งขายไปยังต่างประเทศ มีขั้นตอนที่ละเอียด เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่คุ้มค่า จึงตัดสินใจยุติการส่งออกไปยังต่างประเทศ หากจะมีก็เป็นพ่อค้าคนกลางมารับไก่เป็นจากฟาร์ม เพื่อข้ามไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม จีน ลาว ผ่านด่านตามตะเข็บชายแดนของไทยเอง จำนวนไม่ต่ำกว่า 2,000 ตัว ต่อสัปดาห์
นอกจากไก่ดำมองโกเลีย ที่เป็นจุดเริ่มต้นของฟาร์ม คุณเรวัต ยังนำไก่ดำเคยู-ภูพาน ซึ่งเป็นไก่ดำขนขาว จากจังหวัดสกลนครมาเลี้ยง ซึ่งไก่ดำเคยู-ภูพาน มีลักษณะเด่นเป็นไก่เนื้อ ขนขาว เนื้อดำ เจริญเติบโตเร็วกว่าไก่ดำมองโกเลีย เนื้อส่วนหน้าอกมากกว่า ขาสั้นกว่า และให้ไข่จำนวนมากกว่า ซึ่งเป็นไก่ดำชนิดหนึ่งที่ตอบโจทย์ไก่เนื้อในอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
“ปัจจุบันการผลิตไก่ดำเพื่อการบริโภคในประเทศไทยยังไม่เพียงพอ ซึ่งตลาดหลักที่ผมส่งอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา และพัทยา โดยส่งไก่เข้าโรงชำแหละไก่ที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ก่อนส่งไปให้กับลูกค้าปลายทาง”
เพราะความต้องการบริโภคไก่ดำที่มาก ทำให้คุณเรวัต จัดการฟาร์มของตนเองให้เป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี และสร้างเครือข่ายการเลี้ยงไก่ดำเพื่อการบริโภค เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรด้วยกัน โดยปัจจุบันมีเครือข่ายเลี้ยงไก่ดำเพื่อการบริโภคอยู่ที่ 6 จังหวัด โดยรอบฟาร์ม และประกันราคาให้กับเพื่อนเกษตรกรด้วยกันในราคา กิโลกรัมละ 90-95 บาท
คุณเรวัต ฝากทิ้งท้ายไว้สำหรับท่านที่สนใจการเลี้ยงไก่ดำในเชิงพาณิชย์ ควรศึกษาตลาดให้ถ่องแท้ และควรดำเนินธุรกิจแบบพอเพียง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ไก่ดำยังมีตลาดเฉพาะ ไม่ใช่ทุกคนที่กินไก่ดำ ดังนั้น ควรศึกษาตลาดให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนใดๆ
“เอแอนด์เอ ฟาร์ม” เป็นชื่อฟาร์มไก่ดำที่คุณเรวัตตั้งขึ้น เพื่อใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการทำการตลาด ซึ่งหากท่านใดสนใจสอบถามเพิ่มเติม คุณเรวัต ยินดี โทรศัพท์ติดต่อได้ที่ (087) 949-2260 หรือเยี่ยมชมฟาร์มได้ไม่มีข้อกังขา ขอเพียงติดต่อมาล่วงหน้า ที่ เอแอนด์เอ ฟาร์ม เลขที่ 226 หมู่ 2 ตำบลจันอัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ.2563