ตามไปดู “อิบรอฮีม” โรงเชือดวัวมาตรฐานสากล ที่บ้านโป่ง

ได้รับโอกาสดีได้ไปเยี่ยมชมและพูดคุยกับเจ้าของโรงเชือดวัวที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลคือ บริษัท อิบรอฮีม แอนด์ บีฟ จำกัด จึงนำความรู้และประสบการณ์ดีๆ มาแบ่งปันค่ะ ตามไปดูว่ามาตรฐานสากลของโรงเชือดที่ว่านี้เป็นอย่างไร

เริ่มจากธุรกิจเขียงเนื้อวันนี้ได้รับรองมาตรฐานระดับสากล

คุณไพฑูรย์ ฮึกหาญ เจ้าของบริษัท อิบรอฮีม แอนด์ บีฟ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 28/1 หมู่ที่ 11 ตำบลหนองกบ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เริ่มเล่าให้ฟังว่า

“เมื่อเรียนจบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาเกษตรกรรม จากวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีจังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2523 จึงเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ จนผมได้ไปเปิดเขียงจำหน่ายเนื้อวัวที่ตลาดศิริชัย บางบอน 1 เขตบางบอน แต่ในตลาดมีคู่แข่งเยอะ ผมจึงสร้างจุดเด่นโดยเอาชิ้นส่วนวัวมาเป็นชิ้นใหญ่ๆ เลย อย่างขา ซีกลำตัววัว เอามาแขวนโชว์ที่เขียง มีลูกค้าขาประจำอย่างมากมาย ต้องมีเนื้อโคไปวางจำหน่ายถึงวันละ 3 ตัน”

จุดเปลี่ยนอีกครั้งในธุรกิจเนื้อวัวของคุณไพฑูรย์คือ

“ในสมัยรัฐบาลหนึ่งภาครัฐส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจเนื้อวัวทำให้เป็นธุรกิจถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล ผมจึงรับเอานโยบายนี้มาปฏิบัติโดยสร้างโรงฆ่าและชำแหละวัวตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ นี่เป็นที่มาของบริษัท อิบรอฮีม แอนด์ บีฟ จำกัด” คุณไพฑูรย์เล่าถึงที่มา

คุณไพฑูรย์ เล่าต่อไปว่า

“จากจุดเริ่มต้นของบริษัท อิบรอฮีม แอนด์ บีฟ ที่ได้รับมาตรฐานการผลิตเบื้องต้นจากภาครัฐจนถึงวันนี้ เราได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆ มากมายจากการที่เราใช้หลักการเอาใจใส่ลูกค้า ตามใจลูกค้าที่เข้ามาหาเรา ลูกค้ารายใดต้องการการรับรองคุณภาพมาตรฐานตัวใด เราก็จะพยายามทำให้ได้ จนในวันนี้ผลิตภัณฑ์เนื้อของ บริษัท อิบรอฮีม แอนด์ บีฟ จำกัด ได้มาตรฐานการผลิตสินค้าแปรรูปของหน่วยงานต่างๆ เช่น GMP, HACCP, EST Number (การรับรองสถานประกอบการตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ภายใต้มาตรฐาน HACCP ซึ่งใช้ขออนุญาตส่งออกเนื้อไปยังตลาดต่างประเทศได้) และได้รับเครื่องหมายฮาลาล (HALAL) แล้ว”

“ซึ่งโรงฆ่าและชำแหละวัวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตเนื้อเทียบเท่ากับ บริษัท อิบรอฮีม แอนด์ บีฟ จำกัด มีเพียง 2 ราย เท่านั้น แต่แตกต่างกันตรงที่บริษัทอีกรายที่ว่ายังไม่ได้รับเครื่องหมายฮาลาล ผมจึงพูดได้ว่า บริษัท อิบรอฮีม แอนด์ บีฟ จำกัด ของเราได้รับมาตรฐานการผลิตในระดับสากลที่พร้อมจะเดินหน้าทำตลาดต่างประเทศได้อย่างสบาย”

 

กระบวนการเชือดและชำแหละที่ได้มาตรฐาน

สำหรับกระบวนการเชือดและชำแหละเนื้อของ บริษัท อิบรอฮีม แอนด์ บีฟ จำกัด มีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ค่ะ

– เริ่มจากการนำวัวมาเข้าเครื่องล็อกทั้งตัวโดยใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีกลไกและระบบต่างๆ เหมือนกับของต่างประเทศ แต่ผลิตในประเทศไทยโดยช่างคนไทย เมื่อวัวมาเข้าเครื่องล็อกแล้วจะมีเพียงส่วนหัวและคอโผล่ออกมา แล้วเครื่องจะหมุนให้วัวหงายท้องเพื่อให้คนเชือดทำการล้างคอด้วยน้ำสะอาดก่อนจะเชือด

– เมื่อเชือดแล้วจะใช้เชือกมัดขาหลังใช้รอกยกตัววัวขึ้นเพื่อตัดคอและขาส่วนที่ต่ำกว่าข้อเข่าออก แล้วเลาะหนังออก ติดเครื่องหมายแสดงที่มาของเนื้อ

– ผ่าเอาเครื่องในออก ตัดแต่งไขมันแล้วผ่าครึ่งลำตัวด้วยเลื่อย

– ล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วนำไปเก็บบ่มซากในห้องเย็น ประมาณ 7 วัน หรือตามระยะเวลาที่ลูกค้าต้องการ

คุณไพฑูรย์ เล่าว่า

“เครื่องจักรสำหรับเชือดและชำแหละซากของเรามีราคากว่า 12 ล้านบาท และทุกขั้นตอนการเชือดและชำแหละวัวของ บริษัท อิบรอฮีม แอนด์ บีฟ จำกัด จะแตกต่างจากที่อื่นคือ ตลอดกระบวนการเชือดวัว และเนื้อวัวจะไม่สัมผัสพื้นโรงเชือดเลย และการล้างทำความสะอาดโรงเชือดด้วยน้ำผสมคลอรีนจึงมั่นใจได้ในเรื่องของความสะอาดและไม่มีกลิ่นติดค้าง”

 

1392964389

ความแตกต่างของการทำให้วัวสลบ กับไม่ทำให้สลบก่อนเชือด

โรงเชือดวัวมาตรฐานหลายแห่งที่เคยเข้าไปสัมผัส ใช้วิธีการทำให้วัวสลบ (Stun) ก่อนเชือด แต่กระบวนการเชือดวัวของบริษัท อิบรอฮีม แอนด์ บีฟ จำกัด จะไม่ใช้วิธีการทำสลบก่อน จากความแตกต่างในกรณีนี้ เปล่งสุรีย์ ขออนุญาตอธิบายตามหลักวิชาการ อ้างรายงานการวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำการพัฒนาเทคนิคตรวจสอบความเครียดในสัตว์ก่อนและหลังการเชือด โดยการตรวจวัดผลทางชีวเคมีในเลือดสัตว์ที่ไม่มีการทำให้สลบก่อนเชือด ผลการศึกษาทางชีวเคมีพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของสารต่างๆ ในเลือดสัตว์ก่อนการเชือดและหลังการเชือด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อสภาพความเครียดของสัตว์

สรุปง่ายๆ ว่าสัตว์ที่ไม่ผ่านการทำให้สลบก่อนเชือดจะมีความเครียดน้อยกว่าสัตว์ที่ผ่านการทำให้สลบก่อนการเชือดค่ะ  

 

ใช้วัวลูกผสมจากฟาร์มเกษตรกรคู่สัญญา

คุณไพฑูรย์ เล่าถึงวัวที่จะนำมาเชือดว่า

“วัวที่นำมาเชือดส่วนใหญ่จะเป็นวัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์ ประมาณ 75% และที่เหลือเป็นวัวลูกผสมบราห์มัน ซึ่งวัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์ให้เนื้อ 60-64% เนื้อไม่รวมกระดูก ส่วนวัวลูกผสมบราห์มันให้เนื้อ 53% เนื้อไม่รวมกระดูก ส่วนปริมาณการเชือดตอนนี้ โรงเชือดอิบรอฮีมจะเชือดวัว 15-20 ตัว ต่อวัน รวมทั้งเรายังให้บริการรับจ้างเชือดแก่ผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย แต่กำลังการทำงานของเราสามารถเชือดและชำแหละได้เต็มที่วันละ 50 ตัว”

“ตอนนี้จึงมีปัญหาว่าปริมาณวัวที่จะนำมาเข้าโรงเชือดยังไม่พอ โดยวัวทั้งหมดเราได้มาจากฟาร์มของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งเป็นฟาร์มที่มีเครื่องหมาย Q รับรองมาตรฐานฟาร์มอยู่แล้ว” คุณไพฑูรย์บอก

ในเรื่องของการตลาด คุณไพฑูรย์บอกว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อมีตลาดหลักอยู่ 2 ตลาด คือ ตลาดแรก ตลาดภายในประเทศที่เป็นกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปเนื้อ

“ลูกค้ากลุ่มนี้เราจะส่งผลิตภัณฑ์เนื้อในลักษณะเนื้อก้อนซึ่งลูกค้าจะนำไปแปรรูปต่ออีกที นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นภัตตาคารอย่างโออิชิ ที่ตอนนี้เรากำลังตกลงทางธุรกิจกันอยู่ ตลาดในประเทศอีกส่วนหนึ่งที่กำลังตกลงทางธุรกิจกันอยู่ก็คือ กลุ่มลูกค้าที่ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้ต้องการส่วนของเครื่องในวัวไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ทดแทนการนำเข้าซึ่งเราก็มีรถห้องเย็นพร้อมจะให้บริการอยู่แล้ว”

1392964368

ตลาดในประเทศมีลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ส่วนตลาดต่างประเทศก็ยังมีช่องทางอีกมากมาย

“อีกตลาดคือ ตลาดต่างประเทศที่เราส่งขายมานานแล้วคือ ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเราส่งไปในลักษณะเนื้อก้อนเช่นกัน ส่วนตลาดที่เรากำลังติดต่อจะนำสินค้าของเราไปจำหน่ายคือ ประเทศเวียดนาม กับประเทศดูไบ ซึ่งน่าจะมีอนาคตที่สดใส” คุณไพฑูรย์เล่าให้ฟัง

นี่คือ ส่วนหนึ่งของธุรกิจสำคัญที่เรียกว่าขาดไม่ได้สำหรับแวดวงวัวเนื้อบ้านเราค่ะ ใครสนใจผลิตภัณฑ์หรืออยากติดต่อบริษัท อิบรอฮีม แอนด์ บีฟ จำกัด โทร. (032) 287-799 โอกาสหน้าจะหาเรื่องราวดีๆ มานำเสนออีก สวัสดีค่ะ