บ้านคำแม่นาง-สามแยก จังหวัดนครพนม ผู้เลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ดี เกรด A เข้มแข็ง-ยั่งยืน

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านคำแม่นาง-สามแยก จังหวัดนครพนม เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองซน อำเภอนาทม จังหวัดนครพนม ที่ต้องการพัฒนาอาชีพการทำนาให้มีต้นทุนต่ำ จึงรวมตัวกันผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ยหมัก และเลี้ยงโคเนื้อเพื่อนำมูลโคผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะขยายการลงทุนกิจการเลี้ยงโคจนประสบความสำเร็จกลายเป็นแหล่งผลิตโคเนื้อเกรดเอระดับแนวหน้าของประเทศ ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ทำให้คว้ารางวัล สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์) ประจำปี 2563 ได้ในที่สุด

ฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน

เมื่อปี 2538 ลุงคำเฝือ เชียงขวาง เป็นผู้บุกเบิก ในการจัดตั้งกลุ่มทำนาขึ้น ต่อมาปี 2544 ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตเมล็ด-พันธุ์ข้าวตำบลหนองโซน ปี 2549 ตั้งเป็นกลุ่มทำปุ๋ยหมัก อำเภอบ้านแพง ปี 2552-2554 สำนักงานปศุสัตว์อำเภอนาทม ได้เข้ามาประชุมชี้แจง จัดตั้งกลุ่มธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ แต่กลุ่มยังไม่เข้าร่วมโครงการ

จนกระทั่งปี 2555 ทางกลุ่มเกษตรกรเกิดแนวคิดใหม่ที่จะตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อขึ้น เพราะเกิดปัญหาในการซื้อมูลสัตว์ โค-กระบือ มาทำปุ๋ยหายาก และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มนำไปใช้ได้ผลดีมากๆ

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด
ปุ๋ย สินค้าขายดีของกลุ่ม

เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือในหมู่บ้านมีไม่ถึง 10 ราย เลี้ยงโค-กระบือทั้งหมู่บ้านไม่ถึง 20 ตัว ทางกลุ่มจึงได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 และเข้าร่วมโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ โดยมี นายคำเฝือ เชียงขวาง เป็นประธาน โดยวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ทางกลุ่มได้รับโคเพศเมียจากโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ จำนวน 50 ตัว ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ได้เข้าร่วมโครงการนครพนมแหล่งโคเนื้อลุ่มน้ำโขง งบพัฒนาจังหวัด

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านคำแม่นาง-สามแยก ใช้บ้านเลขที่ 206 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองซน อำเภอนาทม จังหวัดนครพนม โทร. (098) 125-6271 เป็นที่ทำการกลุ่ม โดยมี นายทวี สีชมพู เป็นประธานกลุ่ม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง (พ.ศ. 2552) จนถึงปัจจุบัน เดิมมีสมาชิกแรกตั้งแค่ 50 ราย ล่าสุดมีผู้สนใจสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 165 ราย มีแม่พันธุ์โค 409 ตัว เงินกองทุนของกลุ่ม จำนวน 1,854,422 บาท

บริหารจัดการกลุ่มแบบมืออาชีพ

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านคำแม่นาง-สามแยก มีความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม ให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้มติที่ประชุมของสมาชิก ในการบริหารจัดการกลุ่ม ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งยั่งยืน และมีข้อบังคับของกลุ่มตามโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ โดยทางกลุ่มมีคณะกรรมการบริหาร จำนวน 15 คน แต่ละฝ่ายมีการแบ่งความรับผิดชอบตามความถนัดของแต่ละบุคคล มีคณะกรรมการที่ปรึกษา จำนวน 6 คน และมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน จำนวน 12 หน่วยงาน

ทางกลุ่มมุ่งดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งกลุ่มคือ เน้นเลี้ยงโคแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกโคจำหน่าย โดยมุ่งปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีผสมเทียม แม่โคได้รับการพัฒนาพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการผสมเทียม โดยในปี 2562 ผสมเทียมแม่พันธุ์ 400 ตัว ได้ครบทุกตัว (คิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์) แบ่งออกเป็น 3 เกรด A, B และ C ได้แก่

เกรด A (โคพันธุ์ดีมาก) หมายถึง โคลูกผสมพันธุ์บรามันห์ สายเลือด 50% ขึ้นไป มีโครงร่างใหญ่ เหมาะสำหรับการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อชาร์โรเลส์

เกรด B (โคพันธุ์ดี) หมายถึง โคพันธุ์ลูกผสมบรามันห์ สายเลือด 50% ขึ้นไป มีโครงร่างปานกลาง ควรที่ผสมปรับปรุงด้วยพันธุ์บรามันห์

เกรด C (โคพันธุ์) หมายถึง โคพันธุ์ลูกผสมบรามันห์หรือพื้นเมืองที่มีขนาดและโครงร่างเล็ก

 

ส่วนการพัฒนาแม่พันธุ์ (ตัว) ปี 2560 ผลิตแม่พันธุ์ A จำนวน 105 ตัว แม่พันธุ์ B จำนวน 144 ตัว แม่พันธุ์ C จำนวน 112 ตัว รวม 361 ตัว ปี 2561 ผลิตแม่พันธุ์ A จำนวน 120 ตัว แม่พันธุ์ B จำนวน 163 ตัว แม่พันธุ์ C จำนวน 105 ตัว รวม 388 ตัว ปี 2562 ผลิตแม่พันธุ์ A จำนวน 134 ตัว แม่พันธุ์ B จำนวน 185 ตัว แม่พันธุ์ C จำนวน 90 ตัว รวม 409 ตัว

ด้านการจำหน่ายลูกโค ปี 2560 ผลิตโคเพศผู้ จำนวน 17 ตัว ราคา 300,000 บาท เพศเมีย 2 ตัว ราคา 36,500 บาท รวม 336,500 บาท ปี 2561 ผลิตโคเพศผู้ จำนวน 22 ตัว ราคา 770,000 บาท เพศเมีย 34 ตัว ราคา 541,200 บาท รวม 1,311,200 บาท ปี 2562 ผลิตโคเพศผู้ จำนวน 22 ตัว ราคา 1,257,000 บาท เพศเมีย 27 ตัว ราคา 505,560 บาท รวม 1,762,500 บาท

การเลี้ยงโคขุนเพื่อจำหน่ายของกลุ่ม (คอกกลาง) รุ่นที่ 1 (ปี 2559/2560) โคขุน จำนวน 7 ตัว ขาย จำนวน 7 ตัว ราคา 483,072 บาท รุ่นที่ 2 (ปี 2561/2562) โคขุน จำนวน 17 ตัว ขาย จำนวน 17 ตัว ราคา 1,173,175 บาท รุ่นที่ 3 (ปี 2562/2563) แผนการเลี้ยงโคขุน จำนวน 18 ตัว

การแบ่งปันผลกำไรจากการเลี้ยงโคขุน ทางกลุ่มมีการบริหารจัดการในการเลี้ยงโคเนื้ออย่างเป็นระบบ จัดสรรผลกำไรจากการเลี้ยงโคเนื้อโดยกลุ่มมีมติในการจัดสรรดังนี้ สมาชิกผู้เลี้ยงโค ร้อยละ 60 สมาชิกผู้ถือหุ้น ร้อยละ 30 และจัดสรรเข้ากลุ่ม ร้อยละ 10

 

การจัดการด้านการตลาด

ทางกลุ่มมีการบริหารจัดการด้านการตลาด ดังนี้ ตลาดโคเนื้อคุณภาพสูง ตลาดโคเนื้อต่างประเทศ และตลาดทั่วไป ขณะเดียวกัน ผลิตอาหารสัตว์ใช้เองและจำหน่าย สร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกพืชอาหารสัตว์ การผลิตอาหารครบส่วน (TMR) การสำรองฟางอัดฟ่อนใช้เองและจำหน่ายให้กับสมาชิก สมาชิกปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เพื่อใช้เลี้ยงโคเนื้อและได้รับการสนับสนุนเครื่องผสมอาหารครบส่วน (TMR) จากงบพัฒนากลุ่มจังหวัด ปี 2560

ทางกลุ่มสามารถสร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงโคให้กับเกษตรกร โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุน กลุ่มได้จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) โดยกลุ่มเป็นผู้กำหนดและวางแผนในการขุนเนื้อโค ไม่มีข้อผูกมัดกับบริษัท

 

ส่วนเป้าหมายการดำเนินงานปี 2563 ทางกลุ่มมุ่งส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินการ ดังนี้ คือ 1. ผลิตแม่พันธุ์โคพันธุดี เกรด A เพิ่มมากขึ้น โดยใช้วิธีการผสมเทียมใช้น้ำเชื้อสายพันธุ์บรามันห์ 2. ปลูกพืชอาหารสัตว์ให้ครบทุกราย รายละอย่างน้อย 1 ไร่ 3. ผลิตอาหาร TMR เพื่อใช้เองและจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป จำนวน 20 ตัน 4. ผลิตฟางอัดฟ่อนเพื่อใช้เลี้ยงโคขุนของกลุ่มและจำหน่ายให้สมาชิก จำนวน 11,000 ฟ่อน 5. ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่ายให้สมาชิกและกลุ่มเกษตรกร จำนวน 15,000 กิโลกรัม 6. เลี้ยงโคขุนคอกกลองเพื่อเพิ่มรายได้ให้กลุ่ม จำนวน 18 ตัว