สัตวศาสตร์เจ้าคุณทหาร พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เลี้ยงแพะพันธุ์บอร์ เป็นอาชีพเสริมบนความสุข

แพะ เป็นอีกหนึ่งสัตว์เลี้ยงที่ปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยผู้เลี้ยงส่วนใหญ่แบ่งเนื้อที่จากที่เคยปลูกพืชเพียงอย่างเดียว มาเลี้ยงแพะพร้อมกับปลูกแปลงหญ้าอาหารสัตว์ไว้ให้สัตว์ได้กิน ทำให้การเลี้ยงนอกจากลดต้นทุนได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเกิดรายได้ที่สามารถทำเป็นอาชีพเสริมหรือหลักได้ เพราะแพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย เมื่อตั้งท้องใช้ระยะเวลาไม่นานสามารถผลิตลูกออกมาให้ผู้เลี้ยงได้รวดเร็ว และคืนเงินลงทุนให้กับผู้เลี้ยงได้ไม่ยาก

มูลแพะสามารถจำหน่ายได้อีกช่องทาง

คุณอิทธิพงศ์ วงศ์พนม ทำฟาร์มแพะอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มายึดการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริม โดยนำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ทำให้การเลี้ยงแพะและงานทางการเกษตรอื่นๆ ของเขา สามารถทำควบคู่ไปกับงานประจำได้เป็นอย่างดี

คุณอิทธิพงศ์ วงศ์พนม 

แม้มีงานประจำ

ก็ทำเกษตรเสริมควบคู่ได้

คุณอิทธิพงศ์ เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันทำงานประจำเป็นนักวิชาการอยู่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อทำงานมาได้สักระยะหนึ่งเห็นพื้นที่นาของครอบครัวยังว่างอยู่ ยังไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่ควร จึงได้เกิดแนวความคิดที่อยากจะนำมาทำการเกษตรให้มีความหลากหลายมากขึ้น ด้วยการทำปศุสัตว์แบบที่ตนเองมีวิชาความรู้ พร้อมกับปลูกพืชอาหารสัตว์เป็นการลดต้นทุนการผลิต เพื่อใช้พื้นที่ให้ครบทุกด้านมากที่สุด

ให้อาหารแพะในแต่ละวัน

จึงทำให้เขาหันมาริเริ่มทำการเลี้ยงแพะ และปลูกพืชผักสวนครัวเข้ามาช่วย เป็นการเสริมสร้างรายได้ที่ทำควบคู่ไปกับงานประจำได้อย่างลงตัว

“สมัยก่อนที่ดินของเราจะปล่อยให้คนอื่นมาเช่าทำเกษตร แต่เรามองว่านานไป ที่ดินของเราจะยิ่งเสื่อมโทรม เพราะถ้าไม่มีการจัดการพื้นที่ให้ดี มีแต่ใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว สภาพดินเราจะแย่ ประมาณปี 2558 เราก็เกิดความคิดที่อยากจะทำในเรื่องของปศุสัตว์ คือการเลี้ยงแพะควบคู่ไปกับการปลูกผักอินทรีย์ จึงทำให้มีรายได้หลากหลายช่องทาง คือการเลี้ยงแพะเป็นเงินเก็บรายปี และการปลูกพืชผักอินทรีย์เป็นเงินรายวัน ที่สามารถนำมาใช้จ่ายภายในฟาร์มได้ จึงตัดสินใจทำและขยับขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ จนประสบผลสำเร็จ และสามารถทำควบคู่ไปกับงานประจำได้” คุณอิทธิพงศ์ เล่าถึงที่มาของการทำเกษตรเป็นอาชีพเสริม

พื้นที่ภายในคอก

เลี้ยงแพะพันธุ์บอร์สร้างลูกพันธุ์

และส่งตลาดเนื้อจำหน่ายได้

สาเหตุที่เลือกเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมสำหรับสร้างรายได้นั้น คุณอิทธิพงศ์ บอกว่า แพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายสามารถกินหญ้าในพื้นที่สวนทั่วไปได้ โดยที่เขาไม่ต้องกำจัดหญ้าให้สิ้นเปลืองแรงงานและเสียเงินทุน แต่แพะที่เลี้ยงจะช่วยกินกำจัดหญ้าไปให้ในตัว ส่วนในเรื่องของการทำตลาดจำหน่าย ปัจจุบันตลาดมีความต้องการซื้อเนื้อแพะไปประกอบอาหารมากขึ้น จึงทำให้การเลี้ยงแพะหากไม่ต้องการสร้างเป็นตลาดเนื้อ ก็สามารถสร้างลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพจำหน่ายได้

พื้นที่สวน

โดยที่ดินที่นำมาทำการเกษตรมีอยู่ประมาณ 10 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับสร้างเป็นโรงเรือนให้แพะนอนและเดินเล่นประมาณ 2 ไร่กว่าๆ พร้อมทั้งสร้างพื้นที่ปลูกหญ้าหลายสายพันธุ์ไว้ให้แพะกินอีก 1 ไร่ และส่วนที่เหลือทำเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักและไม้ผลทั่วไปในแบบเกษตรอินทรีย์

“แพะในฟาร์ม ตัวผู้จะเป็นพันธุ์บอร์ที่เป็นพ่อพันธุ์เลือดร้อยเปอร์เซ็นต์ มีอายุขั้นต่ำ 1 ปีขึ้นไป ส่วนตัวเมียจะใช้พันธุ์บอร์ลูกผสมที่มีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป เมื่อพ่อพันธุ์แพะผสมกับแม่พันธุ์ติดแล้ว รอตั้งท้องประมาณ 4-5 เดือน จากนั้นเมื่อถึงระยะใกล้คลอด จะนำแม่แพะมาขังแยกคอกไว้ก่อน เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว ช่วงแรกจะให้ลูกแพะอยู่กับแม่เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน เมื่อเห็นว่าลูกแพะหย่านมแล้ว ก็จะปล่อยให้ไปอยู่รวมในฝูงได้ตามปกติ จากนั้นก็จะบำรุงแม่พันธุ์ให้มีความแข็งแรง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับผสมพันธุ์ในรอบต่อไป” คุณอิทธิพงศ์ บอก

โรงเรือนสำหรับให้แพะนอน

อาหารที่เน้นให้แพะภายในฟาร์มกินจะเป็นหญ้าที่อยู่ภายในสวน และหญ้าที่ปลูกเองภายในพื้นที่ที่กำหนด พร้อมทั้งมีอาหารเสริมอย่างกากถั่วที่อุดมไปด้วยโปรตีนถึง 45 เปอร์เซ็นต์ เสริมให้แพะกินอีกหนึ่งช่องทาง ซึ่งอาหารที่ให้แพะกินจะให้กินตลอดทั้งวันจนกว่าจะอิ่มไปเอง แต่แพะเป็นสัตว์ที่กินอาหารไม่เยอะ จึงทำให้ไม่สิ้นเปลืองในเรื่องของอาหารมากนัก

ส่วนในเรื่องของการทำวัคซีนป้องกันให้กับแพะภายในฟาร์มนั้น คุณอิทธิพงศ์ บอกว่า จะมีโปรแกรมที่ชัดเจนหลักๆ ก็จะป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยทุก 6 เดือนครั้ง พร้อมทั้งมีการฉีดยากันพยาธิและกรอกใส่ปากให้แพะกิน และหมั่นทำความสะอาดพื้นที่โรงเรือนอยู่เสมอ จะช่วยให้พื้นที่มีความสะอาดช่วยให้แพะมีความแข็งแรงไม่มีโรคต่างๆ เข้ามาสร้างปัญหาทำให้ป่วย

พื้นที่ปลูกหญ้าอาหารสัตว์

ลูกแพะอายุ 5 เดือนขึ้น

จึงจะส่งออกจำหน่าย

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายแพะภายในฟาร์มนั้น คุณอิทธิพงศ์ เล่าว่า จะมีพ่อค้าเข้ามาติดต่อขอซื้อถึงในฟาร์ม โดยพ่อค้าจะหมั่นสอบถามอยู่เสมอว่า ในช่วงนี้แพะที่เลี้ยงมีขนาดไซซ์ที่พร้อมจำหน่ายหรือไม่ ซึ่งลูกแพะที่จำหน่ายจะเน้นเฉพาะตัวผู้ ส่วนตัวเมียจะเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ทดแทนภายในฟาร์ม หรือถ้ามีตัวผู้หรือตัวแม่ตัวไหนที่มีทรงดีและเกษตรกรท่านอื่นๆ ต้องการจะซื้อไปสร้างเป็นพ่อแม่พันธุ์ ก็จะจำหน่ายให้ด้วยเช่นกัน

พืชผักอินทรีย์

“ปัจจุบันแพะจะมีกลุ่มการซื้อขายของแต่ละพื้นที่มากขึ้น ทำให้ตลาดในสมัยนี้ทำได้ง่ายมาก หลักๆ ที่เราขายก็จะเป็นแพะตัวผู้อายุ 5 เดือนขึ้นไป น้ำหนักอยู่ที่ 20 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 130-140 บาท นอกจากนี้ พืชผักอินทรีย์ก็จะจำหน่ายเป็นรายวัน ทำให้การทำปศุสัตว์ของเราที่ควบคู่ไปกับการทำสวนผัก เกิดรายได้หลากหลายช่องทาง มีเงินเก็บมากขึ้น เพราะเรามีสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้เป็นรายวัน รายเดือน รายปี ให้อย่างต่อเนื่อง หากเรามีการจัดการที่ดี การเกษตรก็เป็นงานที่ทำเสริมควบคู่ไปกับงานประจำได้” คุณอิทธิพงศ์ บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการทำปศุสัตว์ ซึ่งตอนนี้ยังมีงานประจำอยู่ กังวลว่าไม่สามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ คุณอิทธิพงศ์ แนะนำว่า หากมีใจรักใจชอบที่จะทำไม่มีคำว่ายาก เพราะการเกษตรเป็นงานที่สร้างความสุขหากชอบที่จะทำ อย่างตัวเขาเองหลังจากว่างทำงานประจำ ก็จะมาดูแลอาชีพเสริมที่ทำอยู่นี้ เป็นการสร้างความสุขให้เขาได้ไม่น้อยทีเดียว สร้างความผ่อนคลายมีความสบายใจได้ทำในสิ่งที่รัก มีข้อสงสัยต้องการคำปรึกษาสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอิทธิพงศ์ วงศ์พนม หมายเลขโทรศัพท์ (085) 915-7522