สวนเรียนรู้ปศุสัตว์ผสมผสาน งานเบิกทางสร้างรายได้ ณ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี

เมืองจันท์ มีชื่อเสียงทางด้านผลไม้มายาวนาน ก่อนหน้านี้เป็นเงาะ แต่ปัจจุบันจังหวัดนี้กลายเป็นเมืองหลวงของทุเรียนไทยไปแล้ว

สำหรับอาชีพเกษตรสาขาอื่น อย่างประมง จังหวัดจันทบุรีอยู่ติดชายทะเล จึงมีการเลี้ยงกุ้ง ปลา หอย ส่วนหนึ่งจับจากธรรมชาติ นำมาบริโภคในท้องถิ่น รวมทั้งส่งขายยังส่วนกลาง หากถามถึงทางด้านปศุสัตว์ อาจจะไม่โดดเด่นนัก แต่ก็มีหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ คือศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ ไปตั้งอยู่ร่วม 30 ปีมาแล้ว งานเลี้ยงสัตว์ อาจจะไม่ใช่อาชีพหลักของคนในท้องถิ่น แต่มีปัจจัยบางอย่างที่เหมาะสมมาก จังหวัดนี้ดินดี น้ำดี หญ้าที่ชาวสวนถือเป็นวัชพืชเจริญเติบโตเร็วมาก เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงสัตว์

หน้าศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี

ขณะเดียวกัน รถขายขี้วัวจากราชบุรี จากสระบุรี ถูกขนเข้าไปขายให้กับชาวสวน ปีหนึ่งจำนวนมหาศาล เพราะขี้วัวที่เลี้ยงกันอยู่แถวอำเภอสอยดาวไม่พอใช้ หากมีการเลี้ยงสัตว์ ผลพลอยได้ก็จะเกิดขึ้นครบวงจร

วิจัยสัตว์เพื่อเกษตรกร

คุณธเนศ โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี

เกษตรกรส่วนใหญ่คุ้นเคยกับศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ตั้งอยู่อำเภอแหลมสิงห์ ที่นี่โดดเด่นเรื่องไม้ผลเมืองร้อน

ที่ตำบลวังแซ้ม มีศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์

ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2534 บนพื้นที่สาธารณประโยชน์ของตำบลวังแซ้ม และตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี โดยใช้ชื่อว่า “สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี”

ฐานการเรียนรู้ปุ๋ยหมัก

วันที่ 9 ตุลาคม 2546 เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์จันทบุรี” วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี” ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 8 ตำบลท่าหลวง และหมู่ที่ 2 ตำบลวังแซ้ม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 14 กิโลเมตร พื้นที่ 1,936 ไร่ 70 ตารางวา

คุณธเนศ โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี เล่าถึงกิจกรรมที่ทำภายในศูนย์ฯ ว่า ปัจจุบันมีเลี้ยงโคนม 84 ตัว รีดนมได้ 20 ตัว เลี้ยงนกกระทา 500 แม่ เลี้ยงเป็ดเทศกบินทร์บุรี 400 แม่ เลี้ยงเป็ดไข่บางปะกง 300 แม่

ผักวอเตอร์เครส

“โคนม เลี้ยงรีดนมจำหน่ายในจังหวัด นกกระทา เป็ดเทศ เป็ดไข่ เลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์จำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้สนใจนำไปเลี้ยง อย่างนกกระทาตัวละ 3 บาท อย่างเป็ดไข่บางปะกงพัฒนาพันธุ์มานานไข่ดีมาก คนมาซื้อไปเลี้ยงมีหลายที่ ทางตราด ทางชลบุรี…ราคาไม่แพง” คุณธเนศ บอก

สวนเรียนรู้ปศุสัตว์ผสมผสาน

ศาลาเรียนรู้

คุณธเนศ บอกว่า พื้นที่รอบข้าง ส่วนใหญ่ทำสวนผลไม้ แต่ทางด้านปศุสัตว์ ยังมีเลี้ยงไม่มาก จึงได้สร้าง “สวนเรียนรู้ปศุสัตว์ผสมผสาน” ขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร รวมทั้งเป็นรายได้เสริม หลักการคือ การนำผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้ โดยเน้นเยาวชน จากนั้นจะสนับสนุนการทำกิจกรรมในรัศมีที่ไม่ไกลจากศูนย์ฯ นัก กิจกรรมที่ว่าคือการเลี้ยงปศุสัตว์ หากมีมากจะมีเครือข่าย ซึ่งจะส่งผลต่อการตลาด

“แนวทางคือมารับความรู้ จากนั้นกลับไปสร้างโรงเรือนเอง โดยมีกิจกรรมเลี้ยงนกกระทาสัก 500 ตัว ไก่เหลืองหางขาวเลี้ยงขุน 50 ตัว เลี้ยงเป็ดไข่บางปะกง 20 ตัว อยากเน้นที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ อย่างเลี้ยงเป็ดไข่ 20 ตัว วันหนึ่งไข่ 15-16 ฟอง ก็จะมีรายได้จากการขายไข่ ทางศูนย์ฯ จะมีทีมงานคอยติดตามให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษาให้ แนะนำกันตั้งแต่ช่วงมาอบรม แล้วตามไปถึงบ้านให้คำปรึกษาจนมีความชำนาญ กลุ่มที่เข้ามาอบรม เป็นกลุ่มเล็กๆ 5-10 คน จะได้องค์ความรู้กลับไป”

ไข่เป็ดและเป็ดพันธุ์บางปะกง

คุณธเนศ บอก และกล่าวอีกว่า

“ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ จะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 หมื่นบาทต่อสัตว์แต่ละชนิด บางคนไม่ชอบเป็ดอาจจะเลี้ยงนก จริงๆ แล้วอยากให้มีการผสมผสาน เมื่อเลี้ยงเป็ดไข่ นกกระทา ไก่ ต้องใช้แกลบรองพื้น เมื่อพักเล้าก็นำแกลบไปใส่แปลงผักได้ สวนเรียนรู้ มีเรื่องของพืชด้วย อันดับแรกเลยผักง่ายๆ ผักชีฝรั่ง ผักชีไทย ผลิตแบบอินทรีย์ โดยการใช้ปุ๋ยคอกจากการเลี้ยงสัตว์ สวนเรียนรู้มีพื้นที่ 2 ไร่ จะมีการอบรมเดือนละ 2 ครั้ง คือวันอังคารที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน จะให้นักเรียนมาเรียนรู้ พืชผักที่ผลิตได้ง่าย ตอนนี้มีวอเตอร์เครส กวางตุ้ง รวมทั้งผักชีใบเลื่อย ทำพืชผักอินทรีย์ได้ง่าย ขยายพันธุ์ไม่ยาก”

ในสวนมีฐานเรียนรู้

ลูกเป็ด

คุณธเนศ บอกว่า ในสวนเรียนรู้ มี 6 ฐานเรียนรู้ด้วยกัน

แต่ละฐานจะมีผลลัพธ์ดังนี้

ฐานที่ 1 แนวคิด หลักการ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความพอเพียง มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีคุณธรรม และมีความเหมาะสม

นกกระทาเกิดใหม่

ฐานที่ 2 การเลี้ยงสัตว์ : ผลลัพธ์ที่ได้คือ ทักษะการจัดการมูลสัตว์เป็นปุ๋ยคอก และพัฒนาต่อยอดเชื่อมโยงไปสู่การผลิตปุ๋ยหมักคุณภาพสูงทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี

ฐานที่ 3 การปลูกพืชหลากหลายชนิด : ผลลัพธ์ที่ได้คือ ราก-ปมรากบำรุงดิน ลำต้น ยอด ผล เป็นอาหารสัตว์ ปลูกพืชปลอดสารเคมีจำหน่าย เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ฐานที่ 4 การผลิตปุ๋ยหมัก/การผลิตอาหารสัตว์หมัก : ผลลัพธ์ที่ได้คือ เกิดทักษะและสามารถผลิตปุ๋ยหมักใช้ในครัวเรือน ผลิตอาหารสัตว์หมักใช้ในฟาร์ม เพื่อลดต้นทุนปุ๋ยเคมีและต้นทุนอาหารปศุสัตว์

ฐานที่ 5 การจัดทำบัญชี : ผลลัพธ์ที่ได้คือ นำข้อมูลบัญชีฟาร์ม/บัญชีครัวเรือนมาวิเคราะห์ เพื่อวางแผนการผลิตในรอบปีต่อไป

ฐานที่ 6 ด้านสิ่งแวดล้อม : ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความตระหนักและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

“งานส่งเสริมเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช หัวใจสำคัญต้องทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกจากฟาร์ม ไม่ต้องพึ่งปุ๋ยจากภายนอก สิ่งแวดล้อมก็จะตามมา” คุณธเนศ บอก

ไข่นกกระทา

ผู้สนใจสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี เลขที่ 63 หมู่ที่ 2 ตำบลวังแซ้ม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี 22150 โทรศัพท์ (039) 460-882-3 FB:ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี

…………………………………………………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ.2563