มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยเพาะเลี้ยงนกแอ่นกินรัง เพื่อพัฒนาสู่ระบบฟาร์มมาตรฐาน GAP ช่วยเพิ่มมูลค่าทางตลาด

ศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำฟาร์มนกแอ่นกินรัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์หาดวนกร อำเภอสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยทางมหาวิทยาลัยได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารศูนย์ เมื่อประมาณปี 2558 ซึ่งคณะวนศาสตร์ได้กำหนดยุทธศาสตร์ของสถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์หาดวนกรให้ศูนย์แห่งนี้เป็นพื้นที่เพื่อทำการศึกษาวิจัยการทำฟาร์มนกแอ่นกินรัง และพัฒนาเป็นอาคารต้นแบบในการจัดการฟาร์มนกแอ่นกินรังภายใต้แนวทางการปฏิบัติที่ดี พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้ไปยังเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจโดยทั่วไป ร่วมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นสร้างเป็นศูนย์ที่ครบวงจรทั้งการฝึกอบรม และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานต่อไปในอนาคต

ผศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์

ผศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ และ ผศ.ดร.แสงสรรค์ ภูมิสถาน อาจารย์ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้ข้อมูลว่า โครงการริเริ่มที่จะเลี้ยงนกแอ่นกินรังเพื่อเป็นการทดลองนี้ ได้มีการพูดถึงมาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำวิจัยได้ ต่อมาทางมหาวิทยาลัยจึงได้สนับสนุนการทำงานวิจัยและสร้างบ้านรังนกแอ่นกินรังนี้ขึ้นมา โดยเน้นไปในเรื่องของการทำวิจัยที่เป็นต้นแบบในการทำวิจัยว่า จะเลี้ยงนกแอ่นกินรังยังไงให้ได้มาตรฐานของการทำฟาร์ม เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรสามารถนำไปพัฒนาฟาร์มของตนเองได้อย่างถูกต้องตามหลักการปฏิบัติฟาร์มที่ดี

ผศ.ดร.แสงสรรค์ ภูมิสถาน

“นกแอ่นกินรังเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างมีศักยภาพมากในต่างประเทศ เมื่อมามองถึงบ้านเรา ก็สามารถผลิตสินค้าจากรังนกที่ดีมีคุณภาพออกมาได้ ดังนั้น เราจึงได้มาทำการวิจัยและเริ่มทำงานอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดการกระตุ้น เพื่อให้ในอนาคตการทำฟาร์มนกแอ่นกินรังมีความถูกต้อง และเป็นการทำฟาร์มที่มีมาตรฐาน สร้างเป็นอาชีพให้กับเกษตรกรได้เกิดรายได้จากการทำฟาร์มนกแอ่นกินรัง ให้ถูกต้องตามกฎหมายเหมือนการทำเกษตรในด้านอื่นๆ โดยเราได้รวบรวมหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทำงานวิจัยร่วมกัน เช่น สำนักงานปศุสัตว์ มาทำการศึกษานกแอ่นกินรังไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เป็นแนวทางการเลี้ยงที่ถูกต้อง และเกษตรกรสามารถนำไปเป็นแนวปฏิบัติในการสร้างอาชีพได้อย่างมั่นใจในอนาคต” ผศ.ดร.นันทชัย กล่าว

บ้านนกแอ่นกินรังในการทำวิจัย

ซึ่งอาคารวิจัยแห่งนี้เป็นอาหารปูนซีเมนต์ที่มีความสูงประมาณตึก 4 ชั้น พร้อมกับมีการสร้างบรรยากาศและเสียงนกร้องอยู่ตลอด เพื่อเรียกนกแอ่นกินรังให้เข้ามาอยู่ภายในอาคาร นอกจากนี้ ยังมีการติดระบบควบคุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด ระบบการให้ความชื้นต่างๆ เพราะการติดควบคุมด้วยกล้องวงจรปิดในการศึกษาทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ต้องเข้าไปรบกวนนกมาก จึงทำให้การศึกษาพฤติกรรมของนกแอ่นกินรัง ผ่านทางระบบออนไลน์ทางโทรศัพท์ที่มีความทันสมัยในยุคนี้ค่อนข้างตอบโจทย์ ไม่ว่าคณะผู้วิจัยจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเฝ้าดูพฤติกรรมของนกแอ่นกินรังได้ทุกช่วงที่ต้องการดูผ่านกล้องไปยังโทรศัพท์มือถือได้ทันที

รังนกแอ่นกินรัง

ผศ.ดร.นันทชัย เล่าอีกว่า การเก็บรังนกแอ่นกินรังในอาคารแห่งนี้ ถือว่าเป็นขั้นตอนการเก็บที่สำคัญมาก จะเก็บก็ต่อเมื่อนกทำรังเพียงชั้นเดียว พร้อมกับลูกนกออกจากรังแล้วเท่านั้น เพราะถ้าไม่รีบเก็บตอนที่นกทำรังเพียงชั้นเดียว เมื่อมีการทำรังเดิมเพิ่มชั้นต่อไป จะส่งผลให้เกิดการทับกันของชั้นรังและขาของลูกนกจะเขาไปติดอยู่ในรังได้ ทำให้ลูกนกไม่สามารถบินออกจากรังได้และตายในที่สุด การเก็บรังจึงช่วยลดการตายของลูกนกได้

ผลิตภัณฑ์ในการจำหน่าย

“การเก็บรังนกทุกคนอาจจะมองว่าเราไปเก็บตอนที่ลูกนกยังอยู่ เป็นการไปแย่งหรือฆ่าลูกนกไหม จริงๆ การเก็บรังของเราจะเน้นเก็บก็ต่อเมื่อลูกนกสามารถบินออกจากรังได้แล้ว พอเราไปเก็บรังมาก็เป็นการกระตุ้นให้นกสร้างรังใหม่ขึ้นมา ซึ่งจากการวิจัยและการสังเกตนกจะทำรังได้ประมาณ 3 รัง ต่อปี เพราะฉะนั้น การเก็บรังอทุกครั้งหลังลูกนกบินออกจากรังได้แล้วจะช่วยให้ได้รังนกที่ใหม่อยู่เสมอ หากไม่เก็บรังในชั้นแรก รังก็จะกรอบแห้งโทรมลงไปเรื่อยๆ และเกิดเชื้อราได้ ส่งผลให้ไม่มีราคาในการซื้อขายได้” ผศ.ดร.นันทชัย กล่าว

นกแอ่นกินรัง

โดยปัจจุบันรังนกแอ่นกินรังมีราคาจำหน่ายด้วยกันหลายราคา ซึ่งราคาก็แบ่งกันไปตามเกรดความสะอาดของรัง จากการศึกษาวิจัยในที่แห่งนี้ จึงทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าควรเลือกใช้รังระยะไหนที่เหมาะสม และควรเก็บรังในช่วงไหนจึงจะทำให้สามารถจำหน่ายได้ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งการจะได้รังนกแอ่นกินรังที่ขาวสะอาดจากการวิจัยพบว่า แต่ละฟาร์มจะมีเทคนิคในการให้ความชื้นภายในอาคารที่แตกต่างกันไป ก็จะช่วยให้รังนกมีความขาวสะอาดและได้น้ำหนัก เพราะฉะนั้น ความชื้นจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างช่วยให้รังได้คุณภาพด้วยเช่นกัน

การสร้างรังของนกแอ่นกินรัง

เพราะฉะนั้น ในอนาคตหากการศึกษาวิจัยการเลี้ยงนกแอ่นกินรังมีข้อมูลที่เปิดกว้าง และมีการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายอย่างเป็นระบบ ก็จะยิ่งช่วยให้สัตว์ป่าชนิดนี้เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่และต่อยอดต่อไปได้เรื่อยๆ เป็นเหมือนการอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น การเลี้ยงนกแอ่นกินรังที่ถูกวิธีและมีมาตรฐานการทำฟาร์มที่ดีเข้ามารองรับ ก็จะยิ่งช่วยให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในการทำตลาด และมีมาตรฐานการทำฟาร์มที่ดี เป็นตัวการันตีในเรื่องของการส่งออกสินค้าได้

พื้นที่ภายในอาคารวิจัย
คณะผู้ศึกษาดูงาน

“อย่างราคารังนกในเวลานี้สำหรับรังที่ยังไม่มีมาตรฐานการทำฟาร์มให้มีใบรับรอง ราคาขายเหมือนโดนกดราคาลงไปอยู่ที่หลัก 10,000-20,000 บาท ต่อกิโลกรัม หากในอนาคตถ้าเราได้รับการร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะตอนนี้ที่กรมปศุสัตว์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเรา ก็จะทำให้เกษตรกรได้รับมาตรฐานฟาร์มที่ถูกต้อง ที่ได้รับการรองรับมากขึ้นจากการทำตลาด ทำให้ราคารังนกแอ่นกินรังมีมาตรฐาน GAP เพื่อให้ราคาปรับสูงขึ้นไปมากกว่า 50,000 บาท ต่อกิโลกรัม เพราะฉะนั้น ศูนย์วิจัยของเราจึงอยากจะเป็นสื่อกลางเพื่อสร้างมาตรฐานต่างๆ ให้กับเกษตรกรที่สนใจ หรือคนที่อยากจะเรียนรู้ในเรื่องนี้ สามารถเข้าใจในนกแอ่นกินรังในหลายๆ ด้าน เพื่อรวมกันพัฒนาและสร้างเป็นสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานฟาร์มที่ดี จนทำให้เกษตรกรสามารถทำเป็นอาชีพสร้างรายได้ได้อย่างมั่นใจและมั่นคงต่อไป” ผศ.ดร.นันทชัย กล่าวทิ้งท้าย