ขับเคลื่อน Model “กระบี่เมืองแพะ” เสริมรายได้ในสวนยาง-ปาล์มน้ำมัน

ยางพารา และปาล์มน้ำมัน นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้หลักของจังหวัดกระบี่ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันผันผวนขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่ลดลง 30-80% ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างมาก

ประชากรร้อยละ 60 ของจังหวัดกระบี่ นับถือศาสนาอิสลาม ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และเลี้ยงแพะ ครัวเรือนละ 3-5 ตัวเพื่อการบริโภค ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา และวัฒนธรรมอยู่แล้ว แต่แพะที่เลี้ยงมีลูกน้อยและมีอัตราการตายสูง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เลี้ยงแพะแบบปล่อย หรือผูกล่าม ไม่มีโรงเรือน ไม่มีแปลงหญ้า ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้แพะในจังหวัดกระบี่มีมากกว่าผลผลิตที่มีอยู่ในพื้นที่ จึงต้องนำเข้าแพะจากนอกพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลทางศาสนา

นายชวน ภูเก้าล้วน นายกสภาการศึกษา จังหวัดกระบี่ ผู้ผลักดันแนวคิด กระบี่เมืองแพะ
หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “กระบี่เมืองแพะ”

เนื่องจากจังหวัดกระบี่ มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลขึ้นในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ประกอบกับ เนื้อแพะ นมแพะ เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และตลาดมีความต้องการสูง นายชวน ภูเก้าล้วน นายกสภาการศึกษา จังหวัดกระบี่ (เป็นองค์กรที่สภาประชาชนจัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550) จึงเกิดแนวคิดใช้พื้นที่สวนยางและสวนปาล์มน้ำมันให้เกิดประโยชน์ โดยส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะเป็นรายได้เสริม ภายใต้ยุทธศาสตร์ “กระบี่เมืองแพะ” แบบครบวงจร

โมเดลกระบี่เมืองแพะ มีเป้าหมายส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแพะในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแบบผสมผสาน ปลูกหญ้าอาหารสัตว์แค่ 2 ไร่ ก็เพียงพอสำหรับเลี้ยงแพะได้ 100 ตัว ตลอดทั้งปี การเลี้ยงแพะเนื้อ ใช้เวลาคืนทุนไม่เกิน 18 เดือน ที่สำคัญมีฐานตลาดกว้างและมั่นคง โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือ กลุ่มมุสลิมในประเทศและตลาดส่งออก

แพะเนื้อพันธุ์แบล็คเบงกอล

สภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ ได้จัดตั้ง “มหา’ลัยแพะนานาชาติ กระบี่” เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงแพะเนื้อ และแพะนม ให้แก่เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรเข้าใจหลักการจัดการเลี้ยงดูแพะเนื้อและแพะนมอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อลดอัตราการตาย และเพิ่มขนาดการเลี้ยงให้สมดุลกับแรงงานและสภาพแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้เกิดขึ้นในพื้นที่

ตั้งธนาคารแพะ

สภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ ได้ร่วมมือกับศูนย์วิทยบริการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการธนาคารแพะขึ้น โดยจัดหาแม่แพะเนื้อที่ผสมพันธุ์แล้วแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ หมู่บ้านละ 10 ราย รายละ 2-3 ตัว โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีคอกเลี้ยงแพะที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ผ่านการอบรมการเลี้ยงแพะที่ถูกวิธีตามข้อแนะนำของ ศูนย์วิทยบริการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกระบี่

ภายในโรงเรือนเลี้ยงแพะ

เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องปฏิบัติตามกติกาดังนี้ คือ 1. เกษตรกรที่รับเอาแม่แพะ จำนวน 2 ตัว ต้องส่งลูกตัวเมียคืนธนาคารแพะ (หลังจากหย่านม) จำนวน 3 ตัว/ปี เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นเกษตรกรจะได้เป็นเจ้าของแม่แพะที่รับไป เมื่อครบเวลา 1 ปีแล้วเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังไม่ส่งลูกตัวเมียให้ทางธนาคารแพะครบ เกษตรกรจะโดนปรับ 1 เท่าตัว หากเกษตรกรละเลยไม่ใส่ใจดูแล ทำให้แม่พันธุ์แพะถึงแก่ความตาย ต้องคืนลูกตัวเมียให้ครบตามจำนวนที่ตกลงไว้เหมือนเดิม หรือหากแพะตายจากปัญหาโรคระบาดร้ายแรง เกษตรกรสามารถลดจำนวนการส่งคืนลูกได้ตามตกลงกัน

ส่งเสริมเลี้ยงแพะพันธุ์ดี

เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้นิยมเลี้ยงแพะพันธุ์พื้นเมือง เพราะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี หากินเก่ง เลี้ยงง่าย น้ำหนักแรกเกิด 1-1.5 กิโลกรัม หย่านม 8-9 กิโลกรัม โตเต็มที่เพศผู้ หนัก 25-30 กิโลกรัม เพศเมีย 20 กิโลกรัม สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี และให้ลูกดก แต่ข้อด้อยของแพะพันธุ์พื้นเมือง คือ เจริญเติบโตช้า ร่างกายมีขนาดเล็ก ให้เนื้อและน้ำนมในปริมาณน้อย

แพะพันธุ์บอร์ (Boer) เป็นแพะเนื้อขนาดใหญ่

มหา’ลัยแพะฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงแพะพันธุ์ดี เช่น แพะพันธุ์บอร์ (Boer) เป็นแพะเนื้อขนาดใหญ่ ลักษณะเด่นคือ มีลำตัวสีขาว หัวและคอจะมีสีแดง ใบหูยาวปรก มีน้ำหนักแรกเกิด 4 กิโลกรัม น้ำหนักหย่านม 20 กิโลกรัม โตเต็มที่ตัวผู้ หนัก 90 กิโลกรัม ตัวเมีย 65 กิโลกรัม แพะพันธุ์ซาแนน (Saanen) ลักษณะเด่นคือ มีสีขาวทั้งตัว ใบหูเล็ก หูตั้ง หน้าตรง โตเต็มที่ตัวผู้ 75 กิโลกรัม ตัวเมีย 60 กิโลกรัม ผลผลิตนม เฉลี่ย 2.2 กิโลกรัม/วัน ระยะ 200 วัน

แพะเนื้อพันธุ์แบล็คเบงกอล

“แพะเนื้อพันธุ์แบล็คเบงกอล” มีราคาขายค่อนข้างสูง เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและส่งออก ลักษณะเด่นของแพะพันธุ์นี้คือ มีขนสีดำ มีขนาดเล็ก ให้ลูกดก เลี้ยงง่าย ทนต่อโรคและเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพแวดล้อมของประเทศไทย แพะเพศผู้และเพศเมีย มีเขาเหมือนกัน แพะเพศเมีย อายุ 8-9 เดือน จะเริ่มเข้าสู่ภาวะการตั้งท้อง มักให้ลูกแฝด 2-4 ตัว โดยเฉลี่ย 2 ตัว ต่อคอก แพะแบล็คเบงกอล เป็นสัตว์ที่ชอบพื้นที่สะอาดและแห้ง โรงเรือนควรยกพื้นสูง ช่วยลดปัญหาความชื้นและกลิ่นแอมโมเนียจากมูลแพะ และป้องกันน้ำท่วม ขนาดพื้นที่ภายในโรงเรือนควรมีขนาดประมาณ 1-1.5 ตารางเมตร ต่อตัว จัดที่กินน้ำและรางอาหารให้เพียงพอกับจำนวนแพะ

แพะพันธุ์ทรัพย์- ม.อ. 1 ภาพโดย คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่

แพะพันธุ์ทรัพย์- ม.อ.1 เป็นแพะเนื้อลูกผสม โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โทรศัพท์ (074) 802-655 ได้พัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของภาคใต้ตอนล่าง แพะพันธุ์ทรัพย์- ม.อ.1 มีลำตัวสีน้ำตาล หลังดำ ขายาว ลำตัวยาว หูปรก ตัวไม่ใหญ่ เลี้ยงง่าย ทนร้อน ให้ลูกดก

เลี้ยงแพะ ให้ผลกำไรดี คุ้มค่ากับการลงทุน

สถาบันพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) วิทยาเขตนครศรีธรรมราช โทร. (075) 489-614 สำนักงานวิชาการ ได้ประเมินผลการเลี้ยงแพะในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน พบว่า มีข้อดีหลายประการ ได้แก่ ด้านการตลาด การบริโภคเนื้อแพะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ประการต่อมา แพะ เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก ไม่รบกวนการเจริญเติบโตของรากต้นยางพารา สามารถเลี้ยงผสมผสานในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันได้ ผลพลอยได้จากทางปาล์มน้ำมัน สามารถนำมาเป็นพืชอาหารเลี้ยงแพะได้

ตัวอย่างรายได้ของการเลี้ยงแพะผสมผสานในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน

พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้ 17 ต้น จะให้ผลผลิตประมาณ 3 ตัน ต่อปี หากขายได้ กิโลกรัมละ 3 บาท จะมีรายได้ปีละ 9,000 บาท ปลูกหญ้าเนเปียร์ 1 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 16-31 ตัน/ปี หรือประมาณ 50-100 กิโลกรัม/วัน เพียงพอต่อการเลี้ยงแพะแม่พันธุ์ 10 ตัว พ่อพันธุ์ 1 ตัว แพะสาวและแพะขุน 15 ตัว จะมีรายได้จากการขายแพะ ดังนี้

1. ผลผลิตแพะขุน ประมาณ 7-10 ตัว/รอบการผลิต น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 130 บาท มีรายได้ ประมาณ 27,300-39,000 บาท

2. แพะปลดระวางเพศเมีย 2-5 ตัว/รอบการผลิต น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 110 บาท ได้เงินประมาณ 6,600-16,500บาท

3. แพะสาวเพศเมีย 2-5 ตัว/รอบการผลิต ราคาประมาณตัวละ 4,000-6,000 บาท/ตัว เป็นเงินประมาณ 8,000-30,000 บาท

เมื่อรวมรายได้จากการขายแพะขุน แพะปลดระวาง และแพะสาวเพศเมีย เกษตรกรจะมีรายได้ต่อปี ประมาณ 41,900-69,000 บาท เปรียบเทียบกับรายได้จากการปลูกปาล์มน้ำมัน 1 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายผลผลิตเพียงไร่ละ 13,000 บาท หากเลี้ยงแพะในสวนปาล์มน้ำมัน 1 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้โดยรวม ประมาณ 50,900-78,000 บาท/ไร่/ปี

การเลี้ยงแพะในสวนยางพารา

ส่วนการเลี้ยงแพะในสวนยางพารา ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีไม่แพ้กัน สวนยางพารา เนื้อที่ 1 ไร่ สามารถปลูกยางพาราได้ทั้งหมด 45 ต้น ให้ผลผลิตประมาณวันละ 2 กิโลกรัม ต่อวัน กรีดยางประมาณ 125 วัน ได้ผลผลิตประมาณ 150 กิโลกรัม ต่อปี หากขายน้ำยางได้ กิโลกรัมละ 40 บาท จะมีรายได้ต่อปีละ 6,000 บาท ปลูกหญ้าเนเปียร์ 1 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 16-31 ตัน/ปี หรือประมาณ 50-100 กิโลกรัม/วัน เพียงพอต่อการเลี้ยงแพะแม่พันธุ์ 10 ตัว พ่อพันธุ์ 1 ตัว แพะสาวและแพะขุน 15 ตัว เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายแพะขุน แพะปลดระวาง และแพะสาวเพศเมีย ต่อปี ประมาณ 41,900-69,000 บาท

เปรียบเทียบกับรายได้โดยเฉลี่ยจากการปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายผลผลิต 12,000 บาท/ไร่/ปี เท่านั้น หากลงทุนเลี้ยงแพะในสวนยางพารา 1 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้โดยรวม ประมาณ 47,900-75,000 บาท/ไร่/ปี ถือว่าให้ผลตอบแทนดี คุ้มค่ากับการลงทุน กล่าวโดยสรุป การเลี้ยงแพะในสวนปาล์มน้ำมันและยางพารา สามารถสร้างรายได้เพิ่มก้อนโตให้แก่เกษตรกรได้อย่างดีทีเดียว

ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เยี่ยมชมแพะศรีผ่องฟาร์ม

………………………………………..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น!คลิกดูรายละเอียดที่นี่