กลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคขุน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เน้นขุนโคคุณภาพ เจาะตลาดชัดเจน

แนวทางการเลี้ยงโคของชาวบ้านจะอาศัยความเคยชินเหมือนก่อนคงไม่ได้ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เกษตรกรผู้เลี้ยงโคต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงตลาดเพื่อความอยู่รอดของอาชีพ จากปัญหาเดิมๆ ที่เลี้ยงโคขาดคุณภาพ จนถึงตอนนี้ต้องนำเทคโนโลยี ควบรวมกับองค์ความรู้กำหนดเป็นมาตรฐานการเลี้ยงโคให้มีคุณภาพ พร้อมดึงตลาดนำการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้        

“กลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคขุน อำเภอพาน” มีการประชุมวางแผนพัฒนาโคขุนอยู่เป็นประจำ

       

ตัวอย่างความสำเร็จของอาชีพเลี้ยงโคของ “กลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคขุน อำเภอพาน” จังหวัดเชียงราย แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความร่วมมือยอมรับกับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทต่ออาชีพ กำหนดมาตรฐานและสายพันธุ์โคที่เลี้ยงให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จนเป็นที่ยอมรับ ทำให้มีตลาดขายที่ชัดเจน มีรายได้ที่มั่นคง พร้อมนำรูปแบบการผลิตอาหารลดต้นทุนแล้วเกิดประโยชน์มาใช้ช่วยให้ประหยัด ยิ่งมีกำไรเพิ่มขึ้น

คุณณัฎฐพงษ์ ชัยสวัสดิ์ หรือ คุณเอส ประธานกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคขุนอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่เลขที่ 263 หมู่ที่ 4 ตำบลสันติสุข อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ (085) 621-8066 กล่าวว่า เริ่มเลี้ยงโคขุนมาตั้งแต่ปี 2549 แต่ไม่ประสบความสำเร็จจากปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องราคาขาย

สมาชิกที่ผ่านการอบรมเรื่องผลิตอาหาร TMR

เลี้ยงโครูปแบบเดิมไม่ได้

ต้องเน้นเจาะตลาดจึงได้ผลกว่า

เมื่อเป็นเช่นนั้นในปี 2559 จึงชวนชาวบ้านร่วมอาชีพมาตั้งเป็นกลุ่มเลี้ยงโคด้วยวิธีผสมเทียม พร้อมกับได้รับความช่วยเหลือทางด้านความรู้ เทคนิค และอุปกรณ์ รวมถึงน้ำเชื้อจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอพาน จึงทำให้เริ่มใช้แนวทางการเลี้ยงโคขุนอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานมากขึ้น ให้ความสำคัญกับความต้องการของตลาดรับซื้อที่ชัดเจนและแน่นอน

คุณณัฎฐพงษ์ ชัยสวัสดิ์ หรือ คุณเอส ประธานกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคขุน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

ตลาดที่รับซื้อแบ่งเป็น 2 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดโคพันธุ์ชาโรเล่ส์ ที่เลี้ยงเพื่อสร้างคุณภาพเนื้อโคให้มีไขมันแทรกเล็กน้อยเจาะกลุ่มตลาดปิ้ง/ย่าง โดยทางสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้รับซื้อ ส่วนอีกตลาดเป็นโคพันธุ์บีฟมาสเตอร์จะเน้นการเลี้ยงเพื่อให้คุณภาพเนื้อมีความนุ่มเพื่อเจาะกลุ่มตลาดแปรรูป ซึ่งขายให้แก่ล้านนาบีฟ

คุณเอส บอกว่า การขยายพันธุ์โคใช้วิธีผสมเทียมเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อต้องการควบคุมพันธุกรรมโคให้แน่นอน เพื่อให้ได้โคตรงตามลักษณะที่ตลาดต้องการอย่างแท้ ขณะเดียวกัน ยังเอื้อประโยชน์ให้ชาวบ้านและทางปศุสัตว์ต่อการจัดเก็บข้อมูลที่แท้จริงและสมบูรณ์สำหรับไว้อ้างอิงหรือตรวจสอบในภายหลังอีกด้วย ทั้งนี้ สมาชิกต้องใช้น้ำเชื้อที่ได้จากปศุสัตว์และทางบริษัทเท่านั้น

คุณเอส (ที่ 2 จากขวา) พร้อมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์

สำหรับแม่พันธุ์ที่พร้อมผสมเทียมต้องมีอายุตั้งแต่ 1 ปี 6 เดือน โดยสมาชิกต้องดูแลแม่พันธุ์ให้มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ทั้งการให้อาหาร ฉีดวัคซีน ตลอดจนสถานที่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มเป็นสาว

 ผลิตอาหารต้นทุนต่ำจากธรรมชาติ

ทางด้านอาหารแม่พันธุ์จะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีในพื้นที่มาผลิตเป็นอาหาร พร้อมไปกับการพัฒนาสูตรอาหารแม่พันธุ์เพื่อให้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ขณะเดียวกัน อาหารดังกล่าวต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตไม่ให้สูง แต่มีประโยชน์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยให้ผู้เลี้ยงมีต้นทุนต่ำ ประหยัดค่าใช้จ่าย

แม่พันธ์ลูกผสมชาโรเล่ส์ระหว่างตั้งท้อง

สำหรับอาหารที่ใช้นำมาจากวัตถุดิบในพื้นที่ อย่างหญ้าเนเปียร์ ข้าวโพดที่มีอายุ 85-90 วัน จะตัดแล้วหมัก โดยมีแปลงปลูกข้าวโพดเฉพาะสำหรับใช้เป็นอาหารโคแม่พันธุ์ เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวโพดที่มีปริมาณแป้งสูงมาก โดยใช้ทั้งต้น/ฝัก นอกจากนั้น ยังสลับด้วยฟางข้าวเป็นครั้งคราว

ภายหลังฉีดน้ำเชื้อประมาณ 3-4 เดือน ต้องล้วงตรวจข้างในอีกครั้งเพื่อตรวจเช็กให้แน่ใจว่าตั้งท้องหรือไม่ หากตั้งท้องแล้วจะแยกแม่พันธุ์ออกไปดูแลต่างหาก ซึ่งจะต้องเพิ่มอาหารพิเศษ โดยเฉพาะหากเริ่มตั้งท้องจะใช้ฝุ่นข้าวโพดมาผลิตเป็นอาหารข้นที่มีโปรตีนสูง ทั้งนี้ การใช้ฝุ่นข้าวโพดช่วยลดต้นทุนอาหารเหลือเพียงกิโลกรัมละ 2.50 บาท

แม่พันธุ์ลูกผสมชาโรเล่ส์ 50 เปอร์เซ็นต์ กับลูกผสมบีฟมาสเตอร์ 50 เปอร์เซ็นต์

แม่พันธุ์ใช้เวลาตั้งท้อง 9 เดือน ซึ่งภายหลังคลอดแล้วจะต้องดูแลทั้งแม่-ลูกให้มีสุขภาพดี พอลูกโคโตขึ้นสักระยะก็จะสร้างความคุ้นเคยด้วยการฝึกให้เลียอาหารข้นจากรางที่มีโปรตีนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เพื่อจะได้แบ่งเบาภาระการให้นมของแม่ ช่วยสร้างการเจริญเติบโตของลูกให้แข็งแรง รวดเร็ว แล้วเมื่อลูกโคอายุมากขึ้นจะค่อยๆ ปรับลดอาหารข้นลงแล้วเพิ่มเป็นอาหารตามธรรมชาติอย่างกากปาล์ม ฝุ่นข้าวโพด และรำละเอียดเข้ามาทดแทน

วิธีการขายลูกวัวโดยการชั่งน้ำหนัก เริ่มขายตั้งแต่หยุดนมแม่ประมาณ 6 เดือน ในช่วงนั้นต้องพยายามขุนลูกวัวให้มีน้ำหนักเฉลี่ย 200-300 กิโลกรัม ซึ่งทางล้านนาบีฟจะรับซื้อกิโลกรัมละ 105 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 2-3 หมื่นบาทต่อตัว อย่างไรก็ตาม หากยังไม่รีบขาย แต่ต้องการจะเลี้ยงต่อไปจนมีอายุประมาณ 14 เดือน ซึ่งจะได้ราคาดีกว่า

 ปรับปรุงอาหารต้นทุนต่ำด้วยอาหาร TMR

เครื่องผลิตอาหาร TMR

คุณเอส บอกว่า ต้นทุนอาหารแต่ละกิโลกรัมเฉลี่ยประมาณ 7-8 บาท และเป็นต้นทุนอาหารสำหรับใช้เลี้ยงโคทั้งหมดทุกช่วงวัย อีกทั้งพยายามหาวัสดุตามธรรมชาติมาผลิตอาหารเพื่อให้ลดต้นทุนมากที่สุด แล้วต้องคำนึงถึงคุณค่ามากที่สุดควบคู่ไปด้วย และแนวทางการลดต้นทุนค่าอาหารคือการผลิตอาหาร TMR

อาหาร TMR เป็นแนวทางผลิตอาหารลดต้นทุนโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีในพื้นที่เป็นหลัก โดยผ่านการวิเคราะห์ถึงประโยชน์และคุณค่าทางอาหารสูงสุด ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้กำไรจากการขายเพิ่มขึ้น ตัวอย่างอาหารลดต้นทุนที่กลุ่มนำมาใช้คือต้นข้าวโพดหมัก (คอนไซเลต) เป็นส่วนผสมกับฟางข้าว เพราะมีโปรตีนถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อแม่พันธุ์โค

 สวทช. วิจัยอาหาร TMR เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้ลดต้นทุนอีก

ผลิตภัณฑ์เนื้อไขมันแทรก

แนวทางการผลิตอาหาร TMR เป็นโครงการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อหาข้อมูลการวิเคราะห์วิจัยการผลิตอาหารต้นทุนต่ำและมีคุณภาพสูงแล้วถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวสู่ชุมชน

ผลิตภัณฑ์เนื้อนุ่มของล้านนาบีฟ

ที่ผ่านมา สวทช. มีนโยบายที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน โดยเป็นโครงการที่ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งจะเกิดจากงานวิจัยก่อน แล้วจึงนำงานวิจัยชิ้นนั้นมาถอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนต่อไป อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารโคลดต้นทุนต้องนำวัตถุดิบในพื้นที่แต่ละแห่งที่มีอยู่มาใช้ด้วยศึกษาในเชิงลึกถึงคุณค่าทางโภชนาการว่าแต่ละชนิดมีอะไรบ้างที่เหมาะสมกับการนำมาผลิตเป็นอาหารต้นทุนต่ำของการเลี้ยง อย่างทางภาคใต้จะใช้เป็นทางปาล์มหรือผลปาล์มอ่อนมาปั่นเป็นอาหาร TMR โดยกำหนดส่วนผสมที่ต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น

สำหรับที่เชียงราย มีฟาง เผือก สับปะรด ข้าวโพดที่สามารถนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้ แต่ต้องมาวิเคราะห์ว่าวัตถุดิบแต่ละชนิดดังกล่าว อย่างไหนมีคุณภาพเป็นอย่างไร ถึงค่อยนำไปสู่การคิดเป็นสูตรอาหารที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ลดต้นทุนได้มากที่สุด อย่างที่อำเภอพาน จะใช้สูตร TMR จากสับปะรดและฟางเป็นหลัก

ลูกผสม 50 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์บีฟมาสเตอร์อายุ 2-3 เดือน

สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจแนวทางนี้ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สวทช. โทรศัพท์ (02) 564-7000 โทรสาร (02) 564-7001-5 Call Center (02) 564-8000 หรือเข้าไปดูในเว็บไซต์ของ สวทช. https://www.nstda.or.th