เลี้ยงวัวขุน เป็นอาชีพเสริม ทำได้ไม่ยาก คิดคำนวณต้นทุนดี ขุน 3 ตัว ทำกำไรได้

เกษตรกรท่านนี้ที่ผมพาไปชม เขาขุนวัวเป็นอาชีพเสริมและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนขนาดธุรกิจของเขาให้เข้ากับทิศทางธุรกิจที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ตามมาจะพาไปดูครับ

วัวขุนอาชีพเสริมที่เอาจริง

พาท่านไปพบกับ คุณวิศาล กระต่าย ที่บ้านเลขที่ 99/1 หมู่ที่ 11 ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี คุณวิศาล มีคอกวัวขุนอยู่หลังบ้าน เป็นคอกวัวขุนที่สร้างขึ้นอย่างแข็งแรง ถาวร ชี้ให้เห็นว่าเขาเอาจริงเอาจังกับการขุนวัวอยู่ไม่น้อย คุณวิศาล เริ่มเล่าให้ฟังว่า “ผมมีงานประจำอยู่แล้ว แต่ก็มองหาอาชีพเสริมไปด้วย สุดท้ายก็มาลงเอยที่การขุนวัวเป็นอาชีพเสริม รายได้เสริม เริ่มขุนมาได้ 2 ปีแล้ว เริ่มต้นก็ลงทุนกับเรื่องคอกวัวแบบถาวรไปเลย เพราะเห็นว่าการขุนวัวน่าจะเป็นอาชีพเสริมที่ดี วิธีการของผมนั้นจะลงทุนขุนวัวไม่มาก ครั้งละ 3-7 ตัว มากที่สุดที่เคยขุนก็แค่ 7 ตัว ซึ่งมันก็แล้วแต่ราคาวัวในตลาด ช่วงไหนวัวราคาดี หาซื้อวัวโครงได้ง่ายก็ขุนมากหน่อย ช่วงไหนราคาแกว่งเราก็เลี้ยงโดยขุนให้น้อยตัวลง” คุณวิศาล เล่าให้ฟัง

ต้องรู้ราคาขายวัวขุนเสียก่อน

การขุนวัวก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง สิ่งที่มากับธุรกิจก็คือ ความเสี่ยง แต่จะเสี่ยงมากหรือน้อยนั้นเราเลือกได้ครับ มาฟังคำแนะนำการคำนวณราคาวัวก่อนตัดสินใจซื้อวัวเข้าขุนของคุณวิศาลกัน คุณวิศาล บอกว่า ก่อนจะไปจับวัวโครงเพื่อเอามาเข้าขุน ที่ตอนนั้นเราควรต้องรู้ราคาขายวัวขุนในช่วงนั้นก่อนจึงจะสามารถคำนวณต้นทุนและกำไรได้ “เวลาที่ผมจะไปซื้อวัวซากหรือวัวโครงเพื่อเอามาเข้าขุน ผมจะต้องรู้ราคาขายวัวขุนไปก่อน จากนั้นเมื่อไปถึงตลาดนัดเราก็จะดูวัวโครง โดยดูที่ น้ำหนัก พันธุ์ อายุ ขนาดตัว แล้วคำนวณต้นทุนดู อย่างวัวโครงหนัก 200 กว่ากิโลกรัม ต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะขุนขึ้นไปที่น้ำหนัก 450-460 กิโลกรัมได้ และเมื่อคำนวณเวลาขุนได้แล้ว ก็ต้องเอาไปคูณกับค่าอาหารต่อตัวต่อวัน แล้วจะได้ตัวเลขต้นทุนการขุนวัวต่อตัวออกมา”

 

คำนวณต้นทุนกำไรก่อนจับวัวโครง

ข้อมูลต้นทุนโดยสรุปจากประสบการณ์ของคุณวิศาลคือ “ผมมักจะใช้ตัวเลขโดยเฉลี่ยมาคำนวณต้นทุนวัวโครง อย่างเวลาขุนผมจะใช้เวลา 3 เดือนครึ่ง เพื่อขุนให้ได้ 450 กิโลกรัมขึ้นไป ซึ่งผมต้องลงทุนค่าอาหารทั้งหมดประมาณ 12,000 บาท ต่อวัว 1 ตัว ดังนั้น หากราคาขายวัวขุนอยู่ที่ 95 บาท ต่อกิโลกรัม เวลาที่ผมจับขายผมจะได้ราคาประมาณ 42,750 บาท ต่อตัว เพราะฉะนั้น เวลาซื้อวัวโครงผมจะต้องซื้อที่ราคาต่ำกว่า 30,000 บาท จึงจะได้กำไร”

นี่เป็นการคำนวณแบบคร่าวๆ เพื่อกำหนดราคาซื้อวัวโครงเข้าขุนของคุณวิศาล จริงๆ แล้วการคำนวณต้นทุน ผลตอบแทนตามหลักเศรษฐศาสตร์ยังมีรายละเอียดเยอะกว่านี้ ส่วนวิธีนี้เป็นขั้นตอนง่ายๆ จากประสบการณ์ตรง ใครสนใจนำไปใช้ได้ไม่หวงครับ

ใช้ต้นข้าวโพดสับเป็นอาหารหยาบ

ในเรื่องแหล่งวัวที่ซื้อมาเข้าขุนนั้น คุณวิศาล บอกว่า “ส่วนใหญ่แล้วผมจะไปเลือกซื้อวัวด้วยตัวเองที่ตลาดนัดหนองลานที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน โดยจะเลือกเอาวัวลูกผสมบราห์มันกับลูกผสมชาโรเลส์เป็นหลัก เพราะวัวพวกนี้ขุนน้ำหนักขึ้นง่าย จับมาแล้วก็ทำวัคซีน เหน็บฮอร์โมน ถ่ายพยาธิก่อนเข้าขุน ช่วงนี้ราคาวัวโครงลดลงไปนิดหน่อยตามราคาวัวเนื้อที่ลดลง อย่างวัวลูกผสมชาโรเลส์ที่ผมกำลังขุนอยู่ตอนนี้ ผมซื้อมาในราคาตัวละ 30,000 บาท เอามาขุนได้ 1 เดือนแล้ว ต้องขุนให้ได้ 450 กิโลกรัมขึ้นไป”

มีฟางเสริมให้

ในเรื่องของอาหารที่ใช้ขุนวัว คุณวิศาล เล่าให้ฟังว่า “เมื่อวัวมาถึงคอกใหม่ๆ จะต้องให้ฟางกินก่อนในช่วงแรกประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อให้วัวปรับตัว เพราะวัวมาจากหลายที่ บางทีอาจจะไม่เคยกินต้นข้าวโพดมาก่อน จากนั้นจึงให้ต้นข้าวโพดสับเป็นอาหารหยาบ วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ครั้งละประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อตัว ต้นข้าวโพดสับจะสั่งซื้อจากในพื้นที่ ในราคาตันละ 1,500 บาท เป็นต้นข้าวโพดสับใส่มาในถุงดำ น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ต่อถุง หากถุงไม่รั่วจะสามารถเก็บต้นข้าวโพดสับไว้ได้ประมาณ 2 เดือน”

ระวัง!! อาหารข้น ห้ามให้มากบ้างน้อยบ้างเด็ดขาด

ในส่วนอาหารข้นนั้นคุณวิศาลใช้อาหารข้นที่ผสมขายกันในพื้นที่ “อาหารข้น ผมให้วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ครั้งละประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อตัว เหมือนกันกับอาหารหยาบ วัวกินอาหารข้นตกตัวละ 10 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน”

ในเรื่องการให้อาหารข้น คุณวิศาล มีคำแนะนำมาว่า “อาหารข้นเราจะต้องให้ในปริมาณที่เท่ากันทุกวันอย่างให้วันละ 10 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน ก็ต้องให้เท่านั้นทุกวัน จะไปขี้เหนียวอาหารข้นบางวันให้มาก บางวันให้น้อยไม่ได้ เพราะวัวจะกินอาหารข้นในปริมาณที่เท่ากันทุกวัน หากเราไปเพิ่มบ้างลดบ้างวัวจะน้ำหนักขึ้นช้า น้ำหนักขึ้นน้อย เป็นภาระให้เราขุนยาวนานขึ้นไปอีก ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปโดยใช่เหตุ” คุณวิศาล แนะนำ

ราคาอย่าต่ำกว่ากิโลละ 90 บาท

เรื่องราคาขายวัวขุนก็สำคัญ คุณวิศาล บอกว่า “ตอนนี้ราคาขายวัวขุนแถวบ้านผมอยู่ที่กิโลกรัมละ 93 บาท ซึ่งก็ถือว่าคนเลี้ยงยังพออยู่ได้ หักต้นทุนแล้วยังพอมีกำไรนิดหน่อย แต่กำไรก็มาจากการที่วัวของเรา ต้องขุนให้ได้น้ำหนักมากเต็มที่เกิน 450 กิโลกรัมด้วย”

เมื่อขุนวัวจนน้ำหนักเป็นที่พอใจ คุณวิศาลก็จะโทร.สอบถามราคาไปที่พ่อค้ารับซื้อวัวในพื้นที่ พ่อค้าคนไหนให้ราคามากจนพอใจก็จะตกลงขาย คุณวิศาล เล่าว่า “ช่วงนี้วัวราคาตก คนเลี้ยงวัวขุนรายย่อยอย่างผมก็ต้องหาทางออกโดยลดจำนวนวัวลง ขุนให้น้อยตัวลงเพื่อลดภาระ ลดความเสี่ยง อย่างตอนนี้ผมก็จับมาเข้าขุนแค่ 3 ตัวเท่านั้น แต่ก็ยังดีที่ราคาวัวโครงก็ลดลงด้วย ก็ทำให้ต้นทุนต่ำลงไปอีกหน่อย แต่ถ้าหากราคาวัวขุนตกลงไปต่ำกว่ากิโลกรัมละ 90 บาท รายย่อยอย่างผมคงอยู่ไม่ได้ คงต้องหยุดขุนวัวชั่วคราว”

 

…..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564