ปางมะนาว กลุ่มเลี้ยงโคขุน ดีเด่นแห่งชาติ ปี 55

วันที่ 16 มิถุนายน 2546 นับเป็นวันสำคัญของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านปางมะนาว ตำบลหินดาต อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร ด้วยเป็นวันจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนบ้านปางมะนาว โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 11 ราย และจากก้าวแรกของการเริ่มต้นจนมาถึงวันนี้ การดำเนินงานของกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนบ้านปางมะนาวได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผลงานต่างๆ ออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด จนกลายเป็นกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างของจังหวัดกำแพงเพชร

กินวันละ 2 มิ้อ เช้าและเย็น จำนวน 6 กิโลกรัมต่อตัว

กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนบ้านปางมะนาวได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2555 ประเภทกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์

กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนบ้านปางมะนาว ตั้งอยู่เลขที่ 49 หมู่ 11 ตำบลหินดาต อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร  โทร. 087 – 729 – 0765 ทุนดำเนินการ  606,800 บาท มีผลผลิตโคขุนออกสู่ตลาดทั้งคอกรวม และคอกแยกไม่น้อยกว่า  300  ตัวต่อรุ่น (4 เดือน)

รวมกลุ่มแก้ปัญหา จากที่ต่างคนต่างทำ

สมุดบันทึก หนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ทางกลุ่มให้ความสำคัญ

กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนบ้านปางมะนาว เดิมเกษตรกรประกอบอาชีพปลูกมันสำปะหลังเพียงอย่างเดียว ต่อมาปี 2546 ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม เพื่อหาเงินไปซื้อโคมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม

ตอนแรกมีลักษณะต่างคนต่างเลี้ยงไม่มีระบบการจัดการที่ดีทำให้ประสบปัญหาด้านการตลาดและราคาตกต่ำ พอต่างคนต่างเลี้ยง ต่างคนต่างขาย ทำให้ไม่สามารถต่อรองราคากับพ่อค้าได้ ส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ จึงมีแนวคิดในการรวมกลุ่ม

ทั้งนี้ ในการรวมกลุ่มนั้นมีเป้าหมายเพื่อเลี้ยงโคในลักษณะคอกรวม ให้สมาชิกร่วมกันเรียนรู้และเลี้ยงโคขุน นอกจากนี้ยังได้รวบรวมเงินจากสมาชิกและกู้เงินธนาคารเพิ่มเติม  นำมาบริหารจัดการกลุ่ม  มีการสร้างโรงเรือนเพื่อเลี้ยงโคขุนในคอกรวม รวมทั้งไปศึกษาดูงาน เพื่อเรียนรู้วิธีการเลี้ยงโคขุน จากนั้นกลุ่มจึงนำองค์ความรู้ต่างๆ มาปรับใช้ในการดำเนินการ ทั้งจากการศึกษาดูงาน จากองค์ความรู้ของสมาชิกมาประยุกต์ใช้ ร่วมถึงความรู้ทางวิชาการที่ได้จากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์

อาหารข้นสูตรที่ทางกลุ่มได้ปรับปรุงมาจนเป็นที่พอใจ

สำหรับเงินกู้ที่ได้รับมานั้น แบ่งเงินกู้เป็น 2 ส่วน เพื่อซื้อโคเข้าขุนในคอกรวมและให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อซื้อโคไปเลี้ยงที่บ้านตนเอง พร้อมทั้งจำหน่ายวัตถุดิบอาหารข้นเพื่อให้สมาชิกซื้อไปผสมใช้เองตามสูตรอาหารที่กลุ่มได้กำหนดขึ้น

ส่วนปัญหาเรื่องการตลาด กลุ่มแก้ไขโดยการติดต่อโดยตรงกับฟาร์มที่ซื้อโคไปขุนและพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งติดต่อซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต  ทั้งนี้ในช่วงที่โคราคาตกต่ำกลุ่มได้แก้ปัญหาโดยการลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ ลดจำนวนโคที่ขุนและซื้อโคที่มีขนาดเล็กเพื่อลดต้นทุนการผลิต

จากการดำเนินงานของที่มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2549 กลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนอย่างเป็นทางการ  พร้อมกับทำการจัดซื้อที่ดินสร้างที่ทำการกลุ่ม และดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

บริหารจัดการชัดเจน

เน้นกิจกรรมมีส่วนร่วม

น้ำหนักขายโดยเฉลี่ย ตัวละ 380 – 400 กิโลกรัม

สำหรับการบริหารจัดการกลุ่มนั้น ทางกลุ่มได้เน้นถึงการมีระบบบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจน  มีกิจกรรมก้าวหน้า  มีสมาชิกเข้าร่วมมากขึ้นโดยเปิดรับสมาชิกในหมู่บ้านและใกล้เคียงเข้าร่วม  กลุ่มได้มีการปรับปรุงกฏระเบียบโดยสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม  มีระเบียบการบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจน และใช้มาจนถึงปัจจุบัน  โดยระเบียบที่สมาชิกต้องปฏิบัติ เช่น

ในส่วนของคณะกรรมการจะมีบทบาทหน้าที่ชัดเจน รวมถึงมีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่ต้องปฏิบัติ เช่นการประชุมคณะกรรมการจะมีปีละ 3 ครั้งเกี่ยวกับเรื่องการซื้อ ขายโคขุนแต่ละรุ่น   ขณะที่การประชุมใหญ่ปีละครั้งในเดือนธันวาคมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานและวางแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มในแต่ละปี

เลี้ยง 1 รุ่น จำนวน 40 ตัว มีกำไร 100,000 บาท

ทั้งนี้ในส่วนบทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกก็เช่นเดียวกันได้มีการปรับปรุงกฏระเบียบโดยสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม  มีระเบียบการบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจน  เช่น

  • การประชุมใหญ่ปีละครั้งในเดือนธันวาคมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานและวางแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มในแต่ละปี
  • คณะกรรมการกลุ่มฯ ประชุมปีละ 3 ครั้ง เพื่อปรึกษาสภาพปัญหาการเลี้ยง การซื้อขายโคในแต่ละรุ่น
  • สมาชิกกลุ่มฯ เข้าร่วมประชุมประจำเดือนเพื่อออมเงินสัจจะ ร่วมปรึกษาหารือ  กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น  อาทิ  ปัญหาแมลงวันในคอกสัตว์  ปัญหาราคาโคตกต่ำ  ฯลฯ
  • สมาชิกต้องดำเนินการตามแผนการเลี้ยงโคขุน รวมถึงมีส่วนร่วมในกิจกรรมการผลิตของกลุ่ม โดยต้องหมุนเวียนมาดูแลทุกอย่างในคอกรวม รวมทั้งร่วมดำเนินการตามแผนการเลี้ยงโคขุน  ได้แก่  การเลี้ยงโคขุนในคอกตนเอง  การผสมอาหาร  การป้องกันโรคและซื้อขายโค  ตามวิธีปฏิบัติและข้อกำหนดที่สมาชิกร่วมกันกำหนดขึ้น  อาทิ  ลักษณะของโคที่เข้าขุน  สูตรอาหารที่ใช้เลี้ยง  การถ่ายพยาธิและฉีดวัคซีนป้องกันโรค  การจัดการมูลโค  รวมทั้งหลักเกณฑ์ และราคาในการจำหน่าย  ตลอดจนศึกษาดูงานกับส่วนราชการต่างๆ

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านในโอกาสต่างๆ อาทิ ปลูกต้นไม้วันพ่อ ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ฯลฯ ด้านอนุรักษ์ฯ จัดทำบ่อแก๊สชีวภาพจากมูลโค  ส่งเสริมการใช้สมุนไพรรักษาสัตว์ป่วย ฯลฯ

อีกสิ่งที่เป็นผลงานที่น่าสนใจของทางกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนแห่งนี้คือ การพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ โดยได้มีการส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงโคเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง  โดยใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้จัดตั้งเป็น กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนปางมะนาว 2 ชื่อ กลุ่มโครงการธนาคารขี้วัว ให้เยาวชนบริหารจัดการมี รวบรวมมูลโคส่งขายเพื่อสร้างรายได้

ตามไปดูรูปแบบการเลี้ยงโคขุน

คอกรวมของกลุ่ม เลี้ยงปีละ 3 รุ่นๆ ละ 4 เดือน

ส่วนการเลี้ยงดูโคขุน ทางกลุ่มเน้นที่จะทำกิจกรรมในเชิงก้าวหน้า ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยแบ่งการเลี้ยงออกเป็น 2 ลักษณะ

หนึ่ง คอกรวมกลุ่ม ผู้เลี้ยงฯ  ได้กำหนดให้สมาชิกทุกคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อเลี้ยงโคขุนรายละ 1 วัน  ระยะเวลาในการเลี้ยงปีละ 3 รุ่นๆ ละ 4 เดือน โดยรุ่นที่ 1เลี้ยงระหว่างเดิอนมกราคม – เมษายน รุ่นที่ 2 เลี้ยงระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม และรุ่นที่ 3 เลี้ยงระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม

สอง การเลี้ยงแยกรายฟาร์มที่บ้าน ของตัวเองตัวสมาชิกเอง กลุ่มฯได้ให้บริการเงินกู้ดอกเบี้ย  8 % ต่อปี  ทั้งยังมีบริการด้านสูตรอาหารข้นและอาหารหยาบที่กลุ่มจัดหามาบริการ  นอกจากนี้ในการซื้อ ขายโคต้องผ่านคณะกรรมการกลุ่มฯ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง

การซื้อ-ขายโคของกลุ่มฯ คณะกรรมการกลุ่มฯ จะเป็นผู้ดำเนินการซื้อโคที่จะเข้าขุนที่ตลาดนัด  ด้วยการซื้อเหมาในอัตราตัวละ 14,000 บาท จำนวนรุ่นละ 40 ตัว

โดยพันธุ์โคที่นำเข้าขุนนั้น จะเป็นพันธุ์ลูกผสมบราห์มัน ระดับสายเลือด 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อายุ 2 ปีครึ่ง น้ำหนักประมาณ 200 -230 กิโลกรัม โดยดูจากความสมบูรณ์พันธุ์ และโครงสร้างของโค

สำหรับการขายของกลุ่มฯ จะดำเนินการโดยคณะกรรมการเช่นกัน โดยตลาดที่มีรองรับโคขุนของทางกลุ่มจะมี 2 แห่งใหญ่ คือ หนึ่งที่จังหวัดสุพรรณบุรี และตลาดที่ประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้น้ำหนักขายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 380 – 400 กิโลกรัม  ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 -70 บาท  ทั้งนี้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ในการเลี้ยงโคขุน 1 รุ่น จำนวน 40 ตัวนั้นทางกลุ่มจะมีกำไรเหลือประมาณ 100,000 บาท

สำหรับในส่วนของอาหารข้นที่ใช้ภายในกลุ่มนั้น นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาทางกลุ่มฯได้มีการพัฒนาปรับปรุงสูตรอาหารข้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อลดต้นทุน  และเพิ่มผลผลิต จนได้สูตรอาหารที่ค่อนข้างลงตัวและเป็นที่พึ่งพอใจของสมาชิก

ทั้งนี้ส่วนประกอบของสูตรอาหารข้น คือ ละอองข้าวโพด มันสำปะหลังแห้ง อาหารข้นสำเร็จรูป และต้นอ้อยบด แต่ถ้าไม่มี จะให้พืชตามฤดูกาลแทน เช่น กระถิน หรือ กากข้าวโพดบด

สูตรอาหารดังกล่าว จะให้โคขุนกินวันละ 2 มิ้อ ในช่วงเช้าและเย็น ประมาณ 6 กิโลกรัมต่อมื้อต่อตัว

ส่วนอาหารหยาบ จะมีแปลงหญ้าของกลุ่มและแยกรายสมาชิก  โดยหญ้าอาหารที่ทางกลุ่มฯปลูกเป็นพันธุ์รูซี่ พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ นอกจากนี้จะมีการให้อาหารหยาบตามฤดูกาลด้วย เช่น ฤดูแล้งได้แก่ ข้าวโพดหมัก ต้นอ้อยและฟางแห้ง ส่วนฤดูฝนและฤดูหนาว ให้หญ้าสดและฟางแห้ง

ในเรื่องของการป้องกันโรคระบาดสัตว์ จะเริ่มตั้งแต่การนำโคเข้าขุน โดยสมาชิกจะมาช่วยกันในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และยาถ่ายพยาธิ รวมถึงการให้วิตามินเสริม แต่หากเกิดกรณีโคป่วยระหว่างการเลี้ยง นอกจากการรักษาโรคตามปกติแล้ว ทางกลุ่มยังมีการใช้สมุนไพรเข้าใช้ในการรักษาโรคด้วย เช่น การใช้บอระเพ็ด เป็นต้น

การเลี้ยงโคขุนของทางกลุ่มยังมีผลพลอยได้ที่มาจากการเลี้ยง เช่น มูลโค ทางกลุ่มได้กำหนดระเบียบไว้ว่า มูลสดที่อยู่ในคอกเลี้ยงรวมนั้น จะยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ที่มาทำหน้าที่เลี้ยงในวันนั้นๆ  ซึ่งวิธีการจัดการมี 2 วิธีคือ หนึ่ง กรณีขายคืนให้โครงการธนาคารขี้วัวของกลุ่มเยาวชน จะขายในราคา 1 คันรถอีต๊อก เที่ยวละ 200 บาท   สอง ให้สมาชิกนำไปกลับไปตากแห้งที่บ้านของตนเองเพื่อเก็บไว้ใช้เป็นปุ๋ยคอกในไร่นาของตนเอง และหากมีการสั่งซื้อมูลโคตากแห้งจากบุคคลภายนอก ทางกลุ่มฯ จะจำหน่ายในราคาตันละ 2,000 บาท

หากสนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนบ้านปางมะพน้าวหรือที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาปศุสัตว์เชิงบูรณาการ กรมปศุสัตว์  โทร. 0 – 2653 – 4477