เลี้ยงแพะ เป็นอาชีพเสริม สัตว์สร้างเงิน ขึ้นชื่อจังหวัดลพบุรี

จังหวัดลพบุรี เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ภูมิประเทศของจังหวัดลพบุรี แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ที่ราบลุ่ม และพื้นที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านคือ แม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อกักเก็บน้ำ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวจังหวัดลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งยังมีแม่น้ำลพบุรีผ่านทางฝั่งตะวันตกของจังหวัด รวมทั้งมีระบบคลองชลประทานที่เป็นประโยชน์ในทางเกษตรกรรม สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปเป็นแบบร้อนชื้น อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นและพายุไต้ฝุ่นอีกด้วย

ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดลพบุรี ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ การผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญของจังหวัดลพบุรี ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร โคนม โคเนื้อ ทั้ง 4 ชนิด สัตว์สามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดลพบุรีไม่น้อยกว่า 19,917 ล้านบาท ต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีสัตว์อีก 1 ชนิด ที่มีความน่าสนใจในการเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม และอาจสามารถพัฒนาเป็นอาชีพหลักได้คือ การเลี้ยงแพะ ซึ่งการเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดลพบุรี มีการเลี้ยงกันมานานแล้ว ลักษณะการเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นการต้อนเลี้ยงแบบไล่ทุ่งแพะเนื้อพันธุ์ลูกผสมในพื้นที่ว่างเปล่า เมื่อเกษตรกรมีความต้องการใช้เงิน ก็จะแจ้งให้พ่อค้ามารับซื้อแพะในราคาที่ถูกกำหนดโดยพ่อค้า (50-60 บาท ต่อกิโลกรัม)

ตั้งแต่ปี 2553 รัฐบาลมีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะตามโครงการไทยเข้มแข็ง ทำให้ราคาแพะเนื้อเพิ่มสูงขึ้นจากการที่พ่อค้ารายใหญ่ต้องการจัดหาแพะจำหน่ายเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ประกอบกับในปีงบประมาณ 2554 จังหวัดลพบุรี ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณของจังหวัดให้กับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบบูรณาการ กิจกรรมส่งเสริมทดลองการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ (แพะ) ซึ่งดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงแพะให้กับเกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 50 ราย โดยสนับสนุนแพะพ่อ-แม่พันธุ์ ให้กับเกษตรกรจำนวนดังกล่าว รายละ 8 ตัว (เพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 7 ตัว) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอาชีพการเลี้ยงแพะก็ได้รับความสนใจจากเกษตรกรในจังหวัดลพบุรี เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

ปัจจุบัน จังหวัดลพบุรีมีเกษตรกรเลี้ยงแพะมากกว่า 391 ราย ทั้งแพะเนื้อและแพะนม ถือว่าจังหวัดลพบุรี มีปริมาณมากที่สุดในพื้นที่เขต 1 การเลี้ยงแพะกระจายอยู่ในพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดลพบุรี และจากนโยบายการส่งเสริมของกรมปศุสัตว์ที่ต้องการให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะมีความเข้มแข็ง จึงได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนเครือข่ายการผลิตและการตลาดแพะ ผ่านกระบวนการจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงแพะในพื้นที่ของแต่ละอำเภอ อีกทั้งยังมีการกำหนดให้มีการก่อตั้งชมรมแพะ แกะ จังหวัดลพบุรี อีกด้วย ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักของชมรม

13ในส่วนของการเลี้ยงแพะของเกษตรกรในปัจจุบัน มีการเลี้ยงการจัดการแบบประณีตเพิ่มมากขึ้นจากเดิม เกษตรกรให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงพันธุ์ การจัดการฟาร์ม การให้อาหาร การควบคุมป้องกันโรค ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ในด้านของการปรับปรุงพันธุ์นั้น ตลาดมีความต้องการแพะเนื้อลูกผสมพันธุ์บอร์ เพราะเป็นแพะที่มีน้ำหนักแรกคลอด อัตราการเจริญเติบโต และเปอร์เซ็นต์ซากสูง เกษตรกรจึงดำเนินการปรับปรุงพันธุ์แพะในฟาร์มของตนเองโดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดลพบุรี จัดซื้อพ่อพันธุ์แพะเนื้อพันธุ์ดังกล่าวเข้ามาคุมฝูง และบางรายดำเนินการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการผสมเทียมซึ่งใช้น้ำเชื้อแพะพันธุ์แท้ของกรมปศุสัตว์ ในส่วนของการจัดการฟาร์ม เกษตรกรมีการจัดแบ่งโรงเรือนเลี้ยงแพะออกเป็นสัดส่วนตามประเภทของแพะเพื่อให้สะดวกต่อการจัดการฟาร์ม

ด้านการให้อาหารนั้น เกษตรกรจังหวัดลพบุรีถือว่ามีความโชคดีอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ของจังหวัดมีปริมาณของอาหารสัตว์ทั้งที่เกิดจากการปลูกสร้างได้เอง หรือจากการจัดหาได้ในท้องถิ่น ตลอดจนมีโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรที่มีผลพลอยได้ทางการเกษตรซึ่งสามารถนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้ในปริมาณที่เพียงพอ เกษตรกรเลี้ยงแพะส่วนใหญ่ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาปรับปรุงคุณภาพร่วมกับใบกระถินซึ่งมีโปรตีนสูงและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นใช้เลี้ยงแพะ บางรายมีการปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 สำหรับใช้เลี้ยงแพะ ทั้งในรูปแบบสดและหมักร่วมกับใบกระถิน

9นอกจากนี้ เกษตรกรยังให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพแพะให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค โดยการพัฒนาปรับปรุงฟาร์มให้ปลอดโรค และเป็นฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ปัจจุบันจังหวัดลพบุรี มีฟาร์มแพะปลอดโรคระดับ B  ฟาร์มปลอดโรคระดับ A และฟาร์มแพะมาตรฐาน

ตลาดจำหน่ายแพะเนื้อส่วนใหญ่เป็นตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลาดภายในประเทศส่วนใหญ่เป็นตลาดทางภาคใต้ ส่วนตลาดต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะส่งไปจำหน่ายเวียดนาม ลาว จีน เป็นต้น ราคาแพะเนื้อเพศผู้ขุนที่เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในปัจจุบันกิโลกรัมละ 105-110 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรต้องเลี้ยงแพะให้ได้น้ำหนักตัวละไม่ต่ำกว่า 25 กิโลกรัม แต่ต้องไม่เกิน 42 กิโลกรัม การรวบรวมแพะให้มีปริมาณเพียงพอกับการที่ผู้รับซื้อจะมาจับในแต่ละครั้งในปัจจุบันไม่เป็นปัญหา เพราะเกษตรกรรวมกลุ่มกันเลี้ยง นำเข้าแพะรุ่นเข้ามาขุนครั้งละ 40-50 ตัว ต่อราย ขุนนานประมาณ 3-4 เดือน เมื่อได้น้ำหนักตามที่ต้องการของตลาดก็จะแจ้งให้พ่อค้าเข้ามารับซื้อ เกษตรกรเลี้ยงแพะเนื้อโดยเฉลี่ยหากเลี้ยงขุนแพะครั้งละ 40-50 ตัว จะมีรายได้สุทธิต่อปี 100,000 บาท

ส่วนการเลี้ยงแพะนมในจังหวัดลพบุรี ยังมีปริมาณไม่มากนัก โดยเกษตรกรที่เลี้ยงแพะนมจะรีดนมและส่งจำหน่ายให้กับตลาดรับซื้อในจังหวัดใกล้เคียง หรือบางส่วนรีดนมเพื่อทำกิจกรรมป้อนนมแพะในสวนสัตว์ หรือตามสถานที่จัดงานเทศกาลต่างๆ ของจังหวัด โดยทั่วไปแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะนมจะประกอบอาชีพการเลี้ยงแพะนมเป็นอาชีพเสริม หากรีดแพะนม จำนวน 20 ตัว จะมีรายได้สุทธิเดือนละ 8,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของตลาดแพะในปัจจุบันคือ เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และผู้บริโภคส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ไม่มีความนิยมในการบริโภคเนื้อและนมแพะ ในอนาคต หากเราพึ่งพิงเพียงตลาดภายนอก แต่ไม่มีตลาดภายในรองรับ หรือไม่มีมาตรการในการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร อาชีพการเลี้ยงแพะอาจไม่สดใสเหมือนเช่นในปัจจุบันนี้ก็เป็นได้

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี โทร. (036) 626-089 หรือที่ คุณรักษิณา สัตย์ชาพงษ์ โทร. (089) 859-3292