เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติด้านปศุสัตว์ ประจำปี 2560

การคัดเลือกเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2560 ที่ได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ดีเด่นแห่งชาติ (เลี้ยงแพะนม) คือ นางสาววาสนา กุญชรรัตน์ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 74/1 หมู่ที่ 8 ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน ของ นางสาววาสนา กุญชรรัตน์ เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา เคยรับราชการที่ สปก. ซึ่งเป็นคนชอบธรรมชาติและการเกษตร ได้ซื้อสวนมะม่วง 29 ไร่ในจังหวัดราชบุรีและทำสวนมะม่วงมาระยะหนึ่งจึงตัดสินใจลาออกจากราชการ เพื่อหันมาทำอาชีพเกษตรอย่างเต็มตัว ด้วยความที่มีพื้นที่มากทำให้ต้องสิ้นเปลืองในการกำจัดวัชพืชปีละหลายหมื่นบาท จึงเกิดความคิดว่าจะใช้สัตว์ชนิดช่วยกำจัดวัชพืชและได้ประโยชน์จากการเลี้ยงสัตว์เหล่านั้น

ปลายปี 2549 คุณวาสนาตัดสินใจทำฟาร์มแพะนมโดยมีแนวคิดว่าการทำฟาร์มแพะนมสามารถจำหน่ายได้ทั้งน้ำนมดิบ แพะปลดระวาง แพะขุน แพะสายพันธุ์ ทั้งยังสามารถแปรรูปน้ำนมแพะได้หลากหลาย แพะนมเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกที่มีศักยภาพสูงที่สามรถเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ จึงเลือกเลี้ยงแพะนมพันธุ์ซาแนน โดยซื้อแม่แพะ 25 ตัว พ่อพันธุ์ 1 ตัว จากการเริ่มต้นที่ขาดประสบการณ์และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ แพะที่นำเข้ามาในฟาร์มเป็นโรคแท้งติดต่อต้องสูญเสียแพะที่ตั้งใจว่าจะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ นั่นหมายถึงต้นทุนก้อนใหญ่ที่ต้องหายไป แต่ด้วยความตั้งใจที่อยากทำฟาร์มแพะนมทำให้ดิ้นรนเพื่อให้ฟาร์มดำเนินต่อ จึงได้ศึกษาข้อมูลจากตำรา ปรึกษาผู้มีประสบการณ์รวมถึงนักวิชาการจากกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ สถาบันต่างๆ และเริ่มต้นเลี้ยงแพะอย่างเข้าใจมากขึ้น

ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้มีพ่อพันธุ์ที่เกิดจากการผสมเทียม 4 ตัว แม่พันธุ์ที่เกิดจากการผสมเทียม 20 ตัว และลูกแพะที่เกิดในฟาร์มประมาณ 90 ตัว มีการบริหารจัดการให้แพะสามารถผลิตน้ำนมดิบได้ตลอดทั้งปี ส่วนที่เหลือจำหน่ายเป็นสายพันธุ์ให้กับเกษตรกรที่สนใจ นมแพะที่ผลิตได้เป็นนมแพะระดับดีเยี่ยมและไร้กลิ่น ทำให้มีตลาดรองรับอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต สามารถผลิตนมแพะพาสเจอร์ไรซ์และได้รับการยอมรับให้เข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ของราชบุรี ทั้งยังนำผลิตภัณฑ์อื่นจากนมแพะ อาทิ สบู่ โลชั่น แชมพู ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ สามารถยกระดับจากเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเป็นผู้ประกอบการ SME เป็นรูปแบบที่สามารถถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันเพิ่มแพะนมสายพันธุ์ท็อกเก้นเบิร์กเลือด 100 % จากการถ่ายฝากตัวอ่อนของกรมปศุสัตว์ 4 ตัว และได้ลูกที่เกิดในฟาร์มเลือด 100 % อีก 3 ตัว รวม 7 ตัว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานและความสำเร็จของงานทั้งปริมาณ คุณภาพ ตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ คุณวาสนา กุญชรรัตน์ มีการพัฒนาการเลี้ยงแพะและสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ เป็นฟาร์มปลอดโรคบรูเซลโรซีสระดับ A ฟาร์มแรกของประเทศไทย เป็นฟาร์มแพะนมที่ได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติการที่ดีสำหรับแพะนม (มาตรฐาน Q ของปศุสัตว์เขต 7) ได้รับคัดเลือกเป็นฟาร์มต้นแบบการเลี้ยงและผลิตน้ำนมแพะคุณภาพเยี่ยมจากสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม ได้รับคัดเลือกให้เป็นฟาร์มเครือข่ายโครงการผสมเทียมหนองโพ ราชบุรี เป็นสถานที่ให้นักศึกษาคณะสัตวบาลและสัตวแพทย์เข้าฝึกงานภาคสนาม เป็นแหล่งจำหน่ายแพะนมสายพันธุ์ดีให้เกษตรกรและเครือข่ายเกษตรกร ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมแพะได้รับคัดสรรเป็น OTOP ระดับ 4 ดาวการจัดการฟาร์ม

ด้านการเลี้ยงแพะนมมีการแบ่งแยกโรงเรือนสำหรับแพะแต่ละประเภท เช่น โรงเรือนพ่อแม่พันธุ์ โรงเรือนแพะสาวทดแทน โรงเรือนลูกแพะหย่านม โรงเรือนสำหรับคลอด โรงเรือนแพะเพศผู้ พื้นที่สำหรับแพะออกกำลังกายเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ การปรับปรุงพันธุ์จะเลือกเก็บแพะที่มีลักษณะดีตรงตามสายพันธุ์ไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ภายในฟาร์มเพื่อหลีกเลี่ยงการติดต่อของโรคต่างๆ

ส่วนการผสมพันธุ์จะใช้วิธีการผสมจริงจากพ่อที่มีอยู่และใช้วิธีการผสมเทียมบางครั้งหรือเวลาที่ต้องการสายพันธุ์ใหม่โดยศูนย์ผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพหนองโพ จ.ราชบุรี การจัดการด้านอาหารและน้ำ จะเตรียมไว้ให้แพะมีกินอย่างพอเพียงและปลูกหญ้าไว้เป็นอาหารหยาบ การจัดการด้านสุขภาพ มีการเจาะเลือดตรวจโรค ฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิตามโปรแกรม ตัดแต่งกีบ อาบน้ำกำจัดเห็บไร จัดแบ่งเวลาให้แพะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การดูแลอุปกรณ์การรีดและบริเวณห้องรีดนมล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ทันทีหลังรีดนมเสร็จ การป้องกันควบคุมสัตว์พาหะ จัดทำรั้วรอบบริเวณฟาร์มเพื่อป้องกันสัตว์พาหะเข้าไปในฟาร์ม ส่วนผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหากมีความต้องการเข้าฟาร์มต้องเปลี่ยนรองเท้าบูทและผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม การจัดการสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้สะอาด ปลอดโปร่ง และปลอดภัยเป็นสำคัญโดยบริเวณฟาร์มจะไม่มีขยะ สิ่งสกปรกและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแพะ มีการทำความสะอาดโรงเรือนและบริเวณต่างๆ

การบริหารด้านการตลาด มีช่องทางการจำหน่ายหลายช่องทาง สามารถจำหน่ายแพะนมสายพันธุ์ให้กับเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะและเกษตรกรทั่วไปที่สนใจ จำหน่ายน้ำนมแพะดิบให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมแพะให้กับบุคคลที่เข้าชมฟาร์ม งาน OTOP เมืองทองธานี ตลาดวิถีเมืองเกษตรสีเขียวจังหวัดราชบุรี และแหล่งท่องเที่ยว ทั้งยังผลักดันสินค้าขึ้นห้างสรรพสินค้าใหญ่ของจังหวัด จากการดำเนินงานดังกล่าวทำให้มีรายได้จากการเลี้ยงแพะอย่างต่อเนื่อง

นางสาววาสนา กุญชรรัตน์ เป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำ และเสียสละเพื่อส่วนรวมหลายด้าน อาทิ เป็นตัวแทนเกษตรกรในการร่างมาตรฐานน้ำนมแพะดิบแห่งประเทศไทยปี 2551 โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และร่างมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์ ปี 2556 เป็นคณะกรรมการชมรมแพะ-แกะ สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 รองประธานกลุ่มแพะราชพฤกษ์ ที่ปรึกษากลุ่มแพะอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และที่ปรึกษาด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี

ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้ เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ผ่านสถานีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมวังไกลกังวล (รายการศึกษาทัศน์) และสถานที่ถ่ายทำรายการต่างๆเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะนม เป็นสถานที่ศึกษาดูงาน ฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักศึกษาและผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการการเลี้ยงแพะนม เป็นวิทยากรบรรยาย แนะแนวให้กับนักศึกษาเกี่ยวกับการทำธุรกิจฟาร์ม (การผลิต การวางแผน การจัดการและการตลาด) เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการประกวดแพะที่มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง ครั้งที่ 1 ให้การสนับสนุนโรงเรียนและชุมชน อาทิ สนับสนุนอาหารกลางวันอาหารว่างงานวันเด็กให้โรงเรียนในชุมชน ร่วมช่วยเหลือและพัฒนาหมู่บ้านในวันเฉลิมพระชนพรรษา 12สิงหามหาราชินี เฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธนวามหาราช ฯลฯ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี อาทิ ปลูกหญ้าแพงโกล่า เนเปียร์ปากช่อง 1 เพื่อเป็นอาหารสำหรับแพะแล้วยังนำทรัพยากรในพื้นที่ เช่น ใบมะม่วง ต้นกล้วย หญ้าธรรมชาติ มาเป็นอาหารหยาบเป็นการนำทรัยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเป็นการลดต้นทุน

คุณวาสนานำน้ำที่ใช้ทำความสะอาดโรงเรือนกลับมาใช้ลดผักสวนครัวและผลไม้ นำมูลแพะมาผลิตแก๊สชีวภาพ นำมาเป็นปุ๋ยคอกใช้ในแปลงหญ้าและสวนผลไม้ มีการหมุนวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ มีการนำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกจากมูลแพะ ทำน้ำหมักจากมูลแพะใช้เป็นปุ๋ย ฮอร์โมนบำรุงแปลงหญ้าและสวนผลไม้ การจัดการสภาพแวดล้อมภายในฟาร์ม เช่นมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาเพื่อแพะหลบแดด มีการทำความสะอาดตลอดเวลา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มโครงการพิเศษ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ โทร. 0 – 2653 – 4477