เกษตรกรบ้านกุรุคุ นครพนม เปลี่ยนขี้วัว ขี้ควาย เป็นเงิน สร้างรายได้เดือนละสามหมื่นกว่า

ในปัจจุบัน วัว ควาย เริ่มมีบทบาทน้อยลงในการทำการเกษตรของคนไทย โดยเฉพาะการใช้วัว ควาย เพื่อเป็นแรงงานในการลากเกวียนและไถนา เนื่องมาจากเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ก้าวนำล้ำสมัยไปกว่าในอดีต ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้เครื่องจักรทดแทน เช่น รถไถนา แทนการใช้แรงงานวัว ควาย เพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน และมีความสะดวกในการใช้งานที่มากกว่า ทำให้ในทุกวันนี้เราเห็นเกษตรกรเลี้ยงวัว ควาย กันน้อยลง

แต่ยังคงมีเกษตรกรไทยอีกจำนวนหนึ่งในหมู่บ้านกุรุคุ จังหวัดนครพนม ที่ยังคงดำเนินชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งแปรเปลี่ยนสิ่งไร้ค่า “ขี้วัว ขี้ควาย” ที่คนทั่วไปมองว่าเป็นสิ่งสกปรก มีกลิ่นเหม็น ให้กลับมาเป็น “ทองคำ” บนผืนแผ่นดินไทย เป็นปุ๋ยคอกที่ช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผืนดิน เป็นเงินตราที่ช่วยให้ชาวบ้านได้มีกินมีใช้ ไม่อดอยาก ช่วยให้ชาวบ้านสามารถดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “พอมี พอกิน พอใช้” และตามพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ 9 ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ที่ว่า

“…ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันมากเกินไป แต่ในหมู่บ้านหรือในอําเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้แต่ในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่ง มากนัก …”

วัว ควาย เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญ หรือเรียกได้ว่าอยู่คู่บ้านคู่เมืองกับคนไทยมาตั้งแต่ในอดีต หรือสามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “เป็นเพื่อนร่วมทางของกระดูกสันหลังของชาติ” เป็นสัตว์ที่ชาวนามักเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน มีความทนทานต่อโรคและสภาพภูมิอากาศของไทยที่มีอากาศร้อน อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย เพราะวัว ควาย ที่เลี้ยงจะกินฟางข้าวที่ได้มาหลังจากการนวดข้าว กินตอซังและหญ้าที่ขึ้นในนาหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ควาย มีตุ้นทุนในการเลี้ยงวัว ควาย ที่น้อย เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่รับมากมาย

หมู่บ้านกุรุคุ ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เป็นชุมชนหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่ายตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งที่ดินภายในบ้านไว้สำหรับปลูกผักเพื่อบริโภค ปลูกบ้านและเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุนบ้าน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักคือ เกษตรกรรม ทำนา เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ และทำสวน แต่ด้วยสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านกุรุคุเป็นที่ลุ่ม ที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินผสมหินลูกรัง ซึ่งเป็นดินที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืช เนื่องจากมีปริมาณหน้าดินน้อย มีธาตุอาหารในดินต่ำ ดินมีลักษณะแข็ง หน้าดินแห้ง ขาดน้ำ รากจึงไม่สามารถชอนไชไปในพื้นดินได้ดี ชาวบ้านจึงนิยมใช้ปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ในการช่วยแก้ปัญหาดินที่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก

 

ขี้วัว ขี้ควาย เปลี่ยนเป็นเงินทองได้อย่างไร

คุณฉลาด ยาปัญ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านกุรุคุ หมู่ที่ 6 เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบัน ชาวบ้านในหมู่บ้านกุรุคุยังคงนิยมเลี้ยงวัวและควาย แต่ชาวบ้านเลี้ยงไว้เพื่อเก็บขี้วัว ขี้ควาย มาใช้เป็นปุ๋ยคอกใส่ไร่นา และขายวัว ควาย เพื่อยังชีพตนและครอบครัว ไม่ได้เลี้ยงเพื่อใช้ลากเกวียนหรือไถนาเหมือนในอดีต

ผู้ใหญ่บ้านฉลาด ยาปัญ

คุณฉลาด เล่าถึงที่มาของวัวหลายสิบตัวในหมู่บ้านกุรุคุให้ฟังว่า ชาวบ้านเลี้ยงวัว ควาย ตามโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นโครงการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ให้ชาวบ้านเลี้ยงวัว ควาย เพื่อใช้มูลสัตว์ในการบำรุงดิน เป็นสารปรับปรุงดิน และเน้นนโยบายของรัฐบาลก็คือ ไม่อยากให้ชาวบ้านใช้ปุ๋ยเคมีในการเกษตรมากนัก เพราะดินจะเสื่อมสภาพเร็ว และไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค ทางรัฐบาลจึงมีโครงการรณรงค์ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านกุรุคุเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการอยู่ดีมีสุข”

โครงการอยู่ดีมีสุขได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน ซึ่งทางรัฐบาลได้ซื้อวัวนำมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านโดยไม่คิดเงิน จำนวน 9 ตัว และให้ชาวบ้านเลี้ยงวัวจนโต พอโตก็ออกลูก ให้ชาวบ้านเก็บตัวลูกไว้ และแจกจ่ายให้คนในหมู่บ้านต่อไป ส่วนตัวแม่วัวให้ส่งคืนรัฐบาล แต่ถ้าไม่สามารถส่งแม่วัวคืนได้ ก็ให้ส่งตัวลูกกลับคืนแทนภายในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่รับวัวจากโครงการมาเลี้ยง ซึ่งตอนนี้มีวัวครบทุกครัวเรือนที่ต้องการเลี้ยงแล้ว

ผู้ใหญ่บ้านฉลาด ถ่ายคู่กับ คุณเตาะ ยาปัญ

นอกจากชาวบ้านจะเลี้ยงวัวที่ได้รับจากโครงการอยู่ดีมีสุขของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันมีวัวในหมู่บ้าน จำนวน 46 ตัว และยังมีชาวบ้านอีกประมาณ 15 ครัวเรือน ที่ยังคงเลี้ยงวัว ควาย โดยจำนวนควายในหมู่บ้านกุรุคุมีจำนวน 55 ตัว วัว ควาย ที่ชาวบ้านเลี้ยงเกือบทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้านของตนเอง แล้วเก็บขี้วัว ขี้ควายไว้เพื่อใส่ไร่นา และขาย เพราะมูลสัตว์ที่สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยคอกบำรุงดิน สามารถใช้ได้ทั้งวัวและควาย และชาวบ้านในหมู่บ้านกุรุคุเราเน้นเรื่องมูลสัตว์ และเรื่องการนำขี้วัว ขี้ควายมาใช้เป็นปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมีเพื่อใส่ไร่นาของตนเอง  ซึ่งปุ๋ยคอกที่ได้จากขี้วัว ขี้ควายนั้นมีความปลอดภัย ต้นทุนต่ำกว่าปุ๋ยเคมี และมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงวัว ควาย ที่น้อย เพราะชาวบ้านไม่ต้องไปหาซื้อหาอาหารมาเลี้ยง เพียงปล่อยไปกินหญ้าที่ขึ้นในทุ่งนาในบ้านเท่านั้น

ผู้ใหญ่บ้านเล่าให้ฟังถึงรายได้จากขี้วัว ขี้ควายของชาวบ้านว่า การเลี้ยงวัว ควาย ของชาวบ้านนอกจากจะมีต้นทุนในการเลี้ยงที่ต่ำ ยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว โดยจะขายขี้วัว ขี้ควายให้แก่ผู้ที่สนใจนำไปทำเป็นปุ๋ย ชาวบ้านจะขายเป็นกระสอบปุ๋ยหรือกระสอบหัวอาหารสัตว์ ราคากระสอบละ 35-40 บาท ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับคนซื้อและการต่อรองราคา นอกจากจะมีคนมารับซื้อถึงบ้าน ชาวบ้านยังสามารถนำขี้วัว ขี้ควายไปขายที่ค่ายพระยอดเมืองขวาง มณฑลทหารบกที่ 210 จังหวัดนครพนม ซึ่งห่างจากหมู่บ้าน ประมาณ 5 กิโลเมตร หรือ 12 นาที เพราะทางค่าย มีโครงการศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง เป็นโครงการที่รับซื้อขี้วัว ขี้ควายจากชาวบ้านเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยคอก

“ราคารับซื้อ กระสอบละ 40 บาท แต่ชาวบ้านต้องนำไปขายเอง จะเป็นแบบแห้งหรือแบบเปียกอยู่ก็ได้ โดยวัว ควาย 1 ตัว จะใช้เวลา 4 วัน ในการผลิตมูลสัตว์ 1 กระสอบ ปัจจุบัน วัว ควาย ในหมู่บ้านมีจำนวนทั้งสิ้น 101 ตัว หากชาวบ้านเก็บมูลสัตว์ใส่กระสอบ ในหมู่บ้านจะมีปุ๋ยคอกกว่า 757 กระสอบ ต่อเดือน หรือหากนำไปขายจะสามารถสร้างรายได้ถึง 30,280 บาท ต่อเดือน หรือ 363,000 บาท ต่อปี และวัว ควาย ออกลูกทุกปีเมื่อโตเต็มที่ชาวบ้านบางหลังคาเรือนก็จะปล่อยขายไป ราคาที่ขายต่อตัว อยู่ที่ 60,000-70,000 บาท ใน 1 ปี หากชาวบ้านขาย 2 ตัว ก็ได้เงิน 140,000 บาท ชาวบ้านก็สามารถอยู่ได้แล้ว”

 

ชาวบ้านกุรุคุใช้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก ไม่ง้อปุ๋ยเคมี

คุณเตาะ ยาปัญ ชาวบ้านผู้เลี้ยงควายในหมู่บ้านกุรุคุ บอกว่า ใต้ถุนบ้านมีควายที่เลี้ยงไว้จำนวนทั้งหมด 7 ตัว  ซึ่งควายทั้ง 7 ตัว นั้นไม่ได้ซื้อมา แต่ในอดีตพ่อแม่แบ่งให้เป็นมรดก 1 ตัว พร้อมกับที่นา 20 ไร่ ควายที่พ่อแม่แบ่งให้ตายไปหลายปีแล้ว ที่เห็น 7 ตัว มันออกลูกออกหลานจนมี 7 ตัว อย่างที่เห็น รายได้หลักที่ใช้จ่ายทุกวันมาจากการขายข้าวที่ปลูก ขายขี้ควายที่เก็บใส่กระสอบหัวอาหารสัตว์ให้กับคนที่สนใจ โดยราคาที่ขายคือ กระสอบละ 40 บาท แต่ถ้ามีขี้ควายจำนวนมากจะนำไปขายที่ค่ายพระยอดเมืองขวาง เพราะใกล้บ้าน ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงควาย 7 ตัว มีเพียงน้ำและหญ้า ในแต่ละวันจะพาควายไปเดินเล่นให้ควายเล็มกินหญ้าที่ขึ้นในป่าในทุ่งนา และปล่อยเดินเล่นไว้ทั้งวัน

หากปล่อยในทุ่งนาก็ไม่ต้องเก็บขี้ควายกลับบ้าน เพราะจะปล่อยให้แห้งเพื่อใช้เป็นปุ๋ยในการปลูกข้าว แต่ถ้าในช่วงใดที่นามีต้นข้าวจะพาควายไปเดินเล่นในป่า แล้วเก็บขี้ควายใส่กระสอบกลับบ้านด้วย และใต้ถุนบ้านที่เลี้ยงควายจะเก็บขี้ควายทุก 2-3 วัน แต่ละครั้งที่เก็บจะได้ประมาณ 5 กระสอบ ไม่ต้องรอให้แห้งเก็บใส่กระสอบไว้ใต้ถุนบ้านได้เลย ส่วนใหญ่จะเก็บไว้ใส่นาข้าวเป็นปุ๋ย หากมีขี้ควายที่เก็บไว้เยอะก็จะซื้อปุ๋ยเคมีใส่นาข้าวน้อย หรือไม่ใส่ปุ๋ยเคมีเลย แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ซื้อปุ๋ยเคมี เพราะขี้ควายที่เก็บก็เพียงพอกับนาข้าว 20 ไร่ ของตน และปุ๋ยเคมียังมีราคาแพง ถ้าซื้อก็ต้องจ้างรถไปซื้อ เสียเงินทั้งค่าปุ๋ยและค่ารถ แพงกว่าขี้ควายหลายบาทพอสมควร

คุณไส แสงเขียว เพื่อนบ้านที่ขอแบ่งขี้ควายกับคุณเตาะเพื่อนำไปใส่แปลงผัก บอกว่า วันเสาร์ทุกสัปดาห์จะนำผักที่ปลูกในสวนหลังบ้านไปขายยังตลาดนัดของหมู่บ้าน เพื่อเลี้ยงชีพตนเอง สมัยก่อนปลูกผักในแปลงผักจะไม่ค่อยสวย โตช้า และผลเล็กใบก็เล็กไม่น่ากิน แต่หลังจากผู้ใหญ่บ้านฉลาดแนะนำให้ไปขอขี้ควายกับคุณเตาะ เพื่อมาใส่ในแปลงผัก ผักที่ปลูกก็โตเร็ว และสวยกว่าแต่ก่อน ปัจจุบันจึงมักจะปั่นจักรยานไปขอแบ่งขี้ควายเป็นประจำ เพื่อใช้ขี้ควายแทนปุ๋ย เพราะมีราคาถูก และหาซื้อได้ใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปซื้อไกล บางครั้งไม่ได้ซื้อแต่เอาผักในสวนหลังบ้านไปแลกมาก็มี ขี้ควายที่ไปขอแบ่งมา หากได้มาน้อยก็จะนำไปผสมน้ำหรือแช่น้ำจนออกสีแล้วเอามารดแปลงผัก โดยแช่น้ำ 1 ครั้ง จะต้องใช้ให้หมดในครั้งเดียว แต่ถ้าได้ขี้ควายมาเยอะก็จะเอาไปเทกระจายลงดินให้ทั่ว แล้วรดน้ำตามทีหลังให้ดินชุ่ม

ขี้วัว ขี้ควายที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นสิ่งสกปรก แต่สำหรับคนในหมู่บ้านกุรุคุแล้ว ขี้วัว ขี้ควายเปรียบเสมือนทองคำ เพราะแม้จะไม่ได้เลี้ยงเองที่บ้าน หากพบเห็นขี้วัว ขี้ควายตามถนนในหมู่บ้านก็มักจะมีคนถือถังไปตักกลับบ้านอยู่เป็นประจำ จึงทำให้ไม่ค่อยพบขี้วัว ขี้ควายตามที่สาธารณะของหมู่บ้านเท่าไรนัก

หากมองในอีกมุมหนึ่งเราจะเห็นว่า ในบรรดาปุ๋ยทั้งหลายที่มีอยู่บนโลกใบนี้ ปุ๋ยคอก คือปุ๋ยที่มีต้นทุนถูกที่สุดเมื่อเทียบกับคุณภาพของธาตุอาหารที่พืชจะได้รับแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช หรือแม้กระทั่งช่วยทำให้ดินมีการระบายน้ำได้ดีขึ้น ช่วยรักษาหน้าดิน ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรีย์ให้แก่ดิน และที่สำคัญที่สุดในการผลิตสินค้าทางการเกษตร นั่นคือ มีราคาประหยัด และมีความปลอดภัยกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นไหนๆ

สนใจซื้อขี้วัว ขี้ควาย ติดต่อได้ที่ โทร. (081) 061-7594 คุณฉลาด ยาปัญ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านกุรุคุ หมู่ที่ 6 อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

———————————————————————————————————

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่