มีแปลงหญ้าเนเปียร์ ช่วยลดต้นทุนในวันที่วัวขุนราคาขาลง

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำ ในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย ผมเคยเขียนถึงเรื่องวัฏจักรราคาของสินค้าเกษตรบ่อยครั้ง เมื่อมีราคาขึ้น ก็มีช่วงที่ราคาจะลง เหมือนกับราคาของวัวเนื้อ วัวขุน ในบ้านเราที่เคยร้อนแรงเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา และร้อนแรงมาเรื่อยๆ ตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ในช่วงนี้ราคาวัวเริ่มอืดหรืออาจจะเป็นช่วงขาลงของราคาวัวเนื้อในประเทศจากหลายๆ เหตุผลประกอบกัน แต่ไม่ว่าราคาจะเป็นอย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรรายย่อยหลายคนยืนหยัดอยู่ได้ในวงการวัวขุน เขาทำอย่างไร ประสบการณ์นี้จะช่วยบอกเล่าอะไรให้เราได้บ้าง ผมจะพาท่านตามไปชมกันครับ

ประสบการณ์กว่า 10 ปี เริ่มต้นจากวัวฝูง

พาท่านไปพบกับ คุณนิภาพักตร์ ขำกุศล ที่บ้านเลขที่ 270 หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี คุณนิภาพักตร์ เล่าว่า เริ่มต้นจากเลี้ยงวัวฝูง พันธุ์ลูกผสมไทยบราห์มัน เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันเลิกเลี้ยงวัวฝูงและหันมาเลี้ยงวัวขุนเป็นหลัก “เลี้ยงวัวฝูงมา 10 กว่าปี เมื่อเห็นว่าราคาวัวขุนดีขึ้นเรื่อยๆ จึงสนใจอยากจะขุนวัวเอง และในพื้นที่ยังมีการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนกันเยอะ เราจึงเห็นว่ามีต้นข้าวโพดเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่มีเยอะมากในบ้านเรา เราเริ่มต้นจากการคัดเอาลูกวัวตัวผู้จากฝูงของเราเองมาเข้าขุน วัวในฝูงของเราก็มีทั้งวัวไทยแท้ที่เป็นวัวลาน ไปจนถึงวัวลูกผสมบราห์มัน เราก็เอามาเข้าขุนรวมๆ กัน ลองผิดลองถูกหาประสบการณ์มาเรื่อยๆ” คุณนิภาพักตร์ เล่า

คุณนิภาพักตร์ ขำกุศล

ซื้อวัวตามบ้านมาเข้าขุน

เมื่อลองผิดลองถูกสักระยะ จนคิดว่าไปได้ดีกับการขุนวัวแล้ว คุณนิภาพักตร์ จึงเลิกเลี้ยงวัวฝูงแล้วหันมาทำวัวขุนเพียงอย่างเดียว “พออยู่ตัวกับการขุนวัวแล้ว เราก็มาทำวัวขุนเป็นหลัก โดยหาซื้อวัวที่เลี้ยงกันอยู่ตามบ้านมาเข้าขุน โดยเราจะขุนวัว 2 แบบ คือซื้อวัวเล็กมาขุน ใช้เวลาขุน 7-8 เดือน กับการขุนวัวใหญ่ที่ใช้เวลาขุนสั้นกว่า แค่ 4-5 เดือน”

“การเลือกซื้อวัวส่วนใหญ่ เราจะหาซื้อวัวที่เลี้ยงอยู่ตามบ้าน ถ้าเป็นวัวเล็ก เราจะเลือกซื้อวัวอายุประมาณ 1 ปี หย่านมแล้ว เราจะซื้อแบบเหมาไม่ชั่งน้ำหนัก ในราคาตัวละไม่เกิน 10,000 บาท ในหนึ่งรอบการขุน เราจะขุนคอกละประมาณ 15 ตัว วัวรุ่นตัวเล็กส่วนใหญ่เราเลือกสายพันธุ์ไม่ค่อยได้ ไปเจอตกลงราคาได้ เราก็จับมา จะไปเลือกเฉพาะวัวลูกผสมก็หายาก ส่วนวัวใหญ่ก็หาซื้อตามบ้านทั่วๆ ไป หากเป็นวัวลูกผสมก็ยิ่งดี” ส่วนเรื่องโรคของวัวขุนในเขตนี้ก็ยังไม่มีการระบาดอะไรร้ายแรง ส่วนใหญ่เกษตรกรสามารถป้องกันกำจัดได้เอง

วัวใหญ่ ที่ใช้เวลาขุน 4-5 เดือน

อาหาร เป็นปัจจัยสำคัญของการขุนวัว

คุณนิภาพักตร์ เล่าว่า เมื่อซื้อวัวมาลงคอกขุน จะต้องถ่ายพยาธิ ให้ยาบำรุง หากเป็นวัวใหญ่ก็ต้องเหน็บยาทำหมัน ก่อนปล่อยไปรวมกันในคอกขุน เรื่องสำคัญในการขุนวัวอยู่ที่อาหารที่ใช้ขุน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักอีกอย่างหนึ่ง คุณนิภาพักตร์ เล่าถึงเรื่องการจัดการอาหารวัวขุนว่า “เราจะให้อาหารข้นหรืออาหารผสม วันละ 2 รอบ เช้ากับเย็น ใส่ไว้ในราง ปริมาณการให้อยู่ที่อาหาร 1 กระสอบ ให้ได้ 3 วัน สำหรับวัวเล็ก 10 ตัว (ประมาณ 2 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน) ส่วนวัวใหญ่จะเพิ่มอาหารข้นมากขึ้นไปอีก อาหารข้นที่ใช้ก็ใช้อาหารผสมที่มาจากโรงงานแถวบ้าน ไม่รู้เปอร์เซ็นต์โปรตีน แต่ก็ใช้ได้ดี ส่วนอาหารหยาบจะให้หญ้าเนเปียร์สับหรือต้นข้าวโพดสับ วันละ 2 รอบ ตอน 08.00 น. และ 14.00 น. โดยจะให้ รอบละ 4 เข่ง ต่อวัว 10 ตัว (ประมาณตัวละ 15-20 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อมื้อ)”

“ที่บอกว่า เรื่องอาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเลี้ยงวัวขุน เพราะมีประสบการณ์เคยซื้อวัวพม่ามาเข้าขุน ซื้อมาราคาตัวละ 15,000 บาท ขุนใช้เวลานาน ใช้อาหารข้นมาก ตอนจับขายขายได้ตัวละ 41,000 บาท พอมาคิดต้นทุนแล้วไม่คุ้มค่า เพราะใช้เวลานานเกินไป วัวกินอาหารมากทำให้ต้นทุนสูง เลยเลิกขุนวัวพม่ามาขุนวัวที่หาซื้อได้ตามบ้านเรา และดูเรื่องอาหารเป็นสำคัญ ไม่ให้มากไปน้อยไปจนเราขาดทุน”

แปลงหญ้าเนเปียร์ที่พร้อมตัดไปให้วัวกิน

ปลูกเนเปียร์ไว้ 2 แปลง ประหยัดค่าอาหาร ลดต้นทุน

เพราะต้นทุนค่าอาหารเป็นเรื่องสำคัญ ประสบการณ์สอนให้คุณนิภาพักตร์รู้ว่า ต้องมีแปลงหญ้าอาหารสัตว์ คุณนิภาพักตร์ เล่าว่า “ใช้พื้นที่ที่มี 2 ไร่ครึ่ง ทำแปลงหญ้าเนเปียร์ปากช่อง โดยแบ่งเป็น 2 แปลง เอาไว้ผลัดกันตัดมาขุนวัว ซึ่งพื้นที่แปลงหญ้าเนเปียร์ ขนาด 2 ไร่ครึ่งนี้ จะสามารถใช้ขุนวัวได้ 20 ตัว สบายๆ โดยผลัดกันตัดทุก 30-45 วัน เราตัดแปลงแรกก่อน แล้วเอามาโม่เก็บไว้ขุนวัว พอหมดก็พอดีแปลงที่ 2 ตัดได้ ก็หมุนวนกันไปแบบนี้ ซึ่งทำให้ประหยัดต้นทุนค่าอาหารไปได้เยอะ ไม่ต้องไปรอซื้ออาหารหยาบจากโรงงาน ไม่ต้องไปรอตัดต้นข้าวโพดจากไร่คนอื่น เราปลูกของเราเอาไว้เอง มีการวางระบบการให้น้ำเอาไว้เรียบร้อย ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเรามีหญ้าให้วัวของเรากินแน่นอน แต่หากว่าหญ้าของเราไม่พอ อย่างเช่น ในช่วงหน้าแล้ง เราก็ยังสามารถไปหาซื้อต้นข้าวโพดเข้ามาเสริม” คุณนิภาพักตร์ ยืนยันว่า การมีแปลงหญ้าเองจะสามารถลดต้นทุนค่าอาหารไปได้มาก ทำให้การขุนวัวยังมีกำไรให้อยู่ได้

ราคาขาลง ขายเหมายกคอก

ในเรื่องราคาขายวัวนั้น คุณนิภาพักตร์ บอกว่า “วัวราคาตกลงมาจากเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว แต่เราก็อาศัยพ่อค้าแม่ค้าประจำที่เคยซื้อขายกันอยู่เป็นช่องทางระบายวัวขุนแล้วออกไป การขายเราก็ใช้การขายแบบเหมายกคอก ถ้าหากเป็นวัวเล็ก ขุนได้ 7-8 เดือน ก็จะจับขาย ได้ราคาประมาณ ตัวละ 17,000-18,000 บาท เราก็พอใจ แต่ถ้าเป็นวัวใหญ่ขุนมา 4-5 เดือน หากได้ตัวละ 22,000 บาท ขึ้นไป ก็ถือว่าอยู่ได้”

คุณนิภาพักตร์ บอกว่า วัวใหญ่กำไรดีกว่า “การขุนวัวใหญ่ใช้เวลาสั้นกว่า หากเราควบคุมต้นทุนค่าอาหารได้เราจะมีกำไรมากกว่าการขุนวัวเล็ก ความเสี่ยงก็น้อยกว่า เพราะใช้เวลาขุนน้อย แต่ปัญหาอยู่ที่การหาซื้อวัวใหญ่มาเข้าขุน เราต้องกำหนดราคาได้ตามที่เราต้องการ ในส่วนอาหารที่เอามาใช้ขุนต้องจัดการต้นทุนได้ลดต้นทุนให้มากที่สุด เราต้องทำให้ต้นทุน 2 อย่างนี้ต่ำที่สุดเราก็จะได้กำไรพออยู่ได้”

หญ้าที่เพิ่งตัดกำลังขนเอาไปโม่ให้วัวกิน

วัวขุนยังอยู่ได้ แต่ต้องปลูกหญ้าเอง

คุณนิภาพักตร์ ฝากข้อคิดถึงเกษตรกรมือใหม่ที่สนใจจะเข้ามาทำธุรกิจขุนวัวว่า “วัวขุนทุกวันนี้ราคาไม่ได้ดีเหมือนเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่จากประสบการณ์อาชีพการขุนวัวยังสามารถไปได้ ยังสามารถทำกำไรให้เราได้ แต่เราต้องขยัน ต้องจัดการต้นทุนให้ได้ทั้งเรื่องต้นทุนการซื้อวัวมาเข้าขุน และที่สำคัญคือ ต้นทุนค่าอาหารที่นำมาใช้ขุน หากใครที่จะเข้ามาทำวัวขุนจริงๆ ให้หาที่ว่างๆ ปลูกหญ้าอาหารสัตว์เอาไว้เป็นแหล่งอาหารของเราเอง เพราะเท่าที่ทำมาเห็นได้ชัดว่าการมีแปลงหญ้าของเราเอง สามารถทำกำไรให้เราได้มากกว่าการซื้ออาหารหยาบมาขุนเพียงอย่างเดียวแน่นอน”

หญ้าเนเปียร์ โม่ให้วันละ 2 รอบ

ธุรกิจใดๆ ก็ตาม มุ่งหวังกำไรทั้งนั้น หากเราจัดการต้นทุนได้ ทำให้ต้นทุนต่ำ กำไรย่อมมากขึ้นครับ ใครสนใจธุรกิจวัวขุน ลองเอาแนวคิดและวิธีการของ คุณนิภาพักตร์ ขำกุศล ไปใช้ดูนะครับ ฉบับต่อไปผมจะพาท่านไปพบพี่น้องเกษตรกรรายย่อยหัวก้าวหน้าที่ไหนกันอีกโปรดติดตามกันต่อใน “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย เจอกันใหม่ฉบับต่อไปนะครับ สวัสดีครับ

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 28 มกราคม พ.ศ.2564