ทำไมอาหารไก่ ต้องมีส่วนผสมของวัตถุดิบหลายชนิด

ในอดีต เกษตรกรนิยมเลี้ยงไก่แบบปล่อยตามลานบ้าน หรือบริเวณสวนหลังบ้าน ทำเล้าไว้เพื่อให้เป็นที่นอนและวางไข่เท่านั้น มีรางอาหารไว้บริเวณเล้าที่พัก อาหารผสมมีเพียงรำข้าว ปลายข้าว ใบกระถินแห้ง และเปลือกหอย สำหรับไก่ไข่ตามที่คุณเล่ามา เมื่อวิทยาการก้าวหน้าขึ้นจึงมีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาสูตรอาหารที่สามารถร่นระยะเวลาการเจริญเติบโตให้สั้นลง และมีอัตราการแลกเนื้อสูง โดยมีส่วนผสมของวัตถุดิบ 6 ชนิด ประกอบด้วย แป้ง ได้จากรำข้าว ปลายข้าว ข้าวเปลือก ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นแหล่งให้พลังงานใช้ในการเดินหรือวิ่ง โปรตีน ได้จากปลาป่น ปลาสด แมลง และสัตว์ขนาดเล็ก ใช้สร้าง ขน เล็บ เลือด เนื้อ และหนัง ไขมัน ได้จากกากถั่วเหลือง กากมะพร้าว ไขสัตว์ และน้ำมันหมู ทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย วิตามิน ได้จากหญ้าสด ใบกระถิน และบางส่วนจากข้าวโพดและปลาป่น ปัจจุบัน มีการผลิตวิตามินออกมาหลากหลายชนิดวางจำหน่าย วิตามินทำให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง สร้างภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์เลี้ยง และ น้ำ ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย เป็นส่วนประกอบของเลือดของเหลว และเมือกต่างๆ เนื่องจากมีภาคเอกชนรายใหญ่หลายรายผลิตอาหารของทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บกออกมามากมาย ส่งผลให้เกษตรกรนำไปใช้เลี้ยงสัตว์มากขึ้น แต่ถ้าหากในท้องถิ่นมีวัตถุดิบดังกล่าว มีราคาไม่แพงเกินไป นำมาผลิตอาหารสัตว์ด้วยตนเองจึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง

ส่วน มูลไก่ หรือ ขี้ไก่ ที่ขับถ่ายออกมานั้น มีบางส่วนยังย่อยไม่หมด และอาหารส่วนเกินตกลงไปในบ่อก็จะเป็นอาหารอย่างดีของปลา ทั้งนี้ กรมประมงแนะนำว่า ขนาดบ่อปลา พื้นที่ 1 ไร่ ควรสร้างเล้าไก่ขนาดพื้นที่ 40 ตารางเมตร สำหรับเลี้ยงไก่ได้ 200 ตัว และพอดีกับจำนวนปลา 1,500-2,000 ตัว และหากเลี้ยงผสมกันหลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาไน และปลาตะเพียน อัตรา 1 : 1 : 2 จะได้ผลดีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงเลี้ยงปลา 8 เดือน จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยยูเรียเพิ่มเติม อัตรา 3-4 กิโลกรัม ต่อไร่ เดือนละ 1 ครั้ง และให้มากขึ้นบ้างในช่วงที่ไก่ยังมีขนาดเล็ก ปุ๋ยยูเรียจะช่วยเพิ่มปริมาณแพลงก์ตอนในน้ำที่เป็นอาหารอย่างดีของปลา