ชัยสิทธิ์ฟาร์ม ฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดกลางมีระบบการจัดการที่ดี ใช้มูลหมู ลดค่าไฟได้วันละ 1,000 บาท

พื้นที่ราว 40 ไร่ ของชัยสิทธิ์ฟาร์ม หมู่ที่ 1 ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง จัดได้ว่าเป็นฟาร์มขนาดเลี้ยงหมูขนาดกลางที่มีระบบการจัดการที่ดี แม้ว่าจะเป็นฟาร์มเลี้ยงหมูแห่งแรกของจังหวัด ก่อตั้งมานานกว่า 35 ปีแล้วก็ตาม

คุณชัยสิทธิ์ เจี่ยกุญชร เจ้าของฟาร์ม ให้ข้อมูลว่า ฟาร์มหมูแห่งนี้ มีหมูพ่อพันธุ์ น้ำหนักเฉลี่ย 250 กิโลกรัม จำนวน 20 ตัว หมูแม่พันธุ์ น้ำหนักเฉลี่ย 170 กิโลกรัม จำนวน 350 ตัว หมูขุน น้ำหนักเฉลี่ย 60 กิโลกรัม จำนวน 1,500 ตัว หมูอนุบาล น้ำหนักเฉลี่ย 15 กิโลกรัม จำนวน 1,500 ตัว ที่ผ่านมา นำมูลหมูมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ภายในไร่ โดยผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในรูปของแข็ง ได้ปุ๋ยอินทรีย์มากถึงปีละ 50,000 กิโลกรัม ต่อปี ขายให้กับผู้สนใจ มีรายได้เข้าฟาร์มมากถึง 100,000 บาท ต่อปี นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ในรูปของเหลว ได้มากถึง 85 ลูกบาศก์เมตร ต่อวัน

แม้ว่ามูลหมูจะก่อให้เกิดรายได้ให้กับฟาร์ม โดยการขายเป็นมูลหมูตากแห้งก็ตาม แต่เพราะฟาร์มมีขนาดใหญ่ การจัดการความสะอาดภายในฟาร์มดีอย่างไร กลิ่นมูลหมูก็จะเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ซึ่งเมื่อปริมาณหมูมาก ทำให้กลิ่นกระจายพื้นที่ออกไปกว้าง ส่งผลกระทบต่อชุมชนใกล้เคียง ก่อให้เกิดปัญหา

ปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวแก้ไขได้สำเร็จลุล่วง ทั้งยังช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซมีเทน อันเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ด้วยการนำของเสียจากฟาร์มมาแปรสภาพให้เป็นก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นพลังงานทดแทนภายในฟาร์ม ช่วยเพิ่มรายได้ และกำจัดกลิ่นมูลหมู ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาระหว่างฟาร์มกับชุมชน

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน มีโครงการพลังงานทดแทน ซึ่งมอบให้สำนักงานพลังงานจังหวัดแต่ละจังหวัด สำรวจและเข้าไปส่งเสริม หากพบว่าฟาร์มหรือชุมชนใดมีความพร้อม จะจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ร้อยละ 10 ในการดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพภายในฟาร์มให้ สำหรับจังหวัดระนอง ชัยสิทธิ์ฟาร์ม อยู่ในขอบข่ายที่เหมาะสมในการพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ สามารถนำของเสียจากมูลหมูมาผลิตก๊าซชีวภาพใช้เองภายในฟาร์ม ทั้งยังช่วยลดกลิ่นมูลหมู ซึ่งเป็นปัญหาของฟาร์มให้ลดลง

ปี 2550 ชัยสิทธิ์ฟาร์ม ก้าวเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และเริ่มเดินระบบในปี 2551

คุณทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า การส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทน เป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญของกระทรวงพลังงาน เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานชนิดอื่น ช่วยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการเพิ่มสัดส่วนในการจัดหาเชื้อเพลิงทดแทนเพิ่มขึ้นตามแผนพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก ในปี 2579 หรือคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย เพื่อเป็นการยกระดับให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร

“ชัยสิทธิ์ฟาร์ม ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เมื่อปี 2550 และเริ่มเดินระบบได้ในปี 2551 ซึ่งระบบได้มีการก่อสร้างและติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพ รองรับปริมาณปศุสัตว์ภายในฟาร์ม ที่สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 315 ลูกบาศก์เมตร ต่อวัน และผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 292 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมง ต่อวัน หรือคิดเป็น 96,360 กิโลวัตต์ชั่วโมง ต่อปี และสามารถลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.5 ตันคาร์บอน ต่อวัน หรือ 495 ตันคาร์บอน ต่อปี และถึงแม้จะเป็นการนำไฟฟ้ามาใช้แค่ในฟาร์ม แต่ก็สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึงวันละประมาณ 1,168 บาท ต่อวัน หรือคิดเป็น 385,000 บาท ต่อปี”

6คุณประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน อธิบายว่า การส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพ ได้มอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการวิจัย เมื่องานวิจัยประสบผลสำเร็จ จึงนำออกไปถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการฟาร์ม รวมถึงประชาชนที่สนใจ ซึ่งการวิจัยได้ส่งเสริมให้นำน้ำเสีย ของเสีย หรือขยะอินทรีย์ที่เหลือทิ้งในภาคอุตสาหกรรมมาแปรรูปเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยดำเนินการไปในฟาร์มแล้วกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าการติดตั้งระบบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 10 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินก่อสร้าง และเจ้าของฟาร์มหรือชุมชน ออกค่าใช้จ่ายเองอีกส่วน

“สำหรับชัยสิทธิ์ฟาร์ม มีปัญหาเรื่องกลิ่นมูลหมู เพราะจะเป็นฟาร์มขนาดกลาง เก็บมูลหมูตากแห้งจำหน่าย แต่กลิ่นก็ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก การนำของเสียจากมูลหมูจำนวนหนึ่งไปผลิตก๊าซชีวภาพ นอกจากจะทำให้ฟาร์มสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้แล้ว ยังช่วยลดกลิ่น และลดค่าไฟฟ้าภายในฟาร์มได้อีกด้วย”

คุณชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ในการติดตั้งระบบที่เจ้าของฟาร์มต้องลงทุนเองจำนวนหนึ่ง ซึ่งสำหรับชัยสิทธิ์ฟาร์ม เป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร แต่ก็ถือว่าคุ้มทุนและไม่ได้คิดว่า ระบบจะมีความคุ้มค่าสำหรับการลงทุนเมื่อใด เพราะสิ่งที่ได้รับจากการติดตั้งระบบการผลิตก๊าซชีวภาพนั้น ช่วยลดแรงกดดันที่ชุมชนมีต่อฟาร์มลงได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องกลิ่นมูลหมูที่เป็นปัญหา นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าไฟฟ้าได้มากถึงร้อยละ 40 เพราะก๊าซชีวภาพที่ได้จากระบบ จำนวน 2 หน่วย สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ 1 คิวบิกเมตร

7

สำหรับปัญหาสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมภายในจังหวัด ซึ่งจะมีผลต่อการเดินระบบการผลิตก๊าซชีวภาพ เพราะจังหวัดระนอง เป็นจังหวัดที่มีสภาพภูมิอากาศชื้น มีฝนและร้อนสลับกันบ่อยครั้งนั้น คุณชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ปริมาณก๊าซชีวภาพที่นำมาใช้ในฟาร์มจะได้ในปริมาณมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ในฤดูฝน สามารถนำมาใช้แทนระบบไฟฟ้าทั้งฟาร์มได้ 8-10 ชั่วโมง ในฤดูแล้ง สามารถนำมาใช้แทนระบบไฟฟ้าทั้งฟาร์มได้ 10-12 ชั่วโมง แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเดินระบบตั้งแต่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการแล้ว

ทั้งนี้ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีการจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนโครงการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนให้กับสถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการ และองค์กรเอกชนที่ไม่มุ่งค้าหากำไร ในการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการนำไปขยายผล และเป็นข้อมูลสำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในระยะต่อไป

นอกเหนือจากฟาร์มหมู ซึ่งเป็นตัวอย่างการติดตั้งระบบการผลิตก๊าซชีวภาพภายในฟาร์ม เพื่อลดค่าไฟฟ้าแล้วนั้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ยังพร้อมส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น พลังงานขยะ พลังงานชีวมวล เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับเกษตรกรหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โทรศัพท์ (02) 612-1555 ต่อ 204-205 หรือ สำนักงานพลังงานจังหวัดทุกจังหวัด