“รมช.มนัญญา” ห่วงการแพร่ระบาดโรคลัมปี-สกิน เร่งควบคุมไม่ให้กระทบอุตสาหกรรมโคนม

จากสถานการณ์โรคระบาดการติดเชื้อไวรัส ลัมปี-สกิน (Lumpy skin disease) ที่ยังวิกฤตหนัก ทำให้โค-กระบือป่วยแล้วกว่า 85,000 ตัว เพื่อป้องกันการระบาดของโรคและป้องกันความเสียหายแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือทั่วประเทศ อ.ส.ค. จัดกิจกรรม “ดื่มนมทานเนื้อปลอดภัย ส่งกำลังใจให้เกษตรกร สู้ภัยโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ”  

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้กำกับดูแลนโยบายองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) มีความห่วงใยต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมดิบทั่วประเทศ 5,952 ราย มีจำนวนโครวม 174,658 ตัว ส่งน้ำนมดิบให้ อ.ส.ค. ประมาณ 874 ตัน ต่อวัน โดยพื้นที่ภาคกลางมีสหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมดิบมากที่สุดคือ จำนวน 15 สหกรณ์ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 2,380 ราย และจำนวนโคนม 65,863 ตัว จึงได้สั่งการให้ อ.ส.ค. เฝ้าระวังโรคในพื้นที่พร้อมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิดและให้รายงานสถานการณ์ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ รมช.มนัญญาได้ลงพื้นเป็นประธานจัดกิจกรรม “โครงการรณรงค์ป้องกันโรคลัมปี-สกิน” ณ ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง อ.ส.ค. มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี พร้อมมอบสิ่งของเวชภัณฑ์/ยาฆ่าแมลง พร้อมถังฉีดพ่นให้กับสหกรณ์เขตภาคกลาง 15 แห่งที่ส่งน้ำนมให้ อ.ส.ค. และเดินทางไปตรวจเยี่ยมฟาร์มเกษตรกร พร้อมชมการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ณ ณัฎฐ์ฟาร์ม อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และอีกหลายๆ พื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคนมอย่างหนาแน่น

รมช.มนัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรไทยเลี้ยงโคนมทั่วประเทศ 11,393 ครอบครัว จำนวนโคทั้งหมด 427,311 ตัว หากไม่เร่งสกัดการแพร่ระบาดอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมโคนมของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงของ อ.ส.ค. เป็นฟาร์มต้นแบบในการผลิตน้ำนมโคและการดูแลสุขภาพโคนม รวมทั้งการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ ที่เปิดให้เกษตรกร หน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงโคนมมีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนในอนาคต

ส่วนกิจกรรม “ดื่มนมทานเนื้อปลอดภัย ส่งกำลังใจให้เกษตรกร สู้ภัยโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ” อ.ส.ค. ได้ส่งมอบเวชภัณฑ์และยากำจัดแมลงพาหะแก่สหกรณ์โคนมและสหกรณ์โคเนื้อจำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์โคนมน้ำพอง จำกัด (สาขาน้ำพอง) สหกรณ์โคนมน้ำพอง จำกัด (สาขาพังทุย) สหกรณ์โคนมน้ำพอง จำกัด (สาขาอุบลรัตน์-เขาสวนกวาง) สหกรณ์โคนมกระนวนสามัคคี สหกรณ์โคนมศรีธาตุ จำกัด สหกรณ์โคนมทุ่งฝน จำกัด สหกรณ์โคนมหนองวัวซอ จำกัด และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อ ขัวเรียงชุมแพ จำกัด

“อ.ส.ค.ได้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ในการกระจายอุปกรณ์ฉีดพ่นยา เวชภัณฑ์ยาไปสู่เกษตรกร พร้อมทั้งให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกร ขอยืนยันว่าวัวที่หายจากโรคแล้ว สามารถรับประทานเนื้อได้ และน้ำนมดิบผ่านกระบวนการแปรรูปจนมั่นใจว่ามีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากลก่อนออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภค จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค นมโคสดแท้ 100% และการบริโภคเนื้อโคที่สะอาด ปลอดภัย” รมช.มนัญญา กล่าว

ด้าน นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า ปัจจุบัน อ.ส.ค. มีสหกรณ์และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค.ทุกภูมิภาคจำนวน 52 แห่ง ปริมาณน้ำนมดิบ แยกเป็นพื้นที่ภาคกลางจำนวน 15 สหกรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 สหกรณ์ ภาคใต้ 8 สหกรณ์ ภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่) 3 สหกรณ์ และภาคเหนือตอนล่าง (สุโขทัย) จำนวน 16 สหกรณ์ ซึ่งทั้งหมดจะส่งน้ำนมดิบสำหรับป้อนกำลังผลิตผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค เพื่อจำหน่ายในรูปแบบนมพาณิชย์และนมโรงเรียนประมาณวันละ 600-800 ตัน ต่อวัน ปัญหาการแพร่ระบาดโรคลัมปี-สกิน ที่เกิดขึ้น อ.ส.ค. กำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่การเลี้ยงโคนมของ อ.ส.ค.อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมโคนมของ อ.ส.ค. ในอนาคต