ก้าวหน้าไก่สดฯ เมืองอุบล สร้างงานในท้องถิ่น ผลผลิตส่งยุโรปและญี่ปุ่น

จุดเริ่มต้นของ บริษัท ก้าวหน้าไก่สด จำกัด ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่จังหวัดอุบลราชธานี คือซื้อลูกไก่จำนวนหลักร้อยมาเลี้ยงเอง และสนับสนุนให้ชาวบ้านเลี้ยง จากนั้นนำผลผลิตที่ได้จำหน่ายในตลาดท้องถิ่น

ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว แต่สมาชิกและลูกเล้าของก้าวหน้าไก่สดฯ ยังจำได้ดี

เพราะความมุ่งมั่นของ คุณสุนีย์ ตริยางกูรศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ก้าวหน้าไก่สด จำกัด ผู้ริเริ่มงานเลี้ยงไก่ จึงมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ เหมือนกับชื่อของบริษัท จากจำนวนไก่หลักร้อย เพิ่มเป็นหลักพันและหลักหมื่นในปัจจุบัน โดยผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงขณะนี้คือ คุณสุเชษฐ์ ตริยางกูรศรี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ก้าวหน้าไก่สด จำกัด

คุณสุนีย์ ตริยางกูรศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ก้าวหน้าไก่สด จำกัด

รับพิจารณาเกษตรกรในท้องถิ่นเข้าร่วม

บริษัท ก้าวหน้าไก่สด จำกัด ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเลี้ยงไก่แบบครบวงจร

ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านนัดหมายกระชั้นชิด ทำให้พลาดโอกาสที่จะพูดคุยกับ คุณสุเชษฐ์ ตริยางกูรศรี

ผู้ที่มาให้ข้อมูลแทนคือ คุณแสวง มิ่งขวัญ หัวหน้าโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่เนื้อ

คุณแสวง มิ่งขวัญ หัวหน้าโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่เนื้อ

“ลูกไก่ช่วงแรกๆ ซื้อมาจากภาคกลาง เลี้ยงขนาดเล็กๆ ไม่ได้เป็นฟาร์มใหญ่ ทางฟาร์มเลี้ยงเองส่วนหนึ่ง ให้ชาวบ้านเลี้ยงส่วนหนึ่ง ต่อมาจึงมีโรงชำแหละ ส่วนลูกไก่ เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เอง มีสองพันธุ์ด้วยกันคือ พันธุ์คอบบ์ และ อาเบอร์เอเคอร์ เลี้ยงแยกกันสองพันธุ์นี้ พันธุ์คอบบ์ หน้าอกใหญ่ยุโรปต้องการ จึงเลี้ยงตอบสนองความต้องการของตลาด ส่วนอาเบอร์เอเคอร์ น่องใหญ่ยาวตลาดอยู่ที่ญี่ปุ่น”

คุณแสวงบอกและเล่าต่ออีกว่า

“ฟาร์มพ่อแม่พันธุ์อยู่ที่อำเภอสำโรง เมื่อเลี้ยงได้ไข่ ก็จะส่งเข้าโรงฟัก จากนั้นจึงส่งให้กับเกษตรกรสัปดาห์ละ 4 แสนตัว จำนวนขนาดนี้ จะมีไก่เข้าโรงชำแหละวันละ 7 หมื่นตัว”

คุณแสวงบอกว่า นอกจากส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแล้ว ทางฟาร์มยังเลี้ยงเอง ซึ่งมีอยู่หลายฟาร์ม จำนวนฟาร์มละ 50,000-200,000 ตัว

เกษตรกรที่เป็นลูกเล้า ปัจจุบันมีกว่า 300 ราย แต่ละรายเลี้ยงไก่ 10,000-15,000 ตัว พื้นที่ของลูกเล้ามีอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ และมุกดาหาร

ลูกเล้าที่เลี้ยงไก่

สำหรับผู้เข้าร่วมเป็นลูกเล้า ทางคุณแสวงบอกว่า ต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกร มีที่ดิน มีสาธารณูปโภคที่จำเป็นพอสมควร เช่น ถนนเข้าถึง มีไฟฟ้า

การสร้างโรงเรือนทางลูกเล้าเป็นผู้ออกทุนเอง แต่ต้องเป็นไปตามแบบที่ทางบริษัทเป็นผู้กำหนด ส่วนอุปกรณ์การเลี้ยง เช่น อีแวป พัดลม ที่ให้น้ำ ให้อาหาร ลูกไก่ อาหาร ยาป้องกันรักษาโรค ทางบริษัทออกให้ก่อน

อุปกรณ์บางอย่าง เช่น อีแวป ระยะเวลาคืนทุนให้กับบริษัท อาจจะใช้เวลานานหน่อย แต่หากเป็นลูกไก่ อาหารไก่ ต้องคืนทุนเมื่อมีการจับไก่แต่ละรุ่น

โรงเรือนและอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 1.5 ล้านบาท การคืนทุนอยู่ราวปีที่ 5

“มีคนอยากเข้าร่วมเป็นลูกเล้าเป็นจำนวนมาก แต่ยังชะลอไว้ก่อน เพราะกำลังการผลิตที่เป็นโรงชำแหละวันละ 7 หมื่นตัว ทางผู้บริหารอยากให้ปริมาณไก่สมดุลกับกำลังการผลิต หากไม่สมดุล ผู้เลี้ยงอาจจะพักเล้านาน โอกาสที่จะใช้เงินกับแหล่งทุนอาจจะยืดออกไป ตอนนี้มีการก่อสร้างโรงเชือดใหม่ มีกำลังการผลิตวันละแสนตัว เครื่องจักรทันสมัย มีคนมาแจ้งความจำนงแต่คงต้องรอฟังผู้บริหารจะรับได้มากน้อยแค่ไหน คนที่เขามาขอร่วมบอกว่า เขาศึกษาข้อมูลมานาน แต่สุดท้ายมาลงเอยที่ก้าวหน้าไก่สด สาเหตุนั้นคงเป็นเพราะเราอยู่ในท้องถิ่น เมื่อจับไก่ การเงินก็หมุนเวียนเร็ว” คุณแสวงบอก

 

ลูกเล้ามีงานมีเงิน

ในท้องถิ่นภาคอีสาน ส่วนใหญ่แล้วอาชีพหลักที่เห็นอยู่คือเรื่องของการทำนา งานเลี้ยงไก่เนื้ออาจจะมีน้อย

เมื่อ บริษัท ก้าวหน้าไก่สดฯ ได้ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ ปรากฏว่ามีการสร้างงานทำเงินเป็นวงจรมากมาย ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงโดยตรง แรงงานที่ไปทำอยู่กับฟาร์มของบริษัทและโรงชำแหละก็ไม่ต่ำกว่า 2,000 คน ผลิตภัณฑ์แปรรูปไก่ของบริษัท ก็ทำให้คนขายมีอาชีพเพิ่มขึ้น

“มีคนอยากร่วมเยอะ มาทุกวัน ไม่สามารถรับได้ ที่มาเพราะเขาหามาหมดแล้ว ก้าวหน้าไก่สดจุดเด่นอยู่ที่ความซื่อสัตย์ การเงินเราไม่ผัดผ่อน จ่ายตรงเวลา ลูกเล้าที่มาสมัครเลี้ยงบอกต่อๆ กัน บอกญาติพี่น้องให้มาเข้าร่วม เรื่องคุณภาพชีวิตของลูกเล้า ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ ชีวิตความเป็นอยู่เขาดีขึ้น สังคมดี ครอบครัวดี บางคนส่งลูกเรียนจบปริญญาเอก มีทรัพย์สิน รถยนต์มีแทบทุกคน มีที่ดินทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ลูกหลานส่วนหนึ่งช่วยพ่อแม่เลี้ยงไก่ ไม่ต้องเข้าหางานทำในเมืองใหญ่..” คุณแสวงบอก

 

ผลผลิตส่งไปยุโรปและญี่ปุ่น

ฟาร์มที่เป็นลูกเล้าของบริษัท ก้าวหน้าไก่สดฯ ต้องมีข้อปฏิบัติตามที่บริษัทระบุไว้ เช่น มีรั้วรอบขอบชิด การแต่งตัวของผู้เลี้ยง และอื่นๆ เมื่อปฏิบัติตาม จะได้รับมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์

สำหรับไก่ที่นำมาชำแหละนั้น อายุ 43-45 วัน ผลิตผลที่ได้มีการปรุงแล้วส่งไปทางยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งส่วนที่จำหน่ายในไทย รูปแบบการเลี้ยงอย่างเดียวกับที่ส่งออก เพียงแต่อาจจะตกขนาดไปบ้างเท่านั้นเอง

แปรรูปไก่

“ก้าวหน้าไก่สด อยู่ในท้องถิ่น เชือดแล้วนำมาแปรรูป สำหรับคนที่จะมาซื้อไปจำหน่ายต่อ ทางบริษัทมีข้อกำหนดให้กับผู้ค้า เช่น ต้องมีอุปกรณ์คลุมให้มิดชิด มีน้ำแข็งรักษาคุณภาพ หากไม่มีก็ไม่ขายให้ เพราะเกรงว่า ถึงผู้บริโภคแล้วจะไม่มีคุณภาพ…สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปของบริษัท เป็นรูปหัวไก่” คุณแสวงบอก

สำหรับผู้สนใจ สอบถามเรื่องการเข้าร่วมเป็นลูกเล้า ซื้อผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายต่อ สอบถามได้ที่ บริษัท ก้าวหน้าไก่สด จำกัด เลขที่ 6 ถนนนพคุณ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 โทรศัพท์ (045) 240-035-7 หรือที่ คุณแสวง มิ่งขวัญ โทร. (087) 262-9909