อาม่าเง็กเน้ย เศรษฐีนีเมืองมหาชัย อดีตหญิงแกร่ง ฉายาราชินีเป็ดไทยไร้เทียมทาน ในศตวรรษที่ 20

ต้นปีที่ผ่านมามีข่าวนักออกแบบเสื้อแบรนด์หรู ชาวฝรั่งเศส ชื่อ คุณปิแอร์ การ์แดงส์ อายุเกือบร้อยปีเสียชีวิต คนไทยที่เป็นลูกค้าระดับไฮโซคงรู้จักกันดี เพราะนิยมซื้อมาใช้กันตั้งแต่ยุคก่อน ถึงแม้ว่าผู้เขียนไม่เคยรู้จักตัวตน แต่ได้มีโอกาสไปเที่ยวฝรั่งเศสหลายครั้ง ไม่เคยไปอุดหนุนสินค้า เพราะราคาแพงเกินกว่าฐานะจะซื้อมาใช้นะสิ

ช่วงสมัยก่อน ผู้เขียนมีโอกาสรู้จักเจ้าของโรงงานฟอกขนเป็ด และมีโรงงานการ์เมนต์ ทำเสื้อผ้าตัดเย็บจิปาถะ และเครื่องนุ่งห่มทำจากขนเป็ด ตั้งอยู่ที่ซอยบางปลากด จังหวัดสมุทรปราการ สมัยเฟื่องฟู

โรงงานแห่งนี้ได้รับตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้ากันหนาว โดยเฉพาะแจ๊กเก็ต และชุดเล่นสกีในฤดูหนาวหิมะตก ชุดเสื้อผ้าติดแบรนด์ยี่ห้อปิแอร์ การ์แดงส์ ทั่วโลกรู้จักหมด มาสั่งทำที่โรงงานแห่งนี้ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปชมและลองสวมใส่แจ๊กเก็ตขนเป็ดในห้องปรับอากาศ พอลองสวมได้เพียง 1-2 นาที เกิดอาการร้อนเหงื่อออกทันที แม้เสื้อจะเบาเหมือนฟองนุ่น เพราะอิทธิพลคุณสมบัติของขนเป็ดนี่เอง น้ำหนักเสื้อที่ใส่คงไม่เกิน 200 กรัม จะหนักที่ตัวผ้ามากกว่า

เป็ดไล่ทุ่งทั้งเพศผู้ เพศเมีย เลิกไล่ทุ่งมาเข้าเล้า ตัวผู้ต้องเชือดเป็นเป็ดเนื้อ ตัวเมียเลี้ยงเป็นเป็ดไข่

เป็นเรื่องราวนานกว่า 40 ปีมาแล้ว สมัยคนไทยไปเมืองนอก ต้องหอบหิ้วชุดกันหนาว เรียกว่าโอเวอร์โค้ต มีน้ำหนักเป็นสิบกิโลกรัม หิ้วไปและกลับมา ขนใส่ประทังกันหนาว

จึงไม่แปลกใจ เจ้าของโรงงานขนเป็ดสมัยนั้นเป็นมหาเศรษฐีเมืองไทยระดับต้นๆ ของไทย ที่ผู้เขียนมีโอกาสไปสัมผัสและรู้จักกันเป็นอย่างดี ในวงธุรกิจค้าขนเป็ดที่เขาค้าแต่เพียงผู้เดียวในยุคนั้น ที่ราคาขนเป็ดมีราคา คนทำธุรกิจเป็ด ค้าขายเป็ด ร่ำรวยกันอย่างไร ผู้เขียนจะเล่าให้พอสังเขป เพราะเขียนมานานแล้วเรื่องเป็ด มันมีเหตุต้องหันมาเขียนใหม่

เหตุเพราะโรคไวรัสโควิด-19 กำลังอาละวาดอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร หรือมหาชัย และภาคตะวันออกลุกลามไปเกือบทั่วประเทศ คงติดตามข่าวกันแล้ว ว่าปัญหามันอยู่ที่ใด

บังเอิญตอนเช้าในวันจันทร์ เดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ดูข่าวช่องโทรทัศน์ภาคเช้า ได้พบเศรษฐีนีใจบุญ…พิธีกรข่าวอ่านรายชื่อปรากฏภาพ ทำให้นึกถึงอดีตทันที นามว่า อาม่าเง็กเน้ย เอกชัยศิริวัฒน์ เศรษฐีนีเมืองมหาชัย จะสนับสนุนที่ดิน 50 ไร่ ให้กับทางราชการจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรองรับทำเป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว เพื่อเป็นสถานที่รับผู้ติดเชื้อโควิด-19 มารักษา เพราะโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ

ขณะนั่งดูข่าวก็ออกอาการตื่นเต้นและตกใจที่ได้เห็นภาพอาม่าคนนี้ที่เคยรู้จักกันมานานกว่า 4 ศตวรรษ ในวงการธุรกิจค้าเป็ดที่ตลาดเล่งเน่ยยี่ ตลาดเก่าเยาวราช ย่านถนนมังกร แหล่งค้าขายของชาวจีน

ด้วยเหตุผลเพราะผู้เขียนบังเอิญไปพบอาม่าเง็กเน้ย และได้ชักชวนผู้เขียนไปเที่ยวมหาชัยที่ท่านอยู่อาศัย หลังจากกลับมาบ้าน เรามีโอกาสได้พบกันอีก เพราะเส้นทางค้าขายต่างมีเวลาน้อย ซึ่งผู้เขียนได้เฝ้ามานานว่าจะเขียนถึงผู้หญิงไทย เชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ด้วยความจดจำคำบอกเล่าของอาม่าในอดีต สมองผู้เขียนจำได้ แม้จะเนิ่นนาน เพราะอาม่าเง็กเน้ย ไม่ธรรมดา

อาม่าเง็กเน้ย เอกชัยศิริวัฒน์ เศรษฐีนีแห่งมหาชัย วัย 90 ปีเศษ (ขวาสุด) สนับสนุนที่ดิน 50 ไร่ กับเจ้าหน้าที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อนำไปทำโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19

เป็นเพราะผู้เขียนได้โลดแล่นเกี่ยวกับยุทธจักรธุรกิจเป็ด ไก่ สุกร ห่าน มากว่า 50 ปีเศษ สมัยยังรับราชการจนมาอยู่ภาคเอกชน บุกเบิกเรื่องเป็ดเนื้อเชอรี่นี่แหละ จึงทำให้สังคมปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้องรู้จักนักเลี้ยงเป็ดทุ่ง พ่อค้าเป็ด นักธุรกิจฟักลูกเป็ด พ่อค้าขนเป็ด คนขายลูกเป็ด ห่าน ทั่วไปในแหล่งที่เป็นอาชีพหลักมาช้านาน คุ้นหน้ากันดีว่างั้นเถอะ

ถ้าหากย้อนไปถึง “ยุทธศาสตร์ปศุสัตว์” ผู้เขียนตั้งชื่อไว้ภายหลังของสายงานเศรษฐกิจการผลิต กองเศรษฐกิจการเกษตร ในปี 2514 ได้มีการศึกษา วิจัย ค้นคว้า ปศุสัตว์ที่สำคัญกล่าวคือ สัตว์น้ำ โคนม โคเนื้อ สุกร เป็ด ไก่ ห่าน ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในยุคเปลี่ยนผ่านหัวหน้ากองคนใหม่ ได้ริเริ่มการศึกษาอาชีพการเลี้ยงสัตว์ในอนาคตที่คนยุคนั้นยังเลี้ยงสุกรพันธุ์พื้นเมืองตามชนบท ไก่ และเป็ด ยังมีให้เห็นอยู่ดาษดื่นจนชินตา ขณะเดียวกัน พันธุ์สัตว์ สุกร เป็ด ไก่ พันธุ์ดีได้นำเข้ามาในประเทศมากแล้ว เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร

อาม่าเง็กเน้ย เอกชัยศิริวัฒน์ อดีตหญิงแกร่ง ราชินีเป็ดไทย ในศตวรรษที่ 20 แห่งสมุทรสาคร

ผู้เขียนได้มีโอกาสรับงานจากผู้บังคับบัญชาที่มองเห็นความสำคัญจะต้องศึกษาโครงการนี้ได้สำเร็จ ขออนุญาตเอ่ยนามอดีตผู้บังคับบัญชาของผู้เขียนผู้นี้ ที่มอบหมายงานให้ผู้เขียนแบ่งงานกันทำ ก็คือ คุณสุเทพ อินทปัญญา ท่านมีดีกรีจบคณะสัตวบาล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยรัฐอาร์คันซอส์ จากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้วางแผนเป้าหมายการศึกษา วิจัยในขณะนั้น ผมขอเรียกว่า “ยุทธศาสตร์ปศุสัตว์ 50 ปี” ก็แล้วกัน ให้สอดคล้องกับรัฐบาลชุด คสช. ที่มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ทว่าความสำเร็จในการศึกษาครั้งนั้น ผู้เขียนต้องขอเอ่ยชื่อที่เขามาวางแผนงานระดับเหนือ เมื่อราวปี 2514 นั้น ฐานะผู้บัญชาการนโยบายเร่งการ ก็คือ คุณจำรัส อินทชัยศรี ผู้บริหารสายงานฯ ดร.สุพจน์ เตชะเทศ นักวิชาการอาวุโส

ซึ่งผู้เขียนโชคดีมีโอกาสที่ได้ที่ปรึกษานักเศรษฐศาสตร์ที่ให้คำแนะนำเขียนในรายงาน ทำเปเปอร์จนสามารถผ่านการพิจารณาขั้นตอนตรวจสอบสภาพนักวิชาการหน่วยงาน ศึกษา วิจัย ต้นทุน และผลตอบแทน (สุกรขุน ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ดไข่ เป็ดเนื้อ และห่าน) ปศุสัตว์ที่ผู้เขียนและทีมงานรับผิดชอบ ใช้เวลาศึกษา ราว 5-6 ปีเต็ม รายนามที่ผู้เขียนขอยกย่องที่ท่านเสียสละมาร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาให้ผู้เขียนมาตลอดนั้น ได้แก่ ดร.โกเศศ มโนวลัยเลา นักวิชาการเกียรตินิยมอันดับ 1 ดร.สมพร หาญพงษ์พันธุ์ นักวิชาการเกียรตินิยมอันดับ 1

ผู้เขียนถือโอกาสขอบพระคุณผู้ที่ให้โอกาสและช่วยเหลือในด้านวิชาการและภาคปฏิบัติ จนเป็นเอกสารชิ้นสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน เป็นข้อมูลการบริหารกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้ทันที

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วารสารเศรษฐกิจการเกษตร ของกองเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดคอลัมน์ในหน้าวารสารเศรษฐกิจ ในหัวข้อเป็นตาราง อ่านเข้าใจง่าย เป็นคู่มือนักเลี้ยงสัตว์ ต้นทุนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ประจำเดือน…(ต้นทุนน้ำนมดิบต่อกิโลกรัม ต้นทุนไข่เป็ด ไข่ไก่ ต่อฟอง ต้นทุนสุกรขุน ต่อกิโลกรัม ต้นทุนไก่เนื้อ เป็ดเนื้อ ต่อกิโลกรัม เป็นต้น เป็นวารสารที่เป็นคู่มือคนเลี้ยงสัตว์)

นี่คือเบื้องหลังและภูมิหลังที่ผู้เขียนได้ท่องในยุทธจักรโลกปศุสัตว์ และทำงานร่วมกับเกษตรกร โดยบันทึกบัญชีสมุดฟาร์ม ติดต่อขอข้อมูลพ่อค้าฟักไข่เป็ด ลูกเป็ดย่านสามแยก และโรงงานเชือดเป็ดตลาดเก่าเยาวราช ไปจนถึงฟาร์มไก่ไข่ เป็ดไข่ สุกรขุน ห่าน ที่มีการเลี้ยงอย่างเป็นการค้า

คุณวิชาญ เอกชัยศิริวัฒน์ บุตรชายอาม่าเง็กเน้ย อดีตสมาชิกวุฒิสภา ดูแลกิจการเดินเรือประมง

เมื่อชีวิตพลิกผัน ภายหลังจบสิ้นโครงการศึกษาแล้ว ต่อมาได้ร่วมงานกับภาคเอกชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จากประสบการณ์คัมภีร์ปศุสัตว์อยู่ในมือ จุดประสงค์ต้องการเปลี่ยนแปลงอาชีพการเลี้ยงปศุสัตว์ให้ก้าวหน้า มิใช่เห็นกับอามิสสินจ้างแก่ประการใด เพราะวงการเลี้ยงสัตว์ไทยมีแต่จะถอยหลัง…แต่หวังให้ธุรกิจการค้าขายอาชีพเลี้ยงสัตว์ไทยก้าวหน้าจนถึงปัจจุบันเป็นระดับโลก ในแง่การผลิต การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรมั่นคง ก้าวไกลกว่าปัจจุบัน จากวิธีการชั่งเป็ดขายเป็นกิโลกรัมเกิดขึ้นในวงการเป็ดเนื้อเชอรี่ ประโยชน์เกิดขึ้นกับคนเลี้ยงที่เกษตรกรเสียเปรียบพ่อค้ามานานนับร้อยปี ที่เหมาซื้อเป็นตัว ขืนรอหน่วยงานราชการเข้ามาปลี่ยนแปลงคงยากน่าดู

ครับ กลับมาคุยเรื่องเก่าของอาม่าเง็กเน้ยต่อดีกว่า หญิงแกร่งคนนี้ทำไมร่ำรวยในบั้นปลายชีวิต

ด้วยความบังเอิญผู้เขียนต้องตื่นนอนเช้าราวตี 2 เกือบทุกวัน เพื่อมาดูตลาดค้าขายเป็ดย่านตลาดเล่งเน่ยยี่ ติดกับตลาดเก่าเล่งโบ๊ยเอี๊ยะ ย่านถนนมังกร กรุงเทพฯ เพื่อบุกเบิกเป็ดเนื้อเชอรี่

การดูตลาดเช้ามืดที่พ่อค้าและคนบริโภครายใหญ่เป็นเจ้าจำนำขายสินค้าตลาดสดทุกชนิด ในที่ที่ผู้เขียนมาดูตลาดเป็ดสดหรือเป็ดเชือดแล้ว เป็นอาชีพตกทอดของชาวจีน

ในเช้าวันหนึ่ง ผู้เขียนเห็นสาววัยกลางคน เชื้อสายจีน เพราะเธอสวมใส่กางเกงแพรสีดำ หรือกางเกงปังลิ้น ใส่เสื้อคอกระเช้า เกล้าผมมวย ปักปิ่นผมแบบสาวจีนนิยมกัน ด้วยเสียงที่ดังฟังชัด แบบชนิด ฉะ ปะ ดะ ทำนองนั้น ไม่เกรงกลัวใคร จนได้มารู้จักทีหลังโดยพรรคพวกแนะนำให้รู้จัก

ในวงการค้าขายของตลาดเล่งเน่ยยี่ แวดวงพ่อค้าแม่ขายตลาดติดต่อกัน เขารู้จักผู้หญิงคนนี้ ว่า “เจ๊เน้ย” รูปร่างสูงใหญ่ ผิวพรรณดำแดง บ่งบอก เพราะเธอคนทำงานตากแดด ดูคล่องแคล่ว จึงดูแกร่ง แต่ไม่อ้วน แข็งแรง

เป็ดไข่ยังนิยมเลี้ยงบนบก แล้วปล่อยลงเล่นน้ำตามเวลา ที่นิยมอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

บรรดาแม่ค้าขายเป็ดสดที่รับเป็ดสดจากเจ๊เน้ย ทุกคนต่างยำเกรงเจ๊เน้ยมาก ด้วยน้ำเสียงน่ากลัว พูดก็ดังอยู่แล้ว มาได้ยินเสียงดุด่าต่อเมื่อลูกค้าไม่จ่ายสตางค์ค่าเป็ดสดตามข้อตกลง หลายคนต้องคอยหลบหน้า หวาดกลัวเจ๊เน้ยมาก ชนิดหนูกลัวแมว ทำนองนั้น

หากจะเรียกเจ้าแม่เป็ดในตลาดนี้ก็ว่าได้ เพราะใครๆ ก็ทราบ เจ๊เน้ยเป็นคนมีเงิน มีอิทธิพล ติดนักเลง ไม่กลัวใคร นิสัยทำงานหนัก สามีเป็นนักประมง มีเรือจับปลา ได้ปลาเป็ดมาเลี้ยงเป็ดที่ฟาร์มด้วย ค้าปลามานาน

การสนทนากับผู้เขียนเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย คนดุด่าหรือจะสู้คนพูดดี ปากดี ใจเย็น ย่อมชนะใจ ว่ากันอย่างงั้น ปกติอุปนิสัยของอาซ้อเน้ย ปากร้าย ใจดี ทำนองนั้น

ในที่สุดการสนทนายังไม่สิ้นสุด เจ๊เน้ยชักชวนผู้เขียนไปเที่ยวบ้านที่มหาชัย เรื่องราวรายละเอียดเดี๋ยวแกจะเล่าให้ฟัง ในรถยนต์ที่ผู้เขียนจะนำมาถ่ายทอด แต่ตอนนี้ขอเจ๊ไปทำธุรกิจเก็บเงินลูกค้าที่ซื้อเป็ดไป และซื้อกับข้าวนำกลับบ้านด้วย

ส่วนผู้เขียนก็ถือโอกาสแวะร้านค้าเป็ดที่เป็นลูกค้ากัน ปล่อยให้เจ๊เน้ยไปทำธุรกิจเสร็จแล้วมาพบกันที่ร้านขาประจำของผู้เขียน ชื่อร้านเอี้ยวง้วน เจ้าของชื่อ เฮียอ๋า พ่อค้าคนแรกที่ซื้อเป็ดเชอรี่ชั่งน้ำหนักเป็นกิโลกรัม

ยุทธศาสตร์ปศุสัตว์ของกองเศรษฐกิจการเกษตรได้ศึกษาต้นทุนและผลตอบแทน เมื่อ 50 ปีก่อนของสัตว์ บัดนี้สัตว์ปีกไก่เนื้อ เป็ดเนื้อ มีโรงเชือดทันสมัยสร้างรายได้แก่คนไทยและประเทศ

กระทั่งผู้เขียนและเจ๊เน้ย นัดไปขึ้นรถยนต์ที่ผู้เขียนขับมาจอดที่ถนนมังกร เช้ามืดไม่มีปัญหา แต่วันนั้นจอดที่จอดรถโรงภาพยนตร์คาเธ่ย์ที่ร้างล้มเลิกกิจการ

ภายหลังขึ้นรถแล้ว เจ๊เน้ยพูดคุยสนุกสนานสมเป็นแม่ค้า ก็คงเล่าถึงเช้ามืดที่ผ่านมา ส่งเป็ดสดที่ชำแหละแล้วที่ขนมาจากมหาชัย ใส่รถบรรทุก 6 ล้อ มากับคนขับรถ พอส่งเป็ดตามลูกค้าสั่งแล้ว เธอก็จะให้คนขับรถและลูกน้องกลับไปก่อน ส่วนตัวเจ๊เน้ยจะขอตัวกลับบ้านทางรถไฟ สายมหาชัย-กรุงเทพฯ ทุกวัน

ด้วยอัธยาศัยไมตรี เจ๊เน้ยพูดเก่ง น้ำเสียงออกดังระดับนักเลงต้องเกรงใจเมื่อได้ยินเสียงของเจ๊

ครั้นเมื่อรถยนต์ไปถึงมหาชัย ได้มีโอกาสเข้าไปเยือนบ้านเจ๊เน้ย พบสามีเจ๊เน้ยด้วย การไปบ้านเจ๊เน้ยครั้งนี้ได้ยินได้ฟังจากปากเจ๊เน้ย หรือซ้อเน้ย เพื่ออยากรู้เห็นวิธีการทำงานและธุรกิจค้าขายเป็ด เลี้ยงเป็ดที่เจ๊เน้ยบุกเบิกและทำมาตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน มีพื้นที่เลี้ยงเป็ดไข่ เป็ดเนื้อ โรงงานชำแหละเป็ด เนื้อที่กว่า 50 ไร่ โดยชีวิตประจำวัน กิจการทำงานอาชีพเป็ดที่ดูแลนั้นไม่มีโอกาสได้หยุดพัก มีทั้งปล่อยเป็ดไล่ทุ่งด้วย ภารกิจเจ๊เน้ยมากมาย

ส่วนสามี มีเรือประมงจับหาปลามานาน อาชีพเลี้ยงเป็ดของชาวมหาชัย มีฟาร์มเป็ดไข่เลี้ยงกันมาก เพราะมีปลาเป็ด อาหารเป็ด กุ้ง หอย ปู ปลา ล้วนมีราคาถูกในสมัยนั้น อุดมสมบูรณ์เหมือนชลบุรี

ในระหว่างสนทนากันในรถยนต์ เป็นไปอย่างสนุกเพราะข้อมูลด้านเป็ดผู้เขียนเคยมีความรู้เป็นทุนเดิม ส่วนด้านเจ๊เน้ยเล่าถึงเป็ดธุรกิจที่เธอทำนั้น มันเป็นรายได้ดีมาก เป็ด 1 ตัว มีมูลค่าราคาสูงกว่าสัตว์อื่น มีทั้งอาหารและปุ๋ยด้วย จึงมีคำพังเพยของวงการค้าเป็ดไว้ว่า “ล้มช้างเอางา เชือดเป็ดหวังขน” ทำนองนั้น

ทำไมเจ๊เน้ย หรือซ้อเน้ย จึงมุ่งมั่นทำธุรกิจเป็ด วันหนึ่งๆ เจ๊เล่าให้ฟัง เธอมีเวลาพักผ่อนเพียงวันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อได้ยินคำบอกเล่าแล้วเกือบไม่น่าเชื่อ

เพิ่มวงการฟักลูกเป็ดที่ต่างจังหวัด ย่านสุพรรณบุรี ยังนิยมเลี้ยงเป็ดไข่ไล่ทุ่งหลังจากย่านสามแยกเจริญกรุงปิดกิจการฟักหมด

ผู้เขียนจะขอสรุปไทม์ไลน์ (Timeline) คำยอดฮิตยุคโรคไวรัสโควิด-19 กำลังระบาด ว่าเจ๊เน้ยทำอะไรบ้าง ใน 1 วันมีเวลาพักผ่อนน้อยกว่าพวก รปภ. หรือตำรวจรักษาความปลอดภัย มาฟังเจ๊เล่าให้ฟังเป็นสาวแกร่งสมชื่อ

นับเริ่มต้นเวลา เที่ยงวัน บ่าย 2 โมง เป็นเวลานอนหลับ (หลังกลับจากส่งเป็ดสดที่กรุงเทพฯ) ต้องเตรียมออกไปทำงาน

หลังเวลาตื่นนอนต้องออกไปต้อนคัดเป็ดที่ฟาร์มช่วงบ่าย เพื่อชำแหละช่วงเย็นนี้ การให้อาหารเป็ด ควบคุมดูแลและตรวจฟาร์มตามภารกิจที่ปฏิบัติมาอย่างเคยชิน

ภายหลังให้อาหารเป็ดมื้อเย็นจึงเตรียมตัวเข้าโรงงานที่อยู่บริเวณเดียวกัน มีคนงานอยู่หลายสิบคน เพื่อเชือดเป็ดตั้งแต่ 6 โมงเย็น กว่าจะเรียบร้อย เป็ดวันละพันตัว ใช้เวลาทำงานกว่าเที่ยงคืน ผลประโยชน์เป็ดที่พ่อค้าร่ำรวยมาจากตัวเป็ดและผลพลอยได้คือ ลิ้น เลือด เครื่องใน ปลายปีก ตีนเป็ด ก้นเป็ด ไปจนถึงขี้เป็ดในเล้า ล้วนมีราคาแพงกว่าสัตว์ทุกชนิด ในน้ำหนักเท่ากัน การจำหน่ายเป็ดสดเป็นตัว ยังมีกำไรอีกนะ

ในช่วงนี้เจ๊เน้ยไม่ได้อยู่นิ่ง คอยกำกับดูแลและตรวจดูบัญชี และรายชื่อลูกค้าเป็ดในตลาดย่านเยาวราชเป็นกิจวัตรประจำวัน เงินสด รายได้ของเจ๊เน้ยมีการไหลเข้ามากกว่าไหลออก

หลังจากเสร็จภาระการถอนขนเป็ด เป็นเป็ดสดพร้อมส่งขายไปกับเครื่องใน เป็ดก็ได้ถูกลำเลียงใส่เข่งบรรทุกรถยนต์ที่ฟาร์มมุ่งหน้าสู่ตลาดย่านเยาวราช ตามตลาดที่กล่าวมาข้างต้นถึงตลาดสด เวลาราวตี 3 ของวันใหม่

เมื่อไปถึงตลาด ลูกน้องต้องเร่งขนส่งเป็ดสด จัดส่งมาถึงลูกค้าแผงขายเป็ดสดที่เป็นเจ้าประจำกันมานานที่รอคอย

ถึงแม้ว่าโรงเชือดเป็ดในตลาดยังมีหลายแห่ง แต่ไม่พอขาย และตลาดเป็ดสดมีหลายไซซ์ หลายความต้องการของลูกค้าไม่เหมือนกัน ลูกค้าขายเป็ดสดมีทั้งขายส่งและขายปลีก ว่างั้นเถอะ

ภาพประวัติศาสตร์ฝูงเป็ดเนื้อ พ่อแม่พันธุ์จากเชอร์รี่วัลเลย์ ประเทศอังกฤษ จากอายุวันเดียวมาเลี้ยงที่ฟาร์มหนองจอก 5 ปี 2521 เครือเจริญโภคภัณฑ์
12.สัญลักษณ์เป็ดเนื้อพันธุ์เชอรี่ ของฟาร์มเป็ดเชอร์รี่วัลเลย์ ฟาร์มในเครือเฟอร์กูสัน กรุ๊ป ประเทศอังกฤษ

หลังจากขนส่งเป็ดรถลำเลียงให้ลูกค้าเสร็จจึงปล่อยให้ลูกน้องขับรถกลับไปก่อน มีงานสำคัญที่ฟาร์มรออยู่ และกลับไปพักผ่อน สลับหน้าที่ของคนงานที่มีหลายคน

ส่วนเจ๊เน้ยยังต้องสาละวนกับภาระการเก็บเงินลูกหนี้ตามบัญชีลูกค้าเป็ดสด การทำหน้าที่ผู้จัดการไปในตัว

จนกระทั่งเวลา 10 โมงเช้า จึงเดินทางกลับโดยรถไฟโดยสารสายกรุงเทพฯ-มหาชัย กว่าจะถึงบ้านพักเวลาใกล้เที่ยงวัน หลังรับประทานอาหารเสร็จถึงได้มีโอกาสพักผ่อนนอนเพียง 2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

ความประทับใจของผู้เขียนที่มีโอกาสได้รู้จักซ้อเน้ย หากย้อนไป 4 ทศวรรษเศษ ได้สอนและให้ข้อคิดผู้เขียนถึงเรื่องราวของเหง้ามาจากบรรพบุรุษ เคยทำอาชีพค้าขายเป็ดมาทั้งนั้น

อย่าแปลกใจ “มหาเศรษฐีไทย พิสูจน์แล้วร่ำรวย ทำธุรกิจเป็ดจากอดีตสู่ปัจจุบัน ยังมีให้เห็นอยู่ เพราะเป็ดตัวเดียวมีมูลค่าราคาแพงกว่าสัตว์ทั่วไปที่เลี้ยงกัน” ขนเป็ดมาอันดับ 1

ใช่แล้ว อาม่าเง็กเน้ย เอกชัยศิริวัฒน์ เป็นคนหนึ่งที่ร่ำรวยมาจากค้าธุรกิจเป็ดมาก่อน คนมหาชัยรู้กันดี และมีกิจการเรือประมงเดินทะเล หาปลาข้ามทะเล ในนาม บริษัท เอกชัยการประมง ที่มีลูกชายชื่อ คุณวิชาญ เอกชัยศิริวัฒน์ อดีตวุฒิสมาชิก แต่งตั้งหลังปี 2549 ทำหน้าที่บริหารงานในปัจจุบัน

ด้วยวัยกว่า 90 ปี แม้ว่าไม่ได้พบกันมาช้านาน ขอให้ซ้อเน้ย ที่ผู้เขียนรู้จักมาก่อน ด้วยความเคารพในน้ำใจต่อกัน ก็ขอให้รักษาดูแลสุขภาพด้วยนะครับ

จุดประกายความฝันของวงการเป็ดไทย คุณธนิต บุญรอด อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพเป็ดพันธุ์ จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ผลักดันการซื้อขายเป็ดเนื้อเชอรี่มีชีวิต มาชั่งน้ำหนักขายเป็นกิโลกรัม ในปี 2523 จากพ่อค้าเคยซื้อขายเหมาเป็นตัว นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในประวัติศาสตร์ของวงการเป็ดไทยที่มีการพัฒนา