ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ เนื้อรสชาติอร่อย ปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู มีพื้นที่ 1 ตร.ม. สามารถเลี้ยงไว้กินเองได้

คุณ ณ นพชัย ผิวเกลี้ยง อยู่บ้านเลขที่ 328 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเกษตรกรที่เล็งเห็นถึงคุณสมบัติพิเศษของไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว ทำให้เขาสนใจนำมาทดลองเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จ

ชึ่งไก่พันธุ์ตะเภาทองเกษตรศาสตร์เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ ระหว่างไก่พื้นเมืองของไทยพันธุ์หนึ่งที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ชื่อว่าไก่พันธุ์ตะเภาทองกับไก่พื้นเมืองของจีน ชื่อว่าไก่สามเหลือง(ซาอึ้ง) ซึ่งไก่ทั้งสองสายพันธุ์นี้มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่เมื่อนำทั้งสองสายพันธุ์มาผสมกัน คือ พ่อพันธุ์ตะเภาทอง แม่พันธุ์สามเหลือง จึงได้เกิดเป็นไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ขึ้นมา จึงทำให้ไก่สายพันธุ์นี้เลี้ยงง่ายโตดี

ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์

“ลักษณะโรงเรือนก็ไม่มีอะไรมาก เอาง่ายๆ ว่า พื้นที่ 1 ตารางเมตร เลี้ยงไก่ได้ 4-5 ตัว เราก็คำนวนเอาว่า เรามีพื้นที่เท่านี้ ควรที่จะเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์กี่ตัว อย่างที่ฟาร์มผมนี่โรงเรือนขนาด 6 x 11 เมตร อันนี้สำหรับนอนเป็นโรงเรือนที่เป็นร่มเงา และบริเวณที่เป็นพื้นที่รอบโรงเรือนก็จะขยายออกมารอบๆ อันนี้แล้วแต่ว่าจะขนาดเท่าไหร่แล้วแต่พื้นที่ เพราะต้องมีให้ไก่ได้วิ่งและก็คุ้ยเขี่ย เพื่อให้ไก่ได้ตากแดดเล่นดินบ้าง มันเป็นตามธรรมชาติของเขา ส่วนบริเวณรอบๆ เราก็กั้นด้วยตาข่าย เพื่อป้องกันสุนัขเข้ามากัดไก่ด้วยอีกชั้นหนึ่ง” คุณ ณ นพชัย อธิบาย

ในขั้นตอนของการเลี้ยง คุณ ณ นพชัน บอกว่า นำไข่ของไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ไปฟักในตู้ฟัก เมื่อครบกำหนดจนไข่ฟักออกมาเป็นตัว ก็จะนำลูกไก่ทั้งหมดมาอบให้ความอบอุ่นเป็นเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งสถานที่สำหรับกกนั้นต้องเป็นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี แต่ต้องมีม่านกั้นเพื่อไม่ให้ลูกไก่ได้รับลมมากระทบกับตัวมากนัก

อาหารที่ให้ลูกไก่ระยะนี้เป็นอาหารสำหรับให้ไก่เล็กกิน โดยให้กินบ่อยครั้งแต่ไม่มากเพื่อเป็นการกระตุ้นฝึกลูกไก่ให้กินอาหารเป็น และที่สำคัญควรมีภาชนะสำหรับใส่น้ำสะอาดวางไว้ข้างๆ ด้วย

ลูกไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์

เมื่อลูกไก่มีอายุได้ประมาณ 1 เดือน จึงปล่อยออกจากที่กั้นให้มาวิ่งเล่นตามสถานที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ จะได้ใช้ชีวิตร่วมกับไก่ตัวอื่นๆ ในแบบธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

“ไก่โดยธรรมชาติ จะชอบกินผักกินหญ้า เมื่อเรานำมาปล่อยในที่โล่งๆ แล้ว เราก็จะให้เขาอยู่เหมือนอยู่กันตามธรรมชาติ ซึ่งอาหารที่เอามาให้กินในช่วงนี้ จะเป็นพวกใบเตยหั่น ใบตำลึงชายรั้ว ผักตบชวา เอามาให้กินได้หมด ส่วนข้าวเปลือกบางคนอาจจะหว่านให้กินได้เลย แต่สำหรับที่นี่ไม่ใช่ ต้องเอาข้าวเปลือกไปแช่น้ำก่อน 1 คืน รดน้ำต่ออีก 2-3 คืน มันก็จะกลายเป็นข้าวงอกที่มีสารอาหารมากกว่าเดิม สลับกับให้อาหารข้นด้วย เลี้ยงต่อไปไม่เกิน 3-4 เดือน ไก่ก็จะตัวใหญ่เต็มที่ พร้อมจำหน่ายได้” คุณ ณ นพชัย กล่าวถึงเรื่องอาหาร

ซึ่งอาหารที่ให้ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์กินในแต่ละวัน อาจจะให้วันละ 1 – 2 มื้อก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หามาได้ในท้องที่นั้นๆ ว่าสามารถหาผักหญ้ามาได้มากน้อยเพียงใด ถ้าได้มากก็กินวันละ 2 มื้อ และถ้ามีน้อยอาจเปลี่ยนเป็นวันละ 1 มื้อ ไม่มีเกณฑ์ตายตัวมากนักในเรื่องนี้

จากความพิเศษของเนื้อไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ที่มีรสสัมผัสต่างจากไก่บ้าน คือ เนื้อไม่เหนียวมากจนเกินไปจึงเป็นที่ถูกใจของผู้ที่ได้ลิ้มรสไม่น้อย จึงทำให้เวลานี้ที่ฟาร์มของ คุณ ณ นพชัย มีกำลังผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งในอนาคตเขาได้มองไว้ว่าจะทำการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์โดยเฉพาะ เพื่อให้กำลังการผลิตมีอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตลาดในอนาคต

“เมื่อถึงอายุประมาณ 4 เดือน ใกล้จำหน่ายได้ไก่ตัวผู้จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 2 – 2.3 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียน้ำหนักจะอยู่ที่ 1.7-1.8 กิโลกรัม ซึ่งไก่สายพันธุ์นี้แม้จะดูว่าน้ำหนักเหมือนไม่มาก แต่ถ้าอายุครบกำหนดเลี้ยง เนื้อที่อกจะเต็ม เนื้อก็แน่น จึงถือได้ว่าเป็นไก่ที่มีโครงสร้างดี ซึ่งก็จะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับไปประกอบอาหารหลากหลายเมนู ทั้งไก่อบโอ่ง ข้าวมันไก่ จึงนับว่าผลตอบรับค่อนข้างดี” คุณ ณ นพชัย บอกถึงการนำมาปรุงอาหาร

ไก่อบโอ่ง
ไก่ที่ชำแหละแล้ว
ผิวเหลืองน่าทาน

สำหรับไก่ที่ผ่านการเชือดเป็นไก่สดพร้อมปรุงอาหาร ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 140 บาท ส่วนลูกค้าที่สนใจอยากซื้อไปเลี้ยงก็ยังมีลูกไก่จำหน่าย โดยราคาลูกไก่อายุ 1 วัน ราคาอยู่ที่ตัวละ 25 บาท และอายุ 7-10 วัน อยู่ที่ราคาตัวละ 30 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ เกิดข้อสงสัยว่าจะต้องเตรียมตัวหรือศึกษาการเลี้ยงอย่างไรบ้างเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ คุณ ณ นพชัย มีคำแนะนำว่า

“สำหรับคนที่อยากจะเลี้ยง ไม่ต้องไปคิดอะไรมากให้ปวดหัว แค่เราจัดสรรพื้นที่ มีโรงเรือน มีร่มให้เข้าอยู่ มีพื้นที่ให้คุ้ยเขี่ย แค่นี้ก็เลี้ยงได้ แต่ที่ต้องระวังมากที่สุดคือสุนัข อย่าให้เข้ามากัดไก่เราอย่างเดียว ต่อไปก็เรื่องการเลี้ยง ขอให้เลี้ยงแบบให้ถูกมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ การเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ก็ไม่ยากอย่างที่คิด ใครที่มีปัญหาอะไร สามารถโทรมาติดต่อสอบถามกับผมได้ ผมยินดีไข้ทุกข้อสงสัยครับ”

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณ ณ นพชัย ผิวเกลี้ยง ที่หมายเลขโทรศัพท์ (083) 090-6629