ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
ในช่วงนี้ตลาดโคเนื้อเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรเองมีการปรับรูปแบบการเลี้ยงให้สอดคล้องกับตลาดด้วยเช่นกัน คือการสร้างตลาดที่หลากหลายโดยเพิ่มมูลค่าของเนื้อให้เข้าถึงลูกค้า คือนำเนื้อมาจำหน่ายที่หน้าฟาร์มควบคู่กับการเปิดร้านให้ลูกค้าได้เข้ามาสัมผัสการเลี้ยง ซึ่งโคลูกผสมชาโรเล่ส์และโคลูกผสมวากิวเป็นพันธุ์โคเนื้อที่นิยมนำมาเลี้ยงเพื่อขุนสร้างรายได้ของเกษตรกร เพราะค่อนข้างที่จะสร้างเนื้อที่มีไขมันแทรกหรือเนื้อพรีเมี่ยมที่สามารถนำไปทำเมนูอาหารได้หลากหลาย
คุณยุทธรัตน์ ก๋งชิน หรือ คุณเจน อยู่บ้านเลขที่ 69/1 หมู่ที่ 4 ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร จบปริญญาตรีสาขาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร ได้นำองค์ความรู้จากสาขาที่เขาเรียนมาปรับเปลี่ยนการเลี้ยงโคเนื้อของครอบครัวให้ทันสมัยมากขึ้น พร้อมทั้งมีการจัดการระบบฟาร์มอย่างเป็นระบบช่วยให้ทำตลาดเนื้อได้อย่างมีคุณภาพ
การเลี้ยงโคเนื้อ
เป็นงานที่อยู่ในสายเลือด
คุณเจน เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของเขาเลี้ยงโคเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวตั้งแต่เขาจำความได้ โดยในช่วงนั้นการเลี้ยงเป็นเพียงการเลี้ยงที่เน้นเป็นโคเนื้อพันธุ์พื้นเมืองเป็นหลัก ต่อมามีการพัฒนาให้เป็นสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการมากขึ้น จึงมีการนำสายพันธุ์ลูกผสม ชาโรเล่ส์และสายพันธุ์ลูกผสมวากิวเข้ามาพัฒนาพันธุ์ ต่อมาเมื่อต้องเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี จึงได้มีความสนใจในเรื่องของการเรียนทางด้านสัตวศาสตร์เพื่อนำองค์ความรู้มาปรับใช้กับการทำฟาร์มให้กับครอบครัว
“พอช่วงที่เราเรียนสัตวศาสตร์ เราได้ความรู้มาปรับใช้กับฟาร์มที่บ้านได้ดีมากๆ ครับ เพราะมหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนหลายอย่าง ทำให้เรามั่นใจว่าเราจะต้องเลือกโคเนื้อสายพันธุ์ไหนที่เหมาะสมกับเรา ก็เลยจะเน้นทำตลาดโคเนื้อคุณภาพ จึงได้พัฒนาโคภายในฟาร์มให้เป็นลูกผสมชาโรเล่ส์และลูกผสมวากิว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ก็จะช่วยให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งตลาดที่มั่นคง” คุณเจน บอก
โคตัวเมีย สร้างเป็นแม่พันธุ์
โคตัวผู้ ขุนจำหน่ายเนื้อ
การเลี้ยงโคเนื้อลูกผสมทั้งหมดภายในฟาร์ม คุณเจน บอกว่า จะมีการแบ่งพื้นที่การเลี้ยงให้เป็นระบบพร้อมทั้งแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกพืชอาหารสัตว์เอง เป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ดี ซึ่งการผสมพันธุ์ของโคเนื้อภายในฟาร์มนั้นจะใช้วิธีการผสมเทียมเป็นหลักโดยเลือกแม่พันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 15 เดือนขึ้นไป และมีน้ำหนักอยู่ที่ 350 กิโลกรัมขึ้นไปมาทำการผสมเทียม เมื่อผสมจนติดจะรอแม่พันธุ์ตั้งท้องอยู่ที่ 9 เดือน หลังจากลูกโคเนื้อคลอดออกมาแล้วหากเป็นตัวเมียจะเน้นสร้างเป็นแม่พันธุ์ใช้ภายในฟาร์ม แต่ถ้าเป็นโคตัวผู้จะเตรียมขั้นตอนให้เป็นโคขุนสำหรับจำหน่ายเนื้อ
การเลี้ยงลูกโคตัวผู้เพื่อสร้างเป็นโคขุนหลังจากที่ลูกโคได้อายุประมาณ 5 เดือน ก็จะทำการตอนอัณฑะเพื่อเข้าสู่กระบวนการขุน โดยลูกโคเนื้อทั้งตัวผู้และตัวเมียที่มีอายุอยู่ที่ 1-6 เดือน จะยังคงให้กินนมแม่พร้อมทั้งให้หัดกินอาหารเหมือนแม่พันธุ์ไปด้วย ซึ่งอาหารที่ให้โคภายในฟาร์มกินหลักๆ จะมีขี้เค้กปาล์ม กากปาล์ม ทางปาล์มบด หญ้าเนเปียร์บด และฟาง โดยเน้นวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นหลักตามฤดูกาลมาให้โคภายในฟาร์มกิน
“ลูกโคที่หย่านมแล้วมีอายุได้ 6 เดือน เราก็จะแยกมาเลี้ยงอีกประมาณ 6 เดือน ให้กินอาหารปกติเหมือนที่เลี้ยงตัวอื่นๆ ทุกอย่าง จากนั้นเราก็มาเตรียมสู่ขั้นตอนการขุนโดยให้กินอาหารปกติเหมือนเดิม แต่จะมีเสริมด้วยอาหารข้นที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อครบกำหนดจากนั้นก็จะสู่ขั้นตอนการขุน เราก็จะมาทำการขุนเพื่อให้ได้เนื้อคุณภาพ ให้กินอาหารตามแผนการขุน อีกประมาณ 1 ปี โคก็จะได้ขนาดไซซ์น้ำหนักอยู่ที่ 600-800 กิโลกรัมขึ้นไปก็สามารถส่งขายได้” คุณเจน บอก
ส่วนในเรื่องของการทำวัคซีนเพื่อป้องกันโรคให้กับเนื้อภายในฟาร์มนั้น คุณเจน บอกว่า จะมีการทำวัคซีนปีละ 3 ครั้ง โดยมีแผนการทำวัคซีนที่ชัดเจน ตั้งแต่การถ่ายพยาธิ ยาบำรุง ตลอดไปจนถึงในเรื่องของการป้องกันปากเท้าเปื่อย โดยวัคซีนที่ทำให้กับโคภายในฟาร์มทางสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่จะมาทำการดำเนินการให้ จึงทำให้โคเนื้อทั้งหมดภายในฟาร์มมีความแข็งแรงและไม่เกิดการป่วยหรือตายจากโรคต่างๆ
ทำตลาดหลายทาง
ช่วยเพิ่มรายได้มากขึ้น
สำหรับการจำหน่ายโคเนื้อภายในฟาร์มนั้น คุณเจน บอกว่า ส่วนหนึ่งจะส่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์ที่รับซื้อภายในพื้นที่ และบางส่วนเขาก็จะนำมาจำหน่ายเองที่หน้าฟาร์ม พร้อมทั้งมีบริการส่งให้กับลูกค้าทางไปรษณีย์ด้วยระบบขนส่งที่ได้มาตรฐาน จึงทำให้เนื้อโคภายในฟาร์มของเขาสามารถส่งตรงถึงมือลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการจำหน่ายที่ช่วยเพิ่มรายได้
โดยราคาของเนื้อที่ผ่านการชำแหละเป็นซาก ถ้าเนื้อโคได้คุณภาพอยู่ที่เกรดหนึ่ง ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 210 บาท ซึ่งราคาจะขึ้นทุก 10 บาทตามเกรดที่สูงขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วโคเนื้อ 1 ตัว หลังจากที่ชำแหละจะมีรายได้เฉลี่ยต่อตัวต่ำสุดอยู่ที่ 90,000 บาท ซึ่งเขาเองก็ได้มีการทำตลาดเองด้วยการส่งเนื้อคุณภาพให้กับร้านอาหาร ร้านสเต๊กต่างๆ ด้วย จากการทำตลาดที่หลากหลายช่องทางนี้เองทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
“เนื้อโคที่ผมจำหน่ายหน้าฟาร์มมีราคาตั้งแต่ 600 บาทต่อกิโลกรัม ถึง 1,600 บาทต่อกิโลกรัม ราคาแล้วแต่เกรดเนื้อ ซึ่งราคาที่แตกต่างกันนี้ลูกค้าที่ซื้อไป เขาก็จะนำไปจำหน่ายหรือทำอาหารที่แตกต่างกันออกไปอีกทีหนึ่ง ทางเราก็มีบริการส่งให้ถึงบ้าน ถือว่าการขนส่งเดี๋ยวนี้ดีมาก จึงทำให้เนื้อโคของเราส่งตรงถึงมือลูกค้าแล้วยังมีคุณภาพอยู่ สำหรับคนที่อยากเลี้ยงโคเนื้อเพื่อสร้างรายได้ ก็จะแนะนำว่าถ้ามีใจรักแล้ว สามารถทำได้เลย ศึกษาเรื่องของการตลาดให้ดี จากนั้นเราก็ดูว่าโคเนื้อแบบไหนที่เหมาะสมกับเรา ประสบการณ์ต่างก็จะสอนเราเอง เกิดรายได้ที่มั่นคงได้อย่างแน่นอน” คุณเจน บอก
สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงโคเนื้อลูกผสมชาโรเล่ส์และโคเนื้อลูกผสมวากิว หรือต้องการสั่งซื้อเนื้อคุณภาพจากฟาร์มแห่งนี้ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณยุทธรัตน์ ก๋งชิน หรือ คุณเจน หมายเลขโทรศัพท์ 093-579-4475
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2565