เกษตรกรหญิงบุรีรัมย์ เลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ลดความเสี่ยงราคา แต่มีรายได้ รายวัน-เดือน-ปี

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี่ ราคาผลผลิตทางด้านปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมูและราคาไข่ไก่ไข่เป็ดมีการขยับตัวขึ้นมา ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น ในด้านของผู้เลี้ยงเองก็เช่นกัน ต้องเจอปัญหาในเรื่องของอาหารสัตว์ที่มีการปรับตัวขึ้นอยู่เป็นระยะ ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องมีการปรับเพื่อให้ต้นทุนการเลี้ยงต่ำลง และยังคงจำหน่ายผลผลิตทางด้านปศุสัตว์ไม่ให้ขาดทุน แต่ยังคงมีผลกำไรอยู่บ้างเพื่อใช้หมุนเวียนภายในครัวเรือนหรือกิจกรรมต่างๆ ภายในฟาร์ม

คุณสมัชญา สมานมาก

คุณสมัชญา สมานมาก เกษตรกรอยู่บ้านเลขที่ 242 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาดินเหนือ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีการปรับเปลี่ยนการทำอาชีพทางปศุสัตว์ให้สอดคล้องในยุคปัจจุบัน โดยกระจายความเสี่ยง ไม่เน้นเลี้ยงสัตว์เพียงชนิดเดียว แต่จะนำสัตว์หลากหลายชนิดเข้ามาเลี้ยง เพื่อให้สามารถทำตลาดได้หลากหลายช่องทาง พร้อมทั้งพยายามดำเนินการทำตลาดเอง ไม่ยึดติดส่งจำหน่ายพ่อค้าคนกลางเพียงอย่างเดียว

คุณสมัชญา เล่าให้ฟังว่า ทำงานประจำรับราชการเกี่ยวกับด้านสาธารณสุข ซึ่งพื้นฐานเดิมของครอบครัวมีอาชีพทางการเกษตรอยู่แล้ว จึงทำให้เธอค่อนข้างที่จะมีทุนเดิมและชอบการทำเกษตร ต่อมาเมื่อมีโอกาสได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านอย่างเต็มตัว จึงอยากที่จะต่อยอดอาชีพทางการเกษตรของครอบครัว ทำให้ได้มาจัดระบบที่ดินให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยแบ่งโซนการเลี้ยงทั้งพืชและสัตว์ผสมผสานกันไป

พื้นที่ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงโคเนื้อ แพะ แกะ

“พอเราต้องการทำปศุสัตว์แบบผสมผสาน เราก็ต้องมามองว่า สัตว์ชนิดไหนที่จะทำให้เกิดรายได้ประจำวัน รายได้รายเดือน และรายได้รายปี มันก็ทำให้ได้ตกตะกอนความคิดว่า อย่างไก่ไข่ เป็ดไข่ น่าจะสร้างรายได้เป็นรายวันได้ เพราะออกไข่ทุกวัน ส่วนรายได้รายเดือนก็จะเป็นหมู แพะ แกะ ถ้ามีการวางแผนที่ดี สามารถผลิตลูกพันธุ์ออกจำหน่ายได้ ส่วนรายปี เราก็เลยเน้นเลี้ยงพวกโคเนื้อไป ทำให้เกิดเป็นเงินเก็บรายปีได้ จึงทำให้เราได้ทำวิธีนี้มาตลอด ก็เกิดรายได้ที่ดีไม่น้อยทีเดียว” คุณสมัชญา บอก

การแปรรูปจำหน่าย

โดยอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างไก่และเป็ด คุณสมัชญา บอกว่า จะมีการนำอาหารข้นที่เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโดยเฉพาะมาขึ้นบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเน้นเป็นอาหารลดต้นทุนการผลิต เช่น แปลงหญ้าหวานที่ปลูกเอง หรือพืชผักสวนครัวที่ปลูกในพื้นที่บ้านของตนเองเป็นส่วนใหญ่มาให้กิน ส่วนแพะ แกะ และโคเนื้อจะปล่อยให้เดินตามทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้ จึงทำให้ไม่ต้องไปตัดหญ้าจากภายนอกเพื่อเข้ามาให้สัตว์กิน หรือไม่ต้องซื้อหญ้าอาหารสัตว์อื่นๆ เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

ในเรื่องของการป้องกันโรคและความสะอาดของการเลี้ยงสัตว์ จะใช้น้ำหมักชีวภาพผสมกับอาหาร ก็จะช่วยในเรื่องของการลดกลิ่นเหม็นได้ดี ส่วนในเรื่องของวัคซีนที่ทำให้กับแพะ แกะ หมู และโคเนื้อ ก็จะมีแบบแผนที่ชัดเจน เป็นวัคซีนหลักๆ ที่ทำการป้องกัน ส่วนสุขลักษณะอื่นๆ ก็จะทำความสะอาดโรงเรือนอยู่เป็นประจำ เพื่อลดการสะสมโรคที่จะทำอันตรายแก่สัตว์เลี้ยงภายในฟาร์มได้

คอกเลี้ยงหมู
พื้นที่เลี้ยงไก่ไข่

สำหรับในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายนั้น คุณสมัชญา เล่าว่า จะมีการทำตลาดที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยไม่ยึดโยงส่งพ่อค้าคนกลางเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการเปิดตลาดขายเองบ้างส่วนใหญ่ เช่น เนื้อหมูมีการเปิดเขียงที่ตลาดนัด ส่วนไข่เป็ดไข่ไก่ที่เก็บในทุกๆ วัน จะส่งให้ร้านใกล้เคียง หรือให้ญาติๆ ที่ต้องการมีรายได้เสริมนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ ส่วนแพะ แกะ โคเนื้อ ก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม หรือจะส่งสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกอยู่เพื่อนำไปแปรรูป

คุณสมัชญา สมานมาก

โดยผลผลิตจากปศุสัตว์ที่จำหน่ายมีราคาที่แตกต่างกันไป อาทิ ไข่เป็ดจำนวน 30 ฟอง ราคาอยู่ที่ 120 บาท หมูเป็นราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 95 บาท แต่ถ้าเชือดจำหน่ายเอง ราคาอยู่ที่ 170 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนสัตว์อื่นๆ อย่างแพะ แกะ และโคเนื้อ ราคาจำหน่ายก็จะอยู่ที่ตามกลไกตลาด

รายได้รายวันจากเป็ดไข่

“ตั้งแต่ทำปศุสัตว์มา สิ่งที่เกษตรกรต้องคำนึงมากที่สุด ก็คือเรื่องตลาด ต้องคิดเสมอว่า ถ้าราคาช่วงไหนลดลง ให้เราทำการแปรรูปทันที ก็จะช่วยให้ได้ราคาที่ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นก็อยากจะฝากถึงคนที่สนใจในเรื่องของการทำเกษตรเกี่ยวกับปศุสัตว์ว่า ทุกอย่างอยู่ที่ใจรัก เพิ่มจากที่ใจชอบก่อน จากนั้นนำผลกำไรที่ได้ มาทำการต่อยอดเรื่อยๆ ขยับขยายการเลี้ยงออกไป สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ไม่ยาก” คุณสมัชญา กล่าวทิ้งท้าย

เป็ดที่เลี้ยง
ไข่เป็ด
คอกเลี้ยงแพะ แกะ

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสมัชญา สมานมาก หมายเลขโทรศัพท์ 085-764-6028