ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หมูป่า สัตว์กีบคู่ มีลักษณะตัวใหญ่ สีดำ ท่าทางดูฉุนเฉียว ดูน่าเกรงขามต่อผู้พบเห็น แต่ใครล่ะจะรู้ว่าจริงๆ แล้วหมูป่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด หากเข้าใจธรรมชาติของเขาแล้ว จากสัตว์ที่ตัวใหญ่ หน้าตาดุดัน จะกลายเป็นสัตว์ที่น่ารัก สามารถเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามได้ หรือจะเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ก็นับเป็นทางเลือกที่ดีมากในขณะนี้ เนื่องจากหมูป่ายังไม่เป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย และสามารถนำมาขายได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบของขายส่งร้านทำหมูหัน จำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ หรือจำหน่ายเป็นเนื้อสด ทำให้เกษตรกรหลายรายหันมาสนใจอาชีพการเลี้ยงหมูป่ากันมากขึ้น บวกกับวิธีการเลี้ยงง่าย ทนโรค และต้นทุนต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรบางรายขายดิบขายดีจนผลิตไม่ทันขาย
คุณวีระ วงบำหราบ หรือ พี่เบิ้ม เจ้าของสำลีฟาร์ม อยู่ที่บ้านศรีสว่าง ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี เกษตรกรเจ้าของฟาร์มหมูป่าที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ที่เริ่มต้นความรู้จากศูนย์ สู่การพัฒนาวางแผนระบบการเลี้ยงหมูป่าแบบแปลกใหม่ ต้นทุนต่ำ แต่สร้างกำไรมาก ภายในระยะเวลาอันสั้น
พี่เบิ้มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงหมูป่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาลงหลักปักฐานกับอาชีพเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมูป่า ตนเองเคยเปิดร้านกาแฟอยู่ที่พัทยามาก่อน แต่พอขายได้สักระยะหนึ่งประมาณ 2-3 ปี ก็เริ่มมีคู่แข่งทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น สู้ไม่ไหว เป็นเหตุผลให้ต้องปิดกิจการร้านกาแฟ แล้วกลับมาตั้งหลักที่บ้านที่จังหวัดอุดรธานี เริ่มต้นอาชีพใหม่ด้วยการทำเกษตรกรรม ปลูกผัก และเลี้ยงเป็ดจำนวน 100 กว่าตัว มีจุดประสงค์เพื่อส่งร้านอาหารนำไปทำเป็ดปักกิ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จดั่งใจหวัง เนื่องจากเป็ดที่เลี้ยงไว้ถูกสุนัขเข้ามากัดจนตายเกือบหมดก็เป็นอันต้องเลิกรากับการเลี้ยงเป็ดไป
แต่หลังจากนั้นตนเองก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ เปลี่ยนมาเลี้ยงหมูแคระที่ได้พันธุ์มาจากเพื่อน ก็เลี้ยงไปตามวิธีที่คิดว่าถูกต้อง เลี้ยงบนพื้นดิน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร และรู้สึกว่ายังเลี้ยงและดูแลยากเกินไปสำหรับตนเอง ถ้ายังดันทุรังเลี้ยงต่อไปไม่น่าเป็นผลดีก็ต้องเลิกรากับการเลี้ยงหมูแคระอีกครั้ง
จนในที่สุดเพื่อนก็ยังไม่ถอดใจ ได้เอาหมูป่ามาให้ทดลองเลี้ยงอีกจำนวน 2 ตัว ทีนี้พอได้เลี้ยงหมูป่าก็เริ่มรู้สึกว่าเหมาะกับตนเอง ตอบโจทย์ในเรื่องของการเลี้ยงที่ง่ายและทนโรค รวมถึงในส่วนของต้นทุนค่าอาหารที่แทบจะไม่มี เพราะหมูป่าเป็นสัตว์ที่สามารถกินพืชกินผักได้เกือบทุกชนิด ที่ฟาร์มอาศัยการปลูกหญ้า ปลูกผักผลไม้ เพื่อนำมาทำอาหารลดต้นทุน
“ถึงปัจจุบันผมทำเกษตรมากว่า 5 ปีแล้ว ผมทั้งปลูกพืช ทั้งเลี้ยงสัตว์ ทดลองมาเกือบหมดทุกอย่าง สิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดคือหมูป่า เพราะมันเลี้ยงง่ายที่สุด หลักการน้อยที่สุด อาหารก็ง่าย โรคภัยไข้เจ็บน้อย ไม่มีอะไรต้องกังวล เพียงต้องระวังช่วงติดสัดอาจจะมีหลุดบ้าง กระโดดออกนอกพื้นที่บ้าง แต่สำหรับคนที่มีประสบการณ์การเลี้ยงถือว่าจัดการได้ง่ายมาก”
หมูป่าเลี้ยงง่าย ทนโรค ต้นทุนต่ำ ผลตอบแทนสูง
หลังจากการทดลองเลี้ยงหมูป่าจำนวน 2 ตัว พี่เบิ้ม บอกว่า ทำให้ตนเองได้มองเห็นช่องทางการสร้างรายได้จากหมูป่า จึงดำเนินการซื้อพ่อแม่พันธุ์มาเลี้ยงเพิ่ม โดยการทดลองเลี้ยงแบบปล่อยไล่ทุ่ง พร้อมกับการฝึกหมูให้ชินกับรั้วไฟฟ้า พอหลังจากหมูเริ่มชินกับรั้วไฟฟ้าแล้ว จะเริ่มค่อยๆ ขยายพื้นที่การเลี้ยงให้กว้างขึ้นเป็น 1 ไร่ และขยายเพิ่มขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันปล่อยเลี้ยงบนที่กว้างประมาณ 5 ไร่ เพื่อให้หมูป่าได้มีพื้นที่เดินออกหาอาหาร ได้คุ้ยเขี่ยหญ้า เขี่ยดินกินไส้เดือนและแมลง ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้มากพอสมควร แล้วพอหญ้าเริ่มหมดแปลง สัตว์ใต้ดิน แมลงมีปีกเริ่มหมด ก็จะทำการสับเปลี่ยนพื้นที่การเลี้ยงไปล็อกใหม่ หรือพื้นที่ตรงไหนรกร้างต้องการกำจัดหญ้า ส่วนไหนอยากได้ปุ๋ย สามารถปล่อยหมูป่าลงไปเลี้ยงในบริเวณพื้นที่ตรงนั้นได้
ในกรณีสำหรับคนที่มีพื้นที่น้อยก็สามารถเลี้ยงได้ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เยอะ เพราะหมูป่ามีวิธีการเลี้ยงเหมือนหมูเนื้อทั่วไป เช่น พื้นที่ 1 ไร่ อาจจะแบ่งปลูกหญ้าไว้ 1 งาน เพื่อลดต้นทุนค่าอาหาร หรือถ้าหากสะดวกเลี้ยงในคอกเหมือนหมูพันธุ์ทั่วไปก็สามารถทำได้โดยให้ยึดหลักง่ายๆ คือ หมู 1 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีข้อจำกัดคือไม่ควรเทพื้นคอนกรีต ควรจะให้หมูป่าอยู่ในดิน เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้วิเคราะห์ได้ว่าการเลี้ยงหมูป่าบนพื้นคอนกรีตจะทำให้หมูป่าป่วยง่าย เนื่องจากขาดแร่ธาตุบางอย่างที่มีอยู่ในดิน แต่ถ้าเป็นห่วงเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ อยากให้หมูมีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีพื้นที่จะได้เปรียบกว่า
โดยสายพันธุ์ที่ทางฟาร์มเลี้ยงเริ่มแรกได้มาจากเชียงคาน จากนั้นเริ่มสืบหาสายพันธุ์หมูป่าที่หลากหลาย และสะสมสายพันธุ์มาเรื่อยๆ แต่สายพันธุ์ที่เน้นหลักๆ ก็คือสายพันธุ์ที่มาจากเชียงคาน มีพันธุ์หน้าสั้นและหน้ายาว มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันคือ 1. พันธุ์หน้าสั้นจะมีลำตัวอ้วน และตัวเตี้ยกว่าพันธุ์หน้ายาว และหน้าก็สั้นกว่า 2. พันธุ์หน้ายาว มีลักษณะตัวบาง ขาเรียวยาว และหน้ายาวกว่าพันธุ์หน้าสั้น แต่มีวิธีการเลี้ยงที่เหมือนกัน
เทคนิคเลี้ยงหมูป่าให้ประสบความสำเร็จ มองเห็นกำไร
เจ้าของบอกว่า การที่จะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จสิ่งที่ต้องรู้คือปัญหาและวิธีการแก้อย่างตรงจุด จากนั้นนำไปสู่การพัฒนาต่อยอด การเลี้ยงหมูป่าก็เช่นกัน โดยปัญหาหลักๆ ของคนที่เลี้ยงหมูป่าแล้วไม่ประสบความสำเร็จมีสาเหตุหลักๆ คือ หมูป่าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายก็จริง แต่มีความดุดัน น่าเกรงขามอยู่ในตัว ผู้เลี้ยงอยากได้ผลลัพธ์เร็ว จึงไปซื้อหมูป่าที่มีอายุมากมาเลี้ยง ทั้งที่ยังไม่มีประสบการณ์ ทำให้ไม่เข้าใจพฤติกรรมว่าในเวลานี้สัตว์ต้องการอะไร ควรดูแลแบบไหน เกิดเป็นความกลัว ต้องนำมาขายทิ้งก็มีเยอะมาก และถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรมือใหม่หลายรายถอดใจในความน่าเกรงขามนี้ และไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงในที่สุด
ซึ่งวิธีการแก้ก็คือให้เริ่มเลี้ยงตั้งแต่หมูมีอายุยังน้อยประมาณ 2-3 เดือนขึ้นไป เพื่อศึกษาพฤติกรรมและเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ หมูป่าเป็นสัตว์ที่สามารถฝึกได้เหมือนกับสุนัข หากมีการเลี้ยงคลุกคลีตั้งแต่ตอนที่ยังเด็กจะสามารถสังเกตพฤติกรรม และสามารถจัดการกับปัญหาความหน้าเกรงขามของหมูป่าได้เอง
และหากเกษตรกรเข้าใจวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้องแล้วคิดว่าการตลาดไม่น่าเป็นกังวล เพราะตลาดที่ต้องการหมูป่ายังมีอีกมาก เพียงแค่คนเลี้ยงต้องใช้เวลาในการเลี้ยงอย่างน้อย 7-8 เดือน กว่าจะได้เงินก้อนแรก แต่หลังจากที่ได้ลูกชุดแรกมาแล้ว ทุกอย่างหลังจากนั้นจะเกิดขึ้นเร็วมาก
“ด้วยนิสัยเดิมของหมูป่าเป็นสัตว์ที่กินง่าย อยู่ง่ายอยู่แล้ว ทำให้ต้นทุนค่าอาหารต่ำ แต่จะต้องใช้เวลาในการเลี้ยงนานพอสมควร หรือใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 1 ปี หมูป่าถึงจะคลอดลูกได้ ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี หมูป่าจะสามารถคลอดลูกได้ 2 รอบครึ่ง หรือเฉลี่ยหมูป่าจะให้ลูกได้ไม่เกิน 10 ตัวต่อครั้ง หรือในระยะเวลา 1 ปี สรุปแล้วจะได้ลูกประมาณ 25 ตัวต่อปีต่อตัว ถ้าจะทำขายเป็นหมูหัน ตลาดตรงนี้ไปได้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด มีเท่าไหร่ไม่พอขาย”
สูตรอาหารลดต้นทุนสำหรับการเลี้ยงหมูป่า
หมูป่าเป็นสัตว์ที่กินง่ายอยู่ง่าย เพราะฉะนั้นอาหารที่ให้จึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้ออะไรมากมาย เพียงแค่ผลิตอาหารเอง หมายถึง การปลูกพืชผักที่เป็นอาหารให้กับหมูป่าได้ โดยที่ฟาร์มจะเลือกปลูกหญ้าเนเปียร์ มันสำปะหลัง พืชผักผลไม้ไว้อย่างละนิดอย่างละหน่อย รวมถึงการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายไว้สำหรับเพิ่มโปรตีนให้กับหมูป่า
ในอัตราส่วนถ้ามีอาหารออกมาพร้อมกันหลายชนิดจะผสมในอัตรา 1 : 1 ได้เลย แต่ถ้าส่วนไหนมีน้อย เช่น หนอนแมลงวันลายจะผสมในอัตราส่วน 1 : 10 คือส่วนผสมอย่างอื่น 10 ส่วนต่อหนอนแมลงวันลาย 1 ส่วน ให้วันละมื้อเวลาไม่จำกัดให้ตามความสะดวกเช้าหรือเย็นก็ได้ เพราะว่าที่ฟาร์มมีบริเวณไว้สำหรับให้สามารถเดินหาอาหารกินได้เองอยู่แล้ว
ประโยชน์ของหนอนแมลงวันลาย
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องประสบกับโรค ASF ย่อมาจาก African Swine Fever หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทางฟาร์มรอบๆ ในรัศมีประมาณ 10 กิโลเมตรหมูตายเกือบหมด หลายที่โทร.มาสั่งซื้อพ่อแม่พันธุ์จากฟาร์มของเราเพื่อไปขยายพันธุ์ต่อ เพราะที่ฟาร์มของเราไม่ประสบกับปัญหาโรค ASF ที่กล่าวมาโดยเบื้องต้นทางฟาร์มได้สันนิษฐานว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง รวมถึงอาหารการกินที่ใช้เลี้ยง เพราะที่ฟาร์มจะมีการควบคุมความปลอดภัยของอาหาร หากเป็นเศษอาหารที่ได้มาจากข้างนอก เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านข้าวจะไม่นำมาให้กับหมูโดยตรง แต่จะนำไปผ่านตัวกลางช่วยย่อยก่อนก็คือหนอนแมลงวันลาย เมื่อหนอนย่อยเสร็จเรียบร้อยก็จะได้หนอนโปรตีนสูง แล้วค่อยนำหนอนตรงนี้มาผสมกับอาหารอย่างอื่นให้หมูกิน จะได้ทั้งโปรตีนและยารักษาโรค รวมถึงการเลี้ยงแบบออร์แกนิก ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่ปลูกเองในฟาร์มนำมาผสมกับอาหารให้หมูกิน
“หมูป่า” เริ่มสร้างรายได้ตั้งแต่อายุ 21 วัน
และสามารถจำแนกขายได้หลายรูปแบบ
พี่เบิ้ม บอกว่า การเลี้ยงหมูป่าถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ในการสร้างรายได้ของที่ฟาร์ม เพราะสามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ยังไม่มีต้นทุนค่าอาหาร ก็คือหมูป่าจะเริ่มขายได้ตั้งแต่อายุ 21 วัน สำหรับส่งร้านอาหาร ภัตตาคารเพื่อไปทำหมูหัน ราคาตัวละ 800 บาท ถ้าหากมีแม่พันธุ์เยอะตลาดนี้สร้างเงินเร็ว
“คิดง่ายๆ ถ้าหากเรามีหมูแม่พันธุ์ 10 ตัว รอบหนึ่งเราจะได้ลูกหมูตีแบบต่ำๆ เลยประมาณ 70 ตัว ขายรอบหนึ่งก็ได้เกือบแสนแล้ว แต่ถ้าเราจะขุนมากกว่านั้น หมูอายุ 3 เดือนขึ้นไป ชั่งกิโลขายทั้งตัว กิโลกรัมละ 100-120 บาท ตัวหนึ่งอายุ 3 เดือน หนักประมาณ 10-15 กิโลกรัม หรือขุนจนอายุ 8 เดือน น้ำหนักตัวละประมาณ 40-60 กิโลกรัม ราคาขายเป็นกิโลเหมือนกัน ตกขายได้ตัวละ 4,000-6,000 บาท แต่ก็จะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงที่นานกว่า แต่เรื่องตลาดไม่เป็นกังวล มีเท่าไหร่เขามารับหมด”
ถัดมาคือการขายพ่อแม่พันธุ์ ราคาขายพ่อแม่พันธุ์สำหรับนำไปขยายพันธุ์ต่อ ราคาเริ่มต้นตัวละ 2,500 บาท เป็นหมูป่าเลือดแท้ อายุตั้งแต่ 60-90 วัน หมูป่าจะเริ่มทำพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือนเป็นต้นไป ถ้ามือใหม่หัดเลี้ยงแนะนำให้ซื้อตัวเล็กที่มีอายุประมาณ 2-3 เดือน มาเลี้ยงเพื่อศึกษาพฤติกรรมก่อน ถ้าอายุน้อยกว่านี้อัตราการรอดจะต่ำ
โดยปัจจุบันที่ฟาร์มมีหมูป่าประมาณ 60 ตัว เลี้ยงเพื่อขายพ่อแม่พันธุ์และขายเนื้อ หากพ่อแม่พันธุ์ตัวไหนมีลักษณะที่สมบูรณ์ แข็งแรง ทางฟาร์มจะคัดไว้ทำพ่อแม่พันธุ์ต่อ ส่วนตัวที่เหลือจะเลี้ยงขุนเป็นหมูเนื้อต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูป่าที่ทางฟาร์มเริ่มต้นทำขายเปิดตลาดในช่วงแรกๆ เช่น เบคอน ส้มหมูป่า และหมูป่าแดดเดียว แต่ทุกวันนี้ต้องงดการแปรรูปเนื่องจากวัตถุดิบผลิตไม่ทัน เพราะขายเป็นตัวได้เร็วกว่า ต้นทุนในการแปรรูปไม่มี
เกษตรกรมือใหม่หมดกังวลเรื่องการตลาด
“หากเกษตรกรท่านใดสนใจอยากเลี้ยงหมูป่าเป็นอาชีพ ตลาดยังไปได้อีกไกล โดยคาดการณ์จากของที่ฟาร์มผมที่ตอนนี้เลี้ยงไม่ทันขาย ซึ่งตลาดหลักๆ ลูกค้ามาจากช่องทางออนไลน์ ทั้งเพจเฟซบุ๊ก ยูทูป ที่ได้โพสต์ลงข้อมูลรายละเอียด รวมถึงรูปภาพตั้งแต่การเริ่มต้นเลี้ยง เอากระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นให้คนอื่นเขาเห็นว่าเราทำ ตลาดออนไลน์ยังกว้างอีกมาก ถ้าเกิดใครที่ต้องการเข้ามาเห็นว่าเรามีของ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนเขาจะตามมาซื้อหมด อย่างเมื่อก่อนเราทำตลาดออกงานเกษตรแฟร์ มีงานที่ไหนเราไปหมดทุกที่ พอเราไปแล้วคนเริ่มรู้จักสินค้ามันก็ไม่พอที่จะให้เราไปแปรรูปเป็นอย่างอื่นได้” พี่เบิ้ม กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดการเลี้ยงหมูป่าเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 095-517-9297 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : สำลีฟาร์ม
……………………………………….
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354