เลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ 900 ตัว เปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์ ต้นทุนต่ำ ทำกำไรตัวละ 3 บาทต่อวัน

ไข่ไก่ ถือเป็นสินค้าเกษตรที่มีความต้องการสูง แต่ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ในแต่ละวันที่ป้อนเข้าสู่ตลาดก็สูงเช่นกัน เมื่อเทียบกับอัตราการบริโภคเฉลี่ยของคนไทยที่น้อยกว่าปริมาณผลผลิตต่อวัน เรียกว่าโอเวอร์ซัพพลาย เพราะฉะนั้นเมื่ออุปสงค์-อุปทานไม่สมดุลกันเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรต้องแบกรับภาวะขาดทุนอยู่บ่อยครั้ง เป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรหลายรายปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยง จากเคยเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดหรือเลี้ยงในกรงตับ เปลี่ยนมาเลี้ยงในระบบเปิดแทน เน้นปล่อยให้หาอาหารกินเองตามธรรมชาติ หรือบางฟาร์มที่พัฒนาไปกว่านั้นคือการเลี้ยงแบบระบบอินทรีย์ เพื่อลดคู่แข่งทางการตลาด เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรักสุขภาพ แถมยังขายไข่ได้ราคาสูงกว่าไข่ที่เลี้ยงในระบบปิดทั่วไปอีกด้วย

คุณศุภกร ชินบุตร หรือ พี่จี๊ป เจ้าของบ้านสวนสานสุข-ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ฮาร์เวสท์ไลฟ์

คุณศุภกร ชินบุตร หรือ พี่จี๊ป เจ้าของบ้านสวนสานสุข-ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ฮาร์เวสท์ไลฟ์ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 126/10 หมู่ที่ 5 ตำบลอ่างหิน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อดีตพนักงานประจำของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผันตัวทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ สร้างระบบหมุนเวียนภายในสวน ลดต้นทุน สร้างรายได้เข้ากระเป๋าทุกวัน

พี่จี๊ป เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ให้ฟังว่า ก่อนที่จะลาออกจากงานประจำตนเองได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วว่าจะทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังไม่เจาะจงว่าจะต้องเลี้ยงไก่ เน้นพุ่งเป้าไปที่การปลูกพืชผสมผสาน ได้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ก็ต้องประสบกับที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะแล้งจัด ไม่มีน้ำสำหรับการเพาะปลูก ซึ่งในตอนนั้นที่สวนได้เลี้ยงไก่ไข่ไว้ ประมาณ 20 ตัว ไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน แต่บริโภคเองยังไงก็บริโภคไม่หมด พี่ที่ทำเกษตรอินทรีย์ด้วยกันจึงแนะนำให้นำเอาไข่ไก่ส่วนที่เหลือไปขาย แล้วได้ผลตอบรับที่ดีมากๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาวิธีการเลี้ยงไก่เพิ่มเติม และเริ่มเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์เป็นอาชีพสร้างรายได้หลักได้เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี

เลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ ระบบจัดการ “Zero Waste”
ไก่แข็งแรง ให้ไข่ดก ต้นทุนต่ำ กำไรมากขึ้น

สีของเปลือกไข่เป็นสีน้ำตาล เป็นที่ต้องการของตลาด

เจ้าของบอกว่า ปัจจุบันที่ฟาร์มของตนเองเน้นเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์เป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ ส่วนการปลูกพืชผสมผสานถือเป็นการสร้างรายได้เสริมเป็นรายปี โดยตอนนี้ที่ฟาร์มเลี้ยงไก่อยู่ประมาณ 900 ตัว จากจุดเริ่มต้นมาจาก 20 ตัว ค่อยๆ ศึกษาทุกเรื่องที่เกี่ยวกับไก่ ทั้งในเรื่องของโรค และการจัดการต่างๆ แล้วจึงค่อยเพิ่มจำนวนการเลี้ยงขึ้น “จาก 20 ตัว เพิ่มเป็น 50 ตัว 100 ตัว 400 ตัว จนปัจจุบันเลี้ยงอยู่ 900 ตัว”

เลือกเลี้ยงไก่ไข่ สายพันธุ์ไฮบริด มีจุดเด่นคือ ให้ไข่ดก ฟองใหญ่ สีของเปลือกไข่เป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นสีของไข่ไก่ที่ตลาดต้องการ ตอบโจทย์กับตลาดในเมืองไทย

แม่ไก่แข็งแรง สมบูรณ์ ทุกตัว
ได้เวลากินอาหาร

ซึ่งการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เนื่องจากว่าไก่สายพันธุ์นี้ถูกออกแบบมาให้เลี้ยงในระบบโรงเรือนปิดหรือเลี้ยงในกรงตับ แต่พอนำมาเลี้ยงในระบบโรงเรือนเปิด เน้นเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติเป็นหลัก จำเป็นต้องใช้การดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ มีการแบ่งพื้นที่เลี้ยงในสัดส่วนที่เหมาะสม และได้มาตรฐานสำหรับการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ ในพื้นที่ 1 ไร่ เลี้ยงไก่ได้ประมาณ 400 ตัว ประกอบกับในพื้นที่มีการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นอื่นๆ ไว้เพื่อให้ร่มเงากับไก่ และเจ้าของสวนสามารถเก็บผลผลิตจากไม้ผลไปขายในการสร้างรายได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง

วิธีการเลี้ยง

ปล่อยให้คุ้ยเขี่ยหาอาหารกินเองตามธรรมชาติ
ถึงเวลาให้อาหารเสริมวิตามินจากธรรมชาติ ทำให้ได้ไข่ไก่ที่มีคุณภาพดี ไม่มีกลิ่นคาว
  1. ที่ฟาร์มเริ่มเลี้ยงไก่ไข่จากลูกเจี๊ยบ ไม่ขังกรง มีพื้นที่ปล่อยให้ไก่สามารถแสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติได้ คือการคุ้ยเขี่ยหาอาหารเองตามธรรมชาติ และอาหารที่ใช้เลี้ยงมีแหล่งที่มาเป็นอินทรีย์ทั้งหมด ปราศจากยาปฏิชีวนะ ไม่มีการใช้สารเคมีหรือฮอร์โมนเร่ง แต่จะใช้วิธีให้ผลไม้สุกหรือสมุนไพรตามธรรมชาติเป็นยาแทน ทำให้ได้ไข่ไก่ที่มีคุณภาพดี ไม่มีกลิ่นคาว
  2. ต้องมีโรงเรือนไว้สำหรับให้แม่ไก่หลบแดด หลบฝน ส่วนพื้นที่ปล่อยเป็นพื้นที่ไว้สำหรับให้ไก่ได้ออกกำลังกาย ได้คุ้ยเขี่ยหาอาหาร ได้นอนคลุกฝุ่น จะทำให้ไก่มีสุขภาพที่ดี และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของไก่เป็นประจำ

“การเอาใจใส่ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด จะเป็นสัตว์บกหรือสัตว์น้ำล้วนแล้วต้องการการเอาใจใส่เหมือนกันเพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคการเกษตรแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งคือ ภาคอุตสาหกรรมเมื่อเราใส่อินพุตไปเท่าไหร่ เอาต์พุตจะได้ออกมาเท่ากับที่เราคำนวณไว้ แต่ภาคเกษตรกรรมบางทีเราใส่อินพุตเข้าไป แต่เอาต์พุตที่ได้อาจจะติดลบ หรืออาจจะบวกมากกว่าปกติ มันขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยสภาพแวดล้อม กับการดูแลเอาใจใส่ เพราะว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิต พอเราไม่เอาใจใส่บางทีเขาก็มีการเจ็บป่วย มีการล้มตาย หรือบางทีทำให้ทั้งฟาร์มเกิดโรคระบาด มันก็ส่งผลเสียในระยะยาว หรือส่งผลเสียทั้งระบบได้ เพราะฉะนั้นเรื่องการเอาใส่ใจ หรือการสังเกตพฤติกรรมของเขาเป็นเรื่องสำคัญ”

  1. อาหาร ให้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังจากให้อาหารเช้าเสร็จจะมีการล้างทำความสะอาดถังให้น้ำ และเปลี่ยนน้ำให้ไก่ รวมถึงคอยสังเกตสภาพอากาศในแต่ละวัน หากวันไหนอากาศร้อนจะเปิดสปริงเกลอร์รดน้ำบนหลังคาเพื่อช่วยลดอุณหภูมิ หรือช่วงไหนอากาศเย็นจะมีการเปิดไฟในโรงเรือน เพื่อเพิ่มความอบอุ่น หากเป็นช่วงที่ไก่อยู่ในช่วงออกไข่ ที่ฟาร์มจะเริ่มเก็บไข่ตั้งแต่ในช่วงสายถึงเที่ยง เพราะจะเป็นช่วงที่ไข่ออกเยอะ หลังจากเก็บไข่เสร็จจะนำมาเช็ดทำความสะอาด คัดไซซ์ และเตรียมส่งให้ลูกค้า

สูตรอาหารลดต้นทุน ไก่แข็งแรง เน้นใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นหลัก ประกอบไปด้วย 1. ปลายข้าวหรือเปลือกข้าว 50 เปอร์เซ็นต์ 2. เปลือกหอยป่น 5 เปอร์เซ็นต์ 3. ปลาป่น 5 เปอร์เซ็นต์ 4. รำข้าว 10 เปอร์เซ็นต์ 5. สมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด ขมิ้นชัน สับผสมรวมกัน ประมาณ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับการให้ผลไม้สุกและหญ้าสดลงไปด้วย

แม่ไก่แข็งแรง สมบูรณ์ ทุกตัว

ระยะเวลาในการเลี้ยง ประมาณ 5-6 เดือน หรือประมาณ 20 สัปดาห์ เริ่มเก็บไข่ได้ในปริมาณเฉลี่ย 60-70 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 500 ฟองต่อวัน หากเทียบกับปริมาณผลผลิตของไก่ที่เลี้ยงเชิงอุตสาหกรรม จำนวนของที่ฟาร์มจะเก็บได้น้อยกว่า เนื่องจากการเลี้ยงในอุตสาหกรรมจะมีการเลี้ยงแบบขังกรง และมีการให้อาหารเสริมเพื่อเร่งให้ไข่ดก มีข้อเสียคือไข่จะมีอายุประมาณ 1-1 ปีครึ่ง เมื่อเทียบกับไก่ที่เลี้ยงแบบอินทรีย์จะให้ไข่ได้นานถึง 2 ปี ถึงครบกำหนดปลดระวาง

ระบบจัดการ “Zero Waste” ที่ฟาร์มจะมีจุดเด่นในเรื่องการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนภายในสวน หรือ Zero Waste ทำให้ในแต่ละวันแทบจะไม่มีขยะหรือของเสียออกจากฟาร์มเลย ด้วยวิธีการนำของเสียจากการผลิตสิ่งหนึ่ง ไปเป็นปัจจัยการผลิตอีกสิ่งหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ที่ฟาร์มจะมีการทำนาปลูกข้าวไว้กิน และใช้เป็นวัตถุดิบในการเลี้ยงไก่ จำนวน 7 ไร่ ที่มีกระบวนการหลังจากการทำนาเสร็จ จะมีฟางข้าวและแกลบที่เป็นเปลือกข้าวเหลือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้เลี้ยงไก่ได้ทั้งหมด คือนำปลายข้าวหรือรำข้าวมาเป็นอาหารให้ไก่ ส่วนฟางข้าวนำมาเป็นวัสดุรองพื้นหรือทำรังไว้ให้สำหรับแม่ไก่ฟักไข่ได้ทั้งหมด

และส่วนของเสียจากไก่คือมูลไก่ที่ถ่ายผสมออกมากับแกลบ ก็จะนำกลับไปใช้เป็นปุ๋ยในนาข้าว และตอซังจะใช้วิธีการหมักกับมูลไก่แล้วไถกลบ จะไม่มีการเผาเกิดขึ้น และไม่มีการสร้างมลพิษทางอากาศ

ข้อดีที่เห็นได้ชัด คือ

  1. ช่วยลดต้นทุนได้อย่างแน่นอนเพราะว่าปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่ต้องซื้อ เช่น ปุ๋ย หรืออาหารสัตว์ นับเป็นต้นทุนทั้งหมด แต่ถ้ามีการจัดสรรพื้นที่ให้พอเหมาะทั้ง 2 ทาง ทั้งการปศุสัตว์และการปลูกพืช แล้วทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในฟาร์มเราแทบจะไม่ต้องซื้อปัจจัยการผลิตจากภายนอกเลย ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงไก่มีค่อนข้างน้อยมากๆ
  2. ทำให้เรารู้ถึงแหล่งที่มาของปัจจัยการผลิต ว่าปัจจัยการผลิตจากฟาร์มไม่ปนเปื้อนสารเคมีหรือไม่ปนเปื้อนสารตกค้างใดๆ ปลอดภัยทั้งกับผู้บริโภค 100 เปอร์เซ็นต์

ต้นทุนการดูแล เฉลี่ยประมาณ 1,800 บาทต่อวัน ราคาขายของไข่อินทรีย์ของที่ฟาร์มจะขายได้ราคาเฉลี่ยฟองละประมาณ 6 บาท ได้ราคาสูงกว่าไข่ที่เลี้ยงในระบบฟาร์มปิด คิดเป็นรายได้ต่อวันประมาณ 3,000 บาท หักต้นทุนออกประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ตกค่าดูแลตัวละ 3-3.50 บาท ที่เหลือคือกำไร

 

ความแตกต่างระหว่างไข่อินทรีย์กับไข่ที่เลี้ยงระบบปิด

  1. สีของไข่แดงจะแตกต่างจากไข่ทั่วไปตามท้องตลาด เพราะอาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นอาหารจากธรรมชาติ ไม่มีสารเร่งสีไข่แดง จึงทำให้สีของไข่แดงจะออกเหลืองถึงเหลืองส้ม จะไม่ถึงกับส้มแดง
  2. สีของเปลือกมีสีหลากหลาย มีทั้งสีเข้มและสีอ่อนผสมกัน มีผลมาจากการเลี้ยงแบบปล่อย ไก่แต่ละตัวคุ้ยอาหารตามธรรมชาติได้มากน้อยต่างกัน ส่งผลทำให้สีของเปลือกไข่เปลี่ยนไปตามแต่ละวัน ซึ่งข้อนี้จะต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าให้เข้าใจด้วย

 

“ไข่ 500 ฟอง” ขายหมดทุกวัน
เน้นส่งโรงแรม ร้านอาหาร

ผู้ชายขายไข่ (ไก่) อินทรีย์ พบกันได้ที่ตลาดสุขใจสวนสามพราน ทุกวันเสาร์-อาทิตย์
ได้เวลากินอาหาร

พี่จี๊ป อธิบายให้ฟังว่า สำหรับการหาตลาดไม่เฉพาะแค่ไข่ไก่อินทรีย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงในส่วนของสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือสินค้าเกษตรทางเลือกชนิดอื่นๆ จำเป็นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้าให้ตรงกลุ่ม แล้วค่อยเจาะไปกลุ่มเป้าหมายนั้น โดยตลาดหลักของที่ฟาร์มตอนนี้เน้นส่งสินค้าให้กับโรงแรมและร้านอาหารเป็นหลัก รวมถึงการมีหน้าร้านขายประจำอยู่ที่ตลาดสุขใจสวนสามพราน ขายทุกวันเสาร์-อาทิตย์

“ถ้าหากท่านใดสนใจการเลี้ยงไก่ไข่ถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจ อย่างผมไม่ได้เลี้ยงแค่ไก่อย่างเดียว แต่ยังมีการปลูกพืชในรูปแบบของเกษตรทางเลือกทุกด้าน ไม่ว่าจะปลูกผักอินทรีย์ ผลไม้อินทรีย์ หรือการแปรรูปจากผลไม้หรือผักอินทรีย์ เพราะผมมองว่าในอนาคตคนจะสนใจในสินค้าทางเลือกมากขึ้น ในเรื่องของเทรนด์รักสุขภาพ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นในการทำเกษตรที่เป็นทางเลือกพวกนี้ มันตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชนในเรื่องของสังคมด้วย เพราะคนสมัยใหม่ไม่ได้มองแค่ตัวสินค้าอย่างเดียว แต่เขามองลึกเข้าไปถึงว่าสินค้าตัวนี้ช่วยอะไรอย่างอื่นเพิ่มได้อีกไหม นอกจากแค่ซื้อกิน แต่สามารถช่วยพัฒนาชุมชน ช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วยไหม” พี่จี๊ป กล่าวทิ้งท้าย

สีของไข่แดงจะออกเหลืองถึงเหลืองส้ม จะไม่ถึงกับส้มแดง
สีของเปลือกไข่เป็นสีน้ำตาล เป็นที่ต้องการของตลาด
เตรียมส่งไข่ไก่อินทรีย์ให้กับลูกค้า ผลผลิตไม่พอขาย
ออกไข่ดก
ข้าวหอมปทุมอินทรีย์ ของบ้านสวนสานสุข

ท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 086-900-9440 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : บ้านสวนสานสุข-ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ฮาร์เวสท์ไลฟ์

 

เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565