สาวอยุธยา เลี้ยงไก่ไข่เป็นอาชีพเสริม ทำงานวันละ 2 ชั่วโมง เก็บไข่ขายได้ทุกวัน

หลายปีหลังมานี้คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความสนใจ อยากที่จะกระโดดเข้ามาชิมลางในภาคการเกษตรไม่น้อย ทั้งนี้ ก็มีทั้งผู้ที่ประสบความสำเร็จและผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบางคนไม่ได้เริ่มทำจากความชอบและตั้งใจจริงๆ แต่ทำเพราะเห็นคนอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จมีรายได้ดีก็อยากจะเป็นเหมือนคนอื่นเขาบ้าง โดยที่ไม่ได้ไปเห็นขั้นตอนกว่าที่เขาจะประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ต้องล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหน ยังไงเราก็ขอเป็นกำลังใจให้ แต่ถ้าหากตอนนี้ใครที่กำลังจะประสบผลสำเร็จหรือประสบผลสำเร็จแล้วกับเส้นทางสายนี้ ก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะท่านถือเป็นคนที่น่าอิจฉาที่สุดคนหนึ่ง ที่ได้ทำงานท่ามกลางธรรมชาติ ได้อยู่ในพื้นที่สีเขียว ได้มีอิสระ ได้ทำอะไรหลายอย่างที่อยากทำ และที่สำคัญความสุขตรงนี้ยังกลับมาเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อีกด้วย

คุณพัชรี ห้องนาค หรือ คุณพัช

คุณพัชรี ห้องนาค หรือ คุณพัช ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์อยุธยา อยู่บ้านแลขที่ 68 หมู่ที่ 4 ตำสำพะเนียง อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อดีตพนักงานช่างเครื่องที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่ง ตัดสินใจลาออกจากงานประจำกลับบ้านมาทำเกษตร โดยให้เหตุผลว่างานประจำที่ทำอยู่เลี้ยงได้แต่ตัวเอง แต่ไม่สามารถเลี้ยงพ่อแม่ และไม่มีเงินให้พอเหลือเก็บ จึงลาออกจากงานแล้วกลับบ้านมาสานต่องานเกษตรกรรมของที่บ้าน โดยประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก

แต่ประเด็นที่ผู้เขียนจะหยิบยกขึ้นมาเล่าให้ฟังในครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำนาสร้างรายได้ แต่เป็นการมาเล่าถึงอาชีพเสริมของเธอคือ “การเลี้ยงไก่ไข่” เลี้ยงแบบเรียบง่าย เน้นความสะอาดในเล้าเป็นสำคัญ และใช้เวลาในการดูแลจัดการให้อาหาร ให้น้ำ ทำความสะอาด เพียงวันละ 1-2 ชั่วโมง เก็บไข่ขายได้วันละ 2 แผง ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่ดี หรือหากใครมีกำลัง มีต้นทุน อยากทำเป็นหลักก็น่าสนใจไม่น้อย

ข้อคิดจากการทำเกษตร

“ทำงานโรงงานวันละ 12 ชั่วโมง ได้ค่าตอบแทน 500 บาท แต่อยู่บ้านเลี้ยงไก่เต็มที่เลยใช้เวลา 2 ชั่วโมง เราเก็บขายไข่ได้ 200-300 บาท เมื่อเปรียบเทียบกันหากเรากลับมาอยู่บ้านแล้วขยันทำงาน 12 ชั่วโมง เต็มเหมือนทำงานประจำนั้นเราก็จะได้ทำอะไรหลายๆ อย่างขึ้นเยอะ อย่างเราตอนนี้เลี้ยงไก่เสร็จ เราก็มีเวลาไปทำอย่างอื่นนอกบ้านอีก และสำคัญที่สุดคือเรามีเวลาได้กลับมาดูแลพ่อกับแม่ที่บ้านด้วย ตรงนี้คือความสุขของเรา ที่อย่างน้อยๆ ตื่นมาเราก็เจอหน้าพ่อกับแม่แล้ว ได้กินข้าวร่วมกัน ไม่ต้องเป็นกังวลว่าเขาจะกินยังไง อยู่ยังไง หรือเจ็บไข้ได้ป่วยมีคนพาไปหาหมอหรือเปล่า”

หมั่นหาความรู้ พัฒนาตัวเอง
“เริ่มต้นเลี้ยงจาก 10 สู่ 100”

คุณพัช เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงไก่ไข่เป็นอาชีพเสริมเกิดขึ้นจากที่คุณแม่ของตนเองเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อมีโครงการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับคนในชุมชนเข้ามา คุณแม่ก็จะต้องทำหน้าที่จัดการและเผยแพร่องค์ความรู้ให้ลูกบ้านสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ โดยหลังจากที่ตนเองได้ลาออกจากงาน กิจกรรมแรกที่ได้ทำคือการเลี้ยงไก่ ที่เป็นโครงการจากทางปศุสัตว์ได้มอบแม่พันธุ์ไก่มาให้ทดลองเลี้ยงจำนวน 10 ตัว หลังจากนั้นพอเลี้ยงได้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี ก็เริ่มเห็นว่าไก่สร้างอาชีพได้ มีไข่ให้เก็บกินเก็บขายได้ทุกวัน จึงเป็นที่มาของการขยับขยายลงทุนขยายพื้นที่เลี้ยงไก่เพิ่ม จากที่ได้รับการสนับจากปศุสัตว์จังหวัดมา 10 ตัว ปัจจุบันมีแม่ไก่ทั้งหมด 100 ตัว เน้นขายไข่ในราคาย่อมเยา เพื่อให้คนในชุมชนมีไข่ราคาถูกไว้บริโภค

แบ่งเวลามาให้อาหารไก่วันละ 1 ชั่วโมง

เลี้ยงในรูปแบบโรงเรือนกึ่งเปิด-กึ่งปิด รูปแบบนี้จะประกอบด้วย โรงเรือนไก่นอนและบริเวณพื้นที่หากินที่มีรั้วรอบขอบชิด โรงเรือนต้องมีขนาดพอเหมาะกับจำนวนไก่ที่เลี้ยง เพื่อให้ไก่มีที่อยู่เป็นสัดส่วน และป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคหรือศัตรูเข้าไปรบกวนไก่ และหมั่นทำความสะอาดโรงเรือนอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ช่วยลดปัญหาความรุนแรงของโรค และช่วยให้จัดการได้ง่ายขึ้น

“การทำความสะอาดเล้าไก่ของเราไม่ยุ่งยาก ที่เน้นก็คือการทำสะอาดกวาดขี้ไก่ออกจากเล้า เพราะถ้าไม่ทำความสะอาดโรงเรือนเป็นประจำ ภาษาชาวบ้านเขาจะบอกว่า “ไก่จะเมาขี้” ทำให้ไก่ไม่ออกไข่ และต้องเปลี่ยนวัสดุหรือฟางที่นำมารองทำรังไข่อยู่ประจำ เพราะเมื่อไก่ไข่แล้วจะขี้ในนั้นด้วย และขี้ของไก่จะเลอะไข่ที่อยู่ในรัง ทำให้ไข่เสียได้ง่าย และอีกอย่างก็คือโดยสัญชาตญาณของไก่คือคุ้ยเขี่ย ก็จะคุ้ยเขี่ยเอาฟางที่รองไว้ออกหมด จะทำให้ไข่เราแตกเพราะไม่มีอะไรรองไว้ วิธีแก้คือให้วางฟางหนาๆ แล้วหมั่นเปลี่ยนฟางใหม่ทุกอาทิตย์ แล้วนำฟางเก่าที่เปลี่ยนเอาไปคลุมต้นไม้แทน”

Advertisement

อาหาร ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป ให้ทุกวันเช้า-เย็น ปริมาณครั้งละ 4 กิโลกรัมต่อไก่ 100 ตัว โดยสาเหตุที่เน้นให้อาหารเม็ดก็เพราะที่ฟาร์มเคยประสบปัญหาไก่ออกไข่ไม่เสมอกัน เพราะเคยให้หยวกกล้วยสับเป็นอาหารเสริม เหมือนกับว่าหากไก่ตัวไหนได้กินหยวกกล้วยสับแล้ว ก็จะไม่กลับมากินอาหารหลัก ส่งผลทำให้ไข่ที่ออกมาลูกไม่สวย ฟองเล็ก จึงเลือกที่จะให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียว

“กรณีนี้เป็นกรณีที่ทางฟาร์มได้ประสบมา แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกฟาร์มจะต้องเป็นแบบนี้ หรือทำตามที่เราทำ เพราะการผสมอาหารให้ไก่เอง หาวัตถุดิบจากธรรมชาติจะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงได้อีกมาก กรณีนี้จึงอยากเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่าง เพราะในอนาคตกำลังวางแผนซื้อเครื่องผสมอาหารเองเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารเช่นกัน”

Advertisement

น้ำเติมไว้อย่าให้ขาด โดยในเล้าจะมีถังน้ำขนาด 10 ลิตร วางไว้ 7 ถัง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของไก่ในแต่ละวัน

การป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นๆ ต่อไก่ ทางฟาร์มจะฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทั้งภายในโรงเรือนและบริเวณพื้นที่เลี้ยงไก่ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในกรณีเกิดโรคระบาดในพื้นที่ใกล้เคียงควรมีการฉีดพ่นทุกวัน ทำให้ที่ฟาร์มไม่ค่อยประสบกับภาวะโรคระบาด และนอกจากการป้องกันโรคระบาดได้แล้ว โรงเรือนที่สะอาดยังมีส่วนช่วยให้ไก่ขยันออกไข่อีกด้วย เพราะโดยธรรมชาติของไก่แล้วถ้าพื้นที่สกปรกไก่จะไม่ไข่

ผลผลิตมีขายทุกวัน วันละ 2 แผง
เก็บขายสร้างรายได้วันละ 200 บาท

เจ้าของบอกว่า จำนวนไก่ที่เลี้ยงอยู่จำนวน 100 ตัวตอนนี้จะออกไข่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 60-80 ฟองต่อวัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากช่วงไหนมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดๆ แม่ไก่ก็จะออกไข่ได้น้อย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วที่ฟาร์มจะเก็บไข่ขายได้วันละ 2 แผง ขายอยู่ประมาณแผงละ 110 บาท ขนาดเบอร์อยู่ที่ประมาณเบอร์ 1, 2 หรือคิดเป็นเงินได้วันละ 220 บาท ไม่ขาดมือ

เก็บแบบคละไซซ์ ขายราคาถูก เป็นที่ต้องการของลูกค้า

โดยราคาขายไข่ของที่ฟาร์มอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าจะขายไข่ในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป เพื่อให้คนในชุมชนมีกำลังที่จะซื้อได้ เน้นขายและส่งให้คนในชุมชน และร้านเบเกอรี่ในละแวกใกล้เคียง ส่งให้เองถึงบ้าน ถือเป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข และเป็นอาชีพเสริมที่ดี เพราะอาชีพหลักตอนนี้คือช่วยที่บ้านทำนาเป็นหลัก เลี้ยงไก่เป็นรายได้เสริมเพราะใช้เวลาในการดูแลไม่นาน และได้มีการจัดสรรนำเงินส่วนที่ได้จากการขายไข่มาใช้จ่ายค่ากับข้าวประจำวัน ส่วนรายได้จากการทำนาเป็นเงินเก็บก้อนใหญ่ไป

“เราเริ่มหาตลาดจากการตั้งกลุ่มไลน์ก่อน ตอนนั้นมีสมาชิกประมาณ 10 คน จากนั้นพอขายให้คนในกลุ่ม คนในหมู่บ้านก็เริ่มเห็นว่าบ้านเรามีไข่ไก่ราคาถูกเขาก็เริ่มเข้ามาขอซื้อเราที่บ้าน เพราะด้วยราคาและคุณภาพที่เราขายถูกกว่าตลาด จากนั้นก็กลายมาเป็นลูกค้าประจำ เราก็มีบริการส่งให้ถึงบ้านเพราะเรารู้ว่าแต่ละบ้านจะกินไข่ 1 แผงหมดเมื่อไหร่ เราก็จะจดบันทึกไว้ว่าแต่ละวันเราต้องไปส่งบ้านไหน”

นำไปเช็ดทำความสะอาดก่อนส่งถึงมือลูกค้า

และนอกจากการเลี้ยงไก่แล้ว ยังได้มีการขยับขยายพื้นที่ปลูกผักเล็กๆ เพิ่มเติมอีกจำนวน 6 แปลง และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะปลูกผักอินทรีย์โดยเฉพาะ แต่ผลลัพธ์การปลูกผักอินทรีย์ในปีแรกไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะยังไม่สามารถเอาชนะแมลงศัตรูพืชได้ แต่ก็ไม่ย่อท้อสู้มาเรื่อยๆ จนสามารถปลูกผักอินทรีย์ได้ดั่งใจหวัง ที่ถึงแม้ว่าจะปลูกในจำนวนไม่มาก แต่ก็พอให้มีผักได้เก็บกินเก็บขายได้เกือบทุกวัน เน้นปลูกเป็นพืชผักสวนครัว เช่น กะเพรา โหระพา คะน้า กวางตุ้ง ซึ่งเป็นผักที่คนในบ้านชอบกินก่อน แล้วพอเหลือก็เก็บไปขายสร้างรายได้อาทิตย์ละ 50-100 บาท ถือว่าตนเองได้อิ่มท้อง ส่วนรายได้เล็กๆ น้อยๆ พอได้มีเงินไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม เท่ากับตรงนี้เราก็ได้บริโภคผักฟรีไปแล้ว

ฝากถึงมนุษย์เงินเดือนอยากทำเกษตร

“การทำงานประจำไม่ใช่เรื่องเลวร้าย การทำงานโรงงานถูกแล้วเพราะเราเป็นวัยที่ต้องใช้แรงงาน แต่ถ้าช่วงหนึ่งที่เราเก็บเงินได้แล้ว เราควรถอยกลับมาดูแลครอบครัวที่บ้าน และค่อยๆ เริ่มทำการเกษตร อย่าเพิ่งใจร้อน จะมาทำตามแบบคนอื่นไม่ได้ เพราะอย่างเราไม่มีเงินเก็บ แต่ที่บ้านสร้างรากฐานไว้ให้แล้วส่วนหนึ่ง อย่าไปเห็นใครทำแล้วได้ดีจะลาออกจากงานแล้วมาทำอย่างเขา เพราะการทำเกษตรให้มั่นคงและไม่เป็นหนี้ ก่อนออกจากงานต้องวางแผนให้ดี และต้องมีเงินเก็บสักก้อนออกมาก่อน เพราะการทำเกษตรปลูกวันนี้มันไม่ได้กินวันนี้ ไม่ได้ขายวันนี้ ต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีขึ้นไป แล้วระยะเวลา 1 ปี กว่าที่คุณจะได้จากตรงนี้ คุณต้องมีเงินสำรองด้วย ไม่อย่างงั้นจะไม่มีความสุขกับการทำเกษตร แล้วจะกลายเป็นที่มาว่าทำเกษตรแล้วมีแต่หนี้ ไม่ได้อะไรกับการทำเกษตรเลย มีแต่เสียกับเสีย เสียเวลา เสียทุกอย่าง และอย่าเพิ่งกู้เงินเพื่อมาทำ เอาเงินอนาคตมาใช้ก่อนทั้งๆ ที่ไม่รู้เลยว่าอนาคตจะขายได้ไหม หรือปลูกไปแล้วจะประสบปัญหาอะไรไหม ก็เลยเป็นที่มาของหนี้สิน” คุณพัช กล่าวทิ้งท้าย

แปลงผักข้างบ้าน เก็บกิน เก็บขาย ปลอดภัยจากสารเคมี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 062-510-9489 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : พัชรี ห้องนาค

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2566