เกษตรกรหนุ่มกลับจากต่างประเทศ เพาะนกยูงสำเร็จ สร้างรายได้

“นกยูง” หากพูดถึงนกชนิดนี้ คนส่วนใหญ่อาจจะรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่านกที่มีแพนหางสุดอลังการนี้ มี 3 สายพันธุ์ (Species) ด้วยกัน คือ นกยูงไทย นกยูงอินเดีย และนกยูงคองโก ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบนกยูงได้ 2 สายพันธุ์ คือ นกยูงไทย และนกยูงอินเดีย แต่มีเพียงนกยูงไทยเท่านั้น ที่สามารถพบได้ในป่าธรรมชาติ ซึ่งแพร่กระจายในภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทยซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็มีความแตกต่างกัน ทั้งลักษณะทางกายภาพและถิ่นที่อยู่อาศัยที่เฉพาะของพวกมันเอง

ที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา คุณชิณภัทร จันทร์ทละ เกษตรกรหัวก้าวหน้าประสบความสำเร็จในการเลี้ยงนกยูง สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ เล่าว่า ช่วงที่ไปทำงานที่ออสเตรเลียมีความคิดที่ทำอะไรสักอย่างนอกจากทำการเลี้ยงกว่างที่มีความรู้และประสบการณ์ดีแล้วหลังกลับมาอยู่บ้าน อยากจะมีกิจกรรมอื่นเพิ่มเติมที่แตกต่างจากคนอื่นเผื่อกลับเมืองไทยจะได้มีกิจกรรมรายได้เพิ่มมากขึ้น ได้รู้จักรุ่นพี่คนหนึ่ง ที่ทำงานด้วยกันในออสเตรเลียที่ชอบทำอะไรแปลกๆ เหมือนกัน

คุณชิณภัทร จันทร์ทละ ผู้เลี้ยงนกยูง

“วันหนึ่งพี่เขาบอกว่าซื้อม้า ซื้อสุนัขพันธุ์แปลกๆ มาเลี้ยง แล้ววันหนึ่งเขาพูดถึงเรื่องนกยูงและนำภาพมาให้ดู ตอนแรกก็ไม่ได้สนใจคิดว่าเป็นนกยูงสีเขียวธรรมดา ก็เลยลองเข้าไปดูในคลิปที่มีการประมูลกัน ซึ่งเป็นนกยูงอินเดีย มีสีสันหลายหลากแปลกแตกต่างกันไป เกี่ยวกับสีและสายเลือด แต่ละสีมีความสวยความงามที่แตกต่างกัน ราคาก็แตกต่างกัน มีหลายเกรดหลายราคาให้เลือก จึงเข้าไปในกลุ่มการซื้อขายนกยูง และถามคนที่นำเข้ามาในประเทศไทยว่าถ้าเลี้ยงแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรที่จะไม่ผิดกฎหมาย และจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติสัตว์สงวน คนขายก็บอกว่าเลี้ยงและขายมาเป็น 10 ปี หากผิดกฎหมายเขาคงโดนดำเนินคดีนานแล้ว จึงบอกว่าขอศึกษาดูก่อน”

“จากนั้นจึงเข้าไปในไลน์สดขายและเข้าร่วมประมูล เริ่มจากเคาะราคาเริ่มต้นกัน ราคาก็ไปเรื่อยๆ จนถึงหมื่นกว่าบาท จึงหยุดแล้วมานั่งวิเคราะห์ว่ามันจะเกินไปหรือไม่เพราะราคาสูงพอสมควรเราไม่มีความรู้ในการเลี้ยงเลย พอผ่านไปสัก 2 วินาทีจึงคิดว่าน่าจะลองเลี้ยงมันท้าทายดีจากที่เราไม่มีความรู้เลย จึงเข้าประมูลใหม่ได้พ่อพันธุ์สีขาวมาในราคา 25,000 บาท ยังไม่พอประมูลแม่พันธุ์สีขาวมาอีก จบที่ 28,000 บาท และในไลน์มีการจับฉลากแจกแม่พันธุ์ดีที่สุดอีก 1 ตัว เผอิญโชคดีได้รางวัล จึงให้แม่ตัวเองดูแลเนื่องมาจากยังอยู่ที่ต่างประเทศ โดยแม่ถามว่าแพงไหมก็บอกแม่ไปว่าไม่แพง”

ลูกนกยูงวัยอนุบาล

“ปรากฏว่าแม่นำไปเลี้ยงในคอกที่ใต้ถุนฉางข้าว ที่บ้านโดยการเอาแกลบมาโรยรองพื้น เมื่อฝนตกน้ำขังทำให้เกิดแก๊ส ตอนแรกคิดว่าคงเลี้ยงง่าย เพราะคนขายบอกว่าเลี้ยงเหมือนไก่ แต่เนื่องจากเป็นนกยูงต่างประเทศมีความอ่อนแอ ไม่เหมือนนกยูงไทย ทำให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ป่วย จึงให้แม่ถ่ายรูปส่งมาให้ดู แต่ว่ามันป่วยมาเป็นอาทิตย์แล้วจึงตายไปทั้งคู่ เหลือตัวเดียวที่ได้รางวัลมาซึ่งเป็นสีเขียว จึงโพสต์ไปในกลุ่มหาคนเลี้ยง มีพี่คนหนึ่งจากอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งในโพสต์ว่าจะขอรับไปเลี้ยง พี่เขาขับรถมารับไปเลี้ยง ซึ่งพี่เขาก็เลี้ยงนกยูงอยู่แล้วเมื่อไปอยู่กับพี่เขาก็เจริญเติบโตดีมีลูกเพิ่มขึ้น จึงเจรจาส่วนแบ่งกันโดยตกลงแบ่ง 50 : 50 อยู่มาวันหนึ่งพี่เขาบอกว่ามันแพร่พันธุ์เยอะขึ้นแล้ว”

คุณชินภัทรจึงหานกยูงสีอื่นเขามาเพิ่ม ซึ่งก่อนหน้านั้นคิดจะเลิกเลี้ยงแล้วเพราะตายไป 2 ตัวหมดเงินไปเกือบ 600,000 บาท โดยปกตินกยูงจะเริ่มเลี้ยงจากอายุ 6 เดือน ต้องใช้เวลา 2 ปี จึงจะให้ลูก จึงซื้อสีเทาเข้ามาเพิ่ม เวลาผ่านไป 2 ปีลูกก็ออกมาเยอะจึงขายแบ่งรายได้กัน เริ่มคืนทุน และก็นำมาเลี้ยงปล่อยในสวนที่บ้าน โดยไม่เลี้ยงในกรง ให้หากินแบบธรรมชาติ และที่จอมทองก็ยังให้พี่เขาเลี้ยงแบ่งรายได้กัน ส่วนที่สวนก็ถือเป็นรายได้เต็ม

นกยูงสายพันธุ์อินเดียตัวผู้กำลังรำแพน

Advertisement

กับคำถามที่ว่าการเลี้ยงนกยูงเหมาะกับสภาพบ้านเราไหม คุณชิณภัทร บอกว่า สามารถเลี้ยงได้ถ้าดูแลดี สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีพอสมควร ปีนี้คุณชินภัทรมีรายได้จากการเลี้ยงนกยูงจำนวน 5 หลัก ช่วงที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดคือช่วงแรกเกิดจนถึง 3 เดือน หากพ้นระยะนี้ไปแล้วถือว่ารอดปลอดภัยแน่นอน ขณะนี้คุณชิณภัทรแบ่งเกรดลูกนกยูง เป็น A B C D  ขาย 1 หมื่น 7 พัน 5 พัน 3 พัน ตามลำดับ เป็นลูกนกยูงอายุ 3 เดือน ตอนแรกเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ปัจจุบันทางจีนมีความต้องการมาก อาหารที่ให้เป็นอาหารไก่รุ่น ช่วงอนุบาลใช้อาหารไก่เล็ก นกยูงกินทุกอย่างเหมือนไก่ ไม่ว่าจะเป็นแตง แตงโม หญ้า แต่ควรแยกเลี้ยงจากไก่เพราะนกยูงจะอ่อนแอกว่าไก่ซึ่งมีภูมิคุ้มกันมากกว่านกยูง นกยูงไม่ชอบอากาศเย็น ชอบอากาศร้อน หากแสดงอาการปีกตก แสดงว่าป่วย หากผ่านช่วงอนุบาลคือเกิน 3 เดือนขึ้นไปแสดงว่าปลอดภัยเลี้ยงรอดแน่

นกยูงไทย (Green Peafowl) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavo muticus สีตัวทั้งตัวผู้และตัวเมียจะเป็นสีเขียวเข้ม “หงอนพู่ตั้งตรง” คอของนกยูงไทยจะยืดสูงกว่านกยูงอินเดีย แก้มจะเป็นสีเหลืองชัดเจนทั้งผู้และเมีย ปีกมีสีน้ำเงินเขียว พบการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียอาคเนย์ จากจีนตอนใต้ จนถึงชวา และพบได้ในป่าธรรมชาติ

Advertisement

นกยูงอินเดีย (India Peafowl) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavo cristatus ตัวผู้จะสีน้ำเงินสด ส่วนตัวเมียจะสีน้ำตาลไม่สดใส แก้มเป็นสีขาว “หงอนพู่ตั้งขึ้นเป็นพัด” ซึ่งแตกต่างจากนกยูงไทยชัดเจน มีขนาดตัวเล็กกว่านกยูงไทยเพียงเล็กน้อย ส่วนปีกมีสีขาวดำสลับกันเป็นรอยบั้ง

นกยูงไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดหนึ่งของประเทศไทยและเป็นนกที่มีความสวยงาม ชนิดหนึ่งของโลก เป็นนกที่มีคุณค่าและหายาก ซึ่งทั่วโลกมีจำนวนนกยูง (Pavo spp.) ถึง 39 ชนิด สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นกยูงถูกแบ่งออกย่อยตามลักษณะสีขนและถิ่นการกระจายได้ 3 ชนิดย่อย คือ นกยูงชวา นกยูงอินโดจีน และนกยูงพม่า ในประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อย คือ นกยูงชวา หรือ นกยูงใต้ และนกยูงอินโดจีน หรือ นกยูงเหนือ

นกยูงหากินในธรรมชาติ

ลักษณะทั่วไป นกยูงไทยจัดเป็นนกขนาดใหญ่ ตัวผู้มีสีเขียวสด บริเวณปีกสีน้ำเงิน ปลายปีกสีน้ำตาลเข้ม หัวมีหงอนขนงอกชี้ขึ้นเป็นกระจุกสีเขียวมันวาว ด้านบนหัวตั้งแต่ด้านหลังจนถึงหน้าผากจรดโคนจะงอยปากมีขนละเอียดขดเป็นปุ่มเล็กๆ อัดกันแน่นสีน้ำเงินเข้มเป็นมัน ใบหน้าทั้งสองข้างเป็นแผ่นหนังมีสีฟ้าและสีเหลืองล้อมลูกตาและหู ตามลำดับ ขนคลุมหางด้านบนยาวมากที่ปลายมีแผ่นขนแบนๆ เป็นวงกลมหรือที่เรียกว่า แววมยุรา ซึ่งจะใช้สำหรับรำแพนเกี้ยวตัวเมียและจะหลุดร่วงหลังฤดูผสมพันธุ์แล้วงอกขึ้นมาใหม่

ส่วนตัวเมียเต็มวัยมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่สีเป็นมันวาวน้อยกว่า แผ่นขนคล้ายเกล็ดที่ปกคลุมบริเวณคอ อกและหลังมีขนาดเล็กกว่า ขาสั้นกว่า ขนคลุมหางสั้นกว่ามากยาวไม่เกินขนหางและไม่มีแววมยุรา นกยูงใต้มีขนาดเล็กกว่านกยูงเหนือ หนังบริเวณหูและแก้มมีสีเหลืองสดกว่า ลูกนกยูงมีขนบริเวณคอละเอียดและอ่อน นุ่ม สีเหลืองครีม ส่วนปีกมีขน สีน้ำตาลอ่อน จะงอยปากและแข้งมีสีเนื้อ

ถิ่นอาศัยและอาหารพบตั้งแต่รัฐอัสสัมในประเทศอินเดีย ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย

นกยูงไทยเป็นนกที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ ได้แก่ พวกเมล็ดหญ้า เมล็ดของไม้ยืนต้น ธัญพืช ผลไม้สุกที่หล่นจากต้น ยอดอ่อนของหญ้า แมลง ตัวหนอน ไส้เดือน งู และสัตว์ขนาดเล็ก หากินตามพื้นดินเช่นเดียวกันกับไก่ฟ้าและไก่ป่า

พฤติกรรม การสืบพันธุ์นกยูงผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ตัวผู้ผสมตัวเมียได้หลายตัว ในธรรมชาติตัวเมียทำรังตามพื้นดินมีหญ้าหรือใบไม้รอง แต่ในกรงเลี้ยงควรทำที่วางไข่ไว้มุมด้านหลังกรง อาจเป็นลังสี่เหลี่ยมหรือกรอบไม้โดยวางกับพื้น มีหญ้ารอง ที่สำคัญ ควรมีที่บังไพรให้ เพื่อนกยูงไทยจะได้มีความรู้สึกว่าปลอดภัยและพอใจที่จะเข้าไปวางไข่ นกยูงวางไข่ ครั้งละ 3-6 ฟอง ตัวเมียฟักไข่ผู้เดียว ใช้เวลาฟัก 27-28 วัน ลูกนกยูงจะตามแม่หากินไม่น้อยกว่า 6 เดือนจึงจะแยกออกไปหากินตามลำพัง การผสมพันธุ์ หลังจากตัวผู้เกี้ยวพาราสีโดยการรำแพนแล้วตัวเมียที่พึงพอใจจะเข้ามาใกล้และยอมให้ผสมพันธุ์โดยตัวเมียจะลดตัวให้ต่ำลง ให้ตัวผู้ขึ้นขี่หลัง ตัวผู้จะใช้จะงอยปากจิกที่หัวตัวเมียเพื่อไม่ให้ตกลงมา และขณะขึ้นผสมพันธุ์ แพนหางจะถูกพับเก็บและโค้งพับมาข้างหน้าของตัวเมีย ใช้เวลาประมาณ 1 นาทีซึ่งจะได้ยินเสียงหวีดร้องหนึ่งครั้งซึ่งเป็นเสียงของตัวผู้ หลังจากเสร็จแล้วตัวผู้จะลงจากหลังแล้วลดแพนหางลง

ขึ้นไปจับอยู่บนหลังคา

ส่วนตัวเมียจะคลี่ปีกและหางออกสะบัดและเก็บไว้ที่เดิม ซึ่งตัวผู้สามารถผสมกับตัวเมียได้ถึง 2 ตัวในเวลาติดต่อกัน ไข่นกยูงไทยมีลักษณะกลมเรียวมน สีขาวเนื้อ บางฟองมีลายแต้มสีน้ำตาล ขนาด 53.75×75.45 มิลลิเมตร และมีน้ำหนัก 119.76 กรัม ลูกนกยูงไทยแรกเกิด มีน้ำหนักเฉลี่ย 75.33 กรัม สถานภาพทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้

วิธีการ ขั้นตอนขออนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าคุ้มครองที่ใช้ในกิจการเพาะพันธุ์

  1. ต้องเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่จะอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ (มี 59 ชนิด)
  2. ต้องมีหลักฐานการได้มา หรือการครอบครอง หรือระบุว่าจะได้มาจากที่ใด โดยสัตว์ป่าคุ้มครองที่ใช้ในกิจการเพาะพันธุ์ได้มาจาก

2.1 ครอบครองสัตว์ป่าโดยชอบด้วยกฎหมายก่อน พ.ศ. 2535

2.2 ครอบครองอยู่ก่อน มีกฎกระทรวงใหม่กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

2.3  ได้มาจากทางราชการจัดหาให้เพื่อใช้ในกิจการเพาะพันธุ์ (ม. ๒๖)

2.4 ได้มาจากผู้เลิกกิจการสวนสัตว์สาธารณะหรือกิจการเพาะพันธุ์

2.5 ได้มาจากการซื้อจากผู้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้จากการเพาะพันธุ์

2.6 ได้มาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ

2.7 ได้มาโดยมีหลักฐานการแจ้งรายการชนิดและจำนวนสัตว์ป่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในปี 2546

เลี้ยงปล่อยภายในบริเวณบ้าน

นกยูงจากความงามสู่ความเชื่อ นกยูง (peafowl) เป็นสัตว์ปีกจำพวกไก่ฟ้าขนาดใหญ่ จัดอยู่ในสกุล Pavo มีลักษณะพิเศษคือ ตัวผู้จะมีหางยาวสีสันงดงามสามารถแผ่ขยายออกเป็นวง หรือที่เรามักเรียกว่า การรำแพนหาง เพื่อใช้เกี้ยวพาราสีตัวเมีย พบได้ทั้งในประเทศอินเดีย ทางตอนใต้ของประเทศจีน และดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์ นกยูงจึงเป็นสัตว์ที่ผู้คนในแถบเอเชียคุ้นเคยเป็นอย่างดี ด้วยความสวยงามและลักษณะการรำแพนหางของนกยูงตัวผู้ ทำให้นกยูงถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมของหลายๆ วัฒนธรรมมาอย่างช้านาน

การสร้างงานศิลปกรรมที่มีนกยูงเป็นองค์ประกอบในประเทศไทยเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) โดยได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย ดังมีการค้นพบลายปูนปั้นรูปนกยูงที่เจดีย์ ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนที่นกยูงจะปรากฏสืบเนื่องมาถึงสมัยหลัง เช่น ในสมัยสุโขทัย มีการเขียนลายรูปนกยูงลงบนเครื่องสังคโลก ซึ่งนอกจากจะเป็นการตกแต่งเพื่อความสวยงามแล้ว ยังสื่อถึงความหมายในเชิงบวกด้วย

เนื่องจากนกยูงได้รับการยกย่องว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และเป็นสัญลักษณ์มงคลในความเชื่อต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ใน มหาโมรชาดก ของพระพุทธศาสนากล่าวถึงเรื่องราวเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นนกยูง หรือในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นกยูงเป็นบริวารของเทพเจ้าหลายองค์ และเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี ความสูงส่ง และความรัก คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมจีนที่นับถือนกยูงว่าเป็นบริวารของเจ้าแม่กวนอิม ทั้งยังหมายความถึงพระอาทิตย์ ความรัก และความเมตตา จึงมีการปักรูปนกยูงลงบนเสื้อผ้าของชนชั้นสูงเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงนำหางนกยูงมาประดับหมวกเพื่อแบ่งลำดับขั้นของขุนนาง ในขณะที่ชาวเปอร์เซียเปรียบนกยูงเป็นตัวแทนของกษัตริย์และพลังอำนาจ ส่วนชาวกรีก-โรมันเชื่อว่านกยูงเป็นผู้ลากราชรถของเทพีเฮร่า และชาวคริสต์ที่เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ

……………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2566