เกษตรกรชัยนาท แบ่งพื้นที่เลี้ยงแพะ เป็นอาชีพสร้างรายได้ มีเงินใช้จ่ายหมุนเวียน

จากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้เกษตรกรในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่มากขึ้น โดยการลดพื้นที่ปลูกพืชบางส่วนมาจัดสรรเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้สามารถกระจายรายได้สู่ครอบครัวได้มากขึ้น

ซึ่งเกษตรกรในจังหวัดชัยนาท นอกจากจะเจอปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรแล้ว การทำเกษตรยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะบางช่วงฤดูกาลประสบกับปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้ไม่สามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ จึงทำให้มีรายได้ไม่ต่อเนื่องต่อการใช้จ่าย ทำให้เกษตรกรบางรายมีหนี้สินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

คุณยุพิน ลาวัน อยู่บ้านเลขที่ 128 หมู่ที่ 4 ตำบลไร่พัฒนา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้เช่นกัน จึงได้มีวิธีแก้ปัญหาโดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชมาทำปศุสัตว์ คือ การเลี้ยงแพะ จึงทำให้เวลานี้การเลี้ยงแพะสามารถทำรายได้ให้กับเธอได้เป็นอย่างดี

คุณยุพิน ลาวัน

แบ่งพื้นที่จากทำไร่ ทำนา มาเลี้ยงแพะสร้างรายได้

คุณยุพิน เล่าให้ฟังว่า เดิมมีอาชีพทำการเกษตรอยู่แล้วคือทำนา ต่อมาระยะหลังๆ การทำนาเริ่มไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ทำได้แต่นาปีเพียงเท่านั้น เพราะถ้าจะทำนาปรังในพื้นที่นามีปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำไร่อ้อยเพื่อหวังสร้างรายได้ แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จเพราะภัยแล้งเมื่อปี 2557 ค่อนข้างรุนแรง จึงทำให้ไร่อ้อยที่ทำเสียหายหนัก จึงคิดว่าพื้นที่ในปัจจุบันนี้ไม่สามารถที่จะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ จึงได้ตัดสินใจที่จะทดลองทำปศุสัตว์โดยแบ่งพื้นที่บางส่วนมาเลี้ยงแพะ

“ตอนนั้นก็นั่งคิดกับลูกชาย ว่าถ้าพืชมันปลูกไม่ได้ ไม่ค่อยมีน้ำ เราจะทำอะไรกันดี ก็ได้แนวคิดกันว่า น่าจะเลี้ยงสัตว์ เลยเดินทางไปต่างอำเภอ ไปหาคนที่เลี้ยงแพะแล้วประสบผลสำเร็จ เราก็เลยไปลองศึกษาดูว่า เขามีวิธีการเลี้ยงยังไงบ้าง ก็ค่อยๆ ศึกษาและมาสร้างโรงเรือนอยู่ที่บ้าน ก็เริ่มลองผิดลองถูกเอง จนเลี้ยงมาประสบผลสำเร็จสามารถขายลูกแพะสู่ตลาดได้ ก็เลยตั้งใจทำมาตั้งแต่นั้น” คุณยุพิน เล่าถึงที่มา

ซึ่งเทคนิคเลี้ยงแพะให้ประสบผลสำเร็จ คุณยุพิน บอกว่า สิ่งที่ต้องหาแสวงหาอยู่ตลอดคือความรู้ โดยเธอจะสมัครเข้าอบรมเรื่องการเลี้ยงแพะทุกครั้งที่มีหน่วยงานของรัฐเปิดสอน จึงทำให้ได้รับความรู้และนำมาปรับใช้กับการดูแลแพะภายในฟาร์มของเธอได้เป็นอย่างดี

 

เลี้ยงแพะพันธุ์บอร์ ลูกผสม

คุณยุพิน บอกว่า โรงเรือนสำหรับให้แพะอยู่ต้องทำให้มีขนาดโครงสร้างที่สูงกว่าพื้นดิน โดยอาจจะเกิน   2 เมตร เพื่อให้สามารถเข้าทำความสะอาดใต้โรงเรือนได้ และที่สำคัญทำให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก จะไม่ทำให้พื้นใต้โรงเรือนชื้น ซึ่งขนาดของโรงเรือนจะใหญ่หรือเล็กดูตามความเหมาะสมของจำนวนแพะที่นำเข้ามาเลี้ยง

“พอเราได้แพะพันธุ์บอร์ลูกผสมมาเลี้ยง พอตัวเมียได้อายุประมาณ 6-7 เดือน จะเริ่มเป็นสาว ก็จะสามารถตั้งท้องผสมพันธุ์ได้ เวลาผสมพันธุ์ก็เอาพ่อพันธุ์บอร์เลือดร้อยมาผสม จากนั้นพอผสมติดก็รอตั้งท้องไปประมาณ 5 เดือน แม่พันธุ์ก็จะคลอดลูกออกมา จากนั้นก็ให้กินนมแม่ประมาณ 2 เดือน ก็จะเตรียมลูกแพะแยกออกจากแม่ เพื่อเตรียมให้แม่แพะไปผสมพันธุ์ใหม่อีกครั้ง” คุณยุพิน บอกถึงวิธีการผสมพันธุ์

จากนั้นนำลูกแพะมาเลี้ยงดูโดยให้กินอาหารทั่วไป ซึ่งถ้าเป็นลูกแพะตัวผู้จะขุนให้มีอายุ 5 เดือน ก็จะส่งขายให้กับคนที่มารับซื้อ ส่วนลูกแพะตัวเมียจะเก็บไว้เลี้ยงภายในฟาร์ม ใช้เป็นแม่พันธุ์ต่อไป

โดยอาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงแพะให้เจริญเติบโต คุณยุพิน บอกว่า จะเป็นพืชที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น การเลี้ยงไล่ทุ่ง และในบางช่วงก็จะหากิ่งกระถินสลับกับเปลือกถั่วเหลืองมาให้แพะกินสลับกับหญ้าเนเปียร์

กากถั่วเหลือง

การดูแลป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นกับแพะนั้น คุณยุพิน บอกว่า จะติดต่อให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่มาดูแลให้ทุก 6 เดือน โดยโรคที่ต้องป้องกันอยู่ตลอดคือ ปากเท้าเปื่อย และจะฉีดวัคซีนกันพยาธิทุก 2 เดือนครั้ง

กิ่งกระถินบด

“แม่แพะต่อปีจะตั้งท้องประมาณ 2 ครั้ง เท่ากับว่า 1 ปี จะสามารถผลิตลูกให้ได้ 2-3 ตัว ซึ่งถ้าเป็นแพะสาวๆ ก็จะให้ลูกได้แค่ 1 ตัว เมื่ออายุแม่พันธุ์มากขึ้นก็จะสามารถผลิตลูกแบบแฝดได้ ซึ่งการเลี้ยงแพะก็จะสามารถทำให้เราผลิตลูกพันธุ์ขายได้ เรียกว่าถ้าจำนวนแม่พันธุ์ดีมีความสมบูรณ์ การผสมสมบูรณ์ การผลิตลูกก็จะมากตาม ก็จะทำให้ผู้เลี้ยงสามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง” คุณยุพิน บอกถึงข้อดีของการเลี้ยงแพะ

 

มีพ่อค้ามารับซื้อแพะ ถึงหน้าฟาร์ม

เนื่องจากปัจจุบันการเลี้ยงแพะกำลังเป็นที่นิยมค่อนข้างมากในจังหวัดชัยนาท คุณยุพิน บอกว่า ในเรื่องของการทำตลาดจึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะจะมีพ่อค้าที่รู้ว่าเกษตรกรในพื้นที่มีการเลี้ยงแพะ ก็จะมาติดต่อขอซื้อถึงหน้าฟาร์มโดยที่ผู้เลี้ยงไม่ต้องไปตระเวนส่งขายที่ไหน ซึ่งเลี้ยงอยู่ภายในบริเวณบ้านก็สามารถขายแพะได้

พื้นที่คอก

“ราคาแรกๆ ที่เลี้ยงขายใหม่ๆ ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท เสร็จแล้วราคาก็ค่อยๆ ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นหลักร้อยบาท ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านที่เลี้ยง จัดแบบเป็นกลุ่มกันมากขึ้น จึงทำให้ราคาในเวลานี้สามารถกำหนดเองได้ ซึ่งตัวผู้ขายยกตัว โดยต้องมีน้ำหนักตั้งแต่ 15 กิโลกรัมขึ้นไป ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 115 บาท ส่วนตัวเมียที่เป็นแพะสาวอายุประมาณ 5 เดือน จะขายยกตัวอยู่ที่ราคาตัวละ 2,500-3,000 บาท ซึ่งตอนนี้บอกเลยว่า แพะที่เลี้ยงยังมีไม่พอขาย เพราะความต้องการค่อนข้างมาก ซึ่งที่ฟาร์มจะเน้นขายแต่ตัวผู้อย่างเดียว ส่วนตัวเมียจะเอาไว้ทำแม่พันธุ์ พอมีความนิ่งแล้วก็จะขายทำการตลาดต่อไป” คุณยุพิน บอกถึงราคาขายแพะ

มูลแพะ ขายทำปุ๋ย

ซึ่งนอกจากจะขายแพะเพื่อทำเงินได้แล้ว คุณยุพิน บอกว่า มูลของแพะยังสามารถขายให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชได้อีกด้วย โดยจะนำส่วนที่เหลือจากที่ใส่ไร่นาของเธอขายให้กับเพื่อนเกษตรกรรายอื่น เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ยทางการเกษตร ขายอยู่ที่ราคากระสอบละ 25 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงสัตว์แต่ยังมีความกลัว ยังไม่กล้าตัดสินใจในการเลี้ยง คุณยุพิน ให้คำแนะนำว่า

“สมัยก่อนที่จะมาเลี้ยง สามีก็ไม่ค่อยสนับสนุนให้เลี้ยงเท่าไร เพราะกลัวว่าจะเลี้ยงไม่ได้ดี จะบ่นกันในเรื่องนี้มาก แต่พอมาปัจจุบันนี้ พอเลี้ยงมาได้สักระยะ เห็นว่าการเลี้ยงแพะสามารถทำเงินได้จริง เรื่องตลาดเป็นที่ยอมรับ ก็เลยเลี้ยงกันมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสำหรับผู้ที่สนใจก็อยากจะบอกว่า ไม่จำเป็นต้องเลิกทำไร่ ทำนา เพียงแต่ลดพื้นที่บางส่วนมาเลี้ยงสัตว์ และผู้เลี้ยงก็แบ่งเวลาให้เป็น ก็จะทำให้การทำเกษตรสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างแน่นอน หากไม่มีความรู้เรื่องใดก็สามารถโทร. มาสอบถามได้ ยินดีให้คำแนะนำ”

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณยุพิน ลาวัน หมายเลขโทรศัพท์ 087-205-3328

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560