เปิดเทคนิคเลี้ยง “แมลง BSF” เพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ ทุนเริ่มต้น 200 บาทก็ทำได้

แมลง BSF เป็นแมลงมหัศจรรย์ แถมมีโปรตีนสูง ที่สร้างประโยชน์ทุกช่วงวัย สร้างอนาคตให้เกษตรกร เป็นนักกำจัดขยะอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว เลี้ยงภายใน 7 วัน ก็สามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ นำไปเลี้ยงไก่ ปลา เป็ด หมู ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ต่อเดือนได้เยอะอีกด้วย

คุณสิริ วงษ์พรสถิตย์ ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนสวนต้องก้าว
คุณสิริ วงษ์พรสถิตย์ ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนสวนต้องก้าว

คุณสิริ วงษ์พรสถิตย์ ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนสวนต้องก้าว เล่าว่า จุดเริ่มต้นการเลี้ยงแมลง BSF เกิดจากการที่อยากนำ zero waste to landfill มาใช้ในสวน เพื่อเป็นการลดการนำขยะไปทิ้งให้กับเทศบาล จึงทดลองเลี้ยงแมลง BSF ผลปรากฏว่ากำจัดขยะอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมูลของตัวแมลง BSF สามารถนำมาผลิตเป็นวัสดุบำรุงดินหรือปุ๋ยอินทรีย์บำรุงพืชผักที่ปลูกในสวนได้

แมลง BSF
แมลง BSF

เชื่อว่าหลายๆ คนยังคงสงสัยว่าแมลง BSF นี้คือตัวอะไรกัน แล้วมันต่างจากแมลงวันยังไงนั้น คุณสิริ ได้อธิบายให้เห็นภาพว่า “แมลง BSF คือ Black Soldier Fly เป็นแมลงสปีชีเดียวกันกับตัวต่อ เป็นแมลง 2 ปีกเหมือนกัน แต่ว่าแมลง BSF จะมีลักษณะตัวยาวกว่า ถ้าเปรียบเทียบกับแมลงวันบ้าน แมลง BSF จะมีลักษณะตัวยาวแล้วที่แตกต่างก็คือวงจรของ BSF จะยาวกว่าแมลงวันบ้าน” 

ความมหัศจรรย์ของแมลง BSF

เห็นตัวเล็ก จิ๋วๆ แบบนี้ แต่รู้ไหมว่าสามารถทำประโยชน์ให้กับเกษตรกรได้เยอะมาก อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้ไม่น้อยเลยทีเดียว แมลง BSF เป็นสัตว์ที่สามารถกำจัดขยะอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว สามารถกินพวกอินทรียวัตถุได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ใบไม้ เปลือกไม้ มูลสัตว์ หรืออาหารในครัวเรือน และที่สำคัญสามารถเลี้ยงได้ทั่วประเทศในไทย แม้กระทั่งในตึกอาคาร โรงงาน หรือออฟฟิศ ก็สามารถเลี้ยงได้ แต่ต้องเลี้ยงแบบควบคุม เนื่องจากอาจจะส่งกลิ่นโชยออกมาได้ 

คุณสิริ เล่าว่า “ต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ ก็จะมีห้องเลี้ยงแมลง BSF อยู่ที่คอนโดฯ ด้านล่าง ทุกคนก็จะนำเศษอาหารที่กินไม่หมดนำมาเทให้แมลง BSF กินเพื่อกำจัดขยะ อีกทั้งตัวอ่อนแมลง BSF ยังสามารถนำไปให้สัตว์เลี้ยงกินได้ แถมสัตว์ที่กินแมลง BSF จะให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ”

วิธีการเลี้ยงแมลง BSF

วิธีการเลี้ยงค่อนข้างง่าย มือใหม่ก็สามารถเลี้ยงได้ไม่ยาก เพียงแค่ต้องรู้ว่าแต่ละช่วงของแมลง BSF ควรดูแลอย่างไร โดยเริ่มแรกต้องหาซื้อไข่จากในกลุ่มของเพจที่เลี้ยงแมลง BSF ก่อน ซึ่งไข่ 1 กรัม จะได้ตัวอ่อนแมลง BSF จำนวน 3 กิโลกรัมถือว่าเยอะมาก หลังจากนั้นนำไข่ไปอนุบาล โดยอุปกรณ์หลักๆ ที่จะต้องมีคือกะละมังหรือถาด และอาหารสำหรับตัวอ่อน หลังจากนั้น 10 วัน ก็จะเห็นเป็นตัวเป็นตน “แมลง BSF” นั่นเอง

Advertisement

รู้ก่อนเลี้ยง “วงจรชีวิตของแมลง BSF”

แยกให้ออก “ตัวผู้-ตัวเมีย” ต่างกันยังไง ซึ่งดูออกได้ไม่ยาก โดยตัวผู้จะมีลำตัวที่สั้นกว่า ตัวจะสั้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนตัวเมียเมื่อเราเข้าไปอยู่ในโรงบิน จะเห็นชัดเลยว่าจะมีตัวหนึ่งที่ใหญ่ๆ ยาวๆ ก้นแหลมๆ ตรงก้นมีจะงอย อันนั้นคือตัวเมีย แล้วก็ตัวยาวกว่าใหญ่กว่า ตัวผู้จะสั้นๆ จะไม่มีจะงอยตรงก้น

วงจรชีวิตของแมลง BSF
วงจรชีวิตของแมลง BSF

วงจรชีวิตของแมลง BSF จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดอาหารที่ตัวหนอนกิน โดยจะแบ่งระยะการเจริญเติบโต 5 ระยะ ดังนี้

Advertisement
ไข่ของแมลง BSF
ไข่ของแมลง BSF

ระยะไข่ เพศเมียจะวางไข่บริเวณไม้ที่เราทำเป็นจุดสำหรับให้ตัวเมียไปวางไข่ รูปร่างของไข่จะเป็นวงรีคล้ายๆ เมล็ดข้าว วันแรกสีของไข่เป็นสีใส ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีครีมอมเหลือง ก่อนฟักเป็นตัวหนอนจะใช้เวลา 3-4 วัน

ระยะตัวหนอน ลำตัวยาวค่อนข้างแบนไม่มีขา มีขน ตามลำตัว ส่วนหัวแคบกว่าส่วนท้าย เมื่อฟักจากไข่เป็นตัวหนอนมีสีขาวครีมหรือสีขาวขุ่น รุ่นนี้ถือว่าเหมาะที่จะนำไปเป็นอาหารสัตว์ ระยะตัวหนอนจะใช้เวลาประมาณ 13-18 วัน

ระยะก่อนเข้าดักแด้ ลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม จนเป็นสีดำ ผิวลำตัวไม่เรียบ มีขน เตรียมเพื่อที่จะฟอร์มตัวเป็นดักแด้ หลังจากนั้นจะไม่กินอาหารแล้ว คลานออกจากอาหาร ก็จะนำส่วนตรงนี้แยกออกไปใส่ถาด

ระยะดักแด้ หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน จะเริ่มฟอร์มตัวแข็ง เริ่มทำปีก ขา แขน ทุกอย่าง เพื่อที่จะเตรียมบิน ซึ่งจะนำระยะนี้ไปไว้ในโรงเรือนส่วนทึบ

ระยะตัวเต็มวัย เมื่อเป็นแมลงเต็มวัน จะเริ่มบินออกไปหาแสง จะมีความยาวประมาณ 15-20 มิลลิเมตร ที่ปลายขาทุกคู่มีสีขาวเห็นชัดเจน ด้านสันหลังของท้องปล้องแรกมีแต้มสีขาวใส 2 แต้ม ตัวเต็มวัยระยะนี้จะไม่กินอาหาร เมื่ออายุ 2-9 วันหรือแข็งแรงดีแล้ว จะเริ่มผสมพันธุ์ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน เมื่อผสมพันธุ์เสร็จ ตัวผู้หลังจากนั้นไม่นาน ตัวผู้จะเสียชีวิต แล้วตัวเมียต้องไปหาที่วางไข่ เราก็จะมีจุดสำหรับที่วางไข่ เพราะเราต้องการเก็บไข่เขามาต่อยอด ก็จะทำไม้วางไข่ให้กับเขา เมื่อตัวเมียมาวางไข่เสร็จ หลังจากนั้นไม่นานตัวเมียจะเสียชีวิต ทั้งหมดนี้คือวงจรของแมลง BSF ซึ่งก็เก็บไข่มาอนุบาลซ้ำเป็นวนลูปแบบนี้

การเลี้ยงในโรงเรือน

โรงเรือนแบบที่เกษตรกรทั่วไปนิยมเลี้ยงจะไม่ได้มีการควบคุมอุณหภูมิ คือเป็นไปตามสภาพอากาศของบ้านเรา แต่ในปัจจุบันพบปัญหาภาวะโลกร้อนขึ้น ทำให้แมลง BSF ไม่ยอมวางไข่ หรือออกไข่น้อย แมลงบินไม่ออกบิน ด้วยความที่สภาพอากาศร้อนเกินไปอุณหภูมิในการเลี้ยงไม่เหมาะสม

โรงเรือนแบบใหม่ จะเป็นการเลี้ยงแบบควบคุมอุณหภูมิ โดยตอนนี้มีอยู่ 2 ที่ คือที่หนองแขมและสวนต้องก้าว เมื่อแมลง BSF อยู่ในโรงเรือน ถ้าอุณหภูมิเกิน สังเกตเห็นว่าจะมีแอร์คอนดิชั่นที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์อยู่ด้านบน แอร์จะถูกเปิดเมื่ออุณหภูมิข้างนอกเกิน 40-50 องศา ถือว่าโรงเรือนระบบควบคุมนี้ไม่กระทบกับสภาพอากาศข้างนอก ไม่ว่าจะร้อนแค่ไหน หรือเย็นแค่ไหน 

โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับแมลง BSF คือ 27-35 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่พอดี ทำให้มีการกำจัดขยะและมีการกินอาหารที่ดี และมีการเป็นแมลงบินที่ดี วางไข่ได้ดี ผสมพันธุ์กันดี สามารถให้ผลผลิตเราได้ 24 ชั่วโมง

อาหารของแมลง BSF

สามารถเป็นวัตถุดิบอินทรีย์ทั้งหมด ช่วงที่อนุบาลควรจะให้อาหารที่เป็นอาหารนุ่มๆ เพราะว่าแมลง BSF เป็นตัวอ่อนหนอนชนิดหนึ่ง ซึ่งการกินของแมลง BSF จะเป็นวิธีการดูด เนื่องจากไม่มีฟันไว้สำหรับเคี้ยว ลักษณะอาหารจึงต้องละเอียด ค่อนข้างนุ่ม

บางสถานที่นิยมนำกากถั่วเหลืองจากร้านขายน้ำเต้าหู้ หรือผลไม้ สามารถนำไข่ของแมลง BSF ไว้บนอาหารที่เตรียมไว้ได้เลย เพื่อให้ออกมาดูดกินได้ 

คุณสิริ บอกอีกว่า “บางที่สอนว่าต้องเอาอาหารโปรตีนสูง ต้องใส่กากน้ำตาล ต้องอะไรอย่างเงี้ย แต่เราพิสูจน์มาแล้ว ถ้าเกษตรกรอยากเลี้ยงจริงๆ ไม่ต้องไปหาอะไรที่มันไกลตัว เราควรหาวัตถุดิบที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ข้าวสวย แตงโม ฟักทอง มะละกอสุก เศษผลไม้ที่ต้องให้ความสำคัญเลยต้องนุ่มตัวอ่อนแมลง BSF สามารถดูดได้”

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมแมลง BSF ถึงสามารถทดแทนอาหารสัตว์ได้

คุณสมบัติโดยทั่วไปของแมลง BSF ที่สวนต้องก้าวเคยส่งผลแล็บตรวจ พบว่าแมลง BSF ในช่วงวัยประมาณ 15-20 วัน ค้นพบโปรตีนอยู่ที่ประมาณ 30% บางครั้งถึง 40% อันนี้คือในลักษณะของแห้งแบบดรายมิเตอร์

แต่ถ้าเป็นแมลง BSF สดคาดการณ์ว่าน่าจะมีค่าโปรตีนอยู่ที่ประมาณ 10 กว่า ซึ่งเพียงพอสำหรับสัตว์เพราะเกษตรกรสามารถให้ในปริมาณที่มาก นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยน้ำอยู่ในนั้นประมาณ 25% แล้วมีไขมันดีอยู่ในนั้นถึง 30% อีกทั้งยังค้นพบว่าปลอกของแมลง BSF หรือปลอกดักแด้ที่ค้นพบแคลเซียมที่สูง และค้นพบพวกไคตินไคโอไซด์ที่สูง

สามารถนำมาให้ไก่ไข่กินถือว่าดีมากๆ นำมาเป็นส่วนผสมในไก่ไข่เพื่อเพิ่มแคลเซียมในไก่ไข่เพื่อที่จะให้เปลือกไข่แข็ง โดยสัดส่วนแมลง BSF ที่นำไปให้ไก่ 1 ตัวต่อแมลง BSF 1 ขีด เพียงแค่ให้วันละ 2 มื้อ แค่มื้อเช้าและมื้อเย็น

แมลง BSF ตอนนี้ถือว่าเป็นแมลงกู้โลก ในปัจจุบันมีกลุ่มที่นำแมลง BSF ไปทำในแบบเชิงธุรกิจ เช่น ผลิตน้ำมันจากแมลง BSF เพื่อจำหน่าย ผลิตโปรตีนไซเลทเพื่อจำหน่าย หรือแม้กระทั่งผลิตเป็นอาหารสัตว์ที่แช่แข็งเพื่อจำหน่าย อีกทั้งยังมีการส่งออกต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันค่าอาหารสัตว์มีต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ฟาร์มต่างๆ หรือเกษตรกรทั่วไปนิยมนำ BSF มาเลี้ยงเพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยงไก่ เลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ อย่างที่สวนต้องก้าวเองถือว่าไม่มีค่าใช้จ่ายค่าอาหารสัตว์เลย เพราะที่สวนให้เป็นแมลง BSF อย่างเดียว

โดยคุณสิริแนะนำมือใหม่ที่สนใจอยากเลี้ยงแมลง BSF แนะนำให้เลี้ยงแบบครบวงจรที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ อันนี้จะแนะนำทุกคนที่เข้ามาอบรมที่สวนต้องก้าว น้อยครั้งที่จะปลูกฝังให้เพื่อที่เลี้ยงจำหน่ายไข่ขาย เนื่องจากเกษตรกรหลายๆ คนมักทำแบบนี้ คุณสิริ เล่าว่า “ขายไข่อย่างเดียว ขายได้ แต่ถ้าจะดีกว่านั้นเมื่อเลี้ยงแบบครบวงจรแล้ว ขายโปรดักต์ไปเลย เช่น คุณซื้อปลาที่เป็นปลาอินทรีย์แท้ที่กิน BSF กับปลาที่ตลาดคุณเห็นชัดเจนในความแตกต่างของผิว รสชาติ เนื้อสัมผัสต่างๆ มันแตกต่างกัน

หากสนใจเรียนรู้การเพาะเลี้ยงแมลง BSF หรืออยากปรึกษาการเลี้ยงต่อยอดยังไงให้เกิดรายได้สามารถติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : สวนต้องก้าว