หนุ่มสุพรรณบุรี เลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ แบบปล่อยธรรมชาติ ทำให้เนื้อไก่อร่อย เหนียวนุ่ม

ไก่พันธุ์ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างไก่พื้นเมืองของไทยพันธุ์หนึ่งที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว คือไก่พันธุ์ตะเภาทองกับไก่พื้นเมืองของจีน ชื่อว่าไก่สามเหลือง (ซาอึ้ง) ซึ่งไก่ทั้งสองสายพันธุ์นี้มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่เมื่อนำทั้งสองสายพันธุ์มาผสมกันคือ พ่อพันธุ์ตะเภาทอง แม่พันธุ์สามเหลือง จึงได้เกิดเป็นไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ขึ้นมา

ซึ่งลักษณะทั่วไปของไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ จะมีรูปร่างสมส่วน สวยงามทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีลักษณะหงอนหินประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ และอีก 15 เปอร์เซ็นต์ มีลักษณะหงอนหนอนจักร ขนออกเป็นสีเหลืองทอง แข็งสีเหลือง จะงอยปากเหลือง นอกจากนี้ ยังมีความแข็งแรง ทนโรค ถือได้ว่าเป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย เพราะสามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมที่แปรปรวนได้ดี จึงทำให้ คุณ ณ นพชัย ผิวเกลี้ยง เห็นถึงลักษณะพิเศษของไก่สายพันธุ์นี้ จึงได้มาเลี้ยงเป็นอาชีพและช่วยส่งเสริมต่อยอดให้กับเกษตรกรที่สนใจอยากเลี้ยงสร้างรายได้ต่อไป

คุณ ณ นพชัย ผิวเกลี้ยง

ฟาร์มไก่ตะเภาทองของเขาตั้งอยู่บ้านเลขที่ 328 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่ง คุณ ณ นพชัย เล่าให้ฟังว่า เหตุผลที่มาเลือกเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ เพราะจากที่ได้ทดลองเลี้ยงในช่วงแรกๆ นั้น เป็นไก่ที่ตอบโจทย์ในการที่จะเลี้ยงในสภาพภูมิอากาศแบบในประเทศไทย เพราะสามารถเจริญเติบโตได้ดี ทนต่อโรค และที่สำคัญสามารถเลี้ยงแบบปล่อยบริเวณรอบบ้านได้โดยที่ไม่ต้องขังให้อยู่ในกรง

ลูกไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์

“ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ นอกจากเลี้ยงได้ง่ายแล้ว เมื่อไก่เจริญเติบโตได้เต็มที่ คุณภาพเนื้อก็สามารถตอบโจทย์ในเรื่องการขายให้กับตลาด เพราะเนื้อไก่มีเอกลักษณ์ คือเนื้อเหนียวนุ่ม กระดูกร่อน หนังกรอบ ซึ่งคุณภาพตรงนี้ถือว่าตอบโจทย์ เพราะตอนนี้เราก็จะเลี้ยงเป็นเชิงไก่ปลอดสาร เพื่อเป็นเทรนด์ให้กับผู้ที่รักสุขภาพมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น” คุณ ณ นพชัย บอกถึงลักษณะพิเศษของไก่

พื้นที่ภายในฟาร์ม

ซึ่งไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ที่เขาเลี้ยงทุกตัว จะเน้นให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมือนธรรมชาติมากที่สุด โดยได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ คือ มีโรงเรือนนอน พื้นที่สำหรับเดินเล่นและคุ้ยเขี่ย โดยถ้าไก่ได้มีพื้นที่ให้ได้วิ่งเล่นตามแบบนิสัยที่เป็น ก็จะทำให้ไก่มีความแข็งแรง ต้านทานต่อโรคระบาดได้ง่าย

อาหารที่ใช้เลี้ยงส่วนใหญ่ คุณ ณ นพชัย จะเน้นเป็นพืชผลทางการเกษตรที่หาได้จากในชุมชน เช่น ใบเตย พืชผักต่างๆ ที่เหลือจากการคัดเกรดมาให้ไก่กิน อาจจะให้กินวันละ 1-2 มื้อก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หามาได้ในท้องที่ ว่าสามารถหามาได้มากน้อยเพียงใด ถ้าได้มากก็กินวันละ 2 มื้อ และถ้ามีน้อยอาจเปลี่ยนเป็นวันละ 1 มื้อ ไม่มีเกณฑ์ตายตัวมากนักในเรื่องนี้

“ไก่สายพันธุ์นี้ได้มีการปรับปรุงพันธุ์มาเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าตอบโจทย์กับเกษตรกรแน่นอน เพราะช่วงนี้ผมเองก็ได้เล็งเห็นถึงเกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจอยากจะเลี้ยง จึงได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรที่ทำเกษตรด้านอื่น อาจจะแบ่งพื้นที่สักเล็กน้อยมาเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์เพื่อสร้างรายได้ อย่างน้อยก็ยังมีรายได้จากการทำปศุสัตว์ เมื่อสินค้าทางด้านพืชราคาขายลดลง ซึ่งไก่ตะเภาทองสามารถกินได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพืชผักสวนครัว ต้นไม้ ใบหญ้าในท้องถิ่น ก็นำของเหล่านี้แทนที่เราจะทิ้งก็สามารถนำมาเลี้ยงไก่ได้ ในประมาณ 100-200 ตัว รอบบริเวณบ้าน ก็สามารถทำรายได้ให้กับคนเลี้ยงได้” คุณ ณ นพชัย บอก

ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์

ซึ่งตอนนี้ในการทำตลาด คุณ ณ นพชัย บอกว่า ได้มีการชำแหละไก่ขายเป็นไก่สด ภายใต้ชื่อแบรนด์ ตะเภาทอง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักมากขึ้นโดยได้มีการรวมกลุ่มจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหลายๆ ราย นำไก่มาแปรรูปส่งขายให้กับตลาดให้มีความต่อเนื่องมากขึ้น โดยขายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 140-160 บาท และสำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงเพื่อไปทำการค้าเอง ทางฟาร์มก็มีลูกไก่ขาย โดยราคาลูกไก่อายุ 1 วัน ขายอยู่ที่ตัวละ 25 บาท และลูกไก่อายุ 7-10 วัน ราคาอยู่ที่ตัวละ 30 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงไก่แต่ยังไม่กล้าที่จะเลี้ยง คุณ ณ นพชัย ให้คำแนะนำว่า หากสนใจที่อยากจะเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ถือว่าไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก เพราะไก่กินง่ายอยู่ง่าย เจริญเติบโตได้ดี แต่สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องของการตลาดคือ อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยตอบโจทย์กับผู้รักสุขภาพของคนในยุคนี้ โดยขอให้เลี้ยงแบบถูกมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าได้ การเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณ ณ นพชัย ผิวเกลี้ยง หมายเลขโทรศัพท์ (083) 090-6629

ในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ทางนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้จัดสัมมนา ไก่เนื้อ ไก่พื้นเมือง สัตว์เศรษฐกิจทำเงิน “แนะนำวิธีการเลี้ยงไก่เชิงการค้า การป้องกันโรคระบาดสัตว์ อุตสาหกรรมแปรรูปไก่เนื้อจนถึงการส่งออก” ณ ห้องประชุมใหญ่ หนังสือพิมพ์ข่าวสด สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342, 2343 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.technologychaoban.com/ www.facebook.com/Technologychaoban

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560