ฟาร์มเลี้ยงไก่พื้นบ้านดีเด่น จังหวัดชัยภูมิ งานยั่งยืนสร้างรายได้สม่ำเสมอ

ปัจจุบันไก่พื้นบ้านได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นมาก เพราะมีเนื้อแน่น และรสชาติอร่อย เป็นที่ถูกปากของผู้บริโภคทั่วไปจนมีแนวโน้มว่าปริมาณไก่บ้านอาจไม่เพียงพอต่อความของผู้บริโภค

เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรมักเลี้ยงไก่พื้นบ้านแบบแบบปล่อยตามธรรมชาติ สำหรับไว้ใช้บริโภคในครัวเรือน จึงทำให้ ขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจังทั้งการสร้างโรงเรือน อาหาร การป้องกันโรค ตลอดจนสภาพแวดล้อมโดยรอบ จึงส่งผลให้เกิดความเสียหายตามมา

แต่ถ้าเกษตรกรหรือชาวบ้านที่สนใจการเลี้ยงไก่พื้นบ้านแบบอาชีพ ควรปรับใช้เทคนิคการเลี้ยงแบบโรงเรือนมาผสมผสานกับการเลี้ยงแบบพื้นบ้าน พร้อมกับการเพิ่มคุณภาพไก่ด้วยการปรับปรุงพันธุ์ลูกผสมระหว่างไก่บ้านกับไก่พันธุ์แท้ เอาใจใส่ดูแลการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบที่สมบูรณ์และครบวงจร ย่อมส่งผลทำให้จำนวนไก่บ้านที่จะออกสู่ตลาดมีปริมาณที่สูง มีคุณภาพ และได้ราคาตามที่ต้องการอย่างแน่นอน

  

คุณชัชวาล วงศ์รา

           คุณชัชวาล วงศ์รา ชายหนุ่มแห่งตำบลท่ากูบ จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกคนที่มีความสนใจเรื่องการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน เหตุผลที่ทำให้สนใจเป็นผลมาจากราคาไก่ที่ซื้อตามตลาดเกินจริง เพราะถูกควบคุมราคาตามกลไกตลาดของพ่อค้า แล้วคิดว่าหากวันหนึ่งมีโอกาสทำฟาร์มไก่เป็นของตัวเอง หากชาวบ้านเดือดร้อน มีความต้องการไก่ไว้บริโภค เขาจะต้องช่วยเหลือได้

 

เริ่มจากเป็นอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน

ความสนใจของคุณชัชวาลไม่ได้เพียงหาพันธุ์ไก่มาเลี้ยง แต่มุ่งศึกษาหาความรู้จากตำราเอกสารทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไก่ ตลอดจนเติมข้อมูลเพิ่มขึ้นให้กว้างและลึกลงไปด้วยการศึกษาจากอินเตอร์เน็ต

           ภายหลังที่ศึกษาทฤษฎีจนเป็นที่เข้าใจแล้วจึงลงมือปฏิบัติด้วยการสมัครไปเป็นอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้านเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านที่มีความเดือดร้อนด้านสัตว์เลี้ยงต่างๆ พร้อมไปกับถือโอกาสนี้เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆโดยเฉพาะไก่ควบคู่กันไป

กระทั่งเกิดความมั่นใจจึงได้จัดทำฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ได้มาตรฐานเพื่อจำหน่าย และทำฟาร์มนี้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ที่ถูกต้องสมบูรณ์แบบเพื่อให้คนที่สนใจทั่วไปเข้ามาศึกษาหาความรู้

ป้ายรับรองคุณภาพฟาร์มสาธิต

มุ่งมั่นทำฟาร์มตามแบบมาตรฐาน จนได้รับรางวัลดีเด่น นำไปสู่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ตำบล

การทำงานด้านอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน ทำให้คุณชัชวาลได้เรียนรู้วิธี แนวทางการป้องกันโรคต่างๆของสัตว์ทุกชนิด ตลอดจนความรู้ด้านการตลาดที่จะสอนให้รู้ถึงการจำแนกชนิดพันธุ์ ข้อแนะนำการเลี้ยง เพื่อที่จะได้ขนาดไก่ตามที่ตลาดต้องการ

ความทุ่มเท และใส่ใจกับการจัดระบบฟาร์มให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ได้ส่งผลให้ฟาร์มของเขาได้รับรางวัลฟาร์มดีเด่นระดับจังหวัด จึงถือเป็นโอกาสดีที่ส่งผลให้ได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ตำบลในเวลาต่อมา

 

จัดแบ่งเนื้อที่เลี้ยงไก่หลายชนิด อย่างเป็นสัดส่วน

บนเนื้อที่กว่า 80 ไร่ ของบ้านเลขที่ 9 หมู่ 7 ตำบลท่ากูบ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ และเป็นผืนดินที่ทำกินของครอบครัววงศ์รา เพื่อใช้ทำการเกษตรกรรมและปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด คุณชัชวาลได้จัดแบ่งเนื้อที่ประมาณกว่า 2 ไร่ เพื่อจัดสร้างเป็นฟาร์มไก่ โดยมีการจัดแบ่งประเภทไก่ที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มได้แก่ ไก่ไข่,ไก่เนื้อ ,ไก่ชน รวมไปถึงเป็ด และไก่แจ้พันธุ์สวยงามที่เพิ่งเริ่ม

“ไก่พื้นเมืองเป็นลูกผสมระหว่างพ่อพันธุ์ที่เป็นไก่ประดู่หางดำ และที่เจริญเติบโตดีคือพันธุ์พม่าและลูกผสมไก่ไทย ส่วนไก่ชนเป็นพันธุ์พม่า มีจำนวน 60 ตัว ยังเป็นไก่รุ่น ถ้าเป็นไก่ไข่มีแม่พันธุ์ 5 ตัว พ่อพันธุ์ 1 ตัว และมีลูกผสมอีก 50 กว่าตัว”เจ้าของฟาร์มให้รายละเอียด

หลักในการคัดเลือกพันธุ์ไก่คุณชัชวาลบอกว่าต้องดูเป็นพันธุ์ที่มีน้ำหนักดีเมื่อโตเต็มที่ และควรโตเร็วด้วย อย่างไก่ไข่จะใช้เป็นพันธุ์ประดู่หางดำและเรดที่ใช้สำหรับเป็นแม่พันธุ์ไข่ โดยใช้ประโยชน์ตั้งแต่เก็บไข่ไว้บริโภคในบ้าน และนำออกไปขาย แล้วยังผลิตเป็นลูกไก่ในเวลาเดียวกัน พันธุ์ดังกล่าวถือว่าเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตจากไข่ดีมาก

จัดแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน

หมั่นดูแลอย่างใกล้ชิด เน้นฉีดวัคซีนป้องกันโรค

ทางด้านข้อยุ่งยากและปัญหาจากการดูแลสุขภาพไก่นั้น เจ้าของฟาร์มอธิบายว่าเรื่องของวัคซีนที่มีขั้นตอนยุ่งยากพอสมควร ซึ่งมีความจำเป็นต้องฉีดให้ครบทุกตัวเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ไม่ควรฉีดเฉพาะตัวที่เป็นโรคเท่านั้น ควรทำก่อนที่จะเป็นโรคเพราะเป็นการป้องกันในระยะยาว

เริ่มหยอดวัคซีนที่อายุ 7 วันก่อน เพื่อเป็นการป้องกันโรคอหิวาตกโรค ต่อมาเมื่ออายุ 15 วันฉีดวัคซีนเพื่อป้องโรคฝีดาษที่จะเกิดขึ้นที่ปีกไก่ จากนั้นพออายุได้ 21 วัน จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อป้องกันโรคอหิวาตกโรคอีกครั้ง”คุณชัชวาลเผย

 

ทำเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงไก่ ส่งเสริมให้หันมาช่วยกันอนุรักษ์

นอกจากจะเลี้ยงไก่ในแง่ธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับคุณชัชวาลแล้ว เขายังได้ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการต่างๆในการเลี้ยงไก่ทุกชนิด ทุกประเภทอย่างละเอียด เป็นสถานที่เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคประจำตัวไก่พร้อมกับแนวทางการป้องกันอย่างถูกวิธี

ทั้งนี้เพื่อบุคคลทั่วไปเข้าชมเพื่อศึกษาหาความรู้ ทั้งการใช้ในการประกอบอาชีพ หรือเพื่อการศึกษา แล้วจึงมีกลุ่มต่างๆเข้ามาเยี่ยมเยียนดูงานเรื่อยๆ ส่วนมากจะเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ทางกรมส่งเสริมได้มีการกระตุ้นให้เลี้ยงไก่พื้นเมือง นอกจากยังมีกลุ่มเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายโดยการจัดตั้งอีก 30 กว่ารายหมุนเวียนมาเข้าชมตลอดเวลา

ส่วนหนึ่งของฟาร์มสาธิต

เมื่อก่อนแบกไก่ไปขาย เดี๋ยวนี้รอขายที่บ้าน

ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อต้องการขายไก่คุณชัชวาลจะต้องใส่ชะลอมแบกไปส่งขายที่ตลาดสด ซึ่งจะขายได้หรือไม่ หรือจะได้ในราคาเท่าไรไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน

ภายหลังจากที่มีการจัดทำเป็นระบบฟาร์มที่ได้มาตรฐาน เน้นสร้างคุณภาพให้กับไก่ทุกตัว จึงทำให้เป็นที่รู้จักจากคนทั่วไปถึงคุณภาพไก่ที่ฟาร์มแห่งนี้ ดังนั้นจึงมีพ่อค้าหรือคนที่สนใจไก่เดินทางเข้ามาซื้อด้วยตัวเองหรือในบางคราวอาจจะต้องสั่งจองไว้ก่อนล่วงหน้า

เจ้าของฟาร์มกล่าวต่ออีกว่าสัดส่วนการขายไก่ที่ฟาร์ม ส่วนใหญ่แล้วพ่อค้านิยมมาซื้อไก่เนื้อมากกว่าเพราะมีความสมบูรณ์มากทั้งขนาดและรูปร่าง มีผิวสวยหลังจากถอนขนออก อย่างไรก็ตามไก่ไข่และไก่ชนมีปริมาณการขายรองลงมา

“ไก่จะมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัมต่อตัว เมื่อเลี้ยงมาประมาณ 4 เดือน ซึ่งเป็นข้อดีตรงที่สามารถจำกัดเวลาการเลี้ยงได้ และกำหนดเป็นรุ่นที่ต้องการขายได้เช่นถ้าต้องขายรุ่นนี้ที่เลี้ยงมา 4 เดือนจำนวน 60 ตัว

ไก่ที่เลี้ยงในบริเวณแนวกั้นเพื่อความปลอดภัย

โดยกำหนดราคาจำหน่ายอยู่ที่ 85 บาทต่อกิโลกรัมของไก่เนื้อ ถ้าชำแหละขายกิโลกรัมละ 150 บาท ส่วนไก่ชนจะคัดขนาดและสายพันธุ์ก่อน โดยปกติขายตัวละ 500-600 บาท สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มาซื้อไก่มีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเกษตรกรภายในหมู่บ้าน อีกกลุ่มเป็นพ่อค้าที่อำเภอจัตุรัส”คุณชัชวาลอธิบายเพิ่ม

แล้วยังบอกต่ออีกว่าถ้าเป็นลูกค้าไก่ชนจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบมาซื้อ ที่นิยมเป็นไก่ในวัย 8 เดือน เพราะอยู่ในช่วงไก่รุ่น จำนวนไก่ที่ซื้อกันไปแต่ละครั้งไม่มีความแน่นอน บางคนซื้อ 1-2 ตัว บางคนซื้อครั้งละ 6-7 ตัว ทั้งนี้แล้วแต่ความพอใจ

คุณชัชวาลเผยถึงเทคนิคการเลือกไก่ชนของลูกค้าแต่ละครั้งว่า ผู้ซื้อจะต้องประกบคู่ไก่ก่อนตัดสินใจ โดยจะพิจารณาจากความแข็งแรง ปราดเปรียว และทรหด อย่างไรก็ตามพันธุ์ที่นิยมกันในแถบนี้จะมีพันธุ์ม้าล่อ ป่าก๋อย หรือไทยลูกผสม ซึ่งพันธุ์ดังกล่าวทางคุณชัชวาลใช้วิธีสังเกตข้อดี ข้อด้อยของแต่ละสายพันธุ์ แล้วนำมาปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ต่อไป

สำหรับไก่ไข่นั้นจะจำหน่ายเป็นลูกไก่ในราคาตัวละ 25-30 บาทเป็นพันธุ์โรสแมรี่ อายุไก่ที่ปล่อยไปขายเพื่อใช้เป็นไก่ไข่จะอายุราว 9 เดือน ซึ่งถือเป็นช่วงไก่รุ่น

ความที่เป็นคนสนใจเรื่องไก่พื้นเมือง และต้องการอนุรักษ์พันธุ์ไก่ไว้ให้มีการศึกษากัน พร้อมกับต้องการให้มีการขยายวงกว้างออกไปทุกที่ ทุกแห่ง ทั่วประเทศ  ดังนั้นคุณชัชวาลจึงมีเป้าหมายว่าต้องการสร้างเครือข่ายการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในลักษณะแพร่กระจาย อีกทั้งยังสามารถช่วยสกัดและป้องกันการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆที่จะเกิดกับไก่ไม่ให้สูญพันธุ์ไปเร็ว

ครอบครัววงศ์รา

ท่านผู้อ่านที่สนใจอยากทราบรายละเอียดการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน ลองโทรศัพท์ไปขอคำแนะนำจากคุณชัชวาลที่หมายเลข 089-232 8329 และ081-0708017

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560