บัณฑิต ม.แม่โจ้…สุธน สังจันทร์ กับความสำเร็จของการเลี้ยงไก่สวยงามนานาชาติอาเซียน

ไก่ที่เราเห็นหรือรู้จักกันทั่วไป มักจะเป็นไก่สายพันธุ์พื้นบ้าน ไก่ชน ที่หาดูได้ง่าย แต่กับไก่แปลกๆ ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากต่างประเทศ อาจจะหาชมได้ยากหน่อย วันนี้เราจึงมานำเสนอไก่สวยงามนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น ไก่ตีนโตเวียดนาม ไก่ต๊อก ไก่โปแลนด์ ไก่มินิโคชิน ไก่ดำ และไก่หัวเราะ

คุณสุธน สังจันทร์ กับ พ่อปทุม และ แม่สละ

คุณสุธน สังจันทร์ อยู่บ้านเลขที่ 62/2 หมู่ที่ 14 ตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย บัณฑิตมหาวิทยาลัยแม้โจ้ รุ่น 73 ที่จบทางด้านพืชสวนมา แต่มีอาชีพดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไอทีให้บริษัทเอกชน ในจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าของไก่สวยงามนานาชาติอาเซียน

มีข้อสงสัยว่า ทำไมถึงเลือกเลี้ยงไก่สวยงาม ไม่เลี้ยงเป็นพวก ไก่ชน ไก่พื้นบ้านทั่วๆ ไป คุณสุธน บอกว่า เลี้ยงเพราะความน่ารัก มันไม่เหมือนพวกไก่ชนที่จะต้องดูชั้นเชิง ดูสายพันธุ์ แต่ไก่สวยงามไม่ต้อง

ไก่มินิโคชิน

อย่างไก่มินิโคชิน มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีน แต่ในเมืองไทยมีการนำเข้ามาอย่างแพร่หลาย มีจุดเด่นที่ ตัวเล็กกลมๆ ไซซ์มินิ โตเต็มที่น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมเศษๆ เราจะเห็นว่าตรงขามีขนงอกออกมา ดูเผินๆ ขาสั้นคล้ายไก่แจ้ เหมาะสำหรับคนที่อยากเลี้ยงไก่ แต่พื้นที่ไม่มาก อย่างหมู่บ้านจัดสรร ออกไข่ 1 ครั้ง ได้ประมาณ 10-13 ฟอง คุณสุธน ขายคู่ละ 5,000 บาท ทั้งตัวผู้และตัวเมีย

ไก่โปแลนด์

ถัดมาเป็นไก่โปแลนด์ ที่สังเกตได้เด่นๆ ก็คือทรงผม ที่จะเป็นพุ่มๆ บนหัว บางคนก็ว่าเหมือนใส่หมวก บางคนก็ว่าเหมือนคนเพิ่งตื่นนอนผมจะฟูๆ ตัวผู้จะมีเหนียงยาว หงอนเล็กๆ บนหัวคล้ายเขาควาย ต่างจากไก่พันธุ์อื่นๆ ลักษณะของตัวเมียจะคล้ายตัวผู้เหนียงไม่ยาวและตัวเล็กกว่า เลี้ยงเพื่อความสวยงาม

ราคาขายของคุณสุธน หลักๆ ก็อยู่ประมาณคู่ละ 5,000-7,000 บาท แต่ที่ขายทั่วไป จะขายเป็นเดือน 1 เดือน 1,000 บาท อย่างลูกไก่ฟักออกมาได้ 1 เดือน ก็จะมีราคา 1,000 บาท หรือ 2 เดือน ก็ 2,000 บาท

ไก่หัวเราะ ด้านซ้ายตัวเมีย ด้านขวาตัวผู้

ไก่หัวเราะ ชื่อนี้อาจจะมาจากเสียงขันของไก่ที่มีลูกคอหลายชั้น จนคล้ายเสียงหัวเราะของคน มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย

คุณสุธนเลี้ยงไก่หัวเราะมา 2 ปีกว่า ถามถึงความนิยมในตอนนี้ ก็มีลูกค้าถามเข้าเรื่อยๆ จนตอนนี้เพาะพันธุ์ไม่พอขาย คุณสุธนเล่าว่า ส่วนใหญ่คนที่ขอซื้อไปเลี้ยง จะนิยมของแปลกและความสวยงามของไก่ ซื้อไปเลี้ยงตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือที่พัก ให้ลูกค้าดู ปัจจุบันที่บ้านเหลือพ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 3 ตัว ตีเป็นราคาตัวละ 10,000 บาท

ไก่ตีนโตสีขาว

ไฮไลต์เด็ด ที่ใครๆ มาขอสัมภาษณ์ก็ต้องมีเจ้าตัวนี้ คุณสุธนเต็มใจนำเสนอนั้นก็คือ ไก่ตีนโต หรือเรียกอีกอย่างว่า ไก่ดองเต๋า ลักษณะเด่นเลยก็คือ เท้าไก่ที่ใหญ่กว่าพันธุ์ทั่วๆ ไป จนได้ชื่อว่าไก่ตีนโต ถ้าโตเต็มที่ มีขนาดใหญ่เท่าข้อมือคนได้ และพิเศษอีกก็คือน้ำหนัก โตเต็มที่ก็จะหนักถึง 6 กิโลกรัม

คุณสุธนเล่าว่า ในเวียดนามนิยมเลี้ยงเป็นไก่เนื้อ เพราะเนื้อมีรสชาติอร่อยมีมันติด เหตุผลที่นำเข้ามาเลี้ยงก็เพราะมีความแปลกและมีราคาดี อย่างตัวผู้อายุประมาณ 3 เดือน ราคาอยู่ที่ 4,500-5,000 บาท ต่อตัว ที่บ้านมีไก่ตีนโตไว้ทำพันธุ์ถึง 30 ตัว และที่พิเศษอีกอย่างคือ ไก่ตีนโตสีขาว ซึ่งในเวียดนามที่เป็นถิ่นกำเนิดยังหายาก แต่ที่บ้านของคุณสุธน มีพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์อยู่ 1 คู่

ไก่ตีนโตสีขาว ส่วนใหญ่คนระดับสูงจะเลี้ยงไว้เพื่อที่จะนำมาทำอาหาร หรืองานมงคลต่างๆ เพราะสีขาวเป็นสีมงคล จากที่คุณสุธนสำรวจมา เล่าว่า ไก่ตีนโตเวียดนามมีทั้งหมด 6 ตัว ที่เวียดนามมี 2 ตัว ที่ลาว 2 ตัว

หายากมาก

และที่บ้านคุณสุธน 2 ตัว นับได้ว่า อาจจะเป็นคู่เดียวในประเทศไทย ตอนซื้อมาอายุ 3-4 เดือน ราคาก็สูงถึง 30,000-40,000 บาท จนปัจจุบันเลี้ยงจนตัวผู้ทับตัวเมียเริ่มฟักไข่ ส่วนไก่ตีนโตเวียดนามที่ไม่ใช่สีขาว กำลังอยู่ในช่วงเพาะพันธุ์ 6 เดือน เริ่มให้ไข่ ราคาขายคู่ละ 20,000 บาท มีคนให้ความสนใจเยอะพอสมควร แต่แบ่งขายได้นิดหน่อย เพราะถ้าหากขายหมด จะไม่มีพ่อแม่พันธุ์ไว้เพาะขายต่อ

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีไก่แปลกที่จะเล่าถึงอีก 2 พันธุ์ นั้นคือ ไก่ดำและไก่ต๊อก ไก่ดำที่คุณสุธนเลี้ยง มีไก่ดำญี่ปุ่นกับไก่ดำอินโดนีเซีย ไก่ดำญี่ปุ่นจะสังเกตได้จากขนที่ฟู ตอนนี้อยู่ในช่วงเพาะพันธุ์อยู่

ไก่ดำอินโดตัวเมีย
ไก่ดำอินโดกับไก่ดำญี่ปุ่น เตรียมทำพ่อพันธุ์

ส่วนไก่ดำอินโดนีเซีย มีลักษณะดำทั้งตัว ตั้งแต่หงอน หน้า ดวงตา ขา ไม่มีสีอื่นแซม เนื้อก็ค่อนข้างดำ ตอนนี้เลี้ยงอยู่ 5-6 ตัว วิธีสังเกตตัวผู้คือ หงอนจะตั้งสูงกว่าตัวเมีย ราคาขายเดือนละ 1,000 บาท ส่วนใหญ่ที่ประเทศอินโดนีเซียเลี้ยงเพื่อเสริมบารมี หรือนำมาบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่นิยมบริโภคเพราะมีราคาค่อนข้างสูง ตัวผู้หนักได้ถึง 2.5 กิโลกรัม แต่ตัวเมียหนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม

ไก่ต๊อก

ไก่ต๊อก มีลักษณะสวยงามคล้ายๆ นกคุ่ม อ้วนกลมและเสียงร้องที่ทรงพลัง เมื่อตกใจไก่สามารถส่งเสียงเป็นสัญญาณเตือนได้ดีทีเดียว มีนิสัยเปรียวหรือดื้อ ชอบบิน

แต่คุณสุธนอาศัยความคุ้นเคย ใกล้ชิด ระหว่างเจ้าของกับไก่ เล่นด้วยบ่อยๆ ไก่ก็จะคุ้นเคย ไก่ต๊อกให้ไข่ดกปีละ 200 กว่าฟอง ไข่รสชาติมัน อร่อย เปลือกแข็ง ตอนนี้ที่บ้านเลี้ยงไว้กว่า 50 ตัว

ไข่เค็มไก่ต๊อก

ไข่ไก่ต๊อก ที่บ้านก็นำมาทำเป็นไข่เค็มไว้บริโภคภายในครัวเรือน วิธีทำง่ายๆ คือ ต้มน้ำกับเกลือให้เดือด แล้วนำน้ำมาพักให้เย็น จึงนำไข่ลงไปแช่ทิ้งไว้ 15 วัน จะเค็มได้ที่ ราคาไข่ไก่ต๊อกแบบฟักตัวจะอยู่ที่ฟองละ 30 บาท ถ้าเป็นตัวโตเต็มวัยราคา 450-500 บาท

ถามความรู้สึก คุณแม่สละ สังข์จันทร์ ตอนที่คุณสุธนนำไก่เข้ามาเลี้ยงครั้งแรก แม่ไม่พอใจมาก กลัวว่าจะเอาภาระมาให้ เพราะเดิมพ่อแม่มีอาชีพทำนา ก็ไม่มีเวลาทำอย่างอื่น แต่ปัจจุบันคุณแม่ไม่อยากทำนาแล้ว เพราะรายได้ดีสามารถปลดหนี้ได้ ก่อนหน้ามีหนี้ 600,000 บาท เลี้ยงไก่ของลูกสามารถปลดหนี้ได้ แถมยังมีเงินฝากบัญชีเพิ่ม อีกอย่างการเลี้ยงไก่ทำให้ได้อยู่บ้าน เหนื่อยก็สามารถนอนพักได้

ข้าวเปลือกอาหารหลัก
ปลวกอาหารเสริม

วิธีการดูแลไก่สวยงามที่เลี้ยง คุณแม่สละเล่าว่า ตั้งแต่ตื่นเช้าก็เอามุ้งขึ้น ดูเรื่องอาหาร อาหารที่ให้ก็เป็นอาหารไก่กับข้าวเปลือกที่เราปลูกเอง และการถ่ายน้ำ ทำความสะอาด กวาดมูลไก่ทุกวันตอนเช้า พอตกเย็นก็เอามุ้งลง ดูอาหาร วันไหนฝนตกก็จะเปิดไฟไว้เพื่อให้ความอบอุ่น

ส่วนเรื่องโรค คุณสุธนจะปรึกษาปศุสัตว์อำเภอตลอด คอยอัพเดตเรื่องการเลี้ยงตลอด ตอนนี้มีการนำไปตรวจโรค เข้าร่วมโครงการพื้นที่ปลอดโรค อยู่ในขั้นตอนรอเอกสารรับรอง

“อยากฝากถึงคนที่สนใจหรือกำลังลังเลที่จะเริ่มต้นอาชีพเลี้ยงไก่ บางทีเราเรียนจบมา เราไม่จำเป็นต้องทำงานตรงสาย อย่างคุณสุธนจบทางด้านพืชสวนเกี่ยวกับดอกไม้ต่างๆ แต่ทำงานบริษัทที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมีอาชีพเสริมเลี้ยงไก่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียนมา แต่เราสามารถนำมาพัฒนา ต่อยอดให้เข้ากันได้” บัณฑิตแม่โจ้บอก

คุณสุธน มอบไก่สวยงามให้กับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย

ท่านใดสนใจไก่สวยงามนานาชาติอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นไก่ตีนโต ไก่ดำ ไก่หัวเราะหรือไก่ต๊อก ก็สามารถติดต่อมาที่ คุณสุธน สังจันทร์ เบอร์โทรศัพท์ (082) 392-5656 ที่อยู่ 62/2 หมู่ที่ 14 ตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย หรือติดต่อผ่าน Facebook : สุธน สังจันทร์

……………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564