ยกระดับฟาร์มไก่พื้นเมือง ปูทางสู่โมเดิร์นเทรด-ร้านอาหารพรีเมี่ยม

ไก่พื้นเมืองหรือ “ไก่บ้าน” เป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญในชุมชนและท้องถิ่น และเป็นแหล่งอาหารที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยมาตลอด ขณะเดียวกัน การเลี้ยงไก่พื้นเมืองยังเป็นทางเลือกอาชีพสำหรับเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากใช้เงินลงทุนน้อย ดูแลจัดการง่าย ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทนต่อการเป็นโรคได้ดี

ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองกว่า 2.36 ล้านครัวเรือน และมีไก่พื้นเมืองไม่น้อยกว่า 72.5 ล้านตัว ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยพันธุ์ไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงมีหลายสายพันธุ์ เช่น ไก่พันธุ์ประดู่หางดำ ไก่พันธุ์เหลืองหางขาว ไก่พันธุ์แดง ไก่พันธุ์ชี และไก่พื้นเมืองลูกผสม เป็นต้น ซึ่งราคาซื้อขายไก่พื้นเมืองจะสูงกว่าไก่เนื้อ หากเกษตรกรมีระบบการผลิตไก่พื้นเมืองที่ได้มีมาตรฐาน คาดว่าจะทำให้มีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดและมีช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ขณะนี้ มกอช. ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่พื้นเมือง เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรรายย่อยสามารถปฏิบัติและพัฒนาฟาร์มเลี้ยงไก่พื้นเมืองเข้าสู่ระบบมาตรฐานได้จริง  ทั้งยังเป็นแรงจูงใจและช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพเนื้อไก่พื้นเมืองที่มีความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และตรงตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดสัตว์ปีก ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

1466395452

มาตรฐานฯ ฉบับนี้ ครอบคลุมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองไทยและไก่พื้นเมืองลูกผสม และมีการกำหนดเกณฑ์การเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบเลี้ยงปล่อยอิสระ (Free-range) ที่ให้ไก่สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ เช่น  การคุ้ยเขี่ยหาอาหาร การคลุกฝุ่น การไซ้ขน และการจิกกินพืช หญ้าและแมลง เป็นต้น  ซึ่งแตกต่างจากการเลี้ยงไก่เนื้อ และไก่ไข่เชิงพาณิชย์ อาทิ มีพื้นที่เลี้ยงปล่อยอิสระภายนอกโรงเรือนอย่างเพียงพอ ให้ไก่มีความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ และมีต้นไม้หรือร่มเงาเพื่อให้ไก่ได้พักผ่อน นอกจากนั้น ต้องมีพื้นที่ที่มีหญ้าหรือพืชที่เป็นอาหารให้ไก่จิกกิน อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ โดยพืชดังกล่าวต้องมีการหมุนเวียนหรือพักแปลง กรณีหญ้าหรือพืชที่เป็นอาหารไก่ไม่เพียงพอต้องมีการเสริมหญ้าหรือพืชจากภายนอก และข้อกำหนดยังระบุด้วยว่า ไก่ต้องถูกปล่อยเลี้ยงภายนอกโรงเรือนไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง  เป็นต้น

เมื่อการยกร่างมาตรฐานฯ ไก่พื้นเมืองแล้วเสร็จ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จะถือเป็นการก้าวกระโดดของวงการไก่พื้นเมืองเพื่อการบริโภคทีเดียว เพราะปัจจุบันถึงแม้จะมีความนิยมบริโภคไก่พื้นเมืองมากขึ้น แต่ยังไม่มีการให้การรับรองมาตรฐานการเลี้ยง หรือ GAP เลย ในขณะที่มีการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ มีมาตรฐานครบวงจรแล้วทั้ง GAP, GMP และอื่นๆ อนาคตคาดว่า ฟาร์มไก่พื้นเมืองเกษตรกรรายย่อยจะพัฒนาระบบการผลิตเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการตลาดโดยเฉพาะโมเดิร์นเทรด ที่เริ่มมีความต้องการเนื้อไก่พื้นเมืองคุณภาพสูง รวมทั้งร้านอาหารพรีเมี่ยมที่สามารถสร้างสรรค์เมนูพิเศษจากไก่พื้นเมืองเนื่องจากเนื้อมีรสชาติอร่อย ทั้งยังผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมไก่พื้นเมืองอย่างเป็นรูปธรรมช่วยเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญยังจะสามารถรักษาสายพันธุ์ลักษณะดีของไก่พื้นเมืองไทยไว้อย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองด้วย

เลขาธิการ มกอช. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนอกจากเกษตรกรรายย่อยจะมีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองไว้หลังบ้านเพื่อเป็นอาหารภายในครัวเรือนอย่างแพร่หลายแล้ว ยังมีกลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมืองในเชิงการค้าด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งไก่พื้นเมืองยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาแพง เช่น ไก่ประดู่หางดำ ผู้บริโภคในหลายจังหวัดมีความต้องการมาก ขณะที่ตลาดโมเดิร์นเทรดได้ขอให้เกษตรกรพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

 

“หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศใช้มาตรฐานฯ ไก่พื้นเมืองคาดว่า จะเป็นแนวทางยกระดับการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของเกษตรกรรายย่อย ทำให้มีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังเป็นมาตรฐานกลางของประเทศ สามารถใช้อ้างอิงในการค้าขายไก่พื้นเมืองได้” นางสาวดุจเดือนกล่าว ในที่สุด