คุยกันเรื่องวัวนมในบ้านเรา

หลายปีมาแล้ว ที่คนไทยไม่รู้จักกินนมดังเช่นพวกฝรั่ง ที่เรารู้จักนมวัวเริ่มแรกแต่เดิมทีก็คือ นมกระป๋อง เราเรียกกันว่า นมข้นหวาน เป็นนมชนิดเดียวที่เรากินกัน ในรูป “กาแฟชงนม หรือกาแฟใส่นม” กินกันมานานโข จนเป็นพฤติกรรมของคนชอบนั่งจิบกาแฟยามเช้าตามร้านกาแฟทั่วๆ ไป ทั้งในบ้านนอกและเมืองกรุง สมัยนั้นยังไม่มีนมสดๆ มาขายกันหรอก ยกเว้นแขกที่เลี้ยงวัวรีดนมเอามาขาย ใครซื้อไปกินก็ต้องเอาไปผ่านการฆ่าเชื้อ ต้มเอาเอง

จะไม่ขอพูดประวัติพวกนี้นะครับ ใครสนใจประวัติคร่าวๆ เกี่ยวกับการเริ่มวัวนมในประเทศไทย ก็ต้องขอความกรุณาหาอ่านเอาเอง เรื่อง การผลิตวัวนมและการจัดการ เขียนโดย สุพจน์ ศรีนิเวศน์ และ ปิยะศักดิ์ สุวรรณี กรมปศุสัตว์ เริ่มเขียนเมื่อราว 12 ธันวาคม 2551 ซึ่งเคยลงนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ของมติชน (ฉบับเทคโนโลยีชาวบ้าน) รายปักษ์ ออกทุกๆ วันที่ 1 และวันที่ 15 ของเดือน (ยกเว้น เดือนกุมภาพันธ์ ดูเอาเองก็แล้วกันนะครับ) หนังสือเล่มที่กล่าว มีข้อมูลความรู้อยู่มากมาย ถ้าท่านมีโอกาสได้อ่านจะเข้าใจทั้งวิธีปฏิบัติ เข้าใจการใช้พันธุ์วัวนม สำหรับประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น

ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวซ้ำซาก แต่จะขออนุญาตจากท่านผู้อ่านในเรื่องนี้ “เรา” ทำกันมาตั้งนาน ยังไม่เข้าใจ

– ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของเมืองไทย

– สัตว์ (วัว) ที่มันจะอยู่ได้ในสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของเมืองไทย มันจะต้องมีคุณสมบัติ ดังกล่าวต่อไปนี้

+ อยู่ได้ปรับตัวได้ในสภาพภาวะอากาศเมืองไทย

+ กินอาหารและหญ้า ซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นได้ดี

+ ประหยัดค่ายา ในด้านของสุขภาพ

+ เลี้ยงดูง่าย ไม่เจ็บป่วย (กันทั้งปี)

+ ให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่มีกำไรและพอใจ

+ สัตว์ปรับตัวได้ดีในสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม

ธรรมชาติของคนไทยเรามีความคิดที่แตกต่างกัน แต่ละคนก็มีเหตุผลเป็นของตนเองมากเกินไป จนไม่ฟังเหตุผล หรือไม่ก็ไม่เข้าใจเหตุผลของคนอื่นเอาเสียเลย

เราทำเรื่องวัวนมมานานพอสมควรแล้ว เราก็ยังคิด ยังทำเหมือนๆ เดิม ขอให้พยายามเข้าใจความจริง (FACT) ของธรรมชาติให้มากๆ หลักๆ ก็คือ

– จงทำสัตว์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่

– อย่าทำสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับสัตว์ (เพราะราคาจะแพง)

(จากคำบรรยายตอนหนึ่งของการเลี้ยงสัตว์ ของท่านศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ชวนิศนดากร วรวรรณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อปี พ.ศ. 2497)

คำกล่าวของท่านนั้น ยังมีเขาๆ เราๆ อีกหลายท่านที่ไม่เข้าใจ ฉะนั้น เรื่องของ วัว (นม) ของเราจึงยังคิดเห็นต่างๆ กันไป ไม่จบสักที ผิดกับพวกฝรั่งเขา เขาคิดจนเป็นรูปแบบออกมา สติ คือ ความระลึกได้ อาจช่วยให้ใช้ประโยชน์จากวัวสองตระกูลนี้ คือ Bos Taurus เป็นวัวที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศยุโรป และ Bos indicus วัวแขกวัวไทย มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย

ผู้เขียนไม่ใช่เป็นผู้รับรู้ไปหมดทุกอย่าง (Not Mr.Know it all) แต่ขออนุญาตกล่าวถึงปัญหาและวิธีแก้ไข โดยใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่มีอยู่แล้วในตัววัวให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีพของคน

วัวนมฝรั่ง (หรือตระกูลยุโรป, Bos taurus) ที่เรารู้จักกันดี ก็คือ อเมริกันบราวน์สวิส ต้นกำเนิดในยุโรป แต่ผู้อพยพชาวยุโรป นำติดตัวมาเลี้ยงเมื่อ 254 กว่าปีที่ผ่านมา (ปีนี้ พ.ศ. 2564) เป็นวัวกึ่งเนื้อกึ่งนม คนอพยพเขากินนม จึงรีดนมมันกิน ทุกๆ คนสมัยนั้นจึงเอานมจากบราวน์สวิสมากิน คัดเลือกวัวให้นมมากๆ ไว้กินกัน ไม่สนใจเรื่องเนื้อวัว บราวน์สวิสจึงถูกคัดเลือกให้เป็นวัวนมอย่างเดียวตลอด 200 กว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2491 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง จำนวน (ไม่มีบันทึกจดเอาไว้) แต่คาดว่าประมาณ 70 ตัว ส่วนใหญ่เป็นตัวผู้ (พ่อพันธุ์) กรมปศุสัตว์มีสถานีผสมเทียมของกรมปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะเท่าที่ทราบคือที่เชียงใหม่ ที่ท่าพระ (ขอนแก่น) และที่หนองโพ (โพธาราม ราชบุรี) พ่อพันธุ์ใช้รีดน้ำเชื้อสด ผสมเทียมในเขตบริเวณใกล้เคียงเท่าที่จะไปได้ คนเก่าๆ โดยทั่วไปจำนวนมากรู้จักวัวพันธุ์บราวน์สวิสดี ทั้งเชียงใหม่-ท่าพระ-หนองโพ ชอบวัวบราวน์สวิสเอาไปผสมกับแม่วัวไทย ได้ลูกครึ่ง ลูกค่อน (50%, 75%) มารีดนมกัน ที่หนองโพ ราชบุรี ถึงกับมีสหกรณ์โคนม (วัวนม) หนองโพในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นแห่งแรกขึ้นมา จนถึงทุกวันนี้ ไม่มีข้อมูลบ่งชัดว่าตัวเมียไปอยู่ไหน ผู้เขียนเข้าใจว่าคงอยู่ตามสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์บ้าง ตามสถานีผสมเทียมบ้าง ค่อยๆ สูญพันธุ์บ้าง (ภาษาฝรั่งเขาว่า Fade Away) ด้วยโรคร้ายแรงโรคหนึ่ง เขาเรียกกันว่า “โรคไข้เห็บ” ฝรั่งเขาเรียกว่า โรค Tick (เห็บ) Fever  หรือ Pyroplasmosis (ไพโรพลาสโมซิส) เมื่อปี 2502 ผู้ใหญ่สุดๆ ท่านหนึ่งไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์มา ไปสั่งวัวบราวน์จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มา 21 ตัว (ท่านคิดว่าวัวนมบราวน์สวิสมันต้องมาจากสวิส) ความจริงในสวิตเซอร์แลนด์ เขาไม่มีการคัดเลือกวัวนี้เป็นวัวนมเหมือนอเมริกา วัวบราวน์สวิสในยุโรป จึงเป็นวัวที่เขาใช้ตามวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือ เป็นทั้งวัวเนื้อและวัวนมในตัวเดียวกัน (Dual purposes)

วัวทั้ง 21 ตัว เราจับเข้าซองยืนโรงจนโดนท่านผู้ใหญ่บอกให้ปล่อยลงแปลง พอปล่อยไปได้ 7-8 วัน มันเริ่มมีไข้ตัวร้อนจาก 98 องศาฟาเรนไฮต์ เป็น 102 องศาฟาเรนไฮต์ เป็น 107 องศาฟาเรนไฮต์ แล้วก็ตาย คือมันเป็นโรคไข้เห็บ (ไพโรพลาสโมชิสนั่นแหละ) กรมปศุสัตว์ระดมนายสัตวแพทย์ไปช่วยกันปราบโรคนี้ถึง 8 คน ผมยังรักและคิดถึงพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ไปปราบโรคนี้เป็นเวลานาน 3 เดือนเศษๆ ปราบกันจนโรคสงบ เพราะว่าวัวมันตายหมด ความจริงมันเหลืออยู่ 1 ตัว ไม่ป่วยไม่ตาย (น่าสนใจดี)

ทางที่ดีที่สุดของเราในการทำพันธุ์วัวนมคือ ทำเป็นลูกผสมที่มีเลือดวัวฝรั่ง 62.5% และวัวแขก 37.5% รับรองว่าอยู่รอด 100% ให้ผลตอบแทนพองาม ผู้เขียนเข็ดกับการเลี้ยงวัวพันธุ์ฝรั่งในเมืองไทยจนทุกวันนี้ จึงอยากที่จะหลีกเลี่ยงทุกวิถีทางเกี่ยวกับโรคร้ายๆ แบบนี้ ลูกผสมระหว่างวัวฝรั่งกับวัวแขกเลือดฝรั่งไม่เกิน 75% การเลี้ยงดู การจัดการดี อาหารดี ก็พออยู่ได้ แต่เลือดวัวฝรั่งสูงสุด 62.5% เลี้ยงได้ง่ายกว่า ถ้าเข้าใจและเก่งในการคัดเลือก ผล (yield) ของมันในทุกชั่วก็ได้ไปในทางบวกจนถึงระดับที่น่าพอใจได้

ระหว่างปี พ.ศ. 2502-2507 สถานที่บำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวาง (ในขณะนั้น) ได้รับคำสั่งจากทางกรมปศุสัตว์ให้เตรียมตัวให้พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ซึ่งจะตั้งอยู่ที่สถานีพืชอาหารสัตว์มวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก (สถานีพืชอาหารสัตว์ต้องย้ายไปอยู่ที่ซับหวาย เขตอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา) ในเนื้อที่ 2,350 ไร่ ให้สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ หรือสถานีพืชอาหารสัตว์มอบโอนวัวลูกผสมวัวนมตัวเมียทั้งหมดไปไว้ที่สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวางเพื่อรีดนม และคัดเลือกวัวตัวเมียที่ให้นมเกิน 4-5 ลิตร ต่อวัน ไว้เพิ่มจำนวน เพื่อช่วยฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ต่อไป (เพราะเดนมาร์คเขามีลูกศิษย์ที่ผลิตมาเพื่อให้เป็นเจ้าของวัวนมในละแวกมวกเหล็กนั้นด้วย)

ผู้เขียนเห็นว่าวัวนมลูกผสมเป็นลูกผสมของวัวบราวน์สวิสอเมริกา (US.Brownswiss) กับพวกวัวบังกาลาหรือเรดชินดี้ พวกขาว-ดำ (โฮลล์สไตล์ แทบไม่มี) นอกนั้นก็เป็นลูกผสมจากพันธุ์เจอร์ซี่ และเกอร์นซี่ ซึ่งอาจได้มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็เป็นได้ ขอให้สังเกตด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ลูกผสมพันธุ์บราวน์สวิสให้นมสูงและยืนระยะให้นมยาวกว่าพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะบราวน์สวิสกับเรดซินด์ (B50% + R50%) ตัวที่ให้นมสูงสุดสมัยนั้น จำได้ว่าซื่อ “มยุรี” มีเลือดบราวน์สวิส 50% และเรดซินดี้ 50% ผู้เขียนมีเครื่องตรวจไขมันนม ซื่อ Dr.N.Gerber (เอ็นเกอร์เบอร์) แม่มยุรีในปี พ.ศ. 2504 ให้นม 4,800 กิโลกรัม ไขมัน 4.1% ในระยะเวลารีดนม 305 วัน (เรื่องจริง-ไม่ได้โกหก) เมื่อเกือบ 60 ปีมาแล้ว

นอกนั้นตัวอื่นๆ ก็ได้นม 4,100 กิโลกรัม, 3,700 กิโลกรัม ลดลงมาตามขีดความสามารถ วัวจำนวนหนึ่งส่งให้แก่เกษตรกรฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค รายละ 2 ตัว ผู้เขียนเลือกให้เองคือ ดี 1 ตัว ดีรองๆ ลงมา 1 ตัว ประมาณ 70 ครอบครัว ในเวลา 3 ปี

ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นลูกผสมพันธ์อื่นๆ เล็กน้อยเท่านั้น เช่น ลูกผสมขาว-ดำ (โฮลล์สไตน์) ลูกผสมเจอร์ซี่ ลูกผสมเกอร์นซี่ เท่านั้น ขอให้ข้อสังเกตจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ข้าพเจ้าคิดว่าวัวลูกผสมบราวน์สวิสกับวัวแขก ให้ผลตอบแทนการให้นมดีกว่าพันธ์อื่นๆ (ยูเอสบราวน์สวิสเท่านั้น) วัวแต่ละพันธุ์ การรวมตัวของหน่วยพันธุกรรมได้ผลไม่เท่ากัน แต่มั่นใจมากๆ ว่า เลือดอเมริกันบราวน์สวิสรวมตัวกับพวกวัวตระกูลซีบู ได้ดีกว่าวัวยุโรปพันธุ์อื่นๆ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่สร้างขึ้นมาให้เราเป็นคนช่างสังเกตและศึกษา ก็จะช่วยเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่า ดีกว่าการพายเรืออยู่ในอ่าง

ผู้เขียนขอยุติเรื่องของวัวยูเอสบราวน์สวิส (US Brown Swiss) ไว้เพียงแค่นี้ก่อน มาถึงเรื่องวัวพันธุ์อื่นๆ ที่ท้าทายมากที่สุด และเป็นวัวที่มีประชากรมากที่สุด ก็คือพันธุ์ ขาว-ดำ (Black and White) หรือเรียกเป็นคำเต็มๆ  ว่า โฮลล์สไตน์ ฟรีเซียน (Holstein Friesian) มีถิ่นกำเนิดเริ่มแรกทางตอนเหนือของประเทศเนเธอร์แลนด์ สมัยก่อนเรียกชื่อประเทศนี้ว่า ประเทศฮอลันดา เรื่องราวของวัวพันธุ์นี้มีผู้นำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 จากดอยสะเก็ด เชียงใหม่ สู่ภาคเหนือตอนกลาง ภาคใต้สุดถึงชุมพร ภาคตะวันออกถึงสระแก้ว ้คาดว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัว (กรมปศุสัตว์ก็นำเข้าจากแคนาดา 500 แม่ ราวๆ 20 ปีกว่าๆ มาแล้ว

ปัจจุบันไม่เหลือเป็นพันธุ์แท้อีกแล้ว “Gone with the wind-หายไปกับกระแสลม”) อ.ส.ค. ก็นำเข้าจากนิวซีแลนด์ 60 ตัว วัวสาวทุกๆ แห่งที่นำเข้า มันก็ละลายสลายไปกับกระแสลมเหมือนๆ กัน ทุกๆ แห่งพยายามจะทำสิ่งแวดล้อมให้มันเข้ากับสัตว์แทนที่จะทำสัตว์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ตามที่กล่าวมาแต่ต้น 

………………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2562