แนะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ทำอย่างไรให้อยู่รอด

ในภาวะที่หมูราคาตกต่ำ ราคาขายหน้าฟาร์มเหลือเพียงกิโลกรัมละ 43 บาท จากเมื่อก่อนราคากิโลกรัมละ 63 บาท เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเจอภาวะขาดทุนตัวละ 800-1,000 บาท และนอกจากขาดทุนแล้วเกษตรกรยังต้องเผชิญกับภาวะกดดันจากการแทรกแซงการตลาดของนายทุนใหญ่ที่เข้ามาครองตลาดไปกว่าครึ่ง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องยอมแพ้ปิดกิจการ สาบสูญกันไปตามๆ กัน จะอยู่ได้ก็แต่เพียงเกษตรที่สืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่น มีเงินทุนหมุนเวียนที่ดี ทำกันเองเป็นอุตสาหกรรมครอบครัวเพื่อลดต้นทุน หากจะหาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายใหม่หาได้ยาก หรืออาจหาไม่ได้ด้วยซ้ำ ที่เห็นตอนนี้ก็จะมีแต่ทุบเล้าหมูทิ้ง ขายกระเบื้องขายที่ เอาเงินไปลงทุนทำธุรกิจอย่างอื่น แต่อย่างไรผู้คนในประเทศก็ยังต้องบริโภคหมูเป็นอาหารหลัก เกษตรกรผู้เลี้ยงก็ต้องสู้กันไป และควรสู้อย่างไรให้อยู่รอดพ้นวิกฤตไปให้ได้

คุณสุพรชัย จันธนะตระกูล บ้านเลขที่ 156 หมู่ที่ 7 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เล่าว่า ตนเกิดมาในครอบครัวที่ทำกิจการฟาร์มหมูมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ รุ่นแม่แล้ว โตขึ้นรู้เรื่องก็ต้องช่วยพ่อแม่เลี้ยงหมู ดังนั้น หากจะให้ไปทำอาชีพอื่นคงไม่ทำ เลี้ยงหมูมา 50 ปี ถึงแม้ว่าการเลี้ยงหมูจะมีรายได้ที่ไม่แน่นอน หากมีกำไรก็ได้มาก หากขาดทุนก็ขาดทุนมากเช่นกัน เป็นเรื่องธรรมดา อาชีพเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่มีต้นทุนสูง ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนาน ราคาไม่แน่นอน ต้องคนที่เลี้ยงมานานถึงจะอยู่ได้ อย่างปีนี้ราคาแย่ผู้เลี้ยงต้องมีประสบการณ์ อาศัยประสบการณ์ที่มีมาแก้ไขปัญหาเพื่อให้อยู่รอด

คุณสุพรชัย นอกจากเลี้ยงหมูแล้ว ยังมีสวนมะพร้าวน้ำหอมอีกสิบกว่าไร่ เป็นการหารายได้เสริม หากหมูราคาตก ก็ลดจำนวนการเลี้ยงหมูลง หรือหยุดเลี้ยงไปสักพัก มาหารายได้จากการทำสวนแทน แต่หากจะให้เลิกอาชีพเลี้ยงหมูเลิกไม่ได้เพราะเป็นอาชีพที่รัก มีกินมีใช้ได้เพราะหมู และอีกอย่างที่เขาชอบเลี้ยงหมูเพราะไม่เหนื่อยมาก ไม่ต้องไปทำงานตากแดด ตากลม ถึงเวลาให้อาหาร ทำความสะอาดโรงเรือน แค่นี้

 

คุณสุพรชัย จันธนะตระกูล

เลี้ยงหมูไม่ยากอยู่ที่การดูแลเอาใจใส่

“อย่างที่บอกไปว่าอาชีพเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่ผมรัก ดังนั้น หากใครจะเลี้ยงหมูอย่างแรกต้องมีใจรักก่อน ถ้ามีใจรักอย่างอื่นจะง่าย การเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่เลี้ยงไม่ยาก แต่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ ต้องหมั่นทำความสะอาด ถ้าปฏิบัติตามนี้ได้การเลี้ยงหมูไม่ใช่เรื่องยาก การเลี้ยงหมูจะมีกลิ่นแรง โจทย์ของเราคือจะจัดการดูแลฟาร์มของเราอย่างไรให้สะอาด ไม่มีแมลงวัน และที่สำคัญไม่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนเพื่อนบ้าน ซึ่งข้อนี้ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่ที่ฟาร์มของเราสามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ เพียง 1. หมั่นดูแลทำความสะอาดฉีดน้ำล้างคอกหมูทุกวัน 2. ขยันฉีดฆ่าเชื้อ ที่ฟาร์มของคุณสุพรชัย จะมีการฉีดฆ่าเชื้อทุกวัน การฉีดไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงซื้อยาฆ่าเชื้อ 1 แกลลอน บรรจุยา 5 ลิตร ราคา 1,350 บาท ใช้ครั้งละ 200 ซีซี ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ใช้ปั๊มสามสูบฉีดพ่นทำความสะอาดโรงเรือน 3 หลังทุกเช้า วิธีนี้ใช้แล้วได้ผล ราคาไม่แพงถ้าเทียบกับการที่ไม่ต้องเสี่ยงกับโรค สะอาด เชื้อโรคไม่ถามหา” เจ้าของเล่า

 

โรงเรือนสะอาด ไม่มีแมลงวันมารบกวน

เลี้ยงอย่างไรให้อยู่รอดในภาวะหมูราคาตก

คุณสุพรชัย บอกว่า ไม่มีวิธีอะไรที่ซับซ้อนเลย แค่ต้องเลี้ยงเอง ไม่แนะนำให้จ้างแรงงาน ถ้าสามารถทำกันเองได้ในครอบครัว อย่างตนเองทำกันเป็นอุตสาหกรรมครอบครัว มีภรรยา มีลูกชายอีก 2 คน ช่วยกันเลี้ยง ที่ฟาร์มเลี้ยงหมูครั้งละ 700-800 ตัวก็ดูแลกันเอง หมูเสียหายน้อย ไม่มีต้นทุนอะไรมาก เมื่อราคาตกเราก็อยู่กันได้ อาหารที่ใช้เลี้ยงก็ผสมเองตามสูตรที่สัตวบาลแนะนำ ช่วยลดต้นทุนได้เยอะ ทุกวันนี้ครอบครัวผมสร้างรายได้จากการเลี้ยงหมูเดือนละล้าน หักต้นทุนแล้วก็พออยู่ได้

ลูกหมูไปซื้อจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ เริ่มซื้อมาขุนตั้งแต่หมูน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยง 5 เดือน ขุนจนหมูน้ำหนัก 120 กิโลกรัมถึงจับขาย

วิธีเลี้ยง 1 คอก จะปล่อยหมูเลี้ยง 20-25 ตัวในหน้าหนาว ถ้าหน้าร้อนจะลดปริมาณหมูเหลือคอกละ 17-18 ตัว เพื่อไม่ให้หมูเครียด

1 คอก เลี้ยงหมู 20-25 ตัว

การให้อาหารให้แบบลานสาด เลี้ยงแบบใกล้ชิด วิธีนี้จะช่วยให้ดูแลได้ทั่วถึง หมูโตเสมอกันเพราะเราสามารถมองเห็นทุกตัวว่าตัวไหนได้กินตัวไหนไม่ได้กิน ดูแลง่ายเมื่อเกิดโรคเราจะยับยั้งทันเพราะเราเห็นหมูของเราทุกวันเช้า-เย็น ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเดินมาให้อาหารหมู หากให้แบบรางกลจะไม่สามารถเห็นได้ว่าหมูตัวนี้ได้กินอาหารไหม หรือหมูตัวนี้ติดโรคไหม

 

เทคนิคจัดการกลิ่นไม่ให้รบกวนเพื่อนบ้าน

“อย่างที่บอกไปตอนแรกคือ 1. ต้องหมั่นล้างทำความสะอาด ฉีดยาฆ่าเชื้อทุกวัน 2. ระบบจัดการน้ำต้องดี ที่นี่ใช้น้ำที่ทางกรมชลประทานปล่อยมา ไม่ได้ขุดน้ำบาดาลมาใช้ แต่เรามีระบบการจัดการที่ดี ไม่ให้เล้าหมูมีกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้านคือต้องคำนึงเรื่องสถานที่ น้ำจะเก็บอย่างไร ไม่ให้ไปรบกวนด้านนอก ที่นี่มีระบบบ่อเกิดกาก บ่อเกิดน้ำใส มีการระบายน้ำขี้หมูเข้าสวนมะพร้าวไปบำบัดเอง แล้วจึงดึงออกมาใช้ ถือว่าได้ประโยชน์สองต่อ คือได้บำบัดน้ำด้วยส่วนขี้หมูปล่อยเข้าสวนถือว่าเป็นปุ๋ยให้มะพร้าวล้วนๆ เมื่อมะพร้าวดูดไปก็เติมน้ำสะอาดเข้าไปครึ่งหนึ่ง เปรียบเสมือนมีการถ่ายเทน้ำตลอด เมื่อนำไปใช้จะดูดขึ้นแท็งก์พักไว้ฆ่าเชื้อโรค แล้วใช้ปั๊มสูบน้ำเข้าคอก” คุณสุพรชัย อธิบาย

 

โรงเรือนผสมอาหารหมู

หมูโตเร็วด้วยเทคนิคอาบน้ำให้หมู

การอาบน้ำให้หมูเป็นวิธีที่ทำมานานตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ในปัจจุบันพบเห็นได้น้อยเนื่องจากวิธีนี้เปลืองน้ำ ทำให้คอกเละดูแลยาก ส่วนใหญ่จะเลี้ยงแบบแห้งคือไม่มีการอาบน้ำให้น้ำเลย แต่ที่นี่เรื่องนี้มีการบำบัดไม่ได้เปลืองอะไร การอาบน้ำให้หมูมีข้อดีหลายอย่าง 1. หมูไม่เครียด ไม่กัดกัน 2. เมื่อหมูไม่เครียดส่งผลให้หมูโตเร็ว น้ำสามารถช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี วิธีนี้เกษตรกรสามารถทำตามได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องมีการดูแลทำความสะอาดคอกให้ดี

 

เปิดน้ำให้หมูอาบ ลดความเครียด หมูโตเร็ว

ข้อคิดสำหรับเกษตรกรมือเก่า-ใหม่

คุณสุพรชัย บอกว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูค่อยๆ สาบสูญกันไปทีละราย อย่างบริเวณใกล้เคียงบ้านของตนเอง เมื่อก่อนมีฟาร์มหมูหลายสิบฟาร์ม ปัจจุบันเหลือไม่ถึงสิบฟาร์มเป็นเพราะด้วยปัจจัยที่กล่าวข้างต้น แต่อยากฝากถึงเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่อย่าเพิ่งถอดใจอาชีพเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีหากมีระบบการจัดการที่ดี เทคนิคการเลี้ยงไม่มาก อย่างไรคนไทยก็ยังต้องบริโภคหมูเป็นหลัก เลี้ยงมายังไงก็ยังขายได้ แต่อาจจะต้องใช้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหา อาจจะทำเกษตรผสมผสาน ควบคู่การเลี้ยงหมู หรืออาจทำเป็นอาชีพเสริมเลี้ยงใต้ถุนบ้านขายในหมู่บ้านของตน ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ ถ้ารักอาชีพเลี้ยงหมูแล้วก็ให้สู้กันต่อไป ส่วนเกษตรกรรายใหม่ที่คิดจะเลี้ยงก็อย่าเพิ่งกลัว เห็นราคาหมูตกแล้วหนีกันหมด ก่อนจะเลี้ยงศึกษาให้ดี เพราะบางครั้งวงการปศุสัตว์การเลี้ยงหมูก็ยังต้องการเกษตรกร ลูกหลานรุ่นใหม่ นำความรู้มาพัฒนาการเลี้ยงหมูให้สู้กับนายทุน และต้นทุนที่สูงให้อยู่รอดต่อไปได้

สำหรับเกษตรกรที่สนใจอยากเลี้ยงหมู หรือโทร. ปรึกษาเคล็ดลับดีๆ จากคุณสุพรชัย จันธนะตระกูล ได้ที่เบอร์โทร. (086) 808-6378

รางส่งหมูขึ้นรถ