สกว. เร่งส่งเสริมเกษตรกรภาคเหนือ ยกระดับไก่ประดู่หางดำ(ไก่เวียงเชียงรุ่ง) สู่มาตรฐานความปลอดภัย

สกว. เร่งส่งเสริมเกษตรกรภาคเหนือ ยกระดับไก่ประดู่หางดำ(ไก่เวียงเชียงรุ่ง) สู่มาตรฐานความปลอดภัย food safety และพัฒนาผลิตภัณฑ์ไก่สำเร็จรูปพร้อมเสิร์ฟผู้บริโภค

เมื่อเร็วนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยฝ่ายเกษตร จัดศึกษาดูงานโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไก่ประดู่หางดำแบบครบวงจร ณ บ้านห้วยห้าง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย โดยมี รศ.ดร.ประภาพร  ขอไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สกว. รศ.ดร .ศิริพร กิรติการกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการฯ นสพ.สุพล ปานพาน นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการ ปศุสัตว์ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย นายณรงค์ วีรารักษ์  นักวิจัย และหัวหน้าโครงการฯ และนายมรุต ชโลธร ผู้ประกอบการทางด้านอาหาร ร่วมสังเกตการณ์และให้ความเห็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไก่ประดู่หางดำ

 

โอกาสนี้ รศ.ดร.ประภาพร  ขอไพบูลย์ กล่าวถึงที่มาของโครงการวิจัย ว่า ช่วงปี 2545-2550 กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ทำการวิจัยพัฒนาพันธุ์ไก่พื้นเมืองแท้ 4 พันธุ์ ได้แก่ ไก่แดงสุราษฎร์ ไก่ชีท่าพระ ไก่เหลืองหางขาวกบินทร์บุรี ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดไก่พื้นเมืองทั้ง 4 สายพันธุ์และขยายผลไปยังเกษตรกรให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด และในปี 2556 สกว. เริ่มดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ แก่เกษตรกร อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำให้กับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ ความโดดเด่นของโครงการฯ คือ การเน้นกระบวนการจัดการและเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการผลิตและพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำที่มีประสิทธิภาพโดยอาศัยองค์ความรู้พื้นฐานที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาโดยกรมปศุสัตว์ และ สกว. เพื่อสร้างทางเลือกแบบจำลองทางธุรกิจ (Business Model) ที่เหมาะสมกับทรัพยากรของเกษตรกรรายย่อยและบริบทของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการขยายโอกาสทางการตลาด ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำให้กับเกษตรกรรายย่อยได้อย่างยั่งยืน

“ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ เป็นไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์แท้ ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและโรคระบาด และสามารถกินอาหารที่เกษตรกรหาได้ในท้องถิ่น มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี และให้ไข่ดกกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ ตอบโจทย์ทางด้านรสชาติ และคุณภาพ ที่สำคัญสอดคล้องกับแนวทางนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการลดต้นทุนให้เกษตรกร โดยการปรับใช้กับเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ให้เกษตรกรรายย่อย รายขนาดกลางนำไปเลี้ยงเพื่อบริโภคในชุมชน หรือจำหน่ายเป็นไข่ไก่พรีเมียม” ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรกล่าว

ด้าน รศ.ดร .ศิริพร กิรติการกุล กล่าวว่า องค์ประกอบของการสร้างอาชีพ มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วน โดยทีมวิจัยได้ออกแบบโจทย์วิจัย เพื่อให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการ ร่วมกัน ตั้งแต่ระบบการเลี้ยง ไปจนถึงการทำการตลาด ด้วยองค์ประกอบ ที่สำคัญ 4 ส่วน คือ 1.การจัดการพันธุ์ (ทั้งพันธุ์แท้ และลูกผสม) สร้างแผนการผลิตที่เป็นปฏิทินการผลิตอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐาน การใช้เทคโนโลยีตู้ฟัก เพื่อลดต้นทุนลูกไก่ สร้างความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองด้วย ศูนย์คัดเลือกพันธุ์ประดู่หางดำชุมชน หากเกษตรกรไม่สามารถเป็นเจ้าของและเข้าถึงสายพันธุ์ที่ดี ในราคาที่ไม่เป็นธรรม จะไม่สามารถวางแผนการผลิต และมีต้นทุนค่าพันธุ์สูงถึงร้อยละ 15 ของต้นทุนรวม และหากเกาตรกรผลิตลูกไก่ได้เองภายในกลุ่มจะสามารถลดต้นทุน ค่าอาหารลงได้ ประมาณร้อยละ 5-10 %

2.การพึ่งพาตนเองด้านอาหารสำหรับเลี้ยงไก่ ลดการใช้อาหารสำเร็จรูป ด้วย ภูมิปัญญาการผลิตอาหารหมัก (เกษตรกรมีการปลูกพืชอาหารที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง หญ้าเนเปียร์)สร้างความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองด้วย ศูนย์อาหารสัตว์ชุมชน(Community feed center )ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตสัตว์ที่สำคัญที่สุด คือต้นทุนค่าอาหาร ซึ่งเกษตรกรสามารถลดต้นทุน ค่าอาหารลงได้ ประมาณร้อยละ 15-25 %

3.การจัดการฟาร์มภายใต้มาตรฐานไก่พื้นเมืองของกรมปศุสัตว์ ที่นอกจากบริหารความเสี่ยงเรื่องโรค ยังสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยอาหาร (Food safety) ให้แก่ผู้บริโภค ด้วยระบบการเลี้ยงไก่พื้นเมืองขุนด้วยอาหารธรรมชาติ/ปราศจากการใช้ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ การเลี้ยงที่ไก่มีความสุข สามารถแสดงพฤติกรรมคุ้ยเขี่ยหาอาหารตามธรรมชาติ ในการเลี้ยงไก่ขุนเพื่อสร้างอาชีพแก่เกษตรกรสร้างรายได้แก่เกษตรกร 4,000-6,000 บาท/เดือน/ราย และการมีระบบการผลิตที่มีคุณภาพ มีปริมาณที่เพียงพอ จะสามารถขยายโอกาสทางการตลาด ลดปัญหาการถูกกดราคารับซื้อไก่ขุนจากพ่อค้า รวมทั้งปัญหาผลผลิตไก่ขุนล้นตลาด ในบางฤดู

สุดท้าย องค์ประกอบที่ 4.การมีตลาดรองรับผลผลิต/และความสามารถในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต  คุณภาพของไก่พื้นเมืองขุนยังมีรสชาติอร่อย เกษตรกรรวมกลุ่มกันลงทุน(บางส่วน และได้รับการสนับสนุนบางส่วน) ในโรงฆ่าสัตว์ปีกชุมชน กำลังการผลิต 100-200 ตัว/วัน เพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ (ที่ช่วยเพิ่มมูลค่า/เพิ่มรายได้แก่เกษตรกร) เช่น ไก่สดแช่แข็ง ไก่สดชำแหละ ไก่ย่าง และผลิตภัณฑ์พร้อมปรุงอื่นๆ ด้วยวัฒนธรรมการบริโภคพื้นบ้าน ภายใต้ตราสินค้า(Brand ) กลุ่มเกษตรกรเวียงเชียงรุ้ง เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดชุมชน รวมทั้งห้างสรรพสินค้า(แม้คโครและร้านค้าสวัสดิการในส่วนราชการ โรงพยาบาล เป็นต้น) ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพิ่มมูลค่า ช่วยเพิ่มรายได้ เกษตรกรจะมีการปันผล และเฉลี่ยคืนตามส่วน ธุรกิจ

“ ด้วยองค์ประกอบที่สำคัญทั้ง 4 ประการ อันเป็นแนวทางการทำการเกษตรตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รู้จักการนำองค์ความรู้ ต่างๆมาบูรณาการกับภูมิปัญญาของชุมชน มาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” รศ.ดร.ศิริพรกล่าว