ครูสาวสอนดนตรี เพาะพันธุ์หนูพุกเป็นอาชีพเสริม ที่ลพบุรี ลงทุนหลักร้อย รายรับ 30,000 บาท ต่อเดือน

หนูพุก คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี เป็นเมนูโปรดของใครหลายๆ คน ซึ่งในปัจจุบันหายาก ในขณะเดียวกัน ได้มีพ่อค้าแม่ค้าหัวใสพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หันมาเพาะพันธุ์หนูพุกขายสร้างรายได้กันเป็นกอบเป็นกำ เพราะบางคนบอกว่าเนื้อของหนูพุกอร่อยนำมาย่างหรือผัดเผ็ดรสเลิศ ชนิดที่ว่า “เอาหมูมาแรกหนูก็ไม่ยอม”

คุณชฎาพร เบ็ญมาศ หรือ ครูเวย์ อยู่บ้านเลขที่ 4/2 หมู่ที่ 6 ตำบลนิยมชัย อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี ครูสอนดนตรีผู้มีอาชีพเสริมคือการเพาะเลี้ยงหนูพุกขาย ครูเวย์เรียนจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี คณะครุศาสตร์ เอกดนตรีศึกษา ปัจจุบัน เป็นครูสอนดนตรีอยู่ที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี

 

คุณสาวชฎาพร เบ็ญมาศ หรือ ครูเวย์

เริ่มต้นเลี้ยงหนูพุกได้อย่างไร

ครูเวย์ เล่าว่า ที่บ้านพ่อและแม่ทำไร่ทำสวน ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อยอยู่แล้ว ตนจึงได้คลุกคลีอยู่กับไร่กับนามาตั้งแต่เด็ก หนูก็กินบ่อย อีกทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็บริโภคหนูกันเป็นประจำ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบรสชาติของหนู คิดว่าอร่อยเนื้อนุ่ม หากจะเพาะเลี้ยงหนูขายเองได้จะดีแค่ไหน เพราะในปัจจุบันหากินได้ยาก ราคากิโลกรัมหรือตัวละ 100-200 บาท จึงมองเห็นช่องทางสร้างอาชีพจากตรงนี้ เมื่อมองเห็นโอกาส หลังจากนั้น ครูเวย์จึงเริ่มศึกษาใช้เวลาหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตและปรึกษาพี่ที่รู้จักเป็นเวลา 3 เดือน ศึกษาวิธีการเลี้ยง พฤติกรรม อาหาร รวมถึงสถานที่เหมาะกับการเลี้ยง เงินทุนเท่ากับศูนย์ และพอดีกับที่บ้านมีบ่อเลี้ยงปลาเก่าก่ออิฐบล็อกเพิ่มก็สามารถเลี้ยงได้แล้ว

 

เริ่มต้นเลี้ยงหนูพุกได้ไม่ยาก

วิธีเตรียมตัวในการเลี้ยงครั้งแรก บางคนอาจกังวลเรื่องสถานที่ว่าต้องมีร่มไม้หรือไม่มีร่มไม้ หนูเป็นสัตว์ที่ทนต่อทุกสภาพอากาศ ร้อนก็ได้ หนาวก็ได้ ถ้าสถานที่เลี้ยงไม่มีร่มไม้เลย ให้หาวัสดุกันแดดมามุงเล็กน้อย แต่ถ้าที่บ้านมีร่มไม้อยู่แล้วก็สามารถเลี้ยงได้เลย และหากนึกถึงหนูจะนึกถึงความว่องไว ถ้าคิดจะเลี้ยงแนะนำให้ใช้วงปูนเลี้ยงจะง่ายกว่า และทำความสะอาดง่าย ใช้วางซ้อนกันสองวงหนูก็จะหนีไม่ได้ เพราะหนูที่เลี้ยงกับหนูที่จับมาทางธรรมชาติจะต่างกัน หนูที่เลี้ยงจะเชื่องและเลี้ยงง่ายกว่า

หนูพุกแบ่งออกได้ 2 สายพันธุ์ คือ หนูพุกเล็ก และหนูพุกใหญ่ การเพาะเลี้ยงหนูพุกของครูเวย์เป็นหนูพุกเล็ก ไม่ต้องลงทุนมาก เริ่มหาพ่อแม่พันธุ์ด้วยวิธีแบบบ้านๆ เข้าไร่เข้านาไปจับแล้วมาเพาะพันธุ์ต่อ

 

วิธีการเพาะพันธุ์

อายุของหนูที่เริ่มผสมพันธุ์ได้คือ 3 เดือนครึ่ง ให้จับตัวผู้และตัวเมียมารวมกันในบ่อเลี้ยงเพื่อให้หนูได้ผสมพันธุ์กัน โดยมีอัตราการปล่อยคือ ตัวผู้ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 3-4 ตัว มีวิธีการสังเกตเพศระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย ตัวผู้อวัยวะเพศจะมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจและอยู่ห่างกับรูทวาร ตัวเมียจะมีอวัยวะเพศที่ค่อนข้างยาวแหลม

หนูใช้เวลาตั้งท้อง 1 เดือน สังเกตอย่างไรว่าหนูกำลังท้อง ให้จับหางแล้วยกดู ถ้าตัวเมียตั้งท้องจะมีนม ออก จากนั้นหลังคลอด 20 วัน หนูจะเริ่มลืมตาได้ ปล่อยให้อยู่กับแม่ก่อน หลังจากนั้น เมื่อหนูสามารถ หาอาหารเองได้ให้จับแยกลูกออก เพื่อจับแม่ไปเพาะพันธุ์ต่อ

 

ตัวผู้อวัยวะเพศจะมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ และอยู่ห่างกับรูทวาร
ตัวเมีย จะมีรูติดกับอวัยวะเพศ

ระยะเวลาในการเลี้ยง

ในตอนนี้ครูเวย์จะเน้นขายพ่อแม่พันธุ์เป็นหลัก สามารถขายได้ตั้งแต่หนูลืมตา ขายเป็นตัวหรือเป็นคู่ หรือลูกที่เพิ่งออกมาแล้วให้ลูกค้าไปเพาะพันธุ์ต่อ ตัวละ 100 บาท อายุ 2 เดือน ราคาตัวละ 150 บาท และถ้าเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่พร้อมผสมจะขายคู่ละ 600 บาท ลูกที่ออกมาเฉลี่ยอย่างน้อย 6 ตัว ยังไม่ได้มีการเลี้ยงเพื่อขายเนื้อให้คนบริโภค

อาหารที่ใช้เลี้ยงหาได้ตามพื้นที่ที่อาศัยอยู่ คือมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หอยเชอรี่ และพืชผักทุกชนิด วิธีการให้คือนำอาหารที่จะให้ไปวางไว้ในบ่อเลี้ยงเดี๋ยวเขาจะมากินเอง เพราะบางท่านอาจไม่มีเวลาต้องทำงานประจำ ก็สามารถให้อาหารทิ้งไว้กะว่าพอให้เขากินอิ่ม การเลี้ยงหนูถือว่าเลี้ยงไม่ยาก จะมีแค่ต้องคำนึงถึงการเก็บเศษอาหารที่เขากินนิดหน่อย แค่นั้นเอง แต่ค่อนข้างนานในการเก็บสักครั้ง อาจเป็น 3 สัปดาห์ เก็บ 1 ครั้ง

 

มีพื้นที่น้อยใช้วงบ่อซ้อน 2 ชั้น ก็เลี้ยงได้

บ่อเลี้ยงหนูของครูเวย์เป็นบ่อเลี้ยงปลาเก่าสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ 2×2.5 เมตร ความสูงก้อนอิฐบล็อกประมาณ 5 ก้อน บ่อหนึ่งที่เลี้ยงตอนนี้ปล่อยได้ประมาณ 200 ตัว แต่ถามว่าทั่วไปเขาเลี้ยงกันโดยส่วนมากจะใช้บ่อวงปูน ซ้อนเทินกัน 2 วง แล้วก็ปล่อยตัวผู้ตัวเมียลงผสมพันธุ์ อันนี้สำหรับคนที่ไม่มีพื้นที่

ภายในบ่อให้ใส่แกลบ ถ้าใครไม่มีแกลบก็สามารถใช้ฟางได้ ใส่เพื่อให้เขามีที่หลบที่คุ้ย และอาจจะมีการใส่ดินลงไปสักนิดเพื่อให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด

 

บ่อปลาเก่าดัดแปลงมาเลี้ยงหนู

หมั่นรักษาความสะอาด โรคไม่เกิด

อย่างที่ทราบกันดีว่าหนูเป็นตัวพาหะนำโรค ผู้เลี้ยงต้องใส่ใจความสะอาดเป็นพิเศษ น้ำต้องหมั่นเปลี่ยนโดยการผสมอีเอ็มลงในน้ำ เวลาหนูฉี่หรือขับถ่ายออกมาจะไม่มีกลิ่น และแกลบที่ใส่รองในบ่อมีคุณสมบัติช่วยย่อยและดูดกลิ่นฉี่ได้ด้วย วิธีนี้ถือว่าได้ผล เลี้ยงไว้หน้าบ้านก็ไม่มีกลิ่น

ถ้าห่วงเรื่องโรคตอนนี้ยังไม่มีอะไรน่ากลัว ยกตัวอย่างที่จังหวัดพิจิตรเขาเลี้ยงทำเนื้อประมาณ 25 ปี ไม่เคยมีปัญหาเรื่องโรคฉี่หนูหากคลุมเรื่องความสะอาดได้ อาจจะมีโรคปอดบวม หรือหนูกัดกันให้ใช้วิธีแยกตัวเจ็บออก

 

ใส่ถุงมือจับ เพื่อความปลอดภัย

ก่อนจะจับหนูทุกครั้งให้สวมถุงมือกันหนูกัด และใช้เหล็กยาวจับยกที่หางมีแค่นี้ก็สามารถจับใส่กรงขายได้เลย ใน 1 กรง สามารถใส่หนูตัวใหญ่ได้ 2 ตัว ถ้าเป็นตัวเล็กใส่ได้ 6 ตัว กรงที่ใช้ใส่เป็นกรงดักหนูทั่วไป หากลูกค้าสั่งซื้อจะมีการตกลงก่อนว่าจะซื้อกรงจากเราหรือเขามีกรงเอง เราจะบอกลูกค้าว่าค่ากรง กรงละ 60 บาท การส่งทุกครั้งจะมีการลดและการแถมเพราะเราเข้าใจว่ามือใหม่ต้องเกิดความไม่มั่นใจกันเป็นธรรมดา ราคาส่งถ้าอยู่ไกลคิด 600 บาท บางคนสั่งหนูเอาแบบท้องรอคลอดเลย บางฟาร์มขายตัวละ 700-800 บาท แต่ที่ฟาร์มนี้ขายตัวละ 500 บาท เพราะคนเริ่มสนใจเยอะ ไม่มีการโก่งราคา

 

ใส่ถุงมือจับเพื่อความปลอดภัย

เพาะขายพ่อ-แม่พันธุ์กำลังไปได้ดี ตลาดเนื้อไม่พอความต้องการผู้บริโภค

การตลาดถือว่ากำลังไปได้ดี ครูเวย์เริ่มเพาะเลี้ยงขายพ่อแม่พันธุ์เป็นเวลาปีครึ่ง ตอนนี้หนูที่เลี้ยงมีประมาณ 400 ตัว เพาะพันธุ์ไม่พอขาย ลูกค้าจองกันมาตั้งแต่ลูกยังไม่ทันออก รายได้ถือว่าดีมาก ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

คิดเป็นเดือน อย่างช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมามีรายได้จากการขายพ่อแม่พันธุ์ และหนูเพิ่งเกิดได้เป็นเงิน 30,000 บาท

ลูกค้าที่สั่งซื้อพ่อแม่พันธุ์ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากต่างจังหวัด และในอำเภอใกล้เคียง ตอนนี้เริ่มมีคนสนใจ เข้ามาเยี่ยมชมฟาร์มอยู่เรื่อยๆ ลูกค้าจะทราบข้อมูลจากทางเฟซบุ๊ก และทางเพจ ซื้อขายหนูพุก ลพบุรี ลูกค้าจะใช้วิธีเสิร์ชหาข้อมูลแหล่งที่ขายหนูบริเวณใกล้เคียงกับที่อยู่ เราจึงได้ลูกค้าจากตรงนี้อีกทางหนึ่ง

“มีคนถามมาเยอะว่าราคาเนื้อกิโลละเท่าไร เรายังไม่ทำเพราะถ้าเราขายเนื้อคือหนูของเราต้องเยอะมากๆ เยอะขนาดหนูไม่มีที่จะอยู่ ถ้าแถวบ้านขายเนื้อกิโลละ 200 บาท ตัวหนึ่งหนักประมาณ 4 ขีด ถือว่าแพง ขณะนี้ตลาดเนื้อเรียกได้ว่าไม่พอต่อผู้บริโภค เพราะยังมีผู้บริโภคอีกมากที่ชื่นชอบเนื้อหนูมากกว่าเนื้อหมู แต่หาซื้อกินไม่ได้” ครูเวย์ บอก

หนูพุก จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ เนื้อจะนุ่มหวาน ผู้ที่ชอบบริโภคบอกว่าต่างจากเนื้อหมู ไม่เหม็นสาบ ยิ่งช่วงหน้าแล้งจะอร่อยเป็นพิเศษ บางคนบอกว่าย่างแล้วเอามาลาบอร่อยมาก

 

แนะนำมือใหม่หัดเลี้ยง กังวลเรื่องหาตลาด

ครูเวย์ บอกว่า การเลี้ยงหนูพุกไม่ยาก แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ครั้งแรกถ้าไม่มีต้นทุนเดิมคือบ่อปลาเก่า ให้ใช้วงบ่อซีเมนต์เทินกัน 2 บ่อ สามารถเลี้ยงได้ ถ้าผู้เลี้ยงอาศัยอยู่ในชุมชนเมืองไม่สามารถปลูกผักเองได้ ให้หาเศษผักตามตลาดมาให้ก็ได้

“การหาตลาดหลายคนกังวลว่าเลี้ยงมาแล้วกลัวไม่มีตลาดรองรับ ที่นี่จะแนะนำลูกค้าไปว่าให้ลูกค้าเพาะให้ได้ลูกมาก่อน หากไม่มีตลาดหรือว่าคิดว่าเราขายไม่ได้แล้วจริงๆ อย่างไรให้โทร.ติดต่อมาที่เรา เดี๋ยวเราจะแนะนำลูกค้าที่อยู่แต่ละจังหวัดให้” ครูเวย์ แนะนำ

สำหรับมือใหม่อยากเลี้ยงหนูพุกสร้างรายได้ สอบถามหรือปรึกษาวิธีการเลี้ยงได้ที่ คุณชฎาพร     เบ็ญมาศ หรือ ครูเวย์ โทร. 083-330-8203

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561